300,000,000,000 บาท

คือตัวเลขคร่าวๆ ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยประเมินเอาไว้เบื้องต้นสำหรับรายได้จากการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะหายไปในปี 2563 นี้ หลังจาก ‘โคโรนาไวรัส’ ถล่มประเทศจีนและทั่วโลกเมื่อช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ทางการจีนที่สั่งห้ามประชาชนออกนอกพื้นที่เท่านั้น หลายประเทศก็งดรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางจากประเทศจีน เพื่อร่วมกันสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์ของโคโรนาไวรัสจะนิ่งในเดือนมีนาคม และใช้เวลาขั้นต่ำ 6 เดือนในการเรียกความเชื่อมั่นและพาสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงได้ขอใช้งบกลางราว 500 ล้านบาทเพื่อนำไปกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะหน้าแล้ว

สิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งคือ ไม่มีใครทราบว่าเรื่องนี้จะจบได้เมื่อไรกันแน่ และถ้าสถานการณ์ลากยาวไปเรื่อยๆ ความเสียหายจะมหาศาลขนาดไหน

เมื่อมองให้กว้างมากขึ้นกว่ามุมของ ‘นักท่องเที่ยวจีน’ ไปเป็นเรื่องของ ‘คนจีน’ แล้ว ถือเป็นประเด็นใหญ่มาก นอกจากการเข้าพักที่โรงแรม การจับจ่ายใช้สอยเพื่อการท่องเที่ยวและรายได้ของห้างร้านต่างๆ แล้ว ยังต้องจับตาความต้องการสินค้าและบริการจากประเทศไทย ไปจนถึงบรรยากาศในการลงทุนทั้งภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงและตลาดทุนด้วย

คนกลัวตาย ใครจะช้อปปิ้ง

คนกลัวตาย ใครจะลงทุน

The Momentum จึงเลือกเล่าเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการที่มีต่อสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งหนทางที่จะก้าวต่อไปในปี 2020 ปีที่เริ่มต้นศักราชด้วยโจทย์หนักๆ ที่ประดังประเดเข้ามาพร้อมกันมากที่สุดผ่านบทความนี้

วิกฤตไวรัสแดนมังกร โลกหยุดหมุน เมื่อจีนหยุดซื้อ?

ข้อมูลจาก China Tourism Academy รายงานพฤติกรรมการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ทุกประเทศต่างหมายปอง โดยระบุว่าปี 2561 มีชาวจีนราว 149 ล้านคนเดินทางออกไปต่างประเทศ เกิดการใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นถึง 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนอาจพุ่งสูงถึง 1.8 พันล้านคน 

หากพิจารณาจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยในปี 2562 มีเกือบ 40 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนถึง 11 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 27% ถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย แม้ว่ากระทรวงการคลังจะอ้างอิงตัวเลขจากสำนักงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 5 แห่งในจีนและประเมินเบื้องต้นว่าเหตุการณ์โคโรนาไวรัสจะทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 9.5 หมื่นล้านบาท แต่ตัวเลขที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดการณ์กลับสูงกว่ามากถึง 3 แสนล้านบาท

แค่ประเมินก็ไม่ตรงกันแล้ว

 

สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตให้ข้อมูลว่า โดยปกติ ช่วงเทศกาลตรุษจีนของแต่ละปี จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ราว 5 พันล้านบาท ซึ่งเมื่อคำนวณจากจำนวนผู้โดยสารขาเข้าที่เดินทางโดยเครื่องบิน พบว่าเป็นชาวจีนมากถึง 20% หรือประมาณ 5 พันคนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ค่าเฉลี่ยของจำนวนวันเข้าพักอยู่ที่ 4 วันต่อทริป และมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 7,500 บาทต่อคนต่อวัน หากประเมินความเสียหายจากกรณีที่นักท่องเที่ยวจีนลดลงในช่วงเวลาดังกล่าวในสัดส่วน 50 – 90% เม็ดเงินจะหายไปราว 7,000 – 20,000 ล้านบาท 

หากประเมินความเสียหายจากกรณีที่นักท่องเที่ยวจีนลดลงในช่วงเทศกาลตรุษจีนในสัดส่วน 50 – 90% เม็ดเงินจะหายไปราว 7,000 – 20,000 ล้านบาท 

