สำหรับบางคน ความเงียบเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา แต่สำหรับบางคนก็ไม่ บางคนทนเสียงดังอึกทึกไม่ได้ เช่นเดียวกับที่บางคนก็ทนอยู่กับความเงียบไม่ได้ เป็นความจริงที่ว่าทั้งเสียงและความเงียบต่างก็สามารถทำให้เรารู้สึกอึดอัดได้พอๆ กัน 

เสียงและความเงียบมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือเป็นพื้นที่ (ทั้งรูปธรรมและนามธรรม) และเป็นสภาวะบางอย่างที่มีลักษณะสัมพัทธ์ เวลาพูดถึงความเงียบ เราจึงไม่อาจพูดถึงมันเหมือนเป็นสภาวะลอยๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขแวดล้อมของมันได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่ความเงียบถูกยกระดับให้เป็น ‘คุณค่า’ อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ หรือเป็นคุณค่าที่สามารถสืบย้อนไปในประวัติศาสตร์ความคิดอันยาวไกลก็ตาม

Silence: In the Age of Noise โดย Erling Kagge นักเขียน นักเดินทาง และนักสำรวจชาวนอร์เวย์ ผู้สร้างประวัติศาสตร์พิชิตทั้งขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และยอดเขาเอเวอเรสต์ ในหนังสือเล่มนี้เขาพาเราสำรวจลัดเลาะไปในมิติอันหลากหลายของ ‘ความเงียบ’ โดยเฉพาะความเงียบในมิติที่กลั่นกรองจากประสบการณ์การเดินทางและการผจญภัยอันหลากหลายของเขา

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในลักษณะความเรียงกึ่งบันทึกประสบการณ์และบันทึกทัศนะที่มีต่อความเป็นไปของโลกและชีวิต แม้ผู้เขียนจะระดมความคิดมาจากหลายแหล่งทั้งงานเขียนเชิงปรัชญา ศิลปะ ดนตรี กวีนิพนธ์ และประสบการณ์ตรงจากผู้เขียน แต่ผมก็ต้องขอบอกตามตรงว่าเป็นงานเขียนที่ไม่ได้วิเคราะห์เจาะลึกลงไปในประเด็นต่างๆ อย่างจริงจัง เป็นงานเขียนที่ตั้งโจทย์ใหญ่ แต่ผู้เขียนทำการบ้านมาน้อยมากอย่างน่าผิดหวัง

แน่ล่ะว่าผมไม่ได้คาดหวังความลึกซึ้งในแบบงานศึกษาเชิงวิชาการ แต่งานเขียนประเภทความเรียงก็สามารถลึกซึ้งและแหลมคมได้ในแบบของมัน ซึ่งแม้เราจะประเมินมันในฐานะความเรียง หนังสือเล่มนี้ก็ยังสอบตกอยู่ดี และน่าผิดหวังอย่างยิ่งเมื่อพบว่าแทนที่หนังสือเล่มนี้จะทำให้เราเข้าใจความเงียบในมิติที่กว้างขวางและลึกซึ้งขึ้น แต่ทัศนะหลายอย่างของผู้เขียนกลับทำให้ความเงียบกลายเป็นสิ่งที่คับแคบและตื้นเขินอย่างไม่น่าให้อภัย

What we talk about when we talk about Silence ?

ผู้เขียนไม่ได้ให้คำนิยามชี้ชัดลงไปว่า ‘ความเงียบ’ คืออะไร ซึ่งในแง่หนึ่งก็สอดคล้องกันดีกับประเด็นที่ผู้เขียนเน้นย้ำอยู่หลายครั้งในหนังสือเล่มนี้ว่าแต่ละคนต้องค้นหาความเงียบในแบบของตัวเองด้วยตัวเอง แต่กระนั้นก็ตาม หากเราพิจารณาจากสิ่งต่างๆ ที่ผู้เขียนวางไว้เป็นคู่ตรงข้ามกับความเงียบ เช่น ความวุ่นวายของชีวิตในเมือง เทคโนโลยี พฤติกรรมการเสพสิ่งต่างๆ ของผู้คน ฯลฯ ก็อาจจะพอนิยามได้ว่าความเงียบคือการปิดกั้นตัวเองจากโลก และหมายถึงสภาวะของการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นำไปสู่ความรู้สึกดื่มด่ำ ซาบซึ้ง และความรู้สึกนิ่งสงบภายใน

