โธมัส ไรเดลไชเมอร์ (Thomas Riedelsheimer 1963 – ) ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีชาวเยอรมันสร้างชื่อเสียงในระดับโลกด้วยผลงานบันทึกเรื่องราวชีวิตและความสำเร็จของศิลปินเอกในสาขาต่างๆ อาทิเช่น ศิลปะจัดวางในธรรมชาติของ แอนดี โกลด์สเวิร์ทธี (Andy Goldsworthy 1956 – ) การแสดงดนตรีของ เอฟลิน เกลนนี (Evelyn Glennie 1965 -) ประติมากรชาวญี่ปุ่น ซูซุมุ ชินกุ (Susumu Shingu 1937 – ) เป็นต้น

โธมัส ไรเดลไชเมอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีชาวเยอรมัน

ในจำนวนนี้คงจะมีแต่ภาพยนตร์เรื่อง “Touch the Sound” (2004) เพียงเรื่องเดียวที่ผนวกการแสดงดนตรีของเอฟลิน เกลนนี เข้ากับแนวความคิดของ “ภูมิทัศน์ทางเสียง” หรือ Soundscape อันเป็นทิศทางของสุนทรียะแบบใหม่ในการชื่นชมและให้คุณค่ากับสรรพเสียงต่างๆ ที่เราได้ยินได้ฟังโดยตรง แต่ขณะเดียวกันนั้นภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของไรเดลไชเมอร์ อาทิ “Rivers and Tides” (2001) และ “Breathing Earth : Susumu Shingu´s Dream” (2012) อันเป็นเรื่องราวของผลงานศิลปะที่ถูกจัดวางอยู่ในสภาพตามธรรมชาติ ต่างก็ล้วนมีสรรพเสียงของผืนป่า เสียงคลื่นซัดชายหาด และเสียงหวีดหวิวของสายลมตามท้องทุ่ง ผนวกเข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของชิ้นงานศิลปะเหล่านี้และเป็นส่วนหนึ่งของตัวภาพยนตร์เองด้วยเช่นกัน

ใน “Rivers and Tides” (2001) คือภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องของ แอนดี โกลด์สเวิร์ทธี ศิลปินชาวสกอต ประเทศอังกฤษ ผู้สร้างสรรค์ศิลปะแนว Land art หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า “ธรณีศิลป์” หรือ “ภูมิศิลป์” โกลด์สเวิร์ทธีมักจะออกเดินคนเดียวเข้าไปในป่า ย่ำตะลุยไปบนหิมะ หรือก้าวย่างออกไปตามท้องทุ่ง มองหาวัสดุรอบๆ ตัวในพื้นที่ แล้วก็ลงมือสร้างสรรค์ชิ้นผลงานขึ้นบนพื้นที่นั้นๆ เลย ผลงานของโกลด์สเวิร์ทธีจึงตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ตามป่า ตามเขา ตามโตกธาร ตามชายหาด ตามท้องทุ่ง ซึ่งทิ้งเวลาไว้ซักพักผลงานนั้นๆ ก็จะถูกแรงลมแรงฝนพัดพาให้พังลงมากลับสู่สภาพตามธรรมชาติของมันเช่นเดิม

ให้ Soundscape (ภูมิทัศน์ทางเสียง) เชื่อมธรรมชาติเข้ากับผลงานศิลปะ

แรกเริ่มเดิมทีผลงานของโกลด์สเวิร์ทธีเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปผ่านหนังสือภาพ ซึ่งบันทึกศิลปะแต่ละชิ้นของโกลด์สเวิร์ทธีท่ามกลางพื้นที่ธรรมชาติอันห่างไกลผู้คน หลังจากที่ถ่ายภาพเสร็จแล้วโกลด์สเวิร์ทธีก็จะปล่อยงานของเขาทิ้งไว้ตรงตำแหน่งนั้น แล้วมันก็จะมักจะหักโค่นลงภายในเวลาที่ไม่นานนัก สิ่งซึ่งเหลืออยู่ก็คือภาพถ่ายเหล่านี้นี่เอง ผู้กำกับฯ ไรเดลไชเมอร์จึงบันทึกผลงานของโกลด์สเวิร์ทธีเหล่านี้ไว้ด้วยรูปแบบของภาพยนตร์สารคดี

นอกเหนือไปจากภาพถ่ายของตัวผลงานศิลปะเอง ไรเดลไชเมอร์ได้บันทึกถึงกระบวนการทำงานและวิธีการสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนบันทึกสัมภาษณ์ของโกลด์สเวิร์ทธีไว้โดยตลอด รวมถึงบางครั้งที่เค้าถ่ายทำผลงานของโกลด์สเวิร์ทธีที่กำลังค่อยๆ เสื่อมสภาพลง เช่น ลวดลายโค้งสลับไปมาบนแท่งหิน ที่ทำขึ้นจากแท่งน้ำแข็งจากธรรมชาติ ซึ่งโกลด์สเวิร์ทธีจะต้องออกจากบ้านตอนตีสี่ (ก่อนที่ตะวันขึ้น) เขาจะหักแท่งน้ำแข็งหลายๆ แท่งมาต่อเชื่อมกัน (ด้วยหยดน้ำ) ให้ออกมาเป็นลวดลายโค้งสลับไปมาบนแท่งหิน เขามีเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ที่จะทำมันให้สำเร็จและถ่ายเป็นภาพและภาพยนตร์เก็บไว้ ซึ่งเมื่อแสงแดดเริ่มออกสาดแสงลงบนชิ้นงานของเขา ลวดลายน้ำแข็งโค้งไปมาก็จะเริ่มละลายและพังทลายลงไป

แท่งน้ำแข็งเล็กๆ ตามธรรมชาติที่โกลด์สเวิร์ทธีนำมาต่อเรียงกันเป็นเส้นสายและเปล่งประกายเมื่อต้องแสงอาทิตย์

สายน้ำมาบรรจบกับทะเลคือสถานที่ๆ โกลด์สเวิร์ทธี ชอบสร้างงานขึ้นที่นี่เสมอ

นอกจากไรเดลไชเมอร์จะบันทึกขั้นตอนการทำงานของโกลด์สเวิร์ทธีไว้ในภาพยนตร์แล้ว ยังได้บันทึก “เสียง” ของสภาพแวดล้อมอันเป็นที่ตั้งของผลงานชิ้นนั้นๆ ไว้ด้วยเช่นกัน เสียงของน้ำตก เสียงไหลรินของลำธาร เสียงของคลื่นที่ซัดขึ้นมาบนชายหาด เหล่านี้ช่วยบ่งบอกถึง Landscape หรือ “ภูมิทัศน์” หรือถิ่นที่อยู่นั้นๆ ดังนั้นสรรพเสียงในถิ่นที่อยู่เหล่านั้นก็คือ Soundscape หรือ “ภูมิทัศน์ทางเสียง” อันเป็นตัวเชื่อมสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเข้ากับประติมากรรมหรือผลงานศิลปะชิ้นนั้นๆ นั่นเอง

สัมผัสทางเสียง ของนักดนตรีที่พิการทางหู ‘เอฟลิน เกลนนี’

ในภาพยนตร์เรื่องต่อมา “Touch the Sound” (2004) อันเป็นเรื่องราวของนักดนตรีประเภทเครื่องเคาะ (percussionist) หญิงชาวสกอต ประเทศอังกฤษ นาม เอฟลิน เกลนนี ด้วยที่ว่าเธอเป็นนักดนตรีประเภทกลองและเครื่องเคาะต่างๆ (รวมถึงเครื่องเคาะที่มีระดับเสียงหรือโน๊ตดนตรีที่แน่นอน เช่น ระนาดฝรั่ง (ไซโลโฟน) หรือ มาริมบา ฯลฯ) แนวดนตรีที่เธอถนัดจึงมีความหลากหลายเป็นพิเศษตั้งแต่ดนตรีคลาสสิก แจ๊ส ร็อก ดนตรีโลก (World music) จนถึงดนตรีทดลองประเภทเคาะเหล็ก เคาะถัง เคาะกะละมัง (เจออะไรเคาะแล้วมันส์และสนุก เธอสามารถเคาะให้มันเป็นเพลงได้หมด) ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ไรเดลไชเมอร์ ตั้งใจอย่างยิ่งที่จะนำเสนอแนวคิดที่ว่าทุกสรรพเสียงล้วนคือความสุนทรีย์ ตัวภาพยนตร์เป็นทั้งบทสัมภาษณ์ เป็นบันทึกการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก อันแสดงให้เห็น “ภูมิทัศน์ทางเสียง” อันหลากหลายทั้งความอึกกระทึกครึกโครมของโลกล้ำยุคและความเงียบสงัดตามสภาพธรรมชาติอันห่างไกลผู้คน