ขณะที่ วิชุพรรณ ศรีสัญญา นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ให้ข้อมูลกับ The Momentum ว่าแนวโน้มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติของพื้นที่ในปี 2563 ลดลงอยุ่แล้วตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ต้นทุนการท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและประเทศใกล้เคียงอย่างชัดเจน โดยปกติเดือนที่มียอดจองที่พักมากที่สุดของกระบี่คือเดือนกุมภาพันธ์ รองลงมาคือเดือนมีนาคมและเมษายนตามลำดับ 

ที่ผ่านมา การประเมินตัวเลขจากการท่องเที่ยวทำได้ลำบากขึ้น เพราะพฤติกรรรมของนักท่องเที่ยวหันไปจองแบบนาทีสุดท้ายเพื่อลุ้นหาข้อเสนอที่ราคาต่ำที่สุดรวมทั้งโปรโมชั่นจากการจองออนไลน์ต่างๆ ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ไม่ได้จองล่วงหน้า 60 หรือ 90 วันอย่างในอดีตอีกต่อไป ขณะนี้ทางสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการโดยตรงเพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นก่อนที่จะยื่นข้อเสนอขอมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลในลำดับถัดไป

หากเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวกับจังหวัดภูเก็ตแล้ว จังหวัดกระบี่น่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่เดินทางด้วยตนเองเป็นจำนวนมาก จำนวนกรุ๊ปทัวร์น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในกระบี่ก็ต้องการการสนับสนุนทั้งเรื่องของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำรวมถึงความช่วยเหลือด้านการเงินอื่นๆ เช่นเดียวกับพื้นที่สำคัญอย่างกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ หรือภูเก็ตด้วย เนื่องจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ซบเซาและยอดจองห้องพักตกต่ำอย่างชัดเจนตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์โคโรนาไวรัสอยู่แล้ว รวมทั้งเรียกร้องให้ภาครัฐสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น เพราะสถานการณ์อาจจะลากยาวกว่าที่คิดได้

ผู้ประกอบการในกระบี่ก็ต้องการการสนับสนุนทั้งเรื่องของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำรวมถึงความช่วยเหลือด้านการเงินอื่นๆ เช่นเดียวกับพื้นที่สำคัญอย่างกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ หรือภูเก็ต

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอย่างชัดเจนคือธุรกิจค้าปลีก ซึ่งครอบคลุมทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อและช่องทางการจำหน่ายสินค้าโดยตรงถึงมือผู้บริโภค เรื่องนี้ The Momentum ได้สอบถาม ดร. ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการด้านค้าปลีก ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์อาจจะจบเร็วกว่าที่คิด เนื่องจากรัฐบาลจีนมีแรงกดดันที่สูงมากจากบาดแผลขอสงครามการค้าที่ผ่านมา จึงน่าจะใช้ยาขนานแรงที่สุดเพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเดือนมีนาคมนี้

และเมื่อพิจารณาพฤติกรรมการจับจ่ายของนักท่องเทียวจีนในไทยแล้ว ส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ของฝาก และสินค้าอื่นที่มีระดับราคาไม่สูงนัก เพราะประเทศไทยไม่ใช่จุดหมายปลายทางหลักด้านสินค้าหรูหรา ดังนั้นเมื่อยอดนักท่องเที่ยวจีนลดลง ก็อาจจะไม่ได้สร้างผลกระทบในเชิงมูลค่าการค้าปลีกมากอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

ดร. ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการด้านค้าปลีกเชื่อว่า สถานการณ์อาจจะจบเร็วกว่าที่คิด เนื่องจากรัฐบาลจีนมีแรงกดดันที่สูงมากจากบาดแผลขอสงครามการค้าที่ผ่านมา จึงน่าจะใช้ยาขนานแรงที่สุดเพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ส่วนกรณีสินค้าอย่างหน้ากากอนามัยขาดตลาดนั้น น่าจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการสินค้าและการจัดส่งของผู้ประกอบการมากกว่าเรื่องของจำนวนสินค้าไม่พอกับความต้องการจริงๆ เนื่องจากร้านค้าไม่ได้สั่งสินค้าเพื่อเก็บไว้ในสต็อคจำนวนมาก ขณะที่ผู้ผลิตก็ต้องใช้เวลาในการนำสินค้าของจากคลังและจัดการรถขนส่งให้สอดคล้องกับยอดการสั่งซื้อ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานและสินค้าจะกระจายได้ทั่วถึง

สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าโคโรนาไวรัสในมุมของดร.ฉัตรชัย คือการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐปี 2563 ที่ล่าช้า และตอนนี้ก็มีประเด็นทางการเมืองเรื่องการเสียบบัตรแทนกันซึ่งอาจจะทำให้กระบวนการขยับออกไปอีก เม็ดเงินที่ควรจะกระจายสู่ระบบทุกระดับชั้นจึงหยุดชะงัก ส่งผลอย่างชัดเจนกับการจัดซื้อจัดจ้าง การผลิต การจ้างงานของหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งจะกระทบกับการบริโภคภายในประเทศที่ตอนนี้ถูกกดดันในระดับสูงด้วยภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

พูดเป็นเสียงเดียวกันทั้งอุตสาหกรรมค้าปลีกและการท่องเที่ยว สถานการณ์เดิมของธุรกิจนั้นไม่สู้ดีอยู่แล้ว เมื่อมีโคโรนาไวรัสเพิ่มเข้ามาเป็นปัจจัยใหม่ก็ต้องลำบากกันมากขึ้น

นั่นคือภาคธุรกิจทำใจไว้ล่วงหน้าอยู่พอสมควรแล้ว

The Momentum สอบถามไปที่ห้างสรรพสินค้าที่มีจำนวนลูกค้าหนาแน่นโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนอย่างสยามพารากอนและเซ็นทรัลด์เวิลด์ ทราบความว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขของการเดินเข้าออกห้าง (Traffic) อยู่ ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ยกระดับการตรวจตราและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส รวมทั้งอำนวยความสะดวกลูกค้าอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่สังเกตได้คือ จำนวนคนเดินห้างลดลงอย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่กลุ่มนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ชนชั้นกลางที่เป็นมนุษย์เงินเดือนต่างก็หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่ที่คนพลุกพล่าน เนื่องจากกังวลกับเรื่องโคโรนาไวรัสเช่นกัน พนักงานที่สยามพารากอนเล่าว่า จำนวนลูกค้าลดลงอย่างชัดเจน แต่ตอนนี้ทางห้างก็ยังจ้างพนักงานจำนวนเท่าเดิม ไมได้ปรับลดหรือมีการเปลี่ยนแปลงกับพนักงานแต่อย่างใด

ธุรกิจคอนโดส่อเค้าอืด เหตุนักลงทุนรายย่อยจีนหายไป

อีกธุรกิจที่สะท้อนกำลังซื้อจากนักลงทุนจีนได้เป็นอย่างดีคือ อสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมามีทั้งนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อยเข้ามากว้านซื้อคอนโดและที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครและเมืองขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ดันให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงก่อนหน้านี้

สุรเชษฐ์ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด ให้ข้อมูลกับ The Momentum ว่า สถานการณ์โคโรนาไวรัสน่าจะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนกับนักลงทุนรายย่อยที่นิยมซื้อคอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งชะลอตัวมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาอยู่แล้วจากภาวะสงครามการค้า ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่ารวมทั้งการคุมเข้มของรัฐบาลจีนที่จำกัดการโอนเงินออกนอกประเทศ คาดว่ายอดขายของปี 2562 ในกลุ่มนี้จะหายไปถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2561

ข้อกำหนดที่มีคือ ชาวจีนจะสามารถโอนเงินออกนอกประเทศได้ไม่เกินปีละ 1.5 ล้านบาท ซึ่งเมื่อคำนวณเวลาในการก่อสร้างคอนโดประมาณ 2 ปี เท่ากับจะสามารถนำเงินมาชำระได้สูงถึง 3 ล้านบาท จึงทำให้ยอดขายคอนโดในระดับดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเกิดปัจจัยลบในปัจจุบัน ก็เป็นไปได้ที่ลูกค้าชาวจีนอาจจะทิ้งสัญญาและเงินดาวน์ ไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งภาระจะกลับไปอยู่ที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จะขาดกระแสเงินสดเข้ามาเติมและเป็นอุปสรรคในการขยายโครงการใหม่ๆ ดังจะเห็นได้จากหลายโครงการในพื้นที่ถนนรัชดาภิเษกและถนนพระราม 9 ในขณะนี้

