Ookbee ถือเป็นสตาร์ทอัพไทยที่กล้าทำสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา จากผู้บุกเบิกธุรกิจอีบุ๊กรายแรกในไทย หมู–ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ขยับธุรกิจไปอีกขั้น สู่การเป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์มคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์โดยผู้ใช้ (User-Generated Content หรือ UGC)

UGC ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งเฟซบุ๊ก และยูทูบ ต่างเป็นแพลตฟอร์ม UGC ที่คนทั่วโลกสามารถสร้างสรรค์และเผยแพร่เนื้อหาของตัวเอง ศิลปินหน้าใหม่แจ้งเกิดบนพื้นที่เหล่านี้นับไม่ถ้วน โดยไม่ต้องพึ่งค่ายเพลง ค่ายหนัง การทลายกรอบวิธีการทำงานเดิมๆ ส่งผลให้อุตสาหกรรมสื่อ โฆษณา และการตลาดทั่วโลกต้องปรับตัวครั้งใหญ่

ไม่แปลกที่หมู ณัฐวุฒิ จะมองว่า UGC คือ ‘อนาคต’

ไม่นานมานี้ เขาตัดสินใจลุยตลาด UGC เพื่อขยายอาณาจักรคอนเทนต์ออนไลน์ให้ไปไกลกว่าอีบุ๊ก และครอบคลุมเนื้อหาทุกรส ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ Ookbee Writers และ Ookbee Comics สำหรับนัก (อยาก) เขียนนิยายและการ์ตูน จับมือกับ ฟังใจ (Fungjai) สนับสนุนศิลปินและวงดนตรีอินดี้ในไทยในรูปแบบมิวสิกสตรีมมิง

จากการระดมทุนรอบซีรีส์-บี ณัฐวุฒิได้ลงทุนและควบรวมกิจการ Storylog กับ Fictionlog เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพน้องใหม่ เน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบการเขียนบล็อกกับฟิกชัน

ขณะที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคอนเทนต์ออนไลน์เป็น ‘ของฟรี’ เขากลับคิดว่า UGC สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์และตัวแพลตฟอร์ม ถ้ารู้จักเลือกโมเดลธุรกิจที่ ‘ใช่’ และนำเสนอสิ่งที่ ‘ตรงใจ’ ตลาด

ถ้าอยากรู้ว่า UGC จะเปลี่ยนวงการสื่อและคอนเทนต์ไปในทิศทางไหน นี่คือบทสัมภาษณ์ที่เราไม่อยากให้คุณพลาด

 

ทำไมคุณจึงสนใจเทรนด์ User-Generated Content หรือ UGC

User-Generated Content คือคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นโดยผู้ใช้งาน ผมเชื่อว่าเราอยู่ในยุคที่ผู้ใช้งานหรือ User เป็นผู้กำหนดทิศทางของอินเทอร์เน็ตในอนาคต เราเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ติดตาม เช่น เราสนใจเรื่องสตาร์ทอัพ เราก็จะติดตามและแชร์แต่เรื่องสตาร์ทอัพบนเฟซบุ๊ก เราสร้างโลกอินเทอร์เน็ตของเราเอง เส้นแบ่งระหว่างมืออาชีพกับมือสมัครเล่นจะบางลงเรื่อยๆ เพราะใครก็เปิดเพจได้ เราเห็นเพจดังๆ หรือเน็ตไอดอลเต็มไปหมด สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่เขาเป็นผู้ใช้งาน เมื่อก่อนธุรกิจของ Ookbee เป็นร้านอีบุ๊ก เราเอาคอนเทนต์ของนิตยสารและหนังสือมาขาย แต่จริงๆ แล้วคนใช้อินเทอร์เน็ตต่างหากที่สร้างสิ่งที่เขาอยากใช้ อยากดูขึ้นมา เราก็ต้องขยับธุรกิจให้ครอบคลุมส่วนของเนื้อหามากขึ้น

“เส้นแบ่งระหว่างมืออาชีพกับมือสมัครเล่นจะบางลงเรื่อยๆ
เพราะใครก็เปิดเพจได้ เราเห็นเพจดังๆ หรือเน็ตไอดอลเต็มไปหมด”

ธุรกิจ Ookbee มีการเติบโตหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หลังจากเริ่มใช้ระบบ UGC

ในแง่ผู้ใช้งาน มีอัตราการเติบโตขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ เราอยู่ในโลกที่ทุกคนเป็น ‘Digital First’ มากกว่า ผลงานที่ผ่านมือของมืออาชีพมันมีขั้นตอนเยอะ กว่าจะเขียนบทเสร็จ ตรวจสอบกัน จำนวนผลงานก็ออกมาไม่เยอะมากเท่า UGC เห็นได้ว่า UGC จะทำให้เกิดการแชร์ได้เร็วกว่าและมีผู้ใช้งานมากขึ้น แต่ถ้าพูดถึงในแง่ Monetization หรือการหารายได้คงต้องใช้เวลา เมื่อก่อนคนมองว่าต้องลงโฆษณาผ่านสื่อหลัก แต่ตอนนี้มันวนกลับมาหาบล็อกเกอร์ซึ่งเป็นคนธรรมดาที่ให้ความคิดเห็นและมีคนติดตาม เพราะคนอยากได้อะไรที่มันดูจริงกว่า เรียลกว่า ขณะที่ UGC เป็นมือสมัครเล่นยิ่งกว่าบล็อกเกอร์อีก ความต้องการตรงนี้จะเพิ่มมากขึ้น

“เราอยู่ในโลกที่ทุกคนเป็น ‘Digital First’ มากกว่า
ผลงานที่ผ่านมือของมืออาชีพมันมีขั้นตอนเยอะ
จำนวนผลงานก็ออกมาไม่เยอะมากเท่า UGC
คนอยากได้อะไรที่มันดูจริงกว่า เรียลกว่า”

ในเมื่อทุกคนสร้างคอนเทนต์เอง แล้วรายได้หลักของ Ookbee มาจากไหน

เมื่อก่อนเราได้เงินจากการขายคอนเทนต์อย่างเดียว แต่พอเป็น UGC มีคนใช้เยอะขึ้น ก็จะมีรายได้จากการขายโฆษณามากขึ้น แต่การขายโฆษณาของเราจะเป็น Target-Based เพราะเราแทร็กได้ว่าคนอ่านเป็นใคร และรู้ลึกในระดับที่ว่าเขาเคยเปิดดูเว็บไซต์ไหนมาก่อน พอเขาเปิดเว็บเรา จะเกิดการรีทาร์เก็ตโฆษณาที่เกี่ยวกับความชอบของเขา โดยที่อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เขาอ่านก็ได้ ซึ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากกว่า แต่คอนเทนต์ออนไลน์มันไม่มีกระดาษเป็นตัวเปรียบเทียบราคา (Price Point) เหมือนกับนิตยสารที่คนรู้สึกว่าต้องจ่าย เราขายอีบุ๊กในราคาครึ่งหนึ่งได้ เพราะไม่มีค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ เรื่องโฆษณาก็เหมือนกัน เรื่องการใช้จ่ายงบโฆษณาหรือกระทั่งการซื้อคอนเทนต์ก็คงต้องเปลี่ยนรูปแบบ ต้องใช้เวลา แต่ท้ายที่สุดเราว่ามันมีจุดสมดุลอยู่แล้ว ทุกวันนี้บริษัทมีเดียเอเจนซีต้องมีแผนกดิจิทัล ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าแบบไหนมันได้ผลมากกว่ากัน เพียงแค่ว่าคนที่จ่ายงบต้องใช้เวลาปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

 

ภาพรวมของเทรนด์ UGC ในต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้างในเวลานี้

เทรนด์นี้มันอยู่มาตลอด อย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ยูทูบ คือสิ่งที่ผู้ใช้งานเป็นคนสร้างขึ้นมาทั้งนั้น ฝั่งที่ Ookbee เคยทำเมื่อก่อนก็จะคล้ายๆ กับแอมะซอนและคินเดิล (Kindle) ถ้ามองในรูปแบบของบุฟเฟต์ ก็จะเหมือนกับเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่ให้คนจ่ายรายเดือนและใช้เท่าไรก็ได้ แต่ว่ามันก็ยังไม่ได้เป็นคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นมาจากผู้ใช้งาน ความจริงโลกสองโลกนี้มันอยู่ด้วยกัน เราอยู่ในโลกที่คนทั่วไปเล่นเฟซบุ๊ก และเสาร์-อาทิตย์ก็ยังไปโรงหนังเพื่อดูหนังฮอลลีวูดที่มาจากมืออาชีพ เพียงแต่ว่า ณ โมเมนต์หนึ่ง เราก็อยู่ในโลกบนจอมือถือ เรามีทั้งความเห็นที่อยากจะพูดออกไป อยากแชร์สิ่งที่เราสนใจออกไป เราก็อยากจะติดตามเรื่องที่เราสนใจด้วย ผมเลยคิดว่ามันเป็นโลกที่อยู่ด้วยกัน

Photo: Facebook, Lowcostcosplay

ทำไมคอนเทนต์ที่สร้างโดยคนทั่วไปเริ่มมีอิทธิพลหรือได้รับความสนใจมากกว่าคอนเทนต์ที่มาจากมืออาชีพ

เพราะว่ามันเกี่ยวกับเขาไง เราจะรู้สึกเชื่อมโยงกับคอนเทนต์ที่สร้างโดยคนทั่วไปได้ง่ายกว่า เพราะเป็นเพื่อน คนรู้จัก หรือคนที่เราติดตามเป็นประจำ ขณะที่สิ่งที่มืออาชีพทำก็คือมืออาชีพเป็นคนเล่าเรื่องในแง่มุมของเขา ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับคนดูบ้าง แต่คอนเทนต์ที่คนทั่วไปทำจะเรียลกว่า การ live สด มันค่อนข้างจริงในระดับที่เรารู้สึกว่ามันไม่เสแสร้งอะไรมาก ไม่ได้ตัดต่อ เขาอยู่ตรงนั้น ณ ตอนนี้จริงๆ

“คอนเทนต์ที่คนทั่วไปทำจะเรียลกว่า การ live สด
มันค่อนข้างจริงในระดับที่เรารู้สึกว่ามันไม่เสแสร้งอะไรมาก”

คิดอย่างไรกับคนที่บอกว่าคุณภาพของเนื้อหาที่สร้างโดยคนทั่วไปไม่เท่ากับเนื้อหาที่มืออาชีพทำ เราจะมีมาตรการคัดเลือกหรือควบคุมคุณภาพของเนื้อหาอย่างไร

คำว่า ‘มืออาชีพทำ’ หมายถึง มืออาชีพเป็นคนเล่าเรื่องออกมาในแง่มุมของเขา แน่นอนว่าคุณภาพต้องแตกต่างกันอยู่แล้วทางด้านโปรดักชัน เหมือนกับคนที่ไปดูดนตรีสด หรือดูตามผับบาร์ มันไม่เหมือนกับการฟังเพลงในแผ่นซึ่งอัดมาดีกว่า โปรกว่า แต่ก็ยังมีคนที่อยากฟังของจริง หรืออยากรู้ว่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นอย่างไร มันเป็นเรื่องเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่ว่าอยู่คนละที่ คนละจังหวะ

 

