แทบจะเป็นธรรมเนียมการส่งท้ายปีไปแล้วที่สำนักเทรนด์ทั่วโลกจะออกมาวิเคราะห์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ The Momentum จึงคัดเลือก 5 เทรนด์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในปี 2030 จากการคาดการณ์ของบริษัทคอนซัลต์ระดับโลก โรแลนด์เบอร์เกอร์ (Roland Berger) มาเล่าสู่กันฟังและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแนวโน้มที่จะพลิกโฉมธุรกิจไทยและอุตสาหกรรมโลก

Photo: Issei Kato, Reuters/profile

1. โลกของเรากำลังแก่! เพราะ 1.4 พันล้านคนจะเป็นผู้สูงอายุ

2030 scenario: ในอีก 14 ปีข้างหน้า มนุษย์อาจมีอายุยืนยาวโดยที่ร่างกายไม่ได้เสื่อมสภาพตามไปด้วย พูดง่ายๆ ก็คือต่อให้เราอายุเกิน 100 ปี ร่างกายของเราก็ยังไม่แก่ แถมยังทำงานได้ตามปกติ นอกจากผู้คนจะมีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้นแล้ว เทคโนโลยีอัจฉริยะจะช่วยยืดอายุร่างกายให้ทำงานได้นานขึ้น นักออกแบบอวัยวะสามารถสั่งตัดอวัยวะใหม่จากเครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อใช้ในการผ่าตัด ขณะที่ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยจะถูกส่งจากนาโนชิปที่ฝังในร่างกายไปถึงแพทย์ประจำตัวทันที

สังคมยุคใหม่จะเต็มไปด้วยคนหลายเจเนอเรชัน ทางองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าในอีก 14 ปี จะมีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มากถึง 1.4 พันล้านคน หรือ 16.5% ของประชากรโลกทั้งหมด 8.4 พันล้านคน ขณะที่ผู้สูงอายุไทยจะพุ่งสูงถึง 30% ของประชากรทั้งหมด 68.3 ล้านคน คนรุ่นเบบี้บูมจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเยอะ และการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อทุกอุตสาหกรรมและตลาด แรงงานในอนาคตอย่างแน่นอน

โอกาสที่น่าสนใจของธุรกิจไทย:

– พัฒนาสินค้าและบริการให้น่าใช้ ตอบสนองทั้งฟังก์ชันการใช้งาน รสนิยม และความต้องการของผู้สูงอายุยุคใหม่

– เทคโนโลยีอัจฉริยะจะเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ เช่น สมาร์ตโฮมที่มีระบบเซ็นเซอร์แจ้งเตือนการหกล้ม และ Wearble Device ที่ช่วยบันทึกสุขภาพหรือระบุโลเคชันของผู้สูงอายุแบบเรียลไทม์

– บริการด้านการเงินและการวางแผนการออมในวัยเกษียณทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์

– บริการรถสาธารณะ เช่น แอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุ และรถยนต์ไร้คนขับ

Photo: Danish Siddiqui/ Reuters,profile

2. โลกไร้พรมแดนเหมือนเดิม เพิ่มเติมคืออำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ที่โตแบบก้าวกระโดด

2030 scenario: กระแสโลกาภิวัตน์ยังคงมีอิทธิพลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจนถึงปี 2030 ภาคการส่งออกจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี กลุ่มเศรษฐกิจบริกส์ (BRICS) จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นกว่า 2 เท่า โดยมีมูลค่าทางจีดีพีเป็น 38% ของจีดีพีโลก ขณะที่ประชากรอินเดียจะแซงหน้าจีน ชนชั้นกลางจะเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพาอินเดียก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจในเวทีเศรษฐกิจโลก

โอกาสที่น่าสนใจของธุรกิจไทย:

– วิเคราะห์ซีเนริโอและประยุกต์ใช้กับแผนการลงทุนทำธุรกิจ เพื่อจัดการกับความเสี่ยง และพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจให้ทัดเทียมกับตลาดของกลุ่มเศรษฐกิจบริกส์ (BRICS)

– จับตาตลาดและกลุ่มผู้บริโภคที่จะกลายเป็นขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ เช่น อินเดีย

Photo: Staecker, Wikimedia Commons

3. โลกที่ขาดแคลนทรัพยากร

2030 scenario: ความท้าทายใหญ่ที่ทุกคนจะต้องเผชิญร่วมกันก็คือ การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่ผลิตทดแทนไม่ได้ ในปี 2030 จำนวนประชากรโลกจะพุ่งทะยานถึง 8.4 พันล้านคน การเติบโตของชนชั้นกลางจะส่งผลให้ชุมชนกลายเป็นเมืองและเกิดการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าปี 2030 จะมีคนอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่า 5 พันล้านคน โดยเฉพาะในแอฟริกาและเอเชีย ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และโรงงานผลิตไฟฟ้าทำให้เราต้องใช้ทรัพยากรน้ำมากกว่าเดิมเกือบ 40% ที่น่ากังวลก็คือ เราจะมีทรัพยากรมากพอสำหรับความต้องการมหาศาลเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีโลกมากถึง 3 ใบ

อย่างไรก็ตาม เราอาจเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนน้ำ ภายใน 50 ปี กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีทรัพยากรน้ำไม่เพียงพอต่อการบริโภค และบางประเทศจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำรุนแรงในปี 2040

โอกาสที่น่าสนใจของธุรกิจไทย:

– ทุกธุรกิจควรวางแผนการจัดการทรัพยากรและพลังงานอย่างฉลาด หรือใช้พลังงานทางเลือกแทนพลังงานจากฟอสซิล

– ทำงานกับนักจัดการทรัพยากรเพื่อลดทรัพยากรการผลิต หรือเปลี่ยนสินค้าให้เป็นบริการแทน เช่น สื่อสตรีมมิง การบริการระบบคลาวด์และแอปพลิเคชัน

– สินค้าและบริการที่คำนึงถึงตลอดวงจรการผลิตและลดของเสียให้เป็นศูนย์หรือ Zero Waste จะเป็นที่นิยมมากขึ้น

– บรรจุภัณฑ์ในอนาคตจะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติทันทีหลังใช้งานเสร็จ หรือแม้กระทั่งกินได้!