อาจกล่าวได้ว่าคำถามสำคัญของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่การชวนให้เราครุ่นคิดพิจารณาว่าความเงียบคืออะไร แต่คือการโน้มน้าวให้ผู้อ่านมองเห็นว่าความเงียบมีความหมายและมีความสำคัญอย่างไรต่อผู้คนและการใช้ชีวิต จากนั้นจึงสร้างชุดคำอธิบายผ่านการชี้ให้เห็นว่ามีปัจจัยใดบ้างที่เป็นอุปสรรคคอยขัดขวางไม่ให้ผู้คนบรรลุถึงความเงียบได้

แม้ Erling Kagge ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้จะไม่ได้เสนอให้เรากลับไปหา ‘ธรรมชาติ’ โดยตรง แต่จากหลายตัวอย่างที่เขายกมาอ้างก็บ่งบอกอยู่ในทีว่ามีความเงียบบางอย่างที่จริงแท้กว่า เงียบกว่า บริสุทธิ์กว่า บรรจุอยู่ในความไพศาลและลึกล้ำของธรรมชาติ ดังเช่นความเงียบที่เขาค้นพบระหว่างการผจญภัยอันหนาวเหน็บตามลำพังในทวีปแอนตาร์กติกา 

ความเชื่อที่ว่ามีความเงียบบางอย่างที่จริงแท้กว่า เงียบกว่า บริสุทธิ์กว่าดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้เขียนมองเห็นและมองหาความเงียบในฐานะสิ่งสัมบูรณ์มากกว่าจะมองความเงียบในฐานะสิ่งสัมพัทธ์ กล่าวคือ ความเงียบกลายเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างเที่ยงแท้ถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง มุมมองดังกล่าวนี้เมื่อบวกเข้ากับวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามง่ายๆ อย่าง ความเงียบ = โลกธรรมชาติ  VS เสียงอึกทึกวุ่นวาย, เทคโนโลยี = สังคมเมือง จึงทำให้มุมมองที่มีต่อความเงียบหดแคบลงอย่างน่าเสียดาย นำไปสู่มุมมองที่เข้าใจผู้คนอย่างผิวเผินและตัดสินอย่างเหมารวม เพราะผู้เขียนมองหาแต่เฉพาะความเงียบในแบบที่ตัวเองเข้าใจและยอมรับ จึงไม่เข้าใจว่าความเงียบอาจไม่ได้มี ‘หน้าตา’ ในแบบที่ตัวเองรู้จักก็ได้ มุมมองที่มีต่อความเงียบดังกล่าวนี้จึงเป็นมุมมองแบบกีดกันสิ่งต่างๆ ออกไปมากกว่าจะโอบรับเข้ามา

ใช่หรือไม่ว่ามุมมองดังกล่าวนี้โดยตัวมันเองแล้วก็คือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าความเงียบกำลังถูกคุกคาม ความเงียบกำลังจะหายไป ความเงียบกลายเป็นสิ่งที่เราต้องแสวงหามาเพื่อเติมเต็มตัวเองฯลฯ ก็เพราะมุมมองอันแห้งแล้งตายตัวเช่นนี้ไม่ใช่หรือคือต้นเหตุที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าตัวเอง ‘ขาดหาย’ อยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกขาดหายที่เกิดจากการถูกกัดกินด้วยความเชื่ออันแห้งแล้งตายตัวของตัวเอง

นอกจากนี้ มุมมองที่ผู้เขียนมีต่อความเงียบ คือมุมมองของผู้ที่ดื่มด่ำซาบซึ้งกับมัน ความเข้าใจที่ผู้เขียนมีต่อความเงียบจึงเป็นความเข้าใจผ่านความรู้สึกซาบซึ้งและดื่มด่ำ ไม่ใช่การเข้าใจผ่านการตั้งคำถามและครุ่นคิดถึงมิติต่างๆ ของมันอย่างจริงจัง การพิจารณาความเงียบทั้งในมิติทางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ไม่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ราวกับว่าผู้เขียนลืมนึกถึงความเงียบในมิติทางสังคมและวัฒนธรรม

