การเขียนบันทึกความทรงจำหรือประวัติชีวิตเป็นรูปแบบหนึ่งของการนำเสนอเรื่องราวที่วางอยู่บนการพิจารณาตัวเองว่าเราคือใคร เราเคยเป็นอย่างไร และเรามีแนวโน้มจะเป็นอย่างไรต่อไป ถ้าพูดอีกแบบ สิ่งเหล่านี้คือการพิจารณาว่าเราถูกทำให้เป็นเราได้อย่างไรจากโลกภายนอกเมื่อพิจารณาออกไปจากโลกภายใน งานเขียนประเภทนี้พาผู้อ่านเข้าไปสู่โลกของผู้เขียน แล้วกลับออกมาพร้อมกับคำถามและคำตอบที่พบจากการเดินทางผ่านสายตาและความเข้าใจของผู้เขียน อันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความคิดใหม่ของผู้อ่าน

หนังสือเล่มล่าสุดของเดบอราห์ เลวี (Deborah Levy) นักเขียนหญิงชาวอังกฤษที่เริ่มพินิจชีวิตตนเองจากเหตุการณ์สำคัญอย่างการหย่าร้างในวัย 50 ปี คือ The Cost of Living หรือ “ราคาที่ต้องจ่ายในการใช้ชีวิต” (ถ้าแปลแบบไม่ต้องเหลือความรู้สึกอะไรแบบเศรษฐศาสตร์ตรงๆ ก็คือ ‘ค่าครองชีพ’) เลวีค่อยๆ ร้อยเรียงความคิดจากเรื่องราวเล็กๆ รอบตัว จากจุดที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวล่มสลาย ก่อนจะขยายไปสู่เรื่องเล็กๆ ที่กลายเป็นภาพแทนใหญ่ๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสังคม และคนกับทัศนคติในโลกร่วมสมัย

เลวีเลิกรากับสามีที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาถึง 20 ปี เมื่อครอบครัวแตกแยก การโยกย้ายก็ตามมา เธอกับลูกสาวสองคนย้ายออกจากบ้านเดิมไปอยู่ในแฟลตขนาดเล็กลงทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน สภาพภายนอกของแฟลตทรุดโทรม รอการซ่อมแซมที่ดูเหมือนว่าอาจไม่มีวันมาถึง

เธอเข้าสู่สภาพชีวิตใหม่ ทั้งสถานภาพการเงินของครอบครัวที่เปลี่ยนไปและสิ่งแวดล้อมใหม่ก็ล้วนส่งผลต่องานเขียน สิ่งเหล่านี้มีผลต่อสายตาที่มองโลกและความคิดของเธอในขณะที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองกลับสู่สภาพปกติหลังการหย่าร้างให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะดำเนินชีวิตอิสระ (?) ต่อไป

ในระหว่างการพยายามจัดระเบียบชีวิตใหม่นี้ เธอไปเช่ากระท่อมเล็กๆ ของเพื่อนเก่าผู้สูงวัยเพื่อใช้เป็นที่เขียนหนังสือ และซื้อจักรยานไฟฟ้ามาใช้ไปไหนมาไหน การเดินทางของตัวตนบนท้องถนนกับการเดินทางระหว่างความคิดในกระท่อมน้อยนี้เองที่ทำให้เธอได้พินิจพิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่น่าสนใจ

Deborah Levy ในกระท่อมที่เช่าไว้เขียนหนังสือ ที่มาภาพ: https://vimeo.com/113212299

ที่มาภาพ: https://vimeo.com/113212299

เธอเล่าเรื่องของผู้ชายที่เอ่ยถึงภรรยาโดยไม่เอ่ยชื่อของพวกเธอ (my wife) อะไรทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นไร้ชื่อเมื่อตัวตนต้องออกสู่สังคมผ่านการพูดถึงของคู่ครอง เล่าถึงเรื่องของคู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกัน แต่สามีไม่เคยมองไปที่ภรรยาเลย เขามักจะมองไปที่อื่นเสมอแม้แต่ตอนพูดคุยกัน และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่ผู้หญิงต้องยอมเสียสละพื้นที่ในการอยู่ร่วมกับผู้ชายที่คิดว่าพื้นที่ของผู้หญิงไม่สำคัญ

