ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสในจีนที่ลุกลามกว่า 28 ประเทศ ทั่วโลกตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้รัฐบาลในหลายประเทศมีความพยายามจะควบคุมเชื้อไวรัสไม่ให้แพร่ระบาด และให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชน ในช่วงแรกไทยเคยเป็นอันดับสองของประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสมาที่สุดรองจากจีน ส่วนญี่ปุ่นก็มีตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวนไม่ห่างกันนัก เนื่องจากเป็นประเทศปลายทางอีกประเทศของนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ญี่ปุ่นได้แซงขึ้นมาเป็นอันดับสองเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังพบผู้ติดเชื้อราว 162 คน เนื่องจากนับรวมผู้ติดเชื้อบนเรือสำราญ รายงานชิ้นนี้พาไปสำรวจว่าท่ามกลางปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศนี้มีมาตรการควบคุมอย่างไร
การทำงานของภาครัฐ
นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งวอร์รูมเพื่อวางมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสในวันที่ 22 มกราคม ร่วมกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและตัวแทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งกระทรวงกลาโหมให้แพทย์ทหารเข้าช่วยเหลืองานของกระทรวงสาธารณสุข และประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโคโรนาไวรัสทั้งอาการของโรค การป้องกันการแพร่เชื้อ รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และสนับสนุนการรักษาผู้ป่วย โดยวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ทางกระทรวงสาธารณสุขพบยาต้านไวรัสที่อาจจะใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตามทางสภาเภสัชฯ และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ได้ประกาศเตือนประชาชนว่าอย่าซื้อยารักษาโคโรนาไวรัสกินเองเนื่องจากอยู่ในระหว่างทดลองและเสี่ยงต่อการดื้อยา
เรื่องการรับคนไทยในอู๋ฮั่นกลับประเทศเป็นอีกเรื่องที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย หลังนักศึกษาไทยในอู่ฮั่นขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลให้รับกลับประเทศ ทางรัฐบาลได้ให้ข่าวกับสื่อว่ากำลังศึกษาและดำเนินการ ในขณะที่ประเทศอื่นเริ่มทยอยรับประชาชนของเขากลับประเทศ ทำให้ประชาชนหลายกลุ่มมองว่ารัฐบาลทำงานล่าช้า ต่อมา รัฐบาลตัดสินใช้เครื่องบินพาณิชย์ในการรับชาวไทยในอู่ฮั่นจำนวน 138 คน ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ และเข้ารับการกักกันที่โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบเป็นเวลา 14 วัน นอกจากนี้ การช่วยเหลือประชาชนในประเทศยังคงมีปัญหาทั้งการแจกหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนที่ดำเนินการได้อย่างล่าช้า และหน้ากากอนามัยที่กำลังขาดตลาดและมีราคาสูงกว่าความเป็นจริง วันที่ 5 กุมภาพันธ์ กระทรวงพาณิชย์ได้ขึ้นบัญชีหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมเป็นเวลา 1 ปีและจำกัดการกักตุนหน้ากากอนามัย อีกทั้งการให้บริการประชาชนยังคงทำงานได้ล่าช้าโดยเฉพาะการแจกหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ล่าสุดทางกรุงเทพมหานครเพิ่งเริ่มแจกหน้ากากอนามัย ในขณะที่ภาคเอกชนและกลุ่มเอ็นจีโอเริ่มแจกหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือก่อนรัฐบาลหลายอาทิตย์ ทำให้ประชาชนเริ่มสงสัยว่ารัฐบาลหายไปไหน