แต่สิ่งที่ไม่มีนักดนตรีคนไหนๆ จะเหมือนเธอ เอฟลิน เกลนนี ได้อีก คือการที่เธอมีความผิดปกติทางการได้ยิน หรือจะเรียกได้ว่าเธอพิการ “หูหนวก” นั่นเอง ในฐานะของนักดนตรีระดับโลกแล้วนั้น สื่อมวลชนย่อมจะตั้งคำถามถึงเสมอว่าผู้พิการทางการได้ยินจะมีความสามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักดนตรีระดับโลกดังเช่นเธอผู้นี้ได้อย่างไร เกลนนี ยืนยันว่าหูของเธอไม่ได้บอดสนิท เธอยังคงได้ยินเสียงอยู่บ้าง อีกทั้งการฝึกฝนที่อาศัยผิว “สัมผัส”ต่างๆ ตามร่างกายในการรับรู้การสั่นสะเทือน ทำให้เธอรับรู้ถึงปรากฏการณ์ทางเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเธอ นี่คือที่มาของชื่อภาพยนตร์ “Touch the Sound” หรือ สัมผัสแห่งเสียงนั่นเอง

ในภาพยนตร์มีฉากที่เธอสอนนักเรียนที่หูบกพร่องทางการได้ยินให้ลองใช้มือแตะไปที่กลองทิมปานีเพื่อลองสัมพัสถึงการสั่นสะเทือนของหนังกลองและตัวกลองเมื่อได้รับการตี หรือฉากการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ที่ผู้ชมอาจจะประหลาดใจที่เธอสามารถพูดโต้ตอบกับโทรศัพท์ที่เปิดสปีกเกอร์โฟนไว้ จนหนังตัดภาพให้เห็นว่ามีบุคคลที่เป็นล่ามซึ่งจะคอยฟังคำพูดจากสปีกเกอร์โฟนและพูดซ้ำอีกทีเพื่อให้ เกลนนี ได้อ่านริมฝีปาก (ซึ่งแปลว่าเธอต้องอาศัยการอ่านริมฝีปากจากคู่สนทนาในการพูดโต้ตอบในชีวิตประจำวันด้วยนั่นเอง)

หลายๆ ฉากในเรื่องผู้กำกับภาพยนตร์ โธมัส ไรเดลไชเมอร์ พาให้ เอฟลิน เกลนนี ไปอยู่ในสภาพพื้นที่อันหลากหลายและให้เธอแสดงดนตรีของเธอออกมา เช่น สถานีรถไฟกลางแห่งนครนิวยอร์คที่จะทำให้เสียงกลองของเธอก้องกังวาลไปทั่ว หรือชายฝั่งผาชันของสกอตแลนด์ที่เธอใช้สัญญาณเสียงคลื่นวิทยุล้อเลียนไปกับเสียงลมและคลื่นทะเล ลีลาการโต้ตอบไปมาระหว่างกลองของเธอกับกลุ่มนักดนตรีกลองไทโกะของญี่ปุ่น หรือแม้กระทั้งพื้นที่แห่งความเงียบสงัดในสวนญี่ปุ่นแบบนิกายเซน

เอฟลิน เกลนนี กำลังเคาะตัวเพื่อนร่วมงาน เฟรด ฟริธ ดูซิว่าจะมีเสียงเป็นอย่างไร

ม้วนกระดาษขณะที่ถูกโยนออกไปเพื่อ“ระบาย”เสียงในอากาศ

เสียงจะออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมด้วย

แต่ฉากใหญ่ที่สำคัญคือการแสดงการบรรเลงดนตรีแบบ“ด้นสด” (Improvisation) กับ เฟรด ฟริธ (Fred Frith – นักกีตาร์ที่เล่นดนตรีในหลากหลายสไตล์ และเป็นผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Rivers and Tides” ด้วยเช่นกัน) ฉากการบรรเลงดนตรีในโรงงานร้างนี้ โธมัส ไรเดลไชเมอร์ ต้องการบันทึกเสียงให้ได้ความก้องกังวาน (reverb) ของการบรรเลงดนตรีแนวทดลองนี้ให้มีเสียงสะท้อนมากเป็นพิเศษ ที่นอกจากเพิ่มคุณลักษณะของเสียงให้โดดเด่นเป็นพิเศษแล้วยังแสดงให้เห็นถึงการใช้ความสัมพันธ์ของเสียงและสภาพแวดล้อม (landscape) สภาพแวดล้อมหนึ่งๆ ก็จะก่อให้เกิดคุณลักษณะของเสียงในแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าเสียงเดียวกันไปกำเนิดอยู่ ณ สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ก็จะให้เสียงที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน อันเป็นแนวคิดที่สำคัญของความเป็น Soundscape หรือ “ภูมิทัศน์ทางเสียง” อีกด้วย

ในการบรรเลงนี้ เกลนนี ใช้เครื่องดนตรีและเครื่องเคาะต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ มาริมบา กลองชุด เครื่องเขย่า หรือลูกกระพรวนต่างๆ จนถึงลูกฆ้องใบใหญ่ของเครื่องดนตรีพื้นเมืองอินโดนีเซีย โดยเฉพาะโหม่งขนาดยักษ์ (Large gong) ที่เมื่อตีแล้วจะให้เสียงกังวานและสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งอาคาร เป็นต้น ส่วน เฟรด ฟริธ นั้นก็จะใช้เสียงอิเล็กโทรนิกส์จากเอ็ฟเฟกต์ของกีตาร์ไฟฟ้า ทั้งการดีด การตีที่สาย และการใช้คันชักสี ซึ่งก็จะให้เสียงที่แปลกประหลาดอันเป็นหัวใจสำคัญของดนตรีทดลองด้วยเช่นกัน

กังหันลมของ ซูซุมุ ชินกุ

ในภาพยนตร์เรื่อง “Breathing Earth : Susumu Shingu´s Dream” นั้น เป็นการเล่าเรื่องของ ซูซุมุ ชินกุ ชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติอีกคนหนึ่ง ผลงานของ ชินกุ ผสมผสานการออกแบบเชิงวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม เข้าไว้ด้วยกันเป็นผลงานในรูปแบบของ Kinetic art ที่ในภาษาไทยเรียกว่า “จลนศิลป์” หรือผลงานศิลปะที่สามารถเคลื่อนไหวได้ และปัจจัยสำคัญ หรือแรงที่ส่งให้งานของชินกุเคลื่อนไหวได้นั้นก็คือสายลมนั่นเอง ชินกุเชื่อว่าสายลมที่พัดผ่านไปมานี้คือลมหายใจของโลก ซึ่งสายลมนี้จะพัดพาและนำเอาความอุดมสมบูรณ์พูนสุขมาสู่ทุกๆ ชีวิต และถ้าโลกหยุดหายใจหรือสายลมเป็นพิษขึ้นมาเมื่อใด ทุกๆ ชีวิตในโลกก็จะดับลงไปพร้อมๆ กัน

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ โธมัส ไรเดลไชเมอร์ เล่าเรื่องของ ซูซุมุ ชินกุ (และภรรยา) เดินทางออกไปทั่วโลกเพื่อที่จะหาทุนในการสร้างหมู่บ้านเล็กๆ ที่เรียกชื่อโครงการนี้ว่า “Breathing Earth” โดยพลังงานสะอาดที่หล่อเลี้ยงหมู่บ้านนี้ไว้ก็คือพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากกังหันลมนี่เอง แต่ด้วยความที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ อีกทั้งชินกุออกแบบให้อาคารเหล่านี้เป็นงานศิลป์มากกว่าประโยชน์ให้สอยทางวิศวกรรม นับตั้งแต่ปี 2009 เรื่อยมา โครงการนี้จึงยังคงไม่ประสบความสำเร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เป็นตัวผลงานจริงๆ ซักเท่าไหร่ และก็คงเป็นได้แค่ “ความฝัน” ที่ชินกุวาดไว้ในใจเสมอมา แม้ว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จกับโปรเจ็คใหญ่ยักษ์ แต่ผลงานของ ซูซุมุ ชินกุ ก็ได้รับความนิยมจากสาธารณชนโดยทั่วไป ผลงานของเขามีขนาดตั้งแต่งานไม้ใบพัดขนาดเล็กๆ เหมือนของเล่นเด็ก จนถึงงานโลหะขนาดใหญ่ที่ใช้ระบบกลไกในการเคลื่อนไหว ติดตั้งอยู่ในเขตเมืองใหญ่ สวนสาธารณะ ตามชนบท กลางทุ่งนา ทั้งในญี่ปุ่น อาทิเช่น ใบพัดหลากสีสันที่โบกไหวไปมาอยู่ในอาคารสนามบินนานาชาติคันไซ เมืองโอซากา หรือที่ตึกร้าน Hermes ย่านกินซ่า ณ กรุงโตเกียว ที่หลายคนอาจจะเคยเดินผ่านและสังเกตเห็น และติดตั้งอย่างถาวรหรือจัดแสดงเป็นนิทรรศการอยู่ทั้งในประเทศยุโรปทั้งใน เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ เป็นต้น

กังหันลมของ ซูซุมุ ชินกุ นอกจากจะเป็นงานศิลป์แล้ว ยังสามารถก่อให้เกิดพลังงานสะอาดอีกด้วย

ภาพวาดหมู่บ้าน “Breathing Earth” จากการออกแบบของ ซูซุมุ ชินกุ

สายลมที่แท้ก็คืออากาศที่พัดผ่าน

สิ่งมีชีวิตต่างก็ใช้อากาศในการหายใจ จะขาดไปมิได้แม้เพียงชั่วขณะเดียวก็ตาม

และ…..เราไม่อาจจะได้ยินเสียงในอวกาศ…..

แนวความคิดเหล่านี้นี่เองที่เชื่อมโยงภาพยนตร์สารคดีทั้ง 3 เรื่องของ โธมัส ไรเดลไชเมอร์ เข้าไว้ด้วยกัน มวลอากาศบางๆ ตามสายลมซึ่งเป็นเสมือนการหายใจของโลก (ตามแนวคิดของ ซูซุมุ ชินกุ นี้) คือผู้พาคำตอบของเสียงที่อยู่ในสายลมมาสู่หูของเรา สรรพเสียงตามธรรมชาติที่อยู่ควบคู่กับ Land art ของ แอนดี โกลด์สเวิร์ทธี หรือเสียงดนตรีที่ เอฟลิน เกลนนี บรรเลงอยู่ตามภูมิทัศน์สภาพแวดล้อมอันหลากหลายเหล่านี้ ล้วนเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่เคลื่อนผ่านมวลอากาศอันเป็นโมเลกุลของก๊าชที่ล่องลอยอยู่ทั่วใต้ชั้นบรรยากาศโลก พลังงานในรูปแบบของคลื่นเคลื่อนที่ดันมวลอากาศเล็กๆ เหล่านี้เข้ามาสั่นสะเทือนแก้วหูของเรา เราจึงสามารถรับรู้ได้ซึ่งสุนทรียะของสรรพเสียงเหล่านี้ ภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องนี้ มิได้แค่ทำให้เราซาบซึ้งในศิลปะรูปแบบใหม่ๆ แต่น่าจะช่วยให้เราตั้งใจฟังสรรพเสียงก้องสะท้อนอันละเอียดอ่อน แผ่วเบา และเชื่อมโยงความงามเหล่านี้เข้ากับความสมบูรณ์ตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งๆ ขึ้นด้วย

ชมตัวอย่างภาพยนตร์เหล่านี้ได้ที่นี่

Tags: , , , , , ,