งานเขียนของเธอคือการครุ่นคิดและตั้งคำถามถึงประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนหรือสังคมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา คำถามย้อนของเธอชี้ให้เห็นว่าเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องธรรมดาเหล่านี้รวมตัวกันเป็นรากฐานสำคัญของปัญหาที่ยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ผู้หญิงต้องสูญเสียหรือลดบทบาทของตัวเองลงจนไม่มีอิสรภาพหรือได้เปิดเผยตัวตนอย่างเสรี

แต่อะไรคือ ‘อิสรเสรี’ แล้วอิสรเสรีมีราคาที่ต้องจ่ายหรือไม่?

คำถามเหล่านี้สอดแทรกอยู่ในเรื่องเล่าที่เลวีนำเสนอ นอกจากข้อสังเกตที่เธอเห็นจากเรื่องราวภายนอกที่พบเจอแล้ว เธอยังค่อยๆ เปิดเผยชีวิตของตัวเองตั้งแต่วัยเยาว์ ผ่านการมองย้อนกลับไปยังภาพชีวิตของแม่ที่ส่งต่อบางอย่างมาในชีวิตเธอทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ เรื่องราวของความสัมพันธ์ที่เธอไม่ได้บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา แต่ใช้วิธีการให้ภาพแทนการพูดถึงเหตุผลในการตัดสินใจแยกทาง

 

Life falls apart. We try to get a grip and hold it together. And then we realize we didn’t want to hold it together.

(ชีวิตแตกแยก เราพยายามปรับปรุงตัวและประคองมันไปด้วยกัน แล้วเราก็ตระหนักว่าเราไม่อยากประคองมันไปด้วยกัน)

 

เลวีเล่าอัตชีวประวัติโดยเริ่มต้นจากเรื่องราวในปัจจุบันแทนที่จะตั้งต้นจากอดีตแบบเรื่องเล่าทำนองนี้โดยทั่วไป เธอใช้ปัจจุบันเป็นตัวตั้ง ก่อนจะค่อยๆ ย้อนแกะรอยไปตามเหตุการณ์และเรื่องราวในอดีตเพื่อเผยให้เห็นตัวตนที่ผ่านมา ลักษณะเช่นนี้สร้างช่องว่างระหว่างเรื่องให้ผู้อ่านได้จินตนาการถึงเรื่องที่เธอไม่ได้เล่า เป็นการกำกับการอ่านที่ให้ความรู้สึกต่างไปจากการที่รู้เรื่องราวในอดีตที่สะสมมา แล้วก่อให้เกิดความคิดที่คอยกระซิบว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะเคยเป็นอย่างนั้น   

นอกจากการเลือกช่วงเวลามากำกับการเล่าเรื่องที่ทำให้ The Cost of Living มีท่าทีแตกต่างจากเรื่องเล่าแนวเดียวกันแล้ว วิธีดำเนินเรื่องที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของเลวี คือการใช้ความคิดของนักเขียน นักคิด และศิลปินคนอื่นมาเสริมความแข็งแรงของเรื่องเล่าและนำเสนอบุคลิกของตัวเธอ โดยในตัวเรื่องจะมีเสียงของเขาเหล่านั้นผุดโผล่ขึ้นมา วิธีการแบบนี้ หากนำมาวางผิดจังหวะหรือผิดที่ผิดทางกลับจะทำให้เนื้อเรื่องเกิดตำหนิหรือแม้กระทั่งทำให้ผู้อ่านรำคาญ ดูเหมือนว่าเลวีจะตระหนักถึงเรื่องนี้ดี ตำแหน่งที่เธอวางเสียงอื่นลงมาจึงไม่ได้ทำให้ท่วงทำนองผิดเพี้ยน แต่กลับทำให้เสียงของพวกเขากลมกลืนลดระยะห่าง จนบางครั้งเกือบจะกลายเป็นเสียงของเพื่อนที่ร่วมนั่งดื่มอยู่กับเธอในผับหลังเลิกงานวันศุกร์เพื่อปรับทุกข์แลกเปลี่ยนความเห็นต่อชีวิตรอบตัว