– เกิดเทรนด์แฟชั่นใหม่ที่สร้างมูลค่าจากโมเลกุลของผงฝุ่น มลภาวะ และขยะ

Photo: Kevin Lamarque, Reuters/profile

4. โลกของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 4.0

2030 scenario: การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะเปลี่ยนโลกทั้งใบไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ เทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างนาโนเทคโนโลยี ไบโอเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และปัญญาประดิษฐ์ จะกำหนดพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเรา จากการสร้างเครื่องจักรเพื่อผ่อนแรงทุ่นแรงเพื่อผลิตให้มากที่สุด เราจะเข้าสู่ยุคที่เครื่องจักรและหุ่นยนต์สื่อสารกันเอง และสร้างระบบการผลิตที่ไม่ต้องพึ่งแรงงานมนุษย์ เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติจะผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มในคราวเดียวหรือ Mass Customization ในแบบที่ Mass Production ทำไม่ได้ เครื่องจักรจะสร้างเครื่องจักรด้วยกันเอง และเป็นไปได้ว่าในปี 2030 จะมีจำนวนหุ่นยนต์มากกว่าคนเสียอีก

ทุกกิจกรรมและความเคลื่อนไหวบนโลกออฟไลน์จะถูกแปรเป็นข้อมูลดิจิทัล ภาพเสมือนจริงจากเทคโนโลยี Virtual Reality จะทับซ้อนกับความเป็นจริงจนแทบแยกกันไม่ออก คนที่จัดการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าได้เหนือชั้นกว่า จะเป็นฝ่ายได้เปรียบในสมรภูมิทางการค้า ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะทำให้การขนส่งเดินทางและระบบโลจิสติกส์เป็นไปอย่างสะดวกราบรื่น อาจเรียกได้ว่านวนิยายวิทยาศาสตร์ที่ใครต่อใครต่างฝันถึงใกล้จะเป็นจริงในไม่ช้า แต่โลกอนาคตอันแสนสะดวกสบายอาจต้องแลกมาซึ่งภัยคุกคาม การก่อการร้ายรูปแบบใหม่ และการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือแม้แต่ถูกหุ่นยนต์แย่งงานทำ

โอกาสที่น่าสนใจของธุรกิจไทย:

– บริษัทใหญ่ๆ ต้องปรับตัว เช่น จับมือกับบริษัทไอทีหรือเทกสตาร์ตอัพ พัฒนานวัตกรรมและสินค้าบริการให้ทัดเทียม

– อาชีพที่จะมาแรงคือ นักออกแบบสื่ออินเตอร์เฟสและมัลติมีเดียสำหรับ Virtual Reality และ Augmented Reality นักมานุษยวิทยาหุ่นยนต์ นักออกแบบปัญญาประดิษฐ์ ขณะที่อาชีพเกี่ยวกับธุรการในออฟฟิศจะค่อยๆ ลดบทบาทและสูญหายไป

– บิ๊กดาต้าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจและเพิ่มความปลอดภัยในโลกออนไลน์

Photo: Marisol Grandon, Creative Commons

5. โลกที่หมุนบนแกนของความยั่งยืนและความรับผิดชอบทางสังคม

2030 scenario: การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่โครงสร้างประชากร โลกาภิวัตน์ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้ว การขาดแคลนทรัพยากร ความเท่าเทียมกันทางเพศ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การปฏิรูปการศึกษา สิ่งเหล่านี้นำไปสู่คำตอบที่ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องครอบคลุมทั้งระดับสังคม เศรษฐกิจ และรัฐ/ประเทศ ขณะเดียวกันผู้บริโภคจะเรียกหาความเป็นธรรมมากขึ้น และยินดีสนับสนุนธุรกิจที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะค้นคว้าข้อมูลเอง หรือทำงานร่วมกับผู้ผลิตท้องถิ่นโดยตรง ถ้าหากสินค้าและบริการมาจากการผลิตที่เอาเปรียบแรงงานและละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้บริโภคยุคใหม่ก็พร้อมจะตั้งคำถาม ตรวจสอบ ต่อต้าน หรือเลิกซื้อสินค้า/บริการแบรนด์นั้นๆ ทันที

โอกาสที่น่าสนใจของธุรกิจไทย:

– แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลของบริษัท/องค์กรเพื่อตรวจสอบความโปร่งใส (Open Data)

– วางแผนการพัฒนาธุรกิจ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมกันทางเพศ และสิทธิมนุษยชน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
     – MEGA TRENDS: A Bigger Picture for a Better Society โดย Roland Berger
– World Population Prospect 2015 Review โดย UN
– Living Planet Report 2013 โดย WWF

 

FACT BOX:

กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS): กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่มีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและรวมตัวกันเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับประเทศตะวันตก ได้แก่ จีน บราซิล อินเดีย และอเมริกาใต้

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , ,