ในขณะที่ทั่วโลกกำลังติดตามและให้ความสนใจข่าวของทีมหมูป่าติดถ้ำ รอการช่วยชีวิตในประเทศไทย ก็มีสุ้มเสียงแทรกจากกลุ่มคนทางฟากยุโรป เรียกร้องให้ชาวโลกเหลียวไปมองชะตากรรมของผู้อพยพ ที่กำลังรอความตายอยู่กลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกันบ้าง

แม้ว่าผู้อพยพจะใช้เส้นทางทะเลแอบหลบหนีเข้าประเทศอิตาลีน้อยลง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำกลับเพิ่มสูงขึ้น ประเด็นนี้รัฐบาลอิตาลีไม่อาจบอกปัดความรับผิดชอบได้ เพราะออกกฎสั่งการให้ปิดล้อมเรือกู้ภัยบริเวณท่าเรือเสียเอง

ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2015 ผู้อพยพจำนวน 16 คนพากันขึ้นเรือยางที่ท่าเรือโบดรุมของตุรกี พวกเขาส่วนใหญ่มีพื้นเพจากซีเรีย ต้องการหนีภัยสงครามและการก่อการร้ายของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง ออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังกรีซ และประเทศอื่นๆ ในยุโรป

เรือของพวกเขาอับปางลงภายในเวลาห้านาทีหลังจากแล่นออกจากท่า มีผู้เสียชีวิต 12 คน

คลื่นทะเลซัดซากศพเด็กวัยสามขวบ-อลัน คูร์ดี (Alan Kurdi) ขึ้นเกยหาด ช่างภาพหญิงชาวเติร์กบันทึกภาพไว้ กระทั่งมันกลายเป็นภาพที่ช็อกชาวโลก…เด็กน้อยสวมเสื้อยืดสีแดง สภาพเสียชีวิต นอนคว่ำหน้าบนทรายเปียก ภาพที่ค่อยๆ สร้างกระแสเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลกบ้าง

อย่างน้อยเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษขณะนั้น ก็ให้คำมั่นว่าจะรับเอาผู้อพยพจำนวน 4,000 คนไว้ในความดูแล เยอรมนีเปิดรับผู้ลี้ภัยจำนวนหมื่นคนที่ถูกกักไว้ในฮังการี ส่วนแคนาดาก็ยอมผ่อนปรนกฎระเบียบเรื่องการเข้าเมืองมากขึ้น หลังจากนั้นคลื่นความช่วยเหลือจากภาคเอกชนก็หลั่งไหลผ่านเข้าอิตาลี ทั้งของเล่น เสื้อผ้า เงินถูกนำไปบริจาคให้กับผู้อพยพคลื่นใหม่ ในมุมศิลปะการแสดงก็มีละครเวที ‘อลันและทะเล’ เปิดรอบแสดง

แต่ความสงสารเห็นใจจากทั่วโลกนั้นไม่จีรังยั่งยืน จำนวนผู้อพยพที่เพิ่มสูงขึ้นนับจากปี 2015 ค่อยๆ บั่นทอนความรู้สึกร่วม สองปีผ่านมาจนถึงวันนี้ ยุโรปตั้งกำแพง สกัดกั้นผู้อพยพไม่ให้เข้าประเทศของตน และไม่สนใจด้วยว่า สมเด็จพระสันตะปาปาหรือผู้ใจบุญที่ไหนจะสวดมนต์อ้อนวอนอย่างไร

ภาพโดย Alessio Paduano / AFP

มัตเตโอ ซัลวินี (Matteo Salvini) หัวหน้าพรรคสันนิบาตของอิตาลี ซึ่งครองตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยปัจจุบัน ก็กลายมาเป็นนักการเมืองขวัญใจประชาชนทั่วประเทศได้ด้วยแคมเปญ ‘Stop invasione’ (หยุดการรุกราน) ที่หยุดการไหลเข้าของผู้อพยพ แม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นการรุกรานของผู้อพยพก็ตาม

ระหว่างวันที่ 1 มกราคมจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคมปีนี้ มีผู้ลี้ภัยจำนวน 16,748 คนยอมเสี่ยงภัยข้ามทะเลจากชายฝั่งลิเบียมายังอิตาลี ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มีจำนวนมากกว่า 85,000 คน เห็นได้ชัดว่า คลื่นผู้อพยพในเส้นทางดังกล่าวเหือดหายไปราว 85 เปอร์เซ็นต์