เราจะพบกับมาร์แซล พรูสต์ (Marcel Proust) มาเกอริต ดูราส (Maguerite Duras) เจมส์ บอลด์วิน (James Baldwin) เอเลนา แฟร์รันเต (Elena Ferrante) ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) และใครต่อใครอีกหลายคนเข้ามาร่วมบทสนทนาในความคิดของเธอ

เสียงของบอลด์วินจะดังขึ้นเมื่อเธอพูดถึงการไม่เห็นความสำคัญของชื่อผู้หญิงจากเหล่าผู้ชาย

 

“in order to learn your name you are going to have to learn mine”

(เพื่อที่จะรู้ชื่อของคุณ คุณจำเป็นจะต้องรู้ชื่อของฉัน)

 

หรือเสียงของเธอที่ดังขึ้นเมื่อเสียงของเดอ โบวัวร์ ที่เป็นอีกเสียงสำคัญของความเป็นหญิงเงียบลง

 

“To separate from love is to live a risk-free life. What’s the point of that sort of life? I was living in the Republic of Writing and Children. I was not Simone de Beauvoir, after all. No, I had got off the train at a different stop (marriage) and stepped on to a different platform (children). She was my muse but I was certainly not hers.”

“การแยกตัวเองออกมาจากความรักคือการใช้ชีวิตปลอดความเสี่ยง ประเด็นของชีวิตแบบนั้นคืออะไรหรือ? ฉันอยู่ในสาธารณรัฐแห่งการเขียนและลูกๆ ถึงที่สุดแล้ว ฉันไม่ใช่ซีโมน เดอ โบวัวร์  ไม่ ฉันลงจากรถไฟที่สถานีอื่น (การแต่งงาน) แล้วก้าวต่อไปยังอีกชานชาลา (ลูก) เธอเป็นแรงบันดาลใจให้ฉัน แต่ฉันไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจของเธอแน่”

 

นี่คือเรื่องเล่าของผู้หญิงคนหนึ่งที่เพิ่งปรับตัวได้จากการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ที่พูดถึงเรื่องการเลิกรา ความตาย การเมืองเรื่องเพศ และพื้นที่ส่วนตัว เสียงเล่าเรื่องของเธออาจจะสั่นบ้างบางเวลา เมื่อเรื่องดำเนินไปถึงจุดที่ยังทิ้งความอ่อนไหวเป็นแผลจาง แต่ร่องรอยของบาดแผลและความเจ็บปวดนี้เองที่จะทำให้เราเชื่อใจ เพราะมันคือเสียงที่บอกถึงราคาที่เธอต้องจ่ายอย่างจริงใจและไม่ต้องการปิดบัง

Fact Box

  • The Cost of Living เป็นหนังสือบันทึกความทรงจำหรือเรื่องเล่าอัตชีวประวัติเล่มที่สองในโครงการไตรภาคอัตชีวประวัติของ Deborah Levy โดยเล่มแรกชื่อว่า Things I Don’t Want to Know (2013) ที่เล่าเรื่องของชีวิตผ่านการสนทนาตอบโต้กับบทความจากปี 1946 ชื่อ Why I Write ของ George Orwell
  • Deborah Levy มีผลงานที่เคยผ่านเข้ารอบชอร์ตลิสต์ของ Man Booker สองเล่มคือ Swimming Home ในปี 2012 และ Hot Milk ในปี 2016
  • ผลงานของ Deborah Levy ยังไม่เคยตีพิมพ์ในภาคภาษาไทย
Tags: , , , , , ,