เขาใช้โพรงดินมืดๆ เป็นที่พักพิง ใช้เปลือกไม้เป็นเครื่องนุ่งห่ม – ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โชอิชิ โยโกอิ (Shoichi Yokoi) หนีภารกิจทหารเข้าไปหลบอยู่ในป่าลึกของเกาะกวม เกือบ 3 ทศวรรษให้หลังมีคนไปพบนายทหารผู้นี้เข้า และชาวญี่ปุ่นยกย่องเขาเป็นวีรบุรุษ แต่ตัวเขาเองนั้นกลับรู้สึกละอายใจที่รอดชีวิตมาได้

สภาพของชายนักรบผู้รอดชีวิตจากสงครามดูแทบไม่เป็นผู้เป็นคน เนื้อตัวมอมแมม ผมเผ้ากระเซิง หนวดเครารุงรัง ราวกับหลุดพ้นออกมาจากขุมนรก

ระหว่างใช้ชีวิตอยู่ในดงป่าบนเกาะกวม โยโกอิต้องกินหอยทาก กบ นก และหนูเป็นอาหาร ซึ่งเขาต้องออกไปล่าตอนย่ำรุ่ง ช่วงกลางวันเขามุดตัวอยู่ในโพรงดินเล็กๆ ขนาด 2 x 4 เมตร ที่เขาใช้เวลาขุดนานนับเดือน และเพื่อไม่ให้บ้าคลั่ง เขาต้องฮัมเพลงกล่อมตัวเองเป็นบางเวลา โยโกอิไม่เคยพบเห็นหน้ามนุษย์มานานมากแล้ว

เพื่อนๆ และครอบครัวของเขาเชื่อว่าเขาเสียชีวิตแล้ว ตั้งแต่ปี 1944

แต่แล้วในวันที่ 24 มกราคม 1972 จู่ก็มีสัญญาณการมีชีวิตอยู่ของคนที่ใครๆ เชื่อว่าตายแล้ว เมื่อปรากฏข่าวที่เกาะกวมว่า มีชาวประมงสองคนไปพบเจอโชอิชิ โยโกอิ และพาตัวเขาออกจากป่า

恥ずかしながら生きながらえて、帰ってきました。- ผมรู้สึกละอายใจอย่างมากที่รอดชีวิตกลับมาได้” เป็นประโยคคำกล่าวที่ทำให้โยโกอิมีชื่อเสียง และกลายเป็นที่ชื่นชมของชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศ

เพราะแม้ว่าสภาพร่างกายของโยโกอิจะกลับสู่ยุคทศวรรษ 1970s ถึงญี่ปุ่น ทว่าสภาพจิตใจของเขายังติดบ่วงของยุคทศวรรษ 1940s ที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังปะทุ และเขา-โชอิชิ โยโกอิ จ่าทหารกองแมนจูเรียที่ 29 หน่วยรบพิเศษของญี่ปุ่นที่ถูกส่งไปประจำการบนเกาะกวมในปี 1943 แต่ในช่วงเวลานั้นกองทัพอเมริกันบุกล้อมโจมตีอย่างหนักหน่วง และใช้เวลาอยู่นานนับเดือนว่าจะยึดเกาะได้สำเร็จ มีทหารญี่ปุ่นล้มตายหรือถูกจับเป็นเชลยสงครามราว 22,000 คน โยโกอิและเพื่อนทหารอีก 2-3 คนหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ในป่าลึกของเกาะกวม

พวกเขาทุกคนรู้ดีว่าต้องต่อสู้จนวินาทีสุดท้าย แม้พ่ายแพ้ พวกเขาขอยอมตายอย่างมีเกียรติด้วยการทำอัตวิบาตกรรม ทว่าสิ่งที่พวกเขาจะไม่ยอมทำเด็ดขาด นั่นคือ การยอมจำนน การมีชีวิตอยู่รอดโดยการตกเป็นเชลยสงคราม ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าอับอายและทรยศชาติ โชอิชิ โยโกอิยังมีอุดมการณ์ของชาติทหารในสำนึกที่เขาต้องถือปฏิบัติ แม้ว่าสงครามจะยุติไปหลายสิบปี และกองทัพจักรพรรดิได้จำนนต่อความพ่ายแพ้แล้วก็ตาม

การยอมแพ้ไม่เคยปรากฏอยู่ในข้อเลือก โยโกอิยังเดินหน้าความคิดของตนต่อไป แม้ว่าในปี 1952 เขาเคยพบใบปลิวในป่า รับรู้ข่าวว่าสงครามสิ้นสุดแล้ว หรือในปี 1964 ตอนที่เพื่อนทหารสองคนของเขาเสียชีวิตที่กลางป่าและทิ้งให้เขามีชีวิตอยู่ต่อตามลำพัง และเขายังแสดงท่าทีต่อต้านขัดขืนด้วยซ้ำ