มืออาชีพจะเอาตัวรอดยังไง เมื่อคนทั่วไปกลายมาเป็นคู่แข่ง

เราต้องมองว่าก่อนจะเป็นมืออาชีพ ทุกคนเคยเป็นมือสมัครเล่น นี่เป็นเหตุผลที่คอมมูนิตี้เกิดขึ้นมา สมมติว่าตอนเด็กๆ เราอยากเป็นนักวาดการ์ตูน เราพยายามวาดใส่กระดาษและแชร์ให้เพื่อนในห้องอ่าน แค่ 5 คน 20 คน ปัจจุบันทุกคนมีคอมพิวเตอร์ มีมือถือ ซึ่งกลายเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของคนไทยส่วนใหญ่ คนอ่านการ์ตูนของเราอยู่บนอินเทอร์เน็ต พอมีคนคอมเมนต์ ให้ไอเดีย เห็นตัวเปรียบเทียบ และงานดีๆ จากทั่วโลก มันก็จะเกิดการแข่งขันและพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็วเลย ถ้าถามว่าสองกลุ่มนี้จะอยู่ด้วยกันยังไง มันอยู่ต่างที่ ต่างเวลา คนที่คาดหวังงานเพลงระดับห้องอัด เขาก็จะไปฟังซีดี แต่ว่าก็ยังมีกลุ่มคนฟังดนตรีสด มันไม่ใช่ว่ามืออาชีพจะมีคนมาแย่งงาน มืออาชีพก็ยังเป็นคนเดียวที่ทำงานระดับแกรนด์ตรงนั้น เพราะผู้ใช้งานอาจไม่ได้มีต้นทุนหรือคิดว่าจะต้องก้าวไปถึงตรงนั้นเสมอไป เพียงแต่ว่าโดยรวมมันทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น สัดส่วนของการใช้จ่ายก็น่าจะเพิ่มขึ้นด้วย

 

คิดว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้มีข้อดีหรือข้อเสียไหม

อย่างแรก เราจะมีตัวเลือกเยอะมากขึ้น แต่เราไม่มีทางรู้หรอกว่าคอนเทนต์ไหนจะดัง มันเป็นเรื่องของจังหวะ โอกาส ความโชคดี เราเห็นเคสที่ดังในคืนเดียวแล้ววันรุ่งขึ้นมันก็หายไป ในแง่ของผู้บริโภค เขาแชร์เพราะว่ามันสนุก แต่แค่ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็จบไป มันจะไม่ได้รับการพูดถึงเหมือนหนังฮอลลีวูดหรือซีรีส์ต่างๆ ซึ่งผมว่าเด็กที่เกิดในยุคนี้มีความคิดความเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ส่วนคนที่ผ่านโลกที่มีงานของมืออาชีพมาก่อนต้องค่อยๆ ปรับตัวกันไป

 

ถ้าเทียบกับต่างประเทศ ตลาด UGC มีแนวโน้มที่จะเติบโตในไทยไหม และเป็นไปในทิศทางไหน

ผมว่าแน่นอน การใช้อินเทอร์เน็ตในแต่ละวันของคนไทยชนะเลิศมาตลอด ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม จริงๆ เรื่องพวกนี้ไม่มีขอบเขตหรอก ไอ้โจ๊กตลกๆ บนเฟซบุ๊ก คนต่างชาติก็เข้าใจ 9GAG ยังเอามุกตลกๆ ของคนไทยไปเแชร์เยอะกว่าของประเทศอื่นด้วยซ้ำ ซึ่งคนไทยเก่งเรื่องแบบนี้ ชนะทุกประเทศ Low-Cost Cosplay เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของ UGC มนุษย์หนึ่งคนถ่ายรูปตัวเอง แล้วแชร์ออกไปทั่วโลก จริงๆ แล้ว UGC มันเหมาะกับพวกเรามากกว่าด้วยซ้ำ เราอาจจะไปทำหนังฮอลลีวูดไม่ได้ แต่ถ้าคนไทยทำโซเชียลแล้วมันไปไกลได้ แต่ผมไม่ได้บอกว่าเทรนด์นี้จะโตในเมืองไทยหรือไม่โต มันเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถ้ามันอยู่บนอินเทอร์เน็ต มันก็คือโอกาส มันคือความเร็วในการที่เราเห็นโอกาสตรงนี้ แล้วขยับตัวอย่างรวดเร็ว

