คุณเคยสงสัยไหมครับ ว่าอาหารเช้าแบบ continental breakfast หรืออาหารเช้าแบบชาวยุโรป, อาหารเช้าแบบชาวอังกฤษประเภท Full English Breakfast หรืออาหารเช้าแบบชาวอเมริกัน (American Breakfast) มันถึงได้มีความ ‘อู้ฟู่’ แตกต่างกันมากถึงขนาดนี้

ที่จริงแล้ว เรื่องนี้เกี่ยวพันกับ ‘ประวัติศาสตร์อาหารเช้า’ โดยตรงเลยนะครับ และเกี่ยวข้องกับผู้ชายที่ชื่อ ‘โธมัส’ ถึงสามคนด้วย

ว่าแต่ว่า – เกี่ยวข้องอย่างไร, ก็ต้องตามผมมาครับ จะเล่าให้ฟัง

ถ้าได้อ่าน The Morning After ในตอนที่แล้ว คุณอาจพอรู้ว่า คนสมัยก่อน (อย่างน้อยก็ในยุคกลาง) ไม่ค่อยสนับสนุนการกินอาหารเช้าเท่าไร โดยเฉพาะก่อนหน้าศตวรรษที่ 16

แต่ในศตวรรษที่ 16 มีผู้ชายที่ชื่อ ‘โธมัส’ ถึงสามคน ต่างออกมายืนหยัดต่อสู้เพื่อการกินอาหารเช้า

ทั้งสามคนอาจไม่รู้จักกัน และไม่ได้ออกมาต่อสู้เพื่อการกินอาหารเช้าพร้อมๆ กัน ทว่าเกิดการต่อสู้นี้คนละช่วงเวลา และกระทั่งคนละสถานที่ ทว่าอยู่ในอังกฤษและสก็อตแลนด์ หรือดินแดนแห่งบริติช

แต่ก่อนจะไปพูดถึงโธมัส อยากเล่าให้คุณฟังเสียก่อนว่าในต้นศตวรรษที่ 16 (คือช่วงปี 1500s) แพทย์ทั่วทั้งยุโรปเตือนผู้คนว่าจงอย่ากินอาหารเช้า เพราะถือกันว่าเป็นเรื่องผิดอนามัยหากจะกินอะไรเพิ่มเติมใส่เข้าไปในท้องก่อนที่ร่างกายจะ ‘ย่อย’ สิ่งเดิมจนหมด

ร่างกายที่ย่อยอาหารหมดแล้ว ถือว่าเป็นร่างกายที่บริสุทธิ์ และร่างกายก็ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะย่อยหมด การนอนในค่ำคืนยาวนานเป็นโอกาสเดียวที่เปิดโอกาสให้ร่างกายได้ย่อยทุกอย่างจนหมด ดังนั้นพอถึงตอนเช้า ร่างกายจึงบริสุทธิ์ แพทย์จึงแนะนำว่าอย่ากินอาหารเช้า เนื่องจากจะเป็นการนำสิ่งไม่บริสุทธิ์เข้าไปปนเปื้อนกับสิ่งบริสุทธิ์ที่อุตส่าห์ใช้เวลายาวนานกว่าจะเกิดขึ้นได้

แต่คุณรู้ไหมครับ ว่าการมาถึงของสิ่งหนึ่ง – ได้ทำให้ความเชื่อนี้คลอนคลายลงไป

สิ่งนั้นก็คือกาแฟ!

ในศตวรรษที่ 16 กาแฟเริ่มแพร่เข้ามาในยุโรป ชาวยุโรปเห็นว่า เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ทั้งกาแฟและชา) เป็นเครื่องดื่มที่จะช่วยให้ร่างกาย ‘ถ่ายเทสิ่งไม่จำเป็น’ (evacuation of superfluities) ออกไป ซึ่งรวมถึงสิ่งไม่บริสุทธิ์ต่างๆ ด้วย นักประวัติศาสตร์อาหารจึงบอกว่า นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญก็ได้ ที่ทำให้คนเราดื่มกาแฟและชากันในมื้อเช้ามาตั้งแต่ต้น

ในศตวรรษที่ 16 กาแฟเริ่มแพร่เข้ามาในยุโรป ชาวยุโรปเห็นว่า เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ทั้งกาแฟและชา) เป็นเครื่องดื่มที่จะช่วยให้ร่างกาย ‘ถ่ายเทสิ่งไม่จำเป็น’ ออกไป

เมื่อเริ่มมีความนิยมนี้ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 จึงเริ่มเกิดกระแสโต้กลับการแอนตี้อาหารเช้า โดยเริ่มต้นขึ้นในอังกฤษก่อน

คนแรกที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ – ก็คือโธมัสคนแรก ได้แก่ โธมัส วิงก์ฟิลด์ (Thomas Wingfield) ซึ่งเป็นนักเขียน

โธมัสคนแรกนี้เชื่อว่า อาหารเช้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวบริติช เขาเขียนเอาไว้ในปี 1551 บอกว่าถึงแม้นักสรีรวิทยาคนสำคัญชาวโรมันอย่างกาเลน (Galen) จะไม่เคยกินอาหารเช้า และเห็นว่าอาหารเช้าเป็นสิ่งไม่จำเป็นต่อร่างกาย ทว่าโธมัสบอกว่า “ในดินแดนแห่งนี้” (in this Realme) ซึ่งหมายถึงบริติช อาหารเช้าเป็นเรื่องจำเป็น เขาจึงเป็นคนแรกก็ว่าได้ ที่ออกมายืนหยัดต่อสู้เพื่อการกินอาหารเช้า

ถัดมาในปี 1589 โธมัสคนที่สองก็ปรากฏตัว เขาคือ โธมัส โคแกน (Thomas Cogan) ซึ่งเป็นแพทย์ในยุคทิวดอร์ และเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนในแมนเชสเตอร์ มีหลักฐานว่า โธมัสคนนี้เขียนไว้ว่า การไม่กินอาหารเช้านั้นถือเป็นเรื่องไม่ดีต่อสุขภาพ เขายืนยันว่าการไม่กินอาหารเช้าจะทำให้ “suffer hunger long filleth the stomack with ill humors” พูดให้ฟังง่ายๆ ก็คือ จะทำให้น้ำย่อยออกมากัดกระเพาะอะไรทำนองนั้นนั่นแหละครับ เขายืนยันว่า ต่อให้เป็นคนแข็งแรงก็ควรกินอาหารเช้า อาหารเช้าไม่ใช่เรื่องที่ต้องสงวนเอาไว้สำหรับคนที่เด็กมากๆ สูงวัยมากๆ หรือคนที่ต้องใช้พลังงานมากๆ ดังที่เคยเชื่อถือกันโดยทั่วไปเท่านั้น

นั่นคือความคิดของสองโธมัสแรก ตามมาด้วยโธมัสที่สามผู้ไม่ใช่คนอังกฤษ แต่เป็นโธมัสจากสก็อตแลนด์ ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในหมู่เกาะบริติชเหมือนกัน

โธมัสคนที่สามคือ โธมัส มอฟแฟ็ต (Thomas Moffett) ซึ่งเป็นแพทย์และนักธรรมชาติวิทยา ผู้มีแนวคิดแบบ Puritan เขายืนยันขันแข็งว่า ชาวสก็อต้องการการกินในตอนเช้า และเป็นการกินเต็มมื้อด้วย ไม่ใช่กินอะไรเล็กๆ น้อยๆ โดยเขาบอกว่า สิ่งที่จะทำให้คนเราสุขภาพดี ได้แก่ อากาศที่สดสะอาดและอาหารเช้าที่ดีต่อสุขภาพ ในยุคสมัยนั้น ผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองที่สกปรก โธมัสคนที่สามนี้จึงแนะนำว่า ยิ่งสกปรก ก็ยิ่งต้องกินอาหารเช้าดีๆ เพื่อต่อสู้กับความสกปรกเหล่านั้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อาหารเช้าจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อความสกปรกต่างๆ ได้

ความเชื่อของโธมัสทั้งสาม เริ่มแพร่หลายกระจายตัวออกไปในแวดวงผู้คนชาวบริติชทั้งปวง ที่น่าสนใจก็คือ ทั้งสามโธมัสแม้จะไม่ใช่คนธรรมดาๆ แต่ก็ไม่ใช่คนชั้นสูงมากมายอะไรนัก ทว่าความคิดของพวกเขากลับค่อยๆ ทรงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ จนในตอนหลังกลายเป็นแนวคิดที่แพร่ไปถึงคนทั่วไปและคนชั้นสูงมากขึ้น ซึ่งในที่สุดก็สะท้อนโต้ตอบกลับมายังสังคมในวงกว้าง

กระทั่งนักเขียนชาวเวลส์ผู้ใกล้ชิดกับราชสำนักอย่างเซอร์ วิลเลียม วอห์น (Sir William Vaughan) ก็ยังเริ่มเขียนว่า คนเราต้องการการกินอาหารเช้า โดยอาหารเช้าควรเป็นขนมปังทาเนยร้อนๆ โรยด้วยอบเชยและน้ำตาล รวมไปถึงอาหารสำคัญคือโอ๊ตมีลที่ทำเป็นเครื่องดื่มข้นๆ เรียกว่า คูเดิล (coudle) โดยใส่เนยและใส่ลูกเกดด้วย

คูเดิลนั้นทำได้โดยการนำแป้ง (เช่น โอ๊ตมีล ขนมปังป่น ฯลฯ) มารวมเข้ากับน้ำผึ้ง ลูกเกด ไข่ แล้วใส่ไวน์หรือเอลลงไป บางครั้งก็ปรุงรสโดยใช้ขิงหรือหญ้าฝรั่น เป็นอาหารที่ค่อนข้างหนักและให้ความอบอุ่นกับร่างกาย วอห์นแนะนำให้ชาวอาณานิคมที่ไปตั้งรกรากอยู่แถบนิวฟันด์แลนด์กินอาหารแบบนี้เพื่อให้ร่างกายไม่เจ็บไข้ได้ป่วยด้วย

ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ไปตั้งรกรากในอเมริกาเป็นอาณานิคมทั้งหลาย แม้จะผูกพันกับยุโรปในหลายมิติ แต่ในมิติอาหารเช้าแล้วกลับละทิ้งความเชื่อและขนบเกี่ยวกับการห้ามกินอาหารเช้าของชาวยุโรปไปเสียสิ้่น มีผู้วิเคราะห์ว่า คนเหล่านี้ต้องไปบุกเบิกบุกบั่น ต้องใช้แรงกายมาก ดังนั้นเมื่อตื่นเช้ามาจึงต้องกินอาหารเช้าเสียก่อน จะได้มีเรี่ยวแรงในการทำงานตลอดทั้งวัน

นั่นจึงทำให้อาหารเช้าของชาวยุโรป ชาวอังกฤษ และชาวอเมริกัน ในยุคนั้นแตกต่างกันอย่างมาก และ ‘ร่องรอย’ ของความเชื่อในเรื่องอาหารเช้า ก็ยังคงปรากฏมาจนถึงสมัยนี้

continental breakfast

ถ้าเราดูอาหารเช้าของชาวยุโรป ที่เรียกว่า continental breakfast เราจะพบว่าเป็นอาหารเช้าที่ ‘ไม่ค่อยมีอะไร’ อย่างมากก็แค่กาแฟกับขนมปังหรือครัวซองต์สักชิ้น กินกับผลไม้และน้ำส้มคั้น แต่ไม่ค่อยมีอาหาร ‘หนัก’ จำพวกไข่หรือโปรตีนเท่าไหร่ เวลาสั่งอาหารเช้าประเภท continental breakfast เราจะรู้เลยว่าเป็นอาหารเช้าที่ราคาถูกกว่าอาหารเช้าแบบอังกฤษหรืออเมริกัน

Full English Breakfast

ถ้าเหลือบมาดูอาหารเช้าของอังกฤษ (และสก็อตแลนด์) เราจะพบเลยว่า Full English Breakfast นั้น ‘จัดเต็ม’ เพราะมีทั้งไข่ แฮม เบคอน ถั่วอบ และอาจมีมันฝรั่งด้วย ทั้งหมดนี้กินกับขนมปังอีกต่างหาก ส่วนอาหารเช้าแบบสก็อต (Full Scottish Breakfast) ก็จัดเต็มไม่แพ้อาหารเช้าของชาวอังกฤษเหมือนกัน แต่เบคอนที่ใช้อาจจะแตกต่างกันออกไป เพราะมักเป็นเบคอนที่มาจากส่วนหลังของหมู ไม่ใช่จากส่วนท้อง (ซึ่งต่อมาภายหลังกลายร่างไปเป็น Canadian Bacon) รวมไปถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่คนต่างชาติอาจจะแยกแยะได้ยาก

ยิ่งถ้าเป็นอาหารเช้าแบบอเมริกัน (American Breakfast) ยิ่งแล้วใหญ่ อาหารเช้าแบบอเมริกันนั้นไม่ได้มีแค่ไข่ดาว แฮม เบคอน กับไส้กรอกขนมปังอย่างที่เราคุ้นเคยนะครับ แต่คนอเมริกันมีความหลากหลาย ทั้งจากทาสผิวดำที่ก็มีตำรับอาหารของตัวเอง ชาวภาคใต้ที่อพยพมาจากแคริบเบียน รวมไปถึงชาวฮิแปนิก และชาวเอเชีย ที่อพยพเข้าไปอยู่ในอเมริกา ร่วมสร้างชาติอเมริกาให้ยิ่งใหญ่ ต่างก็นำตำรับอาหารเช้าเข้าไปด้วย จนอาจพูดได้ว่า อาหารเช้าแบบอเมริกันนั้นแทบไม่มี ‘ต้นแบบ’ แบบเดียว เนื่องจากมีการผสมผสานหลากหลายมาก หลายคนจึงบอกว่า ในเรื่องของอาหารเช้านั้น ต้องถือว่าอาหารอเมริกันอู้ฟู่มากที่สุด ซึ่งคงได้พูดถึงกันในรายละเอียดต่อไป

ประวัติศาสตร์อาหารเช้าจึงทำให้เราเห็นเหตุผลว่า – ทำไมอาหารเช้าของแต่ละประเทศจึงแตกต่างกันขนาดนี้ และนี่เป็นแค่อาหารเช้าของสามัญชนเท่านั้น เรายังไม่ได้พูดถึงอาหารเช้าในราชสำนักกันเลย ซึ่งก็ต้องบอกไว้ตรงนี้นะครับ ว่าโปรดติดตามอาหารเช้าของชาวราชสำนักกันต่อไปในตอนหน้า,

ว่าจะเลิศหรูอลังการกันขนาดไหน!

Tags: , , , , ,