ก่อนเทศกาลคริสต์มาสที่ผ่านมา คาลวิน ไคลน์ประกาศข่าวการถอนตัวของดีไซเนอร์คนดัง อ้างเหตุผลว่า ผลงานของเขาต่ำกว่าเกณฑ์ความคาดหวังของแบรนด์

ความจริงแล้วอายุการทำงานของราฟ ซิมงส์ (Raf Simons) กับแบรนด์ใหม่สักแบรนด์น่าจะยาวนานกว่านี้ หลังจากครองตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ให้กับแบรนด์ดิออร์อยู่นานสามปี ในปี 2015 เขาตัดสินใจลาออก เพื่อเซ็นสัญญาที่เรียกว่า ‘เมกา ดีล’ กับคาลวิน ไคลน์ ตอบรับข้อเสนอเรื่องรายได้จำนวน 18 ล้านดอลลาร์ต่อปี รับผิดชอบงานหน้าที่ไม่ใช่เพียงไลน์เสื้อผ้าสตรี หากแต่สินค้าทั้งหมดที่มีของแบรนด์ เหมือนเช่นแบรนด์แฟชั่นอเมริกันอื่นๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในตลาดอย่างราล์ฟ ลอเรน และทอมมี ไฮฟิเจอร์ นั่นคือน้ำหอม ยีนส์ ชุดชั้นใน และเสื้อผ้าบุรุษ ด้วยตำแหน่งที่ดูเหมือนจะมีเฉพาะในสหรัฐอเมริกา คือ ประธานบริหารฝ่ายสร้างสรรค์

ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบที่ครอบคลุมและหลายด้าน ทำให้ดีไซเนอร์สัญชาติเบลเยียมเชื่อว่าเป็นสัญญาว่าจ้างที่ค่อนข้างยาวนาน อย่างน้อยก็นานกว่าหนึ่งฤดูกาล การโยกย้ายครั้งใหญ่ของเขาจึงเกิดขึ้น รวมถึงการย้ายสำนักงานแบรนด์ชื่อของตนเอง จากแอนต์เวิร์ปสู่นิวยอร์ก แถมยังซื้อสุนัขให้เป็นภาระตนเองอีกหนึ่งตัวด้วย

อาจเป็นไปได้ที่ช่วงเวลานั้นราฟ ซิมงส์จะรู้สึกว่านิวยอร์กเป็นเสมือนบ้าน แต่การทำงานกับแบรนด์คาลวิน ไคลน์กลับไม่ราบรื่น จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ให้เล่าขานกันในวงการ ก่อนที่เขาเริ่มทำอะไรเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง หรือพอจะเขียนประวัติดีงามให้กับตนเองได้ ก่อนที่คนแฟชั่นจะเริ่มเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสไม่กี่วัน คาลวิน ไคลน์ได้ออกมาแถลงข่าวการลาออกของราฟ ซิมงส์ให้แตกตื่น รวมทั้งตัวดีไซเนอร์เองก็ยังไม่มีแผนรองรับว่าจะเซ็นสัญญากับแฟชั่นค่ายไหนต่อไป

ราฟ ซิมงส์ ดีไซเนอร์จากเบลเยียม ความจริงแล้วเป็นคนมีรสนิยม มีความเพียบพร้อมในเรื่องความสวยความงาม ผลงานของเขาที่ส่งขึ้นโชว์บนแคตวอล์กมักสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมเสมอ และไม่เคยบกพร่องในการส่งสาส์น ซึ่งเป็นไอเดียในการออกแบบงานแฟชั่นของเขา ทุกคนประจักษ์ในผลงานของเขาตั้งแต่สมัยเขายังทำงานให้กับแบรนด์ยิล ซานเดอร์ เคยสานต่ออนาคตให้กับแฟชั่นแนวมินิมัลลิสม์ของแบรนด์

ครั้นเมื่อได้มาทำงานกับแบรนด์คริสเตียน ดิออร์ต่อจากจอห์น กัลลิอาโน (John Galliano) เขาก็พยายามผูกติดกับรากเหง้าของแบรนด์ และช่วยให้ดิออร์กลับสู่ความเป็นตัวของตัวเองอีกครั้ง หรือแม้กระทั่งผลงานออกแบบให้กับคาลวิน ไคลน์เอง เขาก็ยังส่งสาส์นให้กับอเมริกา-ภายใต้อิทธิพลของโดนัลด์ ทรัมป์-ได้อย่างถูกต้อง ไม่ตกหล่น ‘ตะวันตกแดนเถื่อน’ อันก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมของอเมริกาตราบถึงทุกวันนี้ ล้วนเป็นประเด็นที่เขาใส่ใจ รวมถึงวัฒนธรรมป็อปของอเมริกา ที่อิงแฟชั่นอย่างเหนียวแน่นมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ไลน์เสื้อผ้าสตรีของเขาโดดเด่นด้วยสลากใหม่ ที่ใช้ชื่อว่า 205W39NYC ซึ่งเป็นที่อยู่ของสำนักงานใหญ่ ดังนั้นจึงไม่ควรจะมีใครกล่าวอ้างได้ว่า ราฟ ซิมงส์ยังไปไม่ถึงนิวยอร์ก

แฟชั่นในยุคสมัยปัจจุบัน นับวันยังคงถูกหล่อหลอมสไตล์โดยดีไซเนอร์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง อเลสซานโดร มิเชลเล (Alessandro Michele) ของแบรนด์กุชชี หรือเดมนา กวาซาเลีย (Demna Gvasalia) ของแบรนด์บาลองเซียกา ที่ออกแบบรองเท้าแตะขนสัตว์ออกมาชนกันทั้งสีและลวดลาย หรือรองเท้าบูตเหนือเข่าและแจ็กเก็ตขนเป็ดหนาตัวหนาสไตล์ใกล้เคียงกัน ในขณะที่คาลวิน ไคลน์นั้น ราฟ ซิมงส์ฉีกแนวไปเป็นรองเท้าบูตคาวบอย และเสื้อพูลโอเวอร์คอเต่า ผลลัพธ์ที่ตามมาค่อนข้างผิดไปจากความคาดหวัง

นั่นเพราะบริษัทเครือฟิลลิปส์-แวน-ฮิวเสน (Phillips-Van-Heusen) เจ้าของแบรนด์คาลวิน ไคลน์รู้สึกคับข้องใจกับผลประกอบการของแบรนด์มานานแล้ว เมื่อเดือนพฤศจิกายน เอมานูเอล ชิริโค (Emanuel Chirico) นายใหญ่ของค่าย PVH แสดงออกอย่างชัดเจน โดยที่ไม่ต้องเอ่ยถึงชื่อของราฟ ซิมงส์ว่า นอกจากรายได้ของ Calvin Klein 2015W39NYC จะน่าผิดหวังแล้ว สินค้า Calvin Klein Jeans ยังดูล้นๆ เกินกว่าจะประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ ก่อนหน้านั้น ตอนที่ราฟ ซิมงส์เข้ามารับตำแหน่ง เขาเคยมีแผนการใหญ่ ที่จะเพิ่มยอดขายจากแปดพันล้านเป็นหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ

กระแสคลื่นภายในแบรนด์คาลวิน ไคลน์เคยเป็นข่าวระแคะระคายออกมาก่อนหน้า ตั้งแต่การลดบทบาทความรับผิดชอบของราฟ ซิมงส์ ไม่ว่าขอบเขตงานการออกแบบร้าน ธุรกิจหรือการสื่อสารทางออนไลน์ ไปจนถึงเรื่องงบประมาณที่แม้จะปฏิบัติตามข้อกำหนดแล้ว ทว่าซิมงส์ก็ไม่ได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จนบางครั้งมันนำไปสู่ความยุ่งยากในการทำงาน

