“เราเฝ้าฝันถึงการเดินทางไปทั่วจักรวาล หากจักรวาลมิได้อยู่ในตัวเราแล้วละหรือ ความลึกซึ้งของจิตวิญญาณของเรานั้นยากเกินจะหยั่ง ความลึกลับมุ่งตรงสู่ภายใน ความไม่สิ้นสุดของโลกอันเป็นทั้งอดีตและอนาคตอยู่ในตัวเรา หรือไม่ก็ไม่มีอยู่เลย โลกภายนอกคือโลกแห่งภาพเงา มันทอดขยายเงาทะมึนไปสู่อาณาจักรแห่งแสง ชั่วขณะหนึ่ง ภายในนั้นดูเหมือนมืดมิด เปล่าเปลี่ยว และปราศจากรูปร่าง หากเมื่อความหม่นมัวผ่านพ้นไป เงื้อมเงาเคลื่อนผ่านไป เรากลับรู้สึกรื่นรมย์ใจยิ่งกว่าที่วิญญาณของเราได้รับการปลดปล่อย”

โนวาลิส

 

คุณลักษณะสำคัญของขบวนการโรแมนติก (Romanticism) ในด้านที่เป็นปฏิกิริยาต่อยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) ก็คือการหันกลับไปแสวงหาคุณค่าที่อยู่ภายในตัวเราเอง ผลจากการนี้ทำให้อารมณ์และความรู้สึกเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดการมองโลกรวมถึงสิ่งต่างๆ เช่นเดียวกับการเป็นตัวเองที่โดดเดี่ยวออกมาจากคนอื่นๆ ทั้งหลาย ซึ่งแน่นอนว่า แนวคิดเกี่ยวกับอัจฉริยบุคคล (genius) ก็ถือได้ว่ากำเนิดขึ้นในเวลานี้ด้วยเช่นกัน

ความโดดเดี่ยว (loneliness) จึงเป็นหนึ่งในอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่คู่กับนักเขียน-นักคิดยุคโรแมนติกส่วนใหญ่ เช่น Les Rêveries du promeneur solitaire (1782) หรือ ความครุ่นคิดของนักเดินผู้โดดเดี่ยว ผลงานที่เขียนไม่จบของฌ็อง-ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) บิดาแห่งขบวนการโรแมนติกถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ดังประโยคเปิดอันลือลั่นที่ว่า “บัดนี้ ผมอยู่เพียงลำพังบนโลกใบนี้ ปราศจากพี่น้อง เพื่อนบ้าน และมิตรสหาย ไม่มีใครเคียงข้างนอกจากตัวผมเอง…”

แม้รุสโซจะเสียชีวิตไปก่อนจะเขียน Les Rêveries ให้เสร็จสมบูรณ์ ทว่าข้อเขียนดังกล่าวก็ได้ส่งผลสะเทือนต่อผู้อ่าน กระทั่งแปรเปลี่ยนความหมายของคำว่า ‘rêveries’ ที่แปลว่า ความคิดอันสับสน หรือความฟุ้งฝัน ที่เคยเป็นความหมายในเชิงลบให้กลายเป็นความหมายในเชิงบวกอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

นักเขียนจากยุคโรแมนติกอีกคนซึ่งถือว่าได้สร้างบทนิยามเกี่ยวกับความโดดเดี่ยวไว้อย่างน่าสนใจ และเป็นบุคคลที่เราจะได้พูดถึงในครั้งนี้ก็คือ ฟริดริค ฟอน ฮาร์เดนแบร์ก (Friedrich von Hardenberg) นักเขียนและกวีชาวเยอรมัน ผู้อำลาจากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 29 ปี หากทว่าหนึ่งทศวรรษบนโลกวรรณกรรมกลับทำให้นามปากกา โนวาลิส (Novalis) และ ดอกไม้สีฟ้า (blaue blume) จากนวนิยาย Heinrich von Ofterdingen ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของยุคโรแมนติกไปตลอดกาล

ฟริดริค ฟอน ฮาร์เดนแบร์ก (Friedrich von Hardenberg) หรือที่นักอ่านรู้จักเขาในชื่อ โนวาลิส (Novalis)

Heinrich von Ofterdingen กล่าวถึงชายหนุ่ม ไฮน์ริช ฟอน ออฟเทอร์ดินเงน ที่ฝันเห็นดอกไม้สีฟ้าที่งดงามตราตรึงใจ จนทำให้เขาต้องออกติดตามหาดอกไม้นั้น ดอกไม้สีฟ้าถูกยกให้เป็นภาพพจน์แบบโรแมนติก (romantic image) อันเป็นสัญลักษณ์แทนความคิดและหลักการแสวงหาแบบโรแมนติกเรื่อยมา