แม้นโยบาย ‘หยุดการรุกราน’ ของรัฐบาลในกรุงโรมจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทว่ามันก็คล้ายเป็นเทรนด์สำหรับกลุ่มประชาคมร่วมยุโรปในย่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งแต่กรีซจนถึงสเปน ซึ่งมีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยข้ามน้ำข้ามทะเลราว 46,500 คน ปีก่อนหน้าและในช่วงเวลาเดียวกันมีจำนวนกว่า 101,000 คน ในปี 2016 มีจำนวนสูงถึง 231,000 คน นับว่าสถิติลดลงอย่างรวดเร็ว

ในทางกลับกัน จำนวนผู้เสียชีวิตจากการลี้ภัยทางเรือที่เสี่ยงภัยยิ่งมีจำนวนมากขึ้น รายงานของ UNHCR (ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2018 มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1,400 คนบนเส้นทางลี้ภัยในย่านน้ำเมดิเตอร์เรเนียน 1,074 คนซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิตใช้เส้นทางจากลิเบียไปยังอิตาลี และ 1 ใน 3 ของทั้งหมด หรือจำนวน 557 คน เสียชีวิตในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียว นั่นดูเหมือนว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายการเมืองใหม่ของกรุงโรม เพราะในเดือนมิถุนายน รัฐบาลอิตาลีเริ่มเข้มงวดกับการไล่ต้อนเรือกู้ภัยขององค์กรเอกชน

ภาพโดย Antonio Parrinello / Reuters

ผลงานโชว์ของมัตเตโอ ซัลวินีเริ่มขึ้นในวันที่ 10 มิถุนายน กับ ‘อควาริอุส’ เรือกู้ภัยขององค์กร ‘แพทย์ไร้พรมแดน’ ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้อพยพที่ประสบภัยเรือจมจำนวน 629 คน ในจำนวนนั้นเป็นเยาวชน 123 คนกับเด็กอีก 11 คน พยายามพาขึ้นฝั่งอิตาลี แต่กลับถูกซัลวินีสั่งห้ามเรืออควาริอุสเข้าเทียบท่า ไม่ว่าที่ไหนก็ตามในอาณาเขตของอิตาลี ซัลวินีกล่าวซัดทอด “พอกันเสียที พวกองค์กรทั้งหลายที่ไม่ยอมเปิดเผยว่าใครให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง” และอิตาลีมีสิทธิ์ที่จะกำหนดได้เองว่า เรือของใครจากที่ไหนบ้างที่ได้รับอนุญาตให้เทียบท่า ภายใต้การนำของเขา “กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย”

ระหว่างที่เรืออควาริอุสต้องจอดลอยลำอยู่กลางทะเล เหตุเพราะประเทศมอลตาที่อยู่บริเวณใกล้กันก็ปฏิเสธจะให้นำเรือเข้าเทียบท่าเช่นกัน ซัลวินียังสั่งห้ามเรือกู้ภัยอีกสองลำเข้าไปในอาณาเขตของอิตาลี และเมื่อล่วงรู้ว่าเรือสองลำดังกล่าวเป็นขององค์กรอิสระ (NGO) ซัลวินีจึงออกคำสั่งห้ามเรือขององค์กรอิสระขึ้นฝั่งอิตาลีโดยเด็ดขาด

ภาพโดย Louisa Gouliamaki / AFP

สงครามกับองค์กรอิสระครั้งนี้ดูเหมือนซัลวินีจะได้รับชัยชนะเต็มๆ เรือนับสิบลำที่คอยดูแลช่วยเหลือผู้อพยพในน่านน้ำทะเลเมดิเตอร์เรเนียนค่อยๆ หันหลังกลับ ยังคงเหลือแค่เพียงสี่ลำ สองลำจอดรออยู่บริเวณใกล้เกาะมอลตา อีกสองลำที่เหลือซึ่งกู้ชีพผู้อพยพจากชายฝั่งทะเลของลิเบียมาได้ ต้องแล่นถ่วงเวลาเพื่อหาจังหวะเข้าเทียบท่าที่สเปน นอกเหนือจากนั้นแล้วไม่มีเรือขององค์กรอิสระหลงเหลืออยู่อีกเลย

