หลังสงครามสงบไปยังมีเพียงกองขี้เถ้าหยาบๆ หลงเหลืออยู่ ที่เป็นของชายผู้จุดไฟให้โลก และผู้ต้องรับผิดชอบต่อการตายของผู้คนจำนวนนับล้าน แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีใครบางคนรู้สึกอาลัยอาวรณ์กับซากที่เหลือของ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’

เช่นผู้ชายอย่าง อ็อตโต กึนเช (Otto Günsche) ทาสรับใช้ส่วนตัวของ ‘ผู้นำ’

“ด้วยเหตุนี้ผมจึงปฏิบัติตามคำสั่งสุดท้าย และที่น่าลำบากใจที่สุด นั่นคือการเผาศพเจ้านายและเอฟา” กึนเช-คนรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ของฮิตเลอร์-รายงานด้วยน้ำเสียงสั่นเครือในตอนเที่ยงของวันที่ 30 เมษายน 1945 “ศพของเอฟายังอุ่นอยู่เลย ตอนที่ผมแบกร่างเธอขึ้นมาด้านบน ยาพิษจากตัวเธอส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่ว จนต้องกลั้นหายใจกันเลยทีเดียว”

กึนเชยังรายงานด้วยว่า หลังจากเผาศพ มีการเก็บอัฐิของฮิตเลอร์บรรจุลงในกล่อง และส่งต่อให้กับ อาร์ทัวร์ อักซ์มันน์ (Artur Axmann) ผู้นำเยาวชนฮิตเลอร์ แต่ภารกิจแปลกปลอมของอักซ์มันน์ จนถึงปัจจุบัน แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่เคยรับรู้ รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับช่วงเวลาสุดท้ายในบังเกอร์ใต้ทำเนียบนายกรัฐมนตรีไรช์ ล้วนมาจากคำบอกเล่าของเทราเดิล ยุงเง (Traudl Junge) เลขานุการิณีที่ทำงานให้กับฮิตเลอร์มานานหลายปี

หลังสงคราม ยุงเงบันทึกความทรงจำของเธอและตีพิมพ์เป็นหนังสือ รวมทั้งให้สัมภาษณ์กับรายการสารคดีทางทีวีนานถึงเก้าชั่วโมง และยังมีหนังสืออีกนับสิบเล่มที่เขียนเล่าเกี่ยวกับความล่มสลายของ ‘อาณาจักรไรช์พันปี’ ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลของเธอ อย่างไรก็ตาม มันเป็นเพียงข้อมูลจากการซักถามที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการ

วันที่ 7 สิงหาคม 1946 เทราเดิล ยุงเงถูก เจ้าหน้าที่ของสำนักข่าวกรอง CIC ของสหรัฐอเมริกา เชิญตัวไปสัมภาษณ์ที่เขตเมืองการ์มิชของบาวาเรีย มีการเปิดเผยข้อมูลการสัมภาษณ์ครั้งแรกจำนวน 8 หน้ากระดาษในเดือนธันวาคม 2010 เป็นหลักฐานการสอบสวนเทราเดิล ยุงเงชุดแรกๆ ที่ผู้สื่อข่าวชาวเยอรมันไปค้นพบที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติวอชิงตัน

อย่างไรก็ดี เรื่องราวเกี่ยวกับอัฐิของฮิตเลอร์เคยมีการกล่าวถึงมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยนักประวัติศาสตร์ชื่อฮิวจ์ เทรเวอร์-รอเปอร์ (Hugh Trevor-Roper) ผู้ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยสืบราชการลับของกองทัพอังกฤษเมื่อปี 1945 ในการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการตายของฮิตเลอร์ เขาเขียนหนังสือ The Last Days of Hitlers ตั้งแต่ปี 1947 ตอนหนึ่งกล่าวว่า “บางทีเถ้าอัฐิที่อ็อตโต กึนเชพูดถึง อาจจะถูกเก็บไว้ในกล่อง และถูกนำออกไปจากทำเนียบ” ข้อมูลนี้ เทรเวอร์-รอเปอร์ได้มาจากไหนไม่มีใครรู้ แต่เป็นไปได้ว่ามาจากปากคำของเทราเดิล ยุงเง ที่เขาเคยสอบถามตั้งแต่ปี 1945

เช่นเดียวกันกับข้อมูลจากการสอบปากคำของ CIC ที่ไม่ได้รับการยืนยันว่า การสนทนากับเทราเดิล ยุงเงนั้นใช้วิธีการจดชวเลขหรือว่าเธอตอบคำถามซึ่งเจ้าหน้าที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร รูปแบบและความยาวของคำตอบจึงดูกระชับ เป็นทางการ และทำไมข้อมูลการสอบปากคำที่นับว่าเป็น ‘ความลับ’ จึงถูกเปิดเผยเมื่อ 64 ปีให้หลัง ราวกับว่าเป็นข้อมูลที่ถูกลืมไปแล้ว และจู่ๆ ก็เปิดเผยออกมา