ฟริดริค ฟอน ฮาร์เดนแบร์ก ถือกำเนิดขึ้นที่ Oberwiederstedt เมืองเล็กๆ ในแคว้น Halle ประเทศเยอรมนี เป็นบุตรชายหัวปีของครอบครัวที่สืบตระกูลมาจากขุนนางที่ค่อนข้างเคร่งศาสนา ในวัยเด็กเขาได้รับการศึกษาที่บ้านโดยอาจารย์สอนพิเศษ และถูกส่งไปเรียนต่อทางด้านกฎหมายในช่วงปี ค.ศ. 1791-94

แต่ขณะเป็นนักศึกษา ความฝักใฝ่ในด้านอักษรศาสตร์ได้ทำให้เขาไปเข้าฟังบรรยายวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ-วรรณกรรมของฟริดริค ชิลเลอร์ (Friedrich Schiller) อยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งเขาสนิทสนมผูกพันเป็นเพื่อนกับอาจารย์หนุ่มและก็ได้รู้จักกับนักเขียน-นักคิดรุ่นใหญ่อย่างเกอเธ่ ​(Geothe) ฌ็อง ปอล (Jean Paul) แฮร์เดอร์ (Herder) และเป็นมิตรสหายกับบรรดานักศึกษาปัญญาชนที่กำลังจะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวลานั้นอย่างฟริดริค เชลลิ่ง (Friedrich Schelling) ลุดวิก เทียก (Ludwig Tiek) พี่น้องชเลเกล (Schelgel)

เรื่องราวความรักของฟอน ฮาร์เดนแบร์ก กับโซฟี ฟอน คึห์น (Sophie von Kühn) ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยขับขยายให้ชีวิตอันแสนสั้นของเขากลายเป็นตำนานและสร้างนามปากกาโนวาลิสให้โลกรู้จัก เมื่อเขาได้ตกหลุมรักเด็กหญิงโซฟี ตั้งแต่เมื่อเธออายุได้สิบสองปี เขาถึงกับขอหมั้นหมายเธอหนึ่งปีหลังจากนั้น เขาเขียนจดหมายไปเล่าให้เอราสมัส (Erasmus) ผู้เป็นพี่ชายฟังว่า สำหรับเขาแล้ว โซฟีคือเทพีแห่งปรัชญา (ชื่อโซฟีมาจากคำว่า Sophia ในภาษากรีกที่แปลว่า ‘ความรู้’) และการที่เขาหลงรักเธอมันก็คือการที่เขาได้เข้าถึง หรือมุ่งไปสู่โลกของปรัชญา

โซฟี ฟอน คึห์น (Sophie von Kühn) คู่หมั้นของฟอน ฮาร์เดนแบร์ก ผู้ที่ความตายของเธอให้กำเนิดนามปากกา โนวาลิส

หากความรักของเขาไม่อาจสมหวังดังใจหมาย เมื่อเธอได้ตายจากเขาไปหลังวันเกิดอายุสิบห้าปี ปีเดียวกับที่เขาเสียพี่ชายไป และจากมรณกรรมของโซฟีนี้เอง เขาได้ประพันธ์ Hymner til natten (1897) หรือ เพลงสรรเสริญรัตติกาล ขึ้นมา และผลงานชิ้นนี้ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมชิ้นเอกของขบวนการโรแมนติก

ไม่ผิดไปจากความจริงนักหากจะกล่าวว่าชื่อ ‘โนวาลิส’ ได้ถือกำเนิดขึ้นภายหลังความตายของหญิงคนรัก ในมุมมองของเกออร์ก ลูกัส (Georg Lukács) นักวิจารณ์วรรณกรรมคนสำคัญของศตวรรษที่ 20 โนวาลิสมีความสำคัญในแง่ที่เขาเป็นนักเขียนคนแรกของขบวนการที่พยายามก้าวเดินออกมาจากร่มเงาของเกอเธ่

เพราะถึงแม้นักเขียนที่มีอิทธิพลในกลุ่มอย่างพี่น้องชเลเกล และลุดวิก เทียก (ผู้เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือให้โนวาลิส) จะตระหนักถึงความแตกต่างทางความคิดระหว่างเกอเธ่กับขบวนการโรแมนติก หากการมีสัมพันธ์แนบชิดกับมหากวีผู้นี้ ในอีกทางก็เป็นความอุ่นใจ หรือเป็นความภาคภูมิใจ จนไม่มีใครกล้าจะประกาศเกล้าแสดงจุดยืนที่แตกต่าง เช่นกรณีของคาโรไลน์ ภรรยาของชเลเกล (ซึ่งต่อมาเป็นภรรยาของเชลลิ่ง) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด เธอเป็นนักเขียนในขบวนการโรแมนติกที่ไม่เพียงอุทิศตนให้กับรูปแบบวิธีคิดแบบเกอเธ่ หากแต่เธอยังคงมีส่วนอย่างมากในการชักนำเกอเธ่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ

อย่างไรก็ตาม การแตกหักกับเกอเธ่ก็เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังจากนโปเลียนบุกยึดเยอรมัน (หรือหลังจากโนวาลิสเสียชีวิตไปแล้วห้าปี) นักเขียนที่เคยยกย่องเกอเธ่ต่างไม่พอใจกับท่าทีและการนิ่งเฉยของเขา

ขณะที่โนวาลิส นักเขียนหนุ่มผู้มุ่งมั่นกับการศึกษาปรัชญาและการเขียนบทกวีกลับเห็นว่าการแยกทางกับเกอเธ่เป็นสิ่งจำเป็น หรือแม้งานของเกอเธ่อย่าง Wilhelm Meister จะเป็นรากฐานความคิดที่แสดงให้เห็นคุณค่าของตัวตนและความเป็นปัจเจกสภาพ (อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตและการดำรงอยู่ของชาวโรแมนติก) หากแต่การรักษาสองสิ่งนี้ไว้โดยการผละหนีสังคมไปใช้ชีวิตเพียงลำพังแบบที่เกอเธ่นำเสนอก็มิใช่ทางออกแท้จริง

เกอเธ่ (Goethe) มหากวีชาวเยอรมันที่เป็นบุคคลสำคัญในช่วงรอยต่อระหว่างยุคเรืองปัญญาและโรแมนติก

สิ่งเดียวที่เรียกว่าเป็น ‘ความหวัง’ หรือ ‘อุดมคติสูงสุด’ ของโนวาลิสก็คือการสร้างยุคสมัย (Epoch) และ วัฒนธรรม (Kulture) ขึ้นมาใหม่ เป็นวัฒนธรรมที่ทำให้ศิลปะสามารถเรียนรู้และถ่ายทอดให้กันและกันได้ เป็นเสมือนเบ้าหลอมของอัจฉริยบุคคล ซึ่งนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของบรรดาปัจเจก

ปัจเจกนิยมในกระแสความคิดโรแมนติกแบบโนวาลิสจึงเป็นบทสนทนาที่ต้องการให้ผู้โดดเดี่ยวทั้งหลายเข้ามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน เหมือนที่เขาได้กล่าวไว้ว่า “ด้วยเหตุนี้ ความคิดของเราจึงเป็นบทสนทนา อารมณ์ของเราคือความอาทร (ต่อบุคคลอื่น)” และเป็นดังที่ลูกัซได้อธิบายไว้ว่า “การถืออัตตาของขบวนการโรแมนติกได้รับการแต่งแต้มสีสันให้ฉูดฉาดขึ้นด้วยความรู้สึกทางสังคม พวกเขาตั้งความหวังเอาไว้ว่าการคลี่เผยตัวตนอย่างหมดเปลือกในท้ายที่สุดแล้วจะนำพามนุษย์มาแนบชิดกัน เพราะในระหว่างการเปิดเผยตัวตน พวกเขาจะค้นพบการหลุดพ้นจากความโดดเดี่ยวและความสับสน” ที่นับว่าเป็นลักษณะแปลกเด่นสำคัญที่ทำให้แตกต่างแนวคิดของรุสโซและเกอเธ่

สิ่งที่โนวาลิสเรียกร้องจึงเป็นไปในครรลองเดียวกับความคิดของชเลเกลและนักเขียนโรแมนติกในยุคต่อๆ มาในเรื่องที่ว่า ‘การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงที่แท้’ ต้องเริ่มจาก ‘ภายใน’ หรือเริ่มจาก ‘ฉัน’ ก่อนจะแพร่ขยายไปสู่กลุ่มบุคคลและสังคม

นี่เป็นเหตุผลให้การรจนาบทกวีกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างพื้นที่อธิบาย และขยายอำนาจต่อรองกับบรรดาปัจเจกที่พอจะมีศักยภาพและความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นแนวร่วมในการค้นหา ‘ดอกไม้สีฟ้า’ หรือ ‘โลก’ ที่ ‘ฉันทั้งหลาย’ สามารถอยู่กันอย่างกลมกลืนสอดพ้อง และทั้งหมดนี้ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความโดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดายแบบโรแมนติก

 

อ้างอิง

  • Novalis, Philosophical Writings, (New York: State University of NewYork Press, 1997)
  • Novalis, Fichte Studies, (Cambridge: Cambridge University Press, 2003)
  • Georg Lukács, “On the Romantic Philosophy of Life”, Soul and Form, (London: Merlin Press, 1974)
Tags: , , ,