“ที่ปัตตานี พลังที่รู้สึกได้แรงมาก…เอเลี่ยนมากมายอาศัยอยู่ที่นี่” ชายญี่ปุ่นที่เราเข้าใจว่าเป็นนักเอเลี่ยนวิทยาบอกขณะเอาฝาและหลอดพลาสติกแปะไว้บนหน้าผาก ประหนึ่งเป็นเครื่องรับสัญญาณที่ช่วยให้เขาสื่อสารกับเอเลี่ยนได้
ระหว่างที่ชาวญี่ปุ่นผู้นั้นท่องไปตามมุมเมืองต่างๆ ของปัตตานี เหมือนว่ากำลังเสาะหาอะไรบางอย่าง ชาวเมืองปัตตานีทั้งชาวบ้านในตลาด คนขับรถเครื่อง คนขายเสื้อผ้ามือสอง ก็บอกในทำนองเดียวกันว่า เอเลี่ยนชอบมาที่ปัตตานี คงเพราะชายหาดสวย อาหารอร่อย และผู้คนเป็นมิตร
…
นั่นคือเรื่องราวตอนหนึ่งจาก Man from a Distant Planet ภาพยนตร์ไซไฟ (science fiction) ซึ่งถ่ายทำแบบสารคดีของศิลปินชาวญี่ปุ่นทาคุโระ โคทะกะ (Takuro Kotaka) แม้ตลอดเวลากว่า 20 นาทีของหนังเราจะสัมผัสได้ถึงการดำรงอยู่ของเอเลี่ยน แต่ท้ายที่สุดก็บอกได้ยากว่าเอเลี่ยนในปัตตานีคือมนุษย์จากดาวดวงอื่นที่มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเรา คือคนต่างด้าว คือนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ ‘ความเป็นอื่น’ ที่เราหยิบยื่นให้กันเพราะความแตกต่างในบางเรื่อง
ทาคุโระ โคทะกะ เติบโตและอาศัยอยู่ที่จังหวัดไซตะมะ ซึ่งเขาบอกว่าห่างจากโตเกียวพอๆ กับอยุธยาถึงกรุงเทพฯ เรียนมาในสาขา Digital Media Design แต่เรียนรู้ด้วยตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ และเริ่มต้นถ่ายทำสารคดีแนวทดลองควบคู่ไปกับการแบกเป้เดินทางในเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง ตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ
ในปี 2008 ทาคุโระเดินทางและถ่ายทำสารคดีในทวีปแอฟริกาจากแอฟริกาใต้ถึงอียิปต์และซีเรีย รวม 14 ประเทศ เป็นเวลา 7 เดือน พร้อมกับมันฝรั่งหนึ่งลูก ซึ่งกลายมาเป็นสารคดีสั้นชื่อ Travelling Africa with A Potato เขาเล่าถึงเหตุผลที่เลือกเพื่อนร่วมทางเป็นหัวมันฝรั่งว่า
“คนแอฟริกาและคนญี่ปุ่นไม่มีอะไรเป็นจุดร่วมที่จะเข้าใจซึ่งกันและกันได้เลย เราไม่เคยเห็นปืน เพราะในญี่ปุ่นอาวุธปืนเป็นสิ่งผิดกฎหมายร้ายแรง แต่ในแอฟริกา คนมีปืนกันเป็นเรื่องธรรมดา เราไม่เข้าใจ และเขาก็ไม่เข้าใจเรา แต่พอพูดถึง ‘potato’ ทุกคนรับรู้และรู้สึกเหมือนกัน ถึงเขาจะมีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นต่างกันไป แต่ potato ก็คือ potato ไม่มีอะไรซับซ้อนในการรับรู้ มันฝรั่งจึงเป็นเหมือนจุดเชื่อมที่ผมใช้เข้าหาผู้คนตลอดการเดินทาง”
ตลอดเวลาเจ็ดเดือน ทาคุโระใช้มันฝรั่งเพียงหัวเดียว เมื่อถึงปลายทางมันจึงค่อนข้างเหี่ยวและงอกราก และโชคดีที่มันไม่ได้แหลกไปตอนเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำในทะเลทรายนามีเบีย
“คนขับขับเร็วมาก รถคว่ำ ผู้โดยสารบาดเจ็บหลายคน ผมเองไม่เป็นไรแต่ทำมันฝรั่งหล่นหาย ผมตกใจมาก คิดแต่ว่าแล้วทีนี้จะทำยังไง มีคนพยายามช่วย เขาถามว่าผมทำอะไรหาย เงิน บัตรเครดิต กล้อง หรืออะไร พอบอกว่ามันฝรั่ง พวกเขาบอกอะไรนะ! ช็อก!” ทาคุโระหัวเราะและค้อมหัวด้วยความเข้าใจเมื่อนึกถึงปฏิกิริยาของผู้คนในตอนนั้น
ผลงานสารคดีแนวทดลองกึ่งไซไฟอีกเรื่องของทาคุโระมีชื่อว่า The Village Bids for UFO สะท้อนเล่าผลกระทบของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีต่อหมู่บ้านในชนบทญี่ปุ่น ซึ่งเคยสงบสุขและอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ
“โอคุโนโตะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ คนที่อาศัยอยู่ตอนนี้มีแต่คนเฒ่าคนแก่ ไม่มีคนหนุ่มสาว ก่อนหน้านี้พวกเขาตัดสินใจเปิดทางให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ด้วยเหตุผลเรื่องการเงิน เพราะเมื่อเศรษฐกิจระดับรากหญ้าเปลี่ยนไป คนเฒ่าคนแก่ก็เลี้ยงตัวเองได้ยากขึ้น แต่หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่บริสุทธิ์และงดงามมาก น้ำใส ปลามีรสชาติขึ้นชื่อ ชาวบ้านแตกเป็นสองกลุ่ม แต่กลุ่มที่อยากให้สร้างชนะและรัฐบาลก็เริ่มงานก่อสร้าง ช่วงนั้นเองเกิดภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ชาวบ้านโอคุโนโตะตกใจมาก ทุกคนเห็นตรงกันว่าฉิบหายแน่ จึงขอให้ยุติโครงการ”
เมื่อทาคุโระเดินทางไปที่หมู่บ้านดังกล่าว เขาเองมีสถานะเป็นคนนอกและรับรู้ได้ถึงรอยร้าวในหมู่ชาวบ้านที่ยากจะเยียวยา สำหรับเขา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่เพียงส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังทำลายความเป็นชุมชนลง เขาจึงเริ่มถ่ายทำสารคดีโดยใช้ UFO เป็นเครื่องมือ
“พูดตรงๆ ไม่ได้ คนยังอ่อนไหวกลับเรื่องนี้ ผมพบว่าความอันตรายอยู่ที่คำ แต่ถ้าเปลี่ยนคำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นยูเอฟโอ เราพูดคุยถกเถียงได้ มันเป็นคำที่ปลอดภัย ผมจึงออกไปสัมภาษณ์คนทุกกลุ่ม คนที่ต่อต้าน คนที่สนับสนุน แม่บ้าน คนในชุมชน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ
“เรื่องที่ถามจะต่างกัน เช่นว่าญี่ปุ่นกำลังจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เวลาคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งแฮปปี้มากที่จะพูดถึงโอลิมปิก ผมก็บอกเขาว่าสารคดีนี้เป็นงานศิลปะ ตรงไหนที่จะพูดว่า ‘โอลิมปิก’ ขอให้ใช้คำว่า ‘ยูเอฟโอ’ แทน อย่างคนในชุมชน บางคนผมบอกว่าหมู่บ้านของคุณมีธรรมชาติและทรัพยากรทางทะเลที่มีค่ามาก ผมอยากสัมภาษณ์แต่อยากให้คุณเปลี่ยนคำว่า ท้องทะเล เป็น ยูเอฟโอ หนังเรื่องนี้เป็นจุดเริ่มของหนังไซไฟที่เกี่ยวกับประเด็นการเมืองของผม”
