The Seven-Year Itch สำนวนภาษาอังกฤษว่าด้วยอาการ ‘คัน’ หรือความ ‘อาถรรพ์’ ที่ต้องระแวดระวังการเลิกรา เมื่อความสัมพันธ์ดำเนินมาเกิน 7 ปี ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เมื่อคนทั้งสองรู้เช่นเห็นชาติกันมากขึ้น ความหวานเริ่มกลายเป็นขมขื่น การอยู่ร่วมกันไม่ได้ราบรื่นเช่นเคย

แต่หากเปรียบประเทศไทยเป็นชีวิตคู่ ความสัมพันธ์ตลอด 7 ปี ระหว่าง ‘ประชาชน’ กับ ‘รัฐบาล’ ที่มาจากการสืบทอดอำนาจเดิมของคณะรัฐประหาร ก็คงเป็น Toxic Relationship ที่ควรกำจัดออกมากกว่ารักษาไว้

ในวาระครบรอบการยึดอำนาจ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บทเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ได้บรรเลงมาเป็นปีที่ 7 ผู้นำรัฐประหารในวันนั้น ก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันนี้

The Momentum ชวนทบทวนความหลัง และมองไปข้างหน้าผ่านซีรีส์พิเศษ ‘The Seven-Year Itch: รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน?’ กับบทสัมภาษณ์ 7 บุคคล ว่าด้วยความทรงจำในวันนั้น และผลลัพธ์ของรัฐประหารต่อสังคมไทยวันนี้ ก่อนรัฐประหาร 2557 จะเวียนมาครบ 7 ปี ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้

จาตุรนต์ ฉายแสง ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่ ‘โชกโชน’ ในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการตั้งแต่วัยรุ่น เขาได้สัมผัสกับรสชาติของการรัฐประหารครั้งแรกในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มีการกวาดล้างผู้นำนักศึกษา ซึ่งในขณะนั้น จาตุรนต์ดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนทำให้เขาต้องหนีภัยการเมืองไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าระยะหนึ่ง โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า ‘สหายสุภาพ’

จาตุรนต์ก้าวสู่เส้นทางการเมืองเต็มตัวในปี 2529 ด้วยการเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ นั่งเก้าอี้ ส.ส. ฉะเชิงเทรา 2 สมัย เจอกับการรัฐประหารครั้งแรกในฐานะนักการเมืองเมื่อปี 2534 จากนั้นจาตุรนต์ได้เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อสังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี 2544 จนกระทั่งเกิดรัฐประหารอีกครั้งในปี 2549 ที่เขาโดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง ถูกห้ามโหวตลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เขาโดนจับกุมอีกครั้งที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 และถูกปฏิบัติ ‘เยี่ยงอาชญากร’ ในสายตาของ คสช.

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ชื่อของ จาตุรนต์ ฉายแสง ปรากฏอีกครั้งในฐานะประธานยุทธศาสตร์สังกัดพรรคไทยรักษาชาติ แต่จนแล้วจนรอดก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินสั่งยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้งไปอีก

เขาคือชายที่อุทิศเวลากว่าครึ่งชีวิตให้กับการเมืองไทยแบบ ‘ขึ้นสุด ลงสุด’ ตั้งแต่หนีไปใช้ชีวิตในป่า ได้รับการคัดเลือกจากนิตยสารเอเชียวีกให้เป็น 1 ใน 20 ผู้นำชาติเอเชียที่มีบทบาทโดดเด่นในศตวรรษที่ 20 เคยเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงที่สำคัญหลายกระทรวง เคยถูกดำเนินคดีอายัดบัญชีธนาคาร ชื่อของ จาตุรนต์ ฉายแสง ก็ยังโลดแล่นอยู่บนเวทีการเมืองไทยอยู่เสมอ และไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคันเร่งในเร็วๆ นี้

The Momentum จึงชวนเขากลับมารำลึกย้อนถึง 7 ปีที่แล้ว ที่เหตุการณ์รัฐประหารครั้งสำคัญของประเทศไทยส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขามากมาย จนเขาถึงกับนิยามตัวเองว่าเป็น ‘พลเมืองชั้น 2 (second class citizen)’

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ช่วงที่เกิดรัฐประหาร ตอนนั้นคุณกำลังทำอะไรอยู่

ตอนนั้นผมก็อยู่ข้างนอก ไม่ได้อยู่ข้างในกระทรวงศึกษาฯ แต่ผมอยู่ในกรุงเทพฯ นี่แหละ ซึ่งวันก่อนหน้านั้นมีการเชิญรัฐมนตรี ตัวแทนพรรคการเมือง ตัวแทนองค์กรประชาชนไปประชุมกันที่สโมสรกองทัพบก ผมก็ได้รับการแจ้งจากทางคณะรัฐมนตรีให้ไปเข้าร่วมประชุม แต่ว่าผมปฏิเสธที่จะไป และบอกไปว่ารัฐมนตรีนั้นไม่ควรไปประชุม เพราะว่าคนที่เชิญคือ ผบทบ. คนที่เป็น ผบทบ. จะมาเที่ยวเชิญรัฐมนตรีไปประชุมมันเป็นเรื่องไม่ถูก

ก่อนหน้านั้นมีการประกาศกฎอัยการศึกโดย ผบทบ. (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งผมก็ต้องตั้งคำถามไว้อยู่แล้วว่า การประกาศกฎอัยการศึกในทุกพื้นที่ทั่วประเทศโดยไม่มีพระราชโองการนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้น พอมีการเชิญประชุม ผมก็บอกผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพรรคพวกว่าไม่ควรไป ตัวผมก็ไม่ไป แล้วมันก็เกิดรัฐประหารขึ้น

ผมไม่รู้ว่าจะเกิดรัฐประหารวันไหน แต่วิเคราะห์ไว้แล้วว่าจะมีการรัฐประหารก่อนหน้าประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งถ้าเทียบกับการรัฐประหารปี 2549 ผมก็พอรู้ว่าจะมีการรัฐประหารเหมือนกัน เนื่องจากมีการส่งสัญญาณต่างๆ ให้ทหารออกมาทำการรัฐประหาร แต่ตอนคุยกับช่างทำผมที่อยู่ในครอบครัวทหาร เขารู้ก่อนผมตั้งนานว่าจะมีการรัฐประหาร (หัวเราะ) คนใน ครม. ส่วนใหญ่ไม่รู้

การรัฐประหารในปี 2549 นั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะว่าประเทศกำลังไปได้ดี การพัฒนาเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ ก็กำลังไปได้ดี แต่มันก็เป็นการชักเย่อกันมานานของฝ่ายเผด็จการและฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งเขาก็รับไม่ได้ว่าการยึดอำนาจครั้งก่อนนั้น เขาอุตส่าห์วางแผนอะไรต่างๆ นานา บันไดสี่ขั้น เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคที่เป็นรัฐบาลอยู่ก่อนหน้านั้นกลับมาเป็นรัฐบาลอีก แต่ก็ไม่สำเร็จ เขาก็เลยต้องยึดอำนาจอีก มันไม่ใช่เรื่องที่หักมุมอะไรมาก มันคือความพยายามต่อเนื่องที่จะทำให้ประเทศถลำลึกเข้าไปสู่ระบอบเผด็จการมากขึ้น

ตอนนั้นหลังจากที่ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวตามคำรับเชิญของ ผบ.ทบ. ผมก็บอกกับพรรคพวกว่า ถึงจะไม่ไปรายงานตัว แต่ก็คงหลบซ่อนไปเรื่อยๆ ไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจให้เขาจับ ซึ่งขณะนั้นผมรู้จักกับคนในสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เนื่องจากทำงานด้วยกันมาก่อน เลยตัดสินใจไปแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ก็คือตั้งใจจะให้โดนจับนั่นเอง

ผลกระทบอะไรบ้างที่คุณต้องเผชิญตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

ผลกระทบที่แน่ๆ อย่างหนึ่งก็คือ มันทำให้ชีวิตการเมืองของผมไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งยาวนานเป็นพิเศษ ตั้งแต่ตอนรัฐประหารปี 2549 ผมก็ไม่มีสิทธิ์ พอปี 2550 โดนยุบพรรคไทยรักไทย ผมถูกเพิกถอนสิทธิ์ 5 ปี พอได้สิทธิ์คืนมาในปี 2555 ก็ไม่มีเลือกตั้ง เพราะว่ามีการเลือกตั้งไปแล้วเมื่อปี 2554 หลังจากนั้นก็ยุบสภายึดอำนาจอีกในปี 2557 รวมแล้วก็ 10 กว่าปีที่ผมไม่มีสิทธิ์ไปออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งมันถือว่าเป็นเรื่องเลวร้ายมากสำหรับคนคนหนึ่งที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตย

ผลกระทบอื่นๆ ก็คือการโดนจับไปดำเนินคดี ตอนนั้นคดีของผมเกิดในช่วงก่อนประกาศกฎอัยการศึกครั้งใหม่ ทำให้เขาส่งผมไปขึ้นศาลทหารไม่ได้ เขาเลยบอกผมว่า เขาขอเวลาตั้งข้อหาเพิ่มเสียก่อน เพื่อที่จะให้ขึ้นศาลทหารได้ เขาบอกผมตรงๆ แบบนี้เลย จากนั้นก็ถูกส่งไปนอนค่ายทหารหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นก็เอามากองปราบฯ เพื่อตั้งข้อหาเพิ่ม ต่อมาเขาก็ไปแก้กฎหมายเพื่อให้ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ผมต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งผมก็ต้องสู้คดีอยู่ 6 ปี 6 เดือน จนศาลตัดสินยกฟ้อง ในคำตัดสินศาลนั้นระบุไว้ชัดเจนมากว่า นอกจากผมไม่มีความผิดแล้ว ผมยังถูกกระทำเกินกว่าเหตุอีกด้วย

ผมโดนออกคำสั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงินทุกอย่าง รวมถึงประกันชีวิต ประกันภัย การฝากเงิน ถอนเงินจากธนาคารทั้งหมด ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ ซึ่งอันที่จริง พอผมขึ้นศาล คำสั่งพวกนี้ก็ควรจะถูกยกเลิกไป เพราะว่าคำสั่งพวกนี้มันมีไว้ป้องกันการก่อการร้าย จนตอนนี้จะใช้เอทีเอ็มยังใช้ไม่ค่อยเป็นเลย การโอนเงินอะไรต่างๆ เพิ่งมาเรียนรู้ได้ทีหลังนี้เอง

พอผมวิจารณ์พลเอกประยุทธ์ ผมก็โดนห้ามไปต่างประเทศ ซึ่งเวลาจะไม่อนุมัติให้ไปต่างประเทศ เขาใช้วิธีมาบอกเอาวันสุดท้าย มันก็เสียหายกันทั้งคณะ เสียหายทั้งผมและคนที่จะต้องเดินทางไปกับผมด้วย แถมเขายังสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางผมทุกฉบับ ทั้งหนังสือเดินทางส่วนตัวและทางการทูต ผมต้องใช้เวลาฟ้องศาลปกครองอีก 2 ปีกว่า สรุปแล้วผมไม่มีหนังสือเดินทางอยู่ประมาณ 3 ปีกว่า จนสุดท้ายศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า คำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางของผมนั้น ‘ไม่ชอบด้วยกฎหมาย’ รวมทั้งหมดช่วงเวลา 4 ปีที่ผมไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ แต่มีไปเวียงจันทน์อยู่ครั้งหนึ่ง เพราะว่าไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง

อาชญากรหลายประเภทยังไม่ถูกดำเนินการเท่านี้เลย ทั้งถูกดำเนินคดี ระงับการธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงยกเลิกหนังสือเดินทาง การทำแบบนี้ก็เท่ากับเป็นการจำกัดเสรีภาพ ที่สำคัญมันยังเป็นการกระทำโดยไม่มีเหตุอีกด้วย มีแต่อ้างส่งเดช

ในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ผมใช้คำจำกัดความตัวเองว่า SCC หรือ Second Class Citizen แปลว่าพลเมืองชั้นสอง คุณจะทำอะไรกับผมก็ได้ทั้งนั้น ทุกวันนี้ผมยังไม่มีประกันสุขภาพด้วยซ้ำไป เพราะว่าวันนั้นโดนระงับธุรกรรมทางการเงิน มาทำตอนนี้อายุก็มากไปแล้ว

หากเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง ปฏิกิริยาของคนไทยคราวนี้จะเป็นอย่างไร และอะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ถ้าเกิดรัฐประหารครั้งใหม่จริงๆ ก็ต้องดูก่อนว่าใครเป็นคนรัฐประหารใคร เพราะว่าในตอนนี้ ผู้ที่มาจากการรัฐประหารยังมีอำนาจอยู่ ซึ่งก็ไม่มีแนวโน้มว่าผู้ที่มีอำนาจในกองทัพปัจจุบันเข้มแข็งพอที่จะกระด้างกระเดื่อง ลุกขึ้นมายึดอำนาจ

หรือถ้านายกฯ ปัจจุบันยึดอำนาจตัวเองเหมือนกับที่ จอมพล ถนอม กิตติขจร เคยทำ นั่นก็คือการรัฐประหารอีกแบบหนึ่ง ในแต่ละแบบก็คงมีแรงต้านแตกต่างกันไป แต่ว่าผู้ที่ถึงยังไงก็ไม่เอาด้วยกับการรัฐประหาร ยังไงเขาก็ต้องคัดค้าน และการคัดค้านนั้นจะเข้มข้นยิ่งกว่าในอดีต เพราะมันสรุปได้แล้วว่า ยิ่งทำรัฐประหารในแต่ละครั้ง ประเทศมันยิ่งเสียหายมากขึ้นทุกที ยิ่งครั้งล่าสุดนี้ รัฐก็บอกว่าจะไม่ให้เสียของ ซึ่งจริงๆ ก็ทำสำเร็จนะ เขาทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ทำให้ระบบการเลือกตั้งหมดความหมายไป ทำให้ผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเต็มที่ในการบริหารประเทศ และในทางกฎหมายก็อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ยึดอำนาจ เท่ากับว่าการรัฐประหารปี 2557 ไม่เสียของสำหรับผู้ยึดอำนาจ แต่มันทำให้ประเทศเสียหายยับเยินถึงที่สุด

คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจเรื่องนี้ และยิ่งเป็นคนรุ่นใหม่ก็ยิ่งเข้าใจเรื่องนี้มาก ถ้าจะมีการรัฐประหารอีก ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารต่อคณะนี้ หรือไม่ว่าจะช่วงไหน ผมเชื่อว่าการต่อต้านรัฐประหารจะเข้มแข็งขึ้น แรงมากขึ้น

แต่ผมก็ยังวิเคราะห์ว่าพลเอกประยุทธ์จะไม่ออกไปง่ายๆ ซึ่งพลเอกประยุทธ์นั้นมีอะไรพิเศษอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ใครไปไล่หรือคนจะไล่กันทั้งประเทศ ถูกเกลียดชังกันทั้งประเทศ ถ้าแกไม่อยากออก แกก็ไม่ออกง่ายๆ เพราะมันมีพลังค้ำอยู่มากจากระบบที่เขาวางไว้ แต่ปัญหาคือ ยิ่งอยู่นาน ประเทศก็ยิ่งเสียหายมาก

ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นตรงกันมากขึ้นว่าพลเอกประยุทธ์ต้องลาออก ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถช่วยกันหาทางได้ไหม เพื่อให้พลเอกประยุทธ์ออกไป และเรื่องใหญ่กว่านั้นก็คือ ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนระบบที่มันไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบนี้ ให้กลับมาเป็นประชาธิปไตยจริงๆ

 

—บทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ในซีรีส์ The Seven-Year Itch: รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน?—

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 01: ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ คดีทางกฎหมายสิ้นสุด แต่การถูกหมายหัวไม่สิ้นตาม

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 02: ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ไม่ว่าเป็นการปกครองแบบใด สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องอยู่ดี กินดี และมีความสุข

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 03: ‘ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล’ เราเคยเป็นเด็กคนหนึ่ง ที่ดวงตายังคงมืดบอด

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 05: ‘เสรี วงษ์มณฑา’ ปัญหาเรื่อง ‘สื่อ’ ที่ได้รับการปฏิรูป แต่ไม่ได้รับการแก้ไข

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 06: ‘สฤณี อาชวานันทกุล’ 7 ปี แห่งการฉ้อฉลเชิงอำนาจ เมื่อทหารไม่ใช่ผู้แก้ปัญหาที่แท้จริง

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 07: ‘จรัล ดิษฐาอภิชัย’ การลี้ภัยเป็นสิทธิมนุษยชน

Tags: , , , , ,