มืออาชีพอย่างนักเขียน นักข่าว ศิลปิน ควรปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร

จริงๆ แล้วมือสมัครเล่นก็อยากเป็นมืออาชีพ อยากพัฒนาตัวเอง ดังนั้น มืออาชีพต้องเปิดรับคนกลุ่มนี้มากขึ้น ไม่แบ่งแยก UGC ก็คือการเปลี่ยนคอนเทนต์มาเป็นอีกฟอร์แมตหนึ่ง เหมือนกับการเล่าข่าว มันมีการพัฒนาเปลี่ยนรูปแบบของมันไปเรื่อยๆ มีคนเยอะแยะที่ไม่เคยอ่านหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่รู้จักหนังก่อน เป็นงานของมืออาชีพที่ถูกเปลี่ยนฟอร์แมตโดยมืออาชีพอีกที งานก็เข้าถึงคนวงกว้างขึ้น เห็นได้ชัดว่านี่คือสิ่งที่คนในปัจจุบันทำได้ มันคือการอยู่ด้วยกันในโลกอดีต ปัจจุบัน กับอนาคต ผมเชื่อว่าธุรกิจคือการปรับตัว ซีอีโอหรือผู้บริหารจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการปรับตัวตามสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเข้าใจด้วย ไม่ใช่แค่ตามกระแส

 

คุณมองทิศทางของ Ookbee ใน 3-4 ปีข้างหน้าอย่างไร UGC คืออนาคตจริงหรือ

เรามองว่า UGC เป็นแค่ก้าวแรก หลายๆ ตัวของ UGC ยังอยู่ในเฟสของการทดลอง เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะหาเงินกับมันยังไง เราแค่เชื่อว่ามันอาจจะเป็นอนาคตเหมือนกับแพลตฟอร์มอื่น กว่าทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ยูทูบจะมีโฆษณา เรายังงงกันอยู่เลยว่าเขาจะหาเงินกันยังไง ตอนนี้เราก็เริ่มลองขายหลายๆ ตัวที่หาเรฟเฟอเรนซ์ราคาได้ง่าย เมื่อก่อนเรามองนิยายเป็นอีบุ๊ก ก็ลองขายเป็นตอนสั้นๆ เช่น Fictionlog แต่หลังจากการระดมทุนซีรีส์-ซี เราจะตั้งใจจะทำให้ UGC หลุดออกจากเฟสการทดลองไปเป็นเฟสของการทำธุรกิจจริง สตาร์ทอัพคือการทดลอง หาสินค้าที่มีตลาดรองรับ (Product-Market Fit) ก่อน แล้วค่อยไประดมเงินทุนมาเพื่อขยายตลาด

 

แล้วคุณคิดว่าสื่อกระดาษจะตายจริงๆ ไหม หรือควรจะปรับตัวอย่างไร

กระดาษคงไม่ตายครับ แต่กระดาษต้องมีสปอนเซอร์ ถ้ามองในแง่โมเดลธุรกิจ สื่อกระดาษเปลี่ยนจากนิตยสารมาเป็นฟรีก๊อปปี้ พอมีแหล่งสร้างรายได้ใหม่ขึ้นมา มันก็อาจจะไม่คุ้มที่จะพิมพ์ ทำให้กระดาษหายไป แต่คนไม่ได้หายจากกระดาษมาเป็นอีบุ๊ก เขาหายจากกระดาษไปอยู่บนเฟซบุ๊ก เพราะคนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเขามากกว่า มันถูกที่ ถูกเวลา ถูกจังหวะ จริงๆ คอนเทนต์ก็คือเรื่องเดิม แต่สื่อกระดาษมันไม่สามารถคอมเมนต์ ไลก์ แชร์ มันก็ไปต่อไม่ได้แล้ว ถามว่าปรับตัวยังไง ก็ต้องย้ายตัวเองออกจากตรงนั้น แต่ยังไงเฟซบุ๊กมันไม่สามารถแทนที่รูปแบบการอ่านนิตยสารแบบไล่เลียงตั้งแต่ต้นจนจบ หนึ่งฉบับมีครบทุกสาระในอาทิตย์เดียว มันค่อนข้างเป็นฟอร์แมตที่อยู่กับเรามานาน คงไม่หายไปไหน แต่ด้วยความที่ยังฝุ่นตลบกันอยู่ คนหาเงินมาจ่ายตรงนี้ไม่ทัน ทำให้คนรู้สึกกันว่ากระดาษจะหายไป ผมว่าถ้าเรามองจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องกระดาษ แต่เป็นเงิน ตอนนี้คนไม่มีตังค์มาทำกระดาษมากกว่า