ระหว่างปี 2560-2561 ทาคุโระได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นมาวิจัยและทำงานศิลปะในประเทศไทยเป็นเวลาหนึ่งปี และเขาเลือกประเทศไทยด้วยเหตุผลว่าขณะนั้นกำลังจะมีเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติ 3 เทศกาลเกิดขึ้น และเขาเองเคยมาประเทศไทยในสมัยที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง จึงอยากมาสัมผัสและเรียนรู้ว่าศิลปินไทยมีชั้นเชิงในการรับมือการเซ็นเซอร์ที่เข้มข้นขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารอย่างไร
“เรื่องนี้สำคัญต่อผมมาก เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้นายชินโซ อาเบะ กำลังเดินตามรอยประเทศไทย พวกเขาถอยหลังกลับไปทำตัวเหมือนเมื่อห้าสิบปีก่อน ผมมองว่าประเทศไทยวันนี้ก็คือญี่ปุ่นในอนาคตอันใกล้ถ้าอาเบะยังเป็นนายกฯ ต่อไป”
ระหว่างเป็นศิลปินในพำนัก ทาคุโระทำงานภาพยนตร์ไว้ถึง 3 เรื่อง ได้แก่ Return of the Poet ภาพยนตร์แนวจิตวิญญาณเกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์, XXX ภาพยนตร์ไซ-ไฟเล่าถึง 6 เรื่องราวในโลกคู่ขนาน และ Man from a Distant Planet ที่ได้กล่าวถึงไปในตอนแรก
“ผมได้อ่านหนังสือรวมบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นเมื่อกว่า 30 ปีก่อน และประทับใจมาก จึงเดินทางไปตามหาอนุสาวรีย์ของเขาที่สกลนคร
จิตร ภูมิศักดิ์เป็นกวีที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับผม แต่สำหรับคนไทยโดยทั่วไปคงรู้จักจิตร ภูมิศักดิ์ในฐานะนักกิจกรรม คอมมิวนิสต์ หรือคนที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เขาเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่ฉีกใบปริญญาทิ้ง เขาเคยโดนจับขังคุกด้วยข้อหาของยุคสมัย หลังจากนั้นเขาเดินทางเข้าป่า บางช่วงอาจต่อสู้กับกองกำลังของฝ่ายไทย และเขาถูกยิงตายที่ชายป่าในสกลนคร ตอนอายุเท่าๆ ผมตอนนี้”
นั่นจึงนำมาสู่ภาพยนตร์ความยาว 30 นาที ที่ทาคุโระสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กวีคนสำคัญผู้นี้
ขณะที่ XXX เป็นภาพยนตร์ทดลองที่มีปรากฏการณ์เด็กติดถ้ำหลวงเป็นแกนความคิด ซึ่งภาพและเรื่องราวส่วนหนึ่งเขาได้มาจากการเข้าไปถ่ายทำเบื้องหลังการทำงานของผู้สื่อข่าวนานาชาติในบริเวณถ้ำหลวง โดยใช้ PRESS PASS ที่ทำขึ้นเอง
“ทำเองครับ แต่ก็เข้าได้” เขาหัวเราะเขินๆ “ผมไม่ได้ถ่ายทีมหมูป่า แต่ถ่ายพวกผู้สื่อข่าวที่มาถ่ายเด็กๆ มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากนะ นักข่าวมากันเป็นพัน ข่าวด่วนทั่วโลกตอนนั้นมีแต่เรื่องนี้ ผมประหลาดใจมาก โดยเฉพาะการที่เกษตรกรแถวนั้นยอมเสียสละพืชผลของตัวเอง ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น แล้วรัฐบาลทำแบบนี้ชาวบ้านจะโกรธมาก แต่คนไทยไม่โกรธเลย เขาต้องการช่วยชีวิตเด็กๆ ผมนับถือน้ำใจคนไทยมาก