สุดท้ายราฟ ซิมงส์ได้รับคำสั่งให้ใช้เวลาทำงานภายในสำนักงานน้อยลง ก่อนมีการแถลงข่าวของแบรนด์คาลวิน ไคลน์ออกมาว่า เขาได้พ้นจากตำแหน่งแล้ว

นับเป็นประตูบานที่สองภายในเวลาหกปีที่เขาปิดและก้าวออกมา หรือพูดให้ตรงกว่านั้นคือ เขาถูกปิดประตูใส่

 

อ้างอิง:

Fact Box

ราฟ ซิมงส์ เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 1968 ที่เมืองลิมเบิร์ก เขตฟลามิช ของเบลเยียม ร่ำเรียนด้านการออกแบบอุตสาหกรรมและเฟอร์นิเจอร์ ก่อนผันตัวเองมาเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์สำหรับแกลเลอรีและทั่วไป ระหว่างฝึกงานในสตูดิโอของวาลเทอร์ ฟาน ไบเรนดองค์ (Walter van Beirendonck) ที่เมืองแอนต์เวิร์ป ซิมงส์เริ่มรู้ชัดเจนขึ้นว่า เขาไม่เพียงแต่อยากออกแบบเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น แต่ยังชอบด้านแฟชั่นด้วย เขาจึงสนใจที่จะเรียนด้านแฟชั่นเพิ่มเติม กอปรกับการรู้จักผู้ใหญ่ที่ Royal Academy of Fine Arts มหาวิทยาลัยในแอนต์เวิร์ปเป็นการส่วนตัว ซึ่งเห็นว่าความรู้ความสามารถของเขาผ่านเกณฑ์ จึงอ้าแขนรับ ซิมงส์เรียนไม่ทันจบก็ตัดสินใจเปิดไลน์แฟชั่นเสื้อผ้าบุรุษของตนเองครั้งแรกในปี 1995 และก่อตั้งแบรนด์ราฟ ซิมงส์ขึ้นในปีเดียวกัน แต่ถึงแม้จะมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดีไซเนอร์ชาวเบลเยียมก็วางมือจากวงการไปในปี 2000

นับจากนั้นจนถึงปี 2005 ราฟ ซิมงส์ได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์ให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชั่น และประสบการณ์นานปีของตนเองแก่นักศึกษาที่ Universität für angewandte Künste ในกรุงเวียนนา ที่นั่นเขามีตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาแฟชั่น โดยเฉพาะในปี 2005 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของเขา อย่างแรกเขาเริ่มก่อตั้งแบรนด์ ราฟ บาย ราฟ ซิมงส์ เน้นกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นเป็นหลัก และอีกอย่างที่เพิ่มเข้ามาคือ เขาได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ให้กับแบรนด์ยิล ซานเดอร์

ราฟ ซิมงส์ทำงานให้กับยิล ซานเดอร์นานเจ็ดปี ก่อนประกาศถอนตัวในปี 2012 และเข้าไปรับตำแหน่งหัวหน้าดีไซเนอร์ของแบรนด์คริสเตียน ดิออร์ ดูแลทั้งกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปและโอต กูตูร์ของแบรนด์ แม้ประสบการณ์ด้านการออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นของเขาจะน้อยนิด แต่คำวิจารณ์ในแง่ดีเกี่ยวกับผลงานของเขาก็มีให้พบเห็นเสมอมา นับตั้งแต่ครั้งที่สร้างสรรค์แฟชั่นให้กับแบรนด์ยิล ซานเดอร์

ราฟ ซิมงส์ทำงานให้กับคริสเตียน ดิออร์ร่วมสี่ปี กระทั่งตำแหน่งของเขาถูกแทนที่โดย มาเรีย กราเซีย ชิอุริ (Maria Grazia Chiuri) ในเดือนกรกฎาคม 2016 หนึ่งเดือนถัดมาเขาก็ตอบรับข้อเสนอของแบรนด์คาลวิน ไคลน์

Tags: , ,