“คนไม่ได้หายจากกระดาษมาเป็นอีบุ๊ก
เขาหายจากกระดาษไปอยู่บนเฟซบุ๊ก
แต่สื่อกระดาษมันไม่สามารถคอมเมนต์ ไลก์ แชร์
มันก็ไปต่อไม่ได้แล้ว ถามว่าปรับตัวยังไง
ก็ต้องย้ายตัวเองออกจากตรงนั้น”

คิดว่าความท้าทายใหม่ที่คนทำธุรกิจคอนเทนต์และสื่อออนไลน์จะต้องเผชิญคืออะไร

สำหรับผม สิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ความท้าทายแรกของเราคือ ทุกบริการที่เราทำออกไป ยังไงก็ต้องให้คนเปลี่ยนมาใช้ แต่คนมีเวลาจำกัด แล้วบริการของเราควรจะเข้าไปอยู่ ไปแย่งเวลามายังไง เพราะคนไม่อยากดูอะไรที่ไม่สนใจแล้ว ถูกไหม แต่ความต้องการของทุกคนมันวาไรตี้มาก เพราะฉะนั้นก็ต้องเอาของที่ใช่ไปอยู่หน้าเขาในเวลาที่ใช่

เรื่องที่สอง จะได้เงินยังไง บริษัทต้องวัด KPI กัน เช่น แย่งเวลาได้คนละกี่นาทีต่อวัน ถ้ายังไม่ผ่านข้อหนึ่งกับข้อสอง ยังไม่ต้องคิดจะหาเงินกับมันเลย ถ้าไม่มีคนใช้ ความท้าทายถัดไปคือ ผู้ใช้งานจะจ่ายเงินไหม ถ้าเขาไม่จ่าย มีคนมาขายสปอนเซอร์ไหม แล้วจะบาลานซ์สิ่งเหล่านี้อย่างไร โดยที่ไม่ไล่แขกออกไปจากเรา นี่คือความท้าทายที่โคตรยาก แต่ด้วยความที่มันเป็นอินเทอร์เน็ต มันยาก แต่ก็ยังวัดผลได้ และมันยังเป็นไปได้มากกว่าสื่อแบบเดิม แต่ว่าคนที่เขาเก่งจริงๆ ทำคอนเทนต์ดีขนาดที่ว่าไปอยู่ที่ไหนไม่ต้องวัดก็รู้ เช่น ทีวีซีรีส์ หรือหนังบางเรื่อง ไม่ต้องวัดเขาก็รู้กันทั้งประเทศว่ามันดัง แค่นี้ก็จบแล้ว แต่ในแง่ของบริษัทเราไม่สามารถจะไปทุ่มทุนแบบนั้นได้ เอาทั้งบริษัททั้งปีไปเสี่ยงแบบนั้นได้ เพราะว่ามันคือ ‘One Shot’ ธุรกิจของเรามีนักลงทุน ก็ต้องทำเป็นแพลตฟอร์มที่ยั่งยืนและวัดผลให้ได้

Tags: , , , , , , , ,