“ถ้าเกิดสถานการณ์เดียวกันนี้ที่ญี่ปุ่น ผมว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะโมโหเด็กๆ คิดว่าเด็กพวกนี้ซนเอง นี่มันฤดูฝน เข้าไปทำไม ไม่มีทางที่คนญี่ปุ่นจะยอมทำแบบที่คนไทยทำ เพราะการช่วยเหลือต้องใช้เงินมหาศาลและก่อความเสียหายกับคนจำนวนไม่น้อย”
ทาคุโระเป็นศิลปินที่ทำงานภาพยนตร์โดยไม่มีสคริปต์ ประเด็นและสถานการณ์มักแตกออกจากแนวความคิดหลักในลักษณะด้นสด สำหรับเรื่อง Man from a Distant Planet ก็เช่นเดียวกัน ทาคุโระชักชวนเพื่อนนักแสดงและดาราตลกชาวญี่ปุ่นชื่อ Genki Iizo ให้เดินทางไปถ่ายทำที่ปัตตานี โดยมี ‘เอเลี่ยน’ เป็นแกนเรื่อง
“แม้ว่าผมจะโฟกัสไปที่ปัตตานี แต่แบ็คกราวด์ของหนังคือรัฐบาลของประเทศผม เราถ่ายที่ปัตตานี เราถ่ายทำเกี่ยวกับสังคมไทย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ปัญหาของชาวมุสลิม แต่แบ็คกราวด์ของมันคือการที่รัฐบาลอาเบะต้องการจะควบคุมทุกอย่าง เขาหลงใหลอเมริกา เขาเกลียดจีน เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เขาบอกว่าเราต้องการปกป้องญี่ปุ่น อย่าให้คนอื่นเข้ามาหาประโยชน์ ซึ่งคนรุ่นเดียวกับผมจำนวนไม่น้อยเชื่ออาเบะ และชาวญี่ปุ่นเองก็มีภาพว่าชาวมุสลิมเป็นภัยคุกคาม
“เรื่องนี้ผมถ่ายทำแบบสารคดี อย่างเวลาสัมภาษณ์เกงกิซัง ผมจะบอกเขาว่าจะสัมภาษณ์คุณเกี่ยวกับคนปัตตานีนะ ตรงไหนที่คุณพูดถึงคนปัตตานีขอให้ใช้คำว่าเอเลี่ยนแทน และคุณสามารถแต่งเรื่องอะไรขึ้นมาก็ได้ เวลาสัมภาษณ์คนปัตตานีก็เหมือนกัน สิ่งที่เขาแสดงความเห็นมีทั้งศิลปิน นักดนตรี ชาวต่างชาติ รวมถึงคนญี่ปุ่นด้วย เพียงแต่เขาใช้คำว่าเอเลี่ยนแทนสิ่งที่เขาพูดถึง ฉะนั้น เอเลี่ยนที่เกงกิซังกับคนปัตตานีพูดถึงเป็นคนละเอเลี่ยนกัน”
มันฝรั่ง ยูเอฟโอ และเอเลี่ยนจึงเป็นเครื่องมือที่ทาคุโระใช้เข้าหาสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก อ่อนไหว ไปจนถึงอันตราย ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ศิลปะร่วมสมัยง่ายแก่การเข้าถึงของคนในวงกว้าง สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ชม Man from a Distant Planet หลายคนคงหลุดหัวเราะ สงสัย อยากรู้อยากเห็น และสนุกไปกับการตามหาเอเลี่ยนของนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นในเรื่อง แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็คงอดถามตัวเองไม่ได้ว่า ใครหรืออะไรกันแน่คือเอเลี่ยน
“ตอนฉายหนังเรื่องนี้ที่เชียงใหม่ ซึ่งคนดูส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและเป็นชาวพุทธ เขาไม่เคยลงไปใต้สุดของประเทศ จึงไม่เข้าใจ มีคำถามว่าทำไมคนปัตตานีในหนังดูแฮปปี้ ร้องรำทำเพลง ไม่เห็นเหมือนที่เขาเห็นในทีวีหรือในข่าวเลย พวกเขาสงสัยว่าอะไรกันแน่คือความจริง อันไหนกันแน่ที่เป็นการสร้างภาพ ผมก็บอกพวกเขาว่า Please go to Pattani.”