สถานการณ์โคโรนาไวรัสน่าจะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนกับนักลงทุนรายย่อยที่นิยมซื้อคอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งชะลอตัวมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาอยู่แล้วจากภาวะสงครามการค้า ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่ารวมทั้งการคุมเข้มของรัฐบาลจีนที่จำกัดการโอนเงินออกนอกประเทศ

อีกแนวทางที่บรรดานักลงทุนจีนรายย่อยนิยมคือ การซื้อที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว ซึ่งปัจจุบันยังขยายตัวได้ดีอย่างเช่นพื้นที่ถนนพระราม 2 เป็นต้น โดยเริ่มจากการทำสัญญาเช่า 30 ปี จากนั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการถือครองไปเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยแทน กลุ่มนี้น่าจะไมได้รับผลกระทบมากกนักจากปัญหาโคโรนาไวรัส

ส่วนกลุ่มทุนจีนขนาดใหญ่ที่เข้ามารุกตลาดอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเรานั้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากฮ่องกงหรือบริษัทจากจีนที่ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง มีเป้าหมายที่ชัดเจนคือการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับตลาดคนจีนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในไทยโดยตรง ไม่ได้คำนึงถึงตลาดผู้บริโภคชาวไทยมากนัก โดยจะเปิดโครงการขนาดใหญ่คราวละนับพันยูนิต บางโครงการเริ่มก่อสร้างก่อนประกาศขายด้วยซ้ำเนื่องจากประเมินความต้องการของลูกค้าได้พอสมควร 

สุรเชษฐ์เชื่อว่า ทุนอสังหาริมทรัพย์จีนรายใหญ่จะไม่เดือดร้อนจากสถานการณ์ในตอนนี้นัก เนื่องจากมีทุนขนาดใหญ่ รองรับความเสี่ยงได้ โดยอาจจะชะลอแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งคาดว่าจะจบภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการทั้งหลายน่าจะหันไปพัฒนาโครงการแนวราบทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมกันมากขึ้น เนื่องจากยังมีศักยภาพที่จะเติบโต ไม่เกิดภาวะอุปทานล้นเกินแบบคอนโดมิเนียม

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่จะเดือดร้อนจริงๆ ก็คือผู้ที่โหมเปิดตัวโครงการใหม่ๆ จำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งต้องการทำตลาดเพื่อการเก็งกำไร รวมทั้งประเมินความต้องการของนักลงทุนชาวจีนว่าจะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อได้เงินจากการขายโครงการแรกแล้วก็จะรีบนำไปสร้างโครงการต่อมาอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างยอดขายซึ่งจะส่งผลดีกับราคาหุ้นของบริษัทในที่สุด หากเกิดปัญหากระแสเงินสดและความต้องการที่อยู่อาศัยหดตัวรุนแรงก็จะรับมือได้ลำบาก

ไล่เรียงแต่ละอุตสาหกรรมให้เห็นภาพที่ตรงกัน โคโรนาไวรัสเป็นเพียงตัวละครใหม่ของหนังมหากาพย์ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แม้ตลาดทุนจะวิตกกับสถานการณ์อย่างมาก แต่ก็ปรับตัวกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไวรัสนี้มีอัตราการตายที่ต่ำ รวมทั้งประชาชนเองก็เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แม้จะยังไม่เห็นบทสรุปของทางข้างหน้าว่าจะคลี่คลายอย่างไร เร็วแค่ไหน แต่ทุกฝ่ายก็เชื่อว่า ความกลัวดังกล่าวจะค่อยผ่อนลงไปเป็นความเข้าใจในที่สุด

สิ่งที่ยังเขย่าขวัญระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง คือเกมของสงครามการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจ งบประมาณภาครัฐที่เบิกจ่ายล่าช้า การผลักดันโครงสร้างพื้นฐานที่สะดุด ปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง รวมทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังไม่ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ท่ามกลางเสถียรภาพและความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลในลักษณนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดกันมากกว่า

 

ตอนนี้ คนกลัวไวรัส

แต่ถ้าไวรัสพูดได้ มันอาจจะกลัวคนมากกว่าก็เป็นได้

Tags: , , , , ,