การทำงานจากฝั่งรัฐบาลไทยยังคงเป็นประเด็นอย่างเสมอต้นเสมอปลายเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ทางทำเนียบรัฐบาลเปิดการจำหน่ายหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือเป็นเวลา 15 วัน แต่ถึงกระนั้นมีการตั้งคำถามว่าเหตุใดทางรัฐบาลถึงเลือกขายมากกว่าจะแจกจ่ายให้กับประชาชน กลายเป็นประเด็นดราม่าทันที เนื่องจากมีการนำเคสของสิงคโปร์มาเปรียบเทียบการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้วยการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับประชาชน และมีการนำราคาขายหน้าทำเนียบไปเปรียบเทียบราคาขายขององค์การเภสัชกรรม โดยหน้าทำเนียบขายแผ่นละ 2.50 บาท แต่องค์การเภสัชกรรมขายแผ่นละ 1 บาท นอกจากนี้เกิดกระแส “หน้ากากอนามัยที่ไม่อนามัย” หลังมีการวิจารณ์ภาพทหารเกณฑ์กำลังแพ็คหน้ากากอนามัยสำหรับจำหน่ายประชาชน โดยไม่ถูกสุขลักษณะ อย่างไรก็ตามหลังมีกระแสโจมตีรัฐบาลอย่างหนัก ทำให้รัฐบาลตัดสินเพิ่มมาตรการแพ็คหน้ากากอนามัยให้ถูกสุขลักษณะ และเริ่มแจกจ่ายหน้ากากอนามัยเฉพาะจุดเสี่ยงบริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS ในเวลาต่อมา
ฝั่งของรัฐบาลญี่ปุ่นเอง นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นดำเนินการวางมาตรการควบคุม และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสและการรับมือให้สาธารณชน ดำเนินการยกเลิกเที่ยวบินที่ไปจีน นอกจากนี้ทางรัฐบาลให้สิทธิผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคปอดอักเสบที่มีความเกี่ยวข้องกับโคโรนาไวรัส เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายใต้ข้อบังคับการรักษาทางการแพทย์โดยด่วน โดยโรคที่เกี่ยวข้องจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ เพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถกักกันผู้ป่วยและจัดการได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งเคยนำมาใช้ในสมัยที่เชื้อ H5N1 และไวรัสเมอร์สกำลังระบาดในช่วง 2009 และ 2014 นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนรักษาโรคจากเชื้อโคโรนาไวรัส และบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับจีน โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยที่รัฐบาลญี่ปุ่นส่งมอบให้จีนกว่า 1 ล้านชิ้น
ด่านตรวจคนเข้าเมือง จุดเริ่มต้นการแพร่จากเชื้อต้นทาง
ในช่วงที่โคโรนาไวรัสกำลังระบาด ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาซึ่งตรงกับเทศกาลตรุษจีน มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในไทยกว่า 355,000 – 358,000 คน เข้ามาในไทย ซึ่งก็เริ่มมีมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบนักท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโคโรนาไวรัส หลังรัฐบาลจีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นไปเมื่อวันที่ 23 มกราคม ทางสนามบินได้นำเครื่องวัดอุณหภูมิออกจากประตูทางเข้าของเที่ยวบินจากหูเป่ย ก่อนที่จะกลับมาติดตั้งอีกครั้งโดยใช้สำหรับเที่ยวบินที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโคโรนา โดยเที่ยวบินสุดท้ายที่มาจากอู่ฮั่น ทางการไทยพบผู้ติดเชื้อราว 3 คน จากผู้ที่มีอาการป่วยทั้งหมด 22 คน นอกจากนี้ ก่อนมีการปิดเมือง นายโจวซิงหวาง นายกเทศมนตรีเมืองอู่ฮั่น ระบุว่า มีชาวอู่ฮั่นออกมาก่อนปิดเมืองราวๆ 5 ล้านคน โดยมีประมาณ 20,000 คนที่เข้ามาในไทยก่อนได้รับการตรวจสอบ ทำให้รัฐบาลยกระดับการตรวจคนเข้าเมืองโดยผู้เดินทางเข้าประเทศต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าปลอดเชื้อโคโรนาไวรัส
ทางฝั่งของญี่ปุ่น ในฐานะประเทศที่มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีตัวเลขราวๆ 9,600,000 คนต่อปี ทำให้ความเสี่ยงของญี่ปุ่นที่เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายมีสูงมากเหมือนไทย ทางรัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการวางมาตรการควบคุมการแพร่เชื้ออย่างเข้มงวด โดยยกเลิก 20,000 เที่ยวบินจากจีน ห้ามชาวจีนที่ถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยมณฑลหูเป่ยเข้าประเทศ และห้าวชาวต่างชาติที่มีประวัติไปจีนช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเข้าญี่ปุ่นไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม
นอกจากสนามบินที่มีการตรวจสอบแล้ว ในการเดินทางรูปแบบอื่นก็มีการตรวจสอบที่เข้มงวด ล่าสุดในกรณีของเรือสำราญไดมอนด์ พรินเซส ทางรัฐบาลญี่ปุ่นสั่งกักกกันผู้โดยสารทั้งหมด 3,711 คน ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้โดยสารที่เคยโดยสารเรือลำนี้เมื่อเดือนที่แล้วติดเชื้อโคโรนาที่ฮ่องกง ตอนนี้ (วันที่ 11 กุมภาพันธ์) มีการยืนยันจากรัฐบาลญี่ปุ่นแล้วว่าบนเรือสำราญมีผู้ติดเชื้อ 66 คน จากการตรวจสอบผู้โดยสารกว่า 3,711 คน คาดว่าจะพบผู้ติดเชื้ออีก และประสานกับท่าเรือโยโกฮาม่าในการรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่จัดเตรียมไว้
ข่าวปลอมโคโรนาไวรัส
ในวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยได้จัดตั้งวอร์รูมข่าวกลาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เผยแพร่ข้อมูข่าวสารให้กับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา หลังมีการปล่อยข่าวปลอมเรื่องโคโรนาไวรัสที่สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชน โดยในไทยมีการปล่อยข่าวต่างๆ มากมาย ทั้งคนไทยติดเชื้อโคโรนาเสียชีวิตแล้ว สเปรย์พ่นปากฆ่าเชื้อไวรัสได้ หรือคลิปผู้ติดเชื้อล้มลงกลางห้าง ส่วนกระทรวงดิจิทัลฯ ก็ออกข่าวเรื่องการดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยข่าวปลอม
ในขณะที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เริ่มมีข่าวออกมาว่าทางรัฐบาลจะยกเลิกการจัดการแข่งขันที่โตเกียว เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส และเกิดกระแสข่าวในทวิตเตอร์ว่า ‘Tokyo Olympics cancelled’ กว่า 50,000 ทวิต รัฐบาลออกโรงมาชี้แจงว่า ทางฝ่ายจัดไม่มีการยกเลิกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก โดยญี่ปุ่นได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากลและองค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ยังมีการส่งอีเมลปลอมอ้างว่ามาจากศูนย์บริการของกระทรวงสาธารณสุขมาเตือนเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสและปล่อยไวรัสเข้าคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตามรัฐบาลญี่ปุ่นอาศัยการนำเสนอข่าวสารและข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเองตลอดเวลาตั้งแต่วางมาตรการควบคุมโรค ทำให้ในญี่ปุ่นยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากข่าวปลอม
แม้ทั้ง 2 ประเทศจะมีความพยายามจัดการกับ Fake news เรื่องโคโรนาไวรัสที่กำลังทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่ดูเหมือนว่าอิทธิพลของ Fake News กำลังจะกลายเป็นข่าวสารที่น่าเชื่อถือมากกว่าข้อมูลข่าวสารที่มาจากรัฐบาลเสียอีก สะท้อนการทำงานของรัฐบาลที่ล่าช้าในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เนื่องด้วยพฤติกรรมการรับสื่อในโลกปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็วและความหวาดกลัวของประชาชนต่อเชื้อไวรัสที่สื่อนิยามว่าเป็นไวรัสมรณะนี้ ทำให้ข่าวที่มาก่อนจะกลายเป็นข้อเท็จจริงแรกที่คนรับสารเชื่อโดยไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งกว่าจะมีข้อเท็จจริงที่ถูกต้องจากทางรัฐบาล Fake News กลายเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือกว่าข่าวจากรัฐบาลไปเสียแล้ว
ภาวะผู้นำ
น่าจะเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจถึงภาวะผู้นำในสถานการ์ที่วิกฤติ แม้ภาครัฐจะทำงานอย่างหนักและจริงจังตลอดเวลา แต่สิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจคือภาวะผู้นำของตัวเอง โดยสำหรับไทยแล้ว ถือว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เจอกระแสเรื่องฝุ่น PM 2.5 มาแล้ว ทั้งถูกวิจารณ์ว่าแก้ไขปัญหาที่ไม่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารกับประชาชนที่ล้มเหลว และการแสดงท่าทางที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวว่ามันยังไม่วิกฤติ ย่อมทำให้รัฐบาลหมดความน่าเชื่อถือไปมากในระดับหนึ่ง
ยกตัวอย่างกรณีการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 24 มกราคม โดยบอกกับประชาชนว่า “อย่ารอรัฐบาลแจกหน้ากาก ใครซื้อได้ซื้อ ซื้อใส่ไปก่อนเลย” หรือเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พลเอกประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ไม่เชื่อว่าหน้ากากหมดและขายเกินราคา “ถ้าหาซื้อไม่ได้ทำไมไม่ไปซื้อที่โรงงานผลิต” และประเด็นเรื่องการช่วยเหลือชาวไทยในอู่ฮั่น โดยกล่าวว่ายังไม่มีคนไทยแจ้งว่าอยากกลับ ทั้งที่คนไทยในอู่ฮั่นออกมาโพสเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 26 มกราคมว่าอยากให้รัฐบาลส่งเครื่องบินรับกลับ รวมไปถึงฝ่ายรัฐบาลบอกว่าจีนยังไม่อนุญาตให้ประเทศไหนนำเครื่องบินไปรับคนกลับ แต่กลายเป็นว่าญี่ปุ่นได้รับคนของตัวเองกลับประเทศเรียบร้อยแล้ว ต่อมาวันที่ 27 มกราคม พลเอกประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่ามีการเตรียมความพร้อมมาล่วงหน้าแล้ว 1 เดือน (เดือนธันวาคม) รัฐบาลอ้างว่ายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะใช้เครื่องบินอะไรไปและอ้างว่าทางการจีนไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องบินทหาร แต่ถูกหักหน้าอย่างจังเมื่อทางการจีนอนุญาตตุรกีนำเครื่อง A400M ของกองทัพตุรกีลำเลียงคนกลับประเทศเมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา สุดท้ายทางรัฐบาลตัดสินใจใช้เครื่องบินพาณิชย์ของแอร์เอเชีย แม้จะนำคนไทยจากอู่ฮั่นกลับมาได้ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินใจที่ล่าช้าของไทย
นอกจากนี้ วันที่ 28 มกราคม พลเอกประยุทธ์ ออกมากล่าวให้ประชาชนไว้ใจการทำงานของรัฐบาลในด้านการป้องกันและควบคุมโรคระบาด ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 จากการจัดอันดับของ Global Health Security Index แต่ดูเหมือนว่าความสำเร็จของการจัดการด้านสาธารณสุขที่ได้รับการจัดอันดับดูจะเป็นขั้วตรงข้ามกับการทำงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ทำงานล่าช้าและสื่อสารกับประชาชนที่ล้มเหลว เพราะท้ายที่สุดแล้วอันดับ 6 ที่พลเอกประยุทธ์กล่าวมา คือการทำงานของเจ้าหน้าที่ภายในกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ในเชิงนโยบายที่รัฐบาลวางไว้ กลายเป็นว่าการสื่อสารต่อประชาชนต่างๆ นานาที่พลเอกประยุทธ์กล่าว กับบริบทปัจจุบันที่ประชาชนเจอนั้นไม่เหมือนที่นายกฯได้พูดไว้ ทั้งเรื่องหน้ากากอนามัยที่หมดแผง การอพยพนักศึกษาจากอู่ฮั่น หรือการสัมภาษณ์อื่นๆ ได้ทำให้ประชาชนเริ่มหมดความศรัทธาในรัฐบาลชุดนี้ ถึงการจัดการคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ล่าช้าและล้มเหลว