ในปี 1972 เมื่อชาวประมงสองคนบังเอิญไปพบเขา ด้วยความที่ไม่ได้พบเห็นหน้าใครมานานหลายปี เขาถึงกับกระโจนเข้าทำร้ายคนแปลกหน้า แต่เพราะความโรยแรงของวัย 56 ปีในขณะนั้น เขาไม่สามารถต้านแรงของชาวประมงได้เลย

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ชีวิตของเขาคล้ายขึ้นเครื่องย้อนเวลากลับสู่อนาคต จู่ๆ โยโกอิก็ร่อนลงในกรุงโตเกียว ที่เปลี่ยนโฉมผิดแผกไปจากเดิม จนดูคล้ายโลกแปลกปลอมสำหรับเขา บ้านเมืองและเศรษฐกิจกำลังบูม เป็นประเทศที่รถยนต์ราคาถูก เครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวีทันสมัย…เทคโนโลยีที่เขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน

แล้วเขาจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร ทุกอย่างเผยออกมา เมื่อโชอิชิ โยโกอิรู้สึกถึงความอัปยศ ในฐานะผู้พ่ายแพ้สงครามซึ่งมีชีวิตรอดกลับมาบ้านเกิด และเขาไม่ยอมปล่อยวาง เขาพร่ำบอกตลอดเวลาว่า ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกเพียงเพราะด้อยกว่าด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ใน ‘สงครามครั้งใหม่’ เขา-โยโกอิ-จะใช้ความชำนาญด้านการใช้ชีวิตในป่าให้เป็นประโยชน์ต่อชาติ แต่ที่เขารู้สึกเหลือทนก็คือ การที่จักรพรรดิซึ่งเขายอมเป็นทาสรับใช้ ‘ตราบจนชีวิตจะหาไม่’ นั้น ไม่ได้รับการยกย่องเทิดทูนดุจพระเจ้าอีกต่อไป แย่ไปกว่านั้น ภาพถ่ายขององค์จักรพรรดิยังถูกนำมาแต่งเติมสีสัน ดูเป็นการหมิ่นเกียรติอย่างรุนแรง

ไม่ได้มีใครเห็นคล้อยตามเขาไปเสียทุกคน โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมต้องฟังนายทหารคนดังของประเทศ นอกจากชายผู้รอดตายจากสงครามจะชวนให้พวกเขาหวนคิดถึงยุคสมัยที่สังคมญี่ปุ่นยังไม่พัฒนาแล้ว ประชาชนส่วนหนึ่งยังชื่นชม ‘คนบ้าจากเกาะกวม’ อีกด้วย

ในวันที่โยโกอิเดินทางจากเกาะกวมถึงสนามบินในกรุงโตเกียว มีชาวญี่ปุ่นราว 5,000 คนยืนถือธงชาติคอยต้อนรับวีรบุรุษคนใหม่ด้วยความรู้สึกซาบซึ้ง ชื่นชม มีการถ่ายทอดสดให้ชมทางทีวี และมีผู้ชมเฝ้าหน้าจอกว่า 70 ล้านคนทั่วประเทศ นับเป็นจำนวนมากกว่าเมื่อสองปีครึ่งก่อนหน้า ที่นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) ขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์เสียอีก

และภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ชาวญี่ปุ่นร่วมใจกันบริจาคเงินให้กับนายทหารผู้รอดตายราว 4 ล้านบาท แถมยังมีข้อเสนอแต่งงานอีกนับไม่ถ้วน เมื่อโยโกอิเดินทางไปยังบ้านเกิดเมืองนอนที่นาโงยะ-ซึ่งยังเหลือเพียงญาติของแม่ของเขาคนเดียวเท่านั้นที่มีชีวิตอยู่-ก็มีชาวเมืองราว 2,000 คนเข้าแถวให้การต้อนรับ หลังจากนั้นโยโกอิเดินทางไปที่หลุมฝังศพของเขาที่สุสานประจำเมือง บนแผ่นป้ายจารึกมีชื่อของเขา และปีเสียชีวิต 1944 ที่เกาะกวม

หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นรายงานข่าวเกี่ยวกับโชอิชิ โยโกอิแทบทุกวัน ตลอดเวลา 83 วันที่เขาพักอยู่ที่โรงพยาบาลในกรุงโตเกียว คนทั้งประเทศตั้งคำถามกับตนเองว่า ผู้ชายคนนี้จะกลับมามีสุขภาพแข็งแรงอีกครั้งได้อย่างไร

ตัวเขาเองนั้นได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ถึงเรื่องราวการเอาตัวรอดในป่าลึกตลอด 28 ปีที่ผ่านมา ว่าเขาต้องก่อฟืนไฟจากเลนซ์กระบอกไฟฉาย ต่อมาเมื่อเขาทำเลนซ์นั้นหาย เขาต้องใช้วิธีขัดไม้เป็นชั่วโมงเพื่อให้ติดไฟ และเมื่อถึงฤดูฝนที่ไม่สามารถก่อไฟได้ เขาก็ต้องกินอาหารดิบที่หาได้ รวมทั้งผลไม้และถั่ว