ลุยจิ ดิ ไมโอ (Luigi Di Maio) ผู้นำพรรคขบวนการ 5 ดาว ออกมาให้ข่าวดักคอว่า เรือของหน่วยลาดตระเวนและทหารเรืออิตาลียังพร้อมให้ความช่วยเหลือทุกคนที่ประสบภัย เพื่อสกัดกั้นการนำเอา ‘คนตาย’ มาใช้ประโยชน์ทางการเมือง

แน่นอนว่า ราวหนึ่งในสามของผู้อพยพในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้น รอดชีวิตมาได้เพราะความช่วยเหลือขององค์กรอิสระ แต่ตอนนี้แผนปฏิบัติการขององค์กรอิสระเหล่านั้นกำลังสลายตัวไปแล้ว อีกทั้งเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลก็เริ่มเข้มงวดกับกระบวนการช่วยเหลือผู้อพยพทางทะเลมากขึ้น ควบคู่กันนั้น รัฐบาลอิตาลียังพยายามผลักดันให้รัฐบาลลิเบียรับผิดชอบกับผู้อพยพที่พร้อมจะหลบหนีออกชายฝั่งทะเลของตน โดยรับปากจะส่งมอบเรือลาดตระเวนให้ลิเบียจำนวน 12 ลำ เพียงแต่เวลานี้เรือบริจาคยังไปไม่ถึงที่หมาย

“อิตาลีเปลี่ยนไปเยอะ” บาทหลวงคาทอลิกให้ความเห็น “ผู้คนเย็นชา และมีความเกลียดชังคนต่างชาติมากขึ้น” เพื่อเตือนสติให้ชาวอิตาเลียน ที่ไม่ฝักใฝ่นโยบายการเมืองแบบขวาจัดของซัลวินี ได้หันมาใส่ใจกับปัญหาผู้อพยพ คริสตจักรจึงเรียกร้องให้ผู้คนเหล่านั้นพากันเดินประท้วงตามท้องถนน และให้สวมใส่เสื้อยืดสีแดงเป็นสัญลักษณ์ เหมือนเช่นที่ อลัน-เด็กชายชาวเคิร์ดเคยสวมในวันที่จมน้ำตาย กลายเป็นศพเกยชายหาด

หลายคนเข้าร่วมการประท้วง ทั้งศิลปิน นักกีฬา สื่อมวลชน และสมาพันธ์ต่างๆ รวมถึงโรแบร์โต ซาเวียโน (Roberto Saviano) นักเขียนและนักต่อต้านมาเฟีย ขบวนพาเหรดเสื้อยืดสีแดงดูมีพลัง และเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ แต่มัตเตโอ ซัลวินีเงียบเฉย เพราะเขารู้ดีว่านั่นเป็นเพียงคนกลุ่มน้อย และเขาเชื่อว่า คนกลุ่มใหญ่ในสังคมยังเชื่อมั่นและชื่นชมนโยบาย ‘หยุดการรุกราน’ ของพรรคสันนิบาต

ในเฟซบุคส่วนตัวของซัลวินี ยังมีข้อความประชดประชันเกี่ยวกับพาเหรดประท้วงด้วยว่า น่าเสียดายที่เขาหาเสื้อยืดสีแดงในตู้เสื้อผ้าไม่เจอ

อ้างอิง:

 

Fact Box

จำนวนผู้อพยพที่ใช้เส้นทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน


เส้นทางหลักที่ผู้อพยพใช้เดินทางหลบหนีเข้าเมือง

  • เส้นทางเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันตก จากเมืองอากาเดซ ผ่านโมร็อกโกไปยังตอนใต้ของสเปน หรือไปยังหมู่เกาะแคนารี (มีอีกชื่อว่า เส้นทางกิบรอลตา)
  • เส้นทางเมดิเตอร์เรเนียนตอนกลาง จากเมืองอากาเดซเช่นกัน ผ่านลิเบียไปยังลัมเปดูซา (เกาะของอิตาลี) หรือไปยังมอลตา
  • เส้นทางอาปูเลียน-คาลาเบรียน จากตุรกีและอียิปต์ (บางส่วนจากกรีซ) ไปยังแคว้นปุลยา (ตอนปลายสุดของคาบสมุทรอิตาลี) หรือแคว้นคาลาเบรีย (ภาคใต้ของอิตาลี) และกลายเป็นเส้นทางหลักของผู้อพยพตั้งแต่ปี 2014
  • เส้นทางเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออก ผ่านอียิปต์ จอร์แดน เลบานอน ซีเรีย และตุรกี ไปยังกรีซ
Tags: , , , , , , ,