ล่าสุด ทาคุโระเดินทางไปยังโอกินาวะ จังหวัดใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถูกใช้เป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกามาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเขาเองก็รู้สึกว่าโอกินาวะเป็นคล้ายปัตตานีของญี่ปุ่นในมิติที่ต่างกันออกไป
“ที่ญี่ปุ่นมีฐานทัพอเมริกันอยู่หลายแห่ง แต่ 90 เปอร์เซนต์อยู่ที่โอกินาวะ ทั้งที่เป็นเกาะเล็กๆ ชาวโอกินาวะโกรธชาวญี่ปุ่นอื่นๆ ว่าทำไมให้มาตั้งฐานทัพที่บ้านของเขา เพราะมันก่อปัญหามากมายให้กับคนท้องถิ่น อย่างการข่มขืน ยาเสพติด การปล้นจี้ เพราะทหารอเมริกันมีทั้งปืนและมีด ไหนจะอุบัติเหตุจากการฝึกบิน อย่างกรณีที่มีชิ้นส่วนเฮลิคอปเตอร์ตกลงมากลางโรงเรียนประถม แต่เวลาที่มีคลิปหรือการรายงานในสื่อ คนญี่ปุ่นบางกลุ่มก็คิดว่านี่มันเฟกนิวส์ คงเป็นข่าวเก่า ทำไมชาวโอกินาวะต้องไปโกรธเคืองทหารอเมริกันนักหนา ในเมื่อทหารอเมริกันป้องกันพวกเราจากจีน เกาหลี และการข่มขู่อื่นๆ แต่นั่นต่างหากที่เฟก! ส่วนคนโอกินาวะก็ต้องอยู่กับความหวาดกลัว ลูกหลานไปโรงเรียนก็ไม่รู้ว่าต้องเจอกับอะไร เขารู้สึกว่ามันอยุติธรรม”
อีกไม่นานเกินรอ ทาคุโระ โคทากะคงจะมีผลงานภาพยนตร์มาให้เราได้ชมกันอีกเรื่อง และสำหรับประเด็นที่อ่อนไหวไม่แพ้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในห้วงเวลาที่นายชินโซ อาเบะยังกุมอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น เรื่องแต่งแนววิทยาศาสตร์ก็คงได้กลับมาทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง ในการสื่อแทนความจริงให้จริงเสียยิ่งสิ่งที่เป็นข่าว
Fact Box
- ทาคุโระ โคทะกะ เกิดที่จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2527
- ในปี 2560-2561 ทาคุโระได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นให้เดินทางมาวิจัยและทำงานศิลปะในประเทศไทย ในโครงการ Overseas Study for Upcoming Artists ซึ่งเขาได้สร้างผลงานภาพยนตร์ขึ้น 3 เรื่อง ได้แก่ Man from a Distant Planet (ความยาว 21:21 นาที) Return of the Poet (ความยาว 29:45 นาที) และ XXX (ความยาว 30:00 นาที)
- ผลงานทั้งสามเรื่องจัดฉายที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเทศกาลภาพยนตร์ไซไฟชื่อ ‘ดาวเคราะห์ เอ็กซ์ การเมือง ว้ายซี้ดดด....’ (Political Planet X) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2561
- นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่อง Man from a Distant Planet ยังได้จัดแสดงในนิทรรศการชุด Beyond the Final Frontier ที่ S.A.C. Subhashok The Arts Centre ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
-
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการจัดการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ขึ้นในจังหวัดโอกินาวะ เรื่องการย้ายฐานทัพนาวิกโยธินสหรัฐจากเขตฟุเตนมะไปยังเขตนาโงะ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 50 กิโลเมตร ผลประชามติพบว่าผู้ไปใช้สิทธิ์ 72% ไม่เห็นด้วยกับการย้ายไปยังที่ตั้งใหม่ซึ่งยังคงอยู่บนเกาะเดิม แต่อยากให้ย้ายออกไปให้พ้นจากโอกินาวะ อย่างไรก็ตาม เนื่องการประชามติครั้งนี้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย นายชินโซ อาเบะจึงยังยืนยันเดินหน้าต่อกับแผนการเดิม ด้วยเหตุผลว่าไม่สามารถเสียเวลากับการเจรจาได้มากกว่านี้