ในขณะที่การวางมาตรการควบคุมเชื้อโคโรนาไวรัสของญี่ปุ่นกับการกระทำของชินโซ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่น ดูสอดคล้องกันอย่างชัดเจน เห็นได้จากการส่งเครื่องบินรับชาวญี่ปุ่นในอู่ฮั่นกลับเมื่อวันที่ 28 มกราคม ซึ่งเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้าอพยพคนของตัวเองในจีนกลับประเทศ รวมไปถึงกรณีการกักกันผู้โดยสารบนเรือไดมอนด์ พรินเซสเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เพื่อตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ที่ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาด นอกจากนี้ชินโซ อาเบะแสดงความมั่นใจต่อมาตรการของรัฐบาล โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ยกเลิกการจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ และกล่าวว่ารัฐบาลทำงานอย่างหนักโดยร่วมมือกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากลและองค์การอนามัยโลก ล่าสุดออกมาประกาศว่าให้การสนับสนุนการทำวัคซีนรักษาและชุดทดสอบเชื้อโคโรนาไวรัส เพื่อหยุดการกระจายไวรัส พร้อมกล่าวว่าชีวิตและสุขภาพของประชาชนมาก่อนซึ่งการทำงานของภาครัฐตอบสนองต่อภาคประชาชนได้จริง และประชาชนเชื่อใจการทำงานของรัฐบาล
จากสถานการณ์ตึงเครียดที่ทั่วโลกต่างหวาดกลัวเชื้อโคโรนาไวรัส แต่หากมองในการจัดการของ 2 ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีผู้ดิดเชื้อมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดูเหมือนว่าการจัดการของรัฐบาลแต่ละประเทศในการควบคุมการแพร่เชื้อโคโรนาไวรัส ทั้งประเทศไทยก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี ซึ่งก็ได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ ในการจัดการควบคุมเชื้อไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ดูเหมือนว่าทั้ง 2 รัฐบาลจะแตกต่างคือเรื่องการสื่อสารต่อสาธารณชน แม้บริบทของไทยและญี่ปุ่นจะต่างกัน ทั้งภูมิประเทศ ปัญหาทางการเมือง หรือระบบสาธารณูปโภค แต่สิ่งที่ตอกย้ำการทำงานของรัฐบาลที่ประชาชนรับรู้คือการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็เห็นข่าววิจารณ์รัฐบาลไทยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาตั้งแต่วิกฤติฝุ่น PM 2.5 ประชาชนหวังความช่วยเหลือในรัฐบาลที่พวกเขาไว้เนื้อเชื่อใจ แต่เมื่อรัฐบาลไม่ตอบโจทย์หรือตีโจทย์ไม่แตก และทำในสิ่งที่ไม่ควรทำแต่แรกที่ทำให้สถานการณ์มันเลวร้ายกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงแต่ปัญหาสุขภาพของประชาชน แต่มันลามไปถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่ประชาชนกำลังจะหมดศรัทธา แม้จะสามารถควบคุมเชื้อไวรัสได้อยู่หมัด แต่ผลหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ก็ต้องรอดูว่าผลพวงจากเชื้อไวรัสที่ประชาชนหวาดกลัว จะมีผลกับภาครัฐในด้านใดด้านหนึ่งหรือไม่
ที่มา
https://www.mcot.net/view/5e2a96a2e3f8e40af341258b
http://www.voicetv.co.th/read/a9JcXr83i
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000012950
https://edition.cnn.com/travel/article/japan-chinese-package-holidays-intl-hnk/index.html
https://mgronline.com/uptodate/detail/9630000010669
https://www.thairath.co.th/news/local/east/1763990
https://www.nationtv.tv/main/content/378760793/
https://twitter.com/search?q=tokyo%20olympic%20cancelled&src=typed_query
https://www3.nhk.or.jp/news/html/20200130/k10012266241000.html
https://www.thaipost.net/main/detail/55692
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/863712
https://www.matichon.co.th/politics/news_1916001
https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/20200203_15/
https://mainichi.jp/english/articles/20200203/p2g/00m/0na/056000c
https://www.insidethegames.biz/articles/1090070/abe-on-coronavirus-tokyo-2020-impact
Tags: โคโรนาไวรัส, โควิด-19, ญี่ปุ่น, ไทย