ด้วยความที่เคยเป็นช่างตัดเย็บมาก่อน เขาใช้ใยของเปลือกต้นปาโกมาเย็บเป็นกางเกงและเสื้อไว้สวมใส่ กรรไกรเป็นอุปกรณ์ที่เขาพกติดตัวไว้เสมอ ส่วนเข็ม เขาประดิษฐ์ขึ้นจากหนามไม้ นอกจากกางเกงและเสื้อแล้ว เขายังเย็บแจ็กเก็ตที่มีกระดุมและกระเป๋าอีกด้วย เรื่องที่หลับนอน โยโกอิเล่าว่า เขาต้องใช้เวลานานนับเดือนกว่าจะขุดโพรงดินใต้กอไผ่เป็นที่พักพิง ที่ซ่อนตัว และในนั้นยังมีสุขาอีกด้วย

ฟังดูเป็นเรื่องราวชีวิตที่เหลือเชื่อ แต่ทั้งนี้มันไม่ใช่เรื่องราวที่เกิดขึ้นเพียงกรณีของโชอิชิ โยโกอิเพียงรายเดียว เนื่องจากยังมีทหารญี่ปุ่นอีกนับพันคนที่หายตัวไปนานนับเดือนนับปีในช่วงสงครามแถบภูมิภาคแปซิฟิก บางคนหนีหายไปเพราะความไม่รู้ และเพราะกลัวโทษความผิด ในปี 1960 กระทรวงสวัสดิการแจ้งยอดผู้สูญหายในสงครามเป็นตัวเลข 2,370 คน ด้วยเหตุนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจึงพยายามร่อนใบปลิวลงในเขตแนวป่าที่เคยเป็นพื้นที่สงคราม เพื่อแจ้งข่าวการจำนนต่อสงคราม

ในจำนวนทหารที่รอดชีวิตกลับสู่มาติภูมิ โชอิชิ โยโกอิมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด แม้ว่าเขาจะเป็นรายที่ 3 ซึ่งหลุดพ้นออกจากป่าของเกาะกวมได้ก็ตาม สองคนแรกปรากฏตัวขึ้นในปี 1960 คือ นายทหารบุนโซะ มะนะกะวะ (Bunzo Managawa) และทะดะชิ อิโตโอะ (Tadashi Itoo) ที่ถอดใจกับการสู้รบที่ยาวนาน และช่วงเวลาหนึ่งเคยร่วมเส้นทางหนีไปกับโยโกอิ จนกระทั่งทั้งสองตัดสินใจแยกตัวออกมาเป็นกลุ่มเล็กเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย

สองปีต่อมา ชื่อของโชอิชิ โยโกอิค่อยๆ ถูกทหารญี่ปุ่นอีกคนเบียดออกจากข่าวหน้าหนึ่ง เขาคนนั้นคือ ฮิโระ โอโนดะ (Hiro Onoda) จ่าทหารอีกรายที่ต่อสู้ยาวนานกว่าบนเกาะลูบังของฟิลิปปินส์ ชาวบ้านที่นั่นรายงานว่า หลังสงครามผ่านไปนับสิบปี โอโนดะยังฆ่าคนอีก 39 ศพ และบาดเจ็บอีกนับร้อย กระทั่งอดีตผู้บังคับบัญชากองร้อยของเขาต้องแจ้งข่าวเรื่องญี่ปุ่นแพ้สงครามด้วยตนเอง พร้อมออกคำสั่งให้วางอาวุธ และยุติการสู้รบ เขาถึงยอมมอบตัว

ตอนที่โอโนดะกลับมาสร้างกระแสฮือฮาให้กับแวดวงสื่อนั้น โยโกอิเริ่มคุ้นชินกับชีวิตพลเรือนบ้างแล้ว เขาเริ่มเขียนบทความแนะนำเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดในป่าลึก และบางคราวก็เปิดคอร์สสอนเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ

จะว่าไป มีบางเรื่องที่ฟังดูอาจจะแปลกกว่าเรื่องราวการรอดชีวิตของเขา นั่นคือ หกเดือนหลังจากเขาเดินทางกลับถึงญี่ปุ่น เขาก็เข้าพิธีแต่งงาน และใช้ชีวิตคู่อยู่จนถึงวันตายของเขาในปี 1997

เป็นการใช้ชีวิตที่สองต่ออีก 25 ปี เกือบเท่าๆ กับที่เคยใช้ชีวิตในป่าลึก

 

 

Fact Box

โพรงดินที่พักพิงของโชอิชิ โยโกอิในป่าลึกของเกาะกวม ถูกพายุไต้ฝุ่นพัดทำลายไปแล้ว แต่มีการสร้างขึ้นใหม่ในบริเวณใกล้เคียง โดยจำลองแบบของเดิม ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวสำคัญของเกาะกวม

Tags: , , ,