การสอบปากคำเกิดขึ้นเมื่อปี 1946 เทราเดิล ยุงเงเขียนบันทึกความทรงจำ Bis zur letzten Stunde (ตราบถึงโมงยามสุดท้าย) เมื่อปี 1947 แต่เพิ่งมีการตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 2002 หลังจากเธอเสียชีวิตแล้ว นักประวัติศาสตร์ในเยอรมนีบางคนกล่าวเปรียบเทียบว่า ข้อมูลการสอบปากคำของ CIC มีรายละเอียดน้อยกว่า สะท้อนความคิดของคนบันทึกที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่า

แตกต่างจากบันทึกความทรงจำของเทราเดิล ยุงเง ที่อธิบายได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ ถึงความสับสนและความโกรธเคืองของฮิตเลอร์ ตอนที่เขาได้ฟังข้อเสนอจากปากของไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ให้ยอมรับข้อเสนอความพ่ายแพ้ของฝ่ายศัตรู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮิตเลอร์กลัวว่าฮิมม์เลอร์อาจจะวางแผนจะทำร้ายเขา เพื่อส่งตัวเขาเป็นๆ ให้กับฝ่ายศัตรู

นอกจากนั้น ยุงเงยังเล่าในรายละเอียดถึงพินัยกรรมของผู้นำเผด็จการที่เธอเป็นคนพิมพ์ และการเตรียมการของฮิตเลอร์ที่จะปลดระวางตัวเอง หลังจากเพิ่งแต่งงานกับเอฟา บราวน์ (Eva Braun)

“เขาดูสงบและมีสติมาก” ยุงเงรายงานถึงโมงยามก่อนผู้นำจะทำอัตวินิบาตกรรมในวันที่ 30 เมษายน “รวมถึงเอฟา บราวน์ก็ดูเหมือนจะเตรียมตัวพร้อมอย่างดี ทั้งๆ ที่ฉันรู้ว่าเธอกลัวผลลัพธ์ของยาพิษที่เธอพกติดตัวอยู่หลายวัน-มากแค่ไหน” บางทีอาจเพราะต้องการปกปิดความกลัวของตนเอง หรือแสดงออกถึงความไม่คุ้นเคยกับโลกภายนอก บราวน์ได้กล่าวอำลาด้วยคำพูดต่อเลขานุการิณีผู้ซื่อสัตย์ว่า “ฝากสวัสดีมิวนิกด้วยนะ และขอให้คุณเก็บเสื้อคลุมขนจิ้งจอกสีเงินของฉันไว้เป็นที่ระลึก ฉันชอบเห็นสุภาพสตรีแต่งกายสวยๆ อยู่ห้อมล้อมฉัน”

แม้ยุงเงจะใช้รูปแบบภาษาที่เคร่งขรึม แต่ในบางตอนของการให้ปากคำเธอก็แฝงความเห็นอกเห็นใจชายผู้ทรงอำนาจที่สุดในอาณาจักรไรช์ที่สาม อย่างเช่นช่วงหนึ่งที่เธอเล่าว่า เธอไม่ได้ผละจากฮิตเลอร์ในวันที่ 22 เมษายน 1945 ตามคำสั่งของเขา นั่นเพราะเธอคิดว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องใน ‘สถานการณ์วิกฤติ’ เช่นนั้น กระทั่งแปดวันถัดมา เมื่อฮิตเลอร์และเอฟา บราวน์กลืนยาพิษ – ทรราชพาตัวเองพ้นจากความรับผิดชอบทั้งปวง ถึงตอนนั้นหากใครนึกภาพออกจะเห็นเลขาฯ ของเขากลายเป็นผู้หญิงที่น่าเศร้าคนหนึ่ง

มันเป็นความรู้สึกที่กัดกร่อนในใจของเทราเดิล ยุงเงตลอดเวลาหลังสงครามสิ้นสุด เนื่องจากเธอต้องตั้งคำถามกับตนเองว่า เธอรู้สึกดีได้อย่างไรที่ต้องทำงานรับใช้อยู่ที่ข้างกายของผู้ชาย คนที่หนังสือประวัติศาสตร์ทุกเล่มตราหน้าว่าเป็นปีศาจร้าย

 

อ้างอิง:

Fact Box

เทราเดิล ยุงเง เป็นเลขานุการิณีหนึ่งในสี่คนของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หลังความตายของผู้นำ เธอยังใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเบอร์ลินกับเพื่อนโดยใช้ชื่อพรางว่า แกร์ดา อาลต์ จนกระทั่งถูกทหารโซเวียตจับกุมตัวในวันที่ 9 มิถุนายน 1945 หลังสงครามเธอยังคงทำงานเป็นเลขานุการิณี ควบคู่กับการเป็นผู้สื่อข่าวอิสระ

ผลงานหนังสือที่เขียนเล่าถึงความทรงจำในฐานะเลขาฯ ของฮิตเลอร์ได้รับการตีพิมพ์เสร็จเป็นเล่มไม่นานก่อนที่เธอจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2002 และหนังสือเล่มดังกล่าวยังเป็นที่มาของบทภาพยนตร์เรื่อง Der Untergang (Downfall) อีกด้วย

Tags: , , , , , ,