ผู้เขียนคิดแต่เพียงว่าในเงื่อนไขแบบใดบ้างที่ความเงียบคือสิ่งสำคัญและจำเป็น แต่ไม่ลองคิดในมุมกลับดูบ้างว่าในเงื่อนไขแบบใดบ้างที่ความเงียบไม่สำคัญและไม่จำเป็น มีความความยอกย้อนและ    นัยยะพลิกผันแบบใดบ้างในมโนทัศน์อันซับซ้อนนี้ อันจะทำให้มองเห็นข้อจำกัดในความคิดความเชื่อของตัวเอง

What we talk about when we talk about Noise ?

ตรงกันข้ามกับการนิยามว่าอะไรคือ ‘ความเงียบ’ การนิยามว่าอะไรคือ ‘เสียงรบกวน’ (Noise) ในหนังสือเล่มนี้กลับชัดเจนและตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง แน่ล่ะว่าวิถีชีวิตในสังคมเมืองและเทคโนโลยีการสื่อสาร(ทีวี สมาร์ทโฟน แอปพลิเคชั่น โซเชียลมีเดียต่างๆ) ถูกโยนบาปให้เป็นตัวร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย

ผมไม่ปฏิเสธว่าการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจครอบงำของเทคโนโลยีคือสิ่งสำคัญและจำเป็น แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ทำน่าจะเรียกว่า ‘การแสดงความรู้สึกเชิงลบต่อเทคโนโลยี’ น่าจะตรงกว่า (จะเรียกว่าวิพากษ์ก็ดูหรูไป) ทั้งการแสดงทัศนะต่อเทคโนโลยีและการมองเทคโนโลยีในฐานะเสียงรบกวน คือสิ่งที่สะท้อนว่านอกจากผู้เขียนจะเข้าใจ ‘ความเงียบ’ อย่างคับแคบแล้ว ความเข้าใจใน ‘เสียงรบกวน’ ก็ยังคับแคบอีกด้วย

แม้เราจะบอกได้ว่าเสียงแบบไหนคือเสียงรบกวน แต่การจัดประเภทว่าเสียงแบบไหนใช่หรือไม่ใช่เสียงรบกวนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นก็เพราะว่ามันขึ้นอยู่กับความเป็นอัตวิสัยของแต่ละบุคคลและบริบทของเสียงอย่างมีนัยสำคัญ 

เช่นเดียวกับการนิยามความเงียบ การนิยามว่าอะไรคือเสียงรบกวนจึงซับซ้อนไม่แพ้กัน ปัญหาของการนิยามเสียงรบกวนไม่ใช่ ‘เสียง’ แต่คือการนิยามว่าอะไรคือ ‘รบกวน’ อันมีนัยยะของการตัดสินล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว ซึ่งก็น่าเสียดายว่าผู้เขียนไม่ได้แจกแจงความซับซ้อนในประเด็นนี้ไว้เลย แต่กลับพุ่งเป้าโจมตีอย่างไม่เข้าใจและไม่สนใจความซับซ้อนของมัน

เทคโนโลยีและพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีคือสิ่งที่ถูกโจมตีมากที่สุดในฐานะศัตรูตัวฉกาจของความเงียบ ภาพเหมารวมในความคิดของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ โลกสมัยใหม่และผู้คนที่เสพติดการใช้เทคโนโลยี จดจ่ออยู่กับเสียงแจ้งเตือนในแอปต่างๆ การเสพประสบการณ์จำลองผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมากกว่าจะออกไปสัมผัสกับโลกจริง ฯลฯ สภาพการณ์ดังกล่าวนี้คือเสียงรบกวนที่ทำให้ผู้คนหันเหออกไปจากความเงียบ

ผมไม่ปฏิเสธอีกว่าสภาพการณ์ดังกล่าวเป็น ‘ความจริง’ แต่ความจริงที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีเพียงด้านเดียว เพราะพฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ที่คนแต่ละคนมีต่อเทคโนโลยีก็ไม่ได้เหมือนกันเสมอไป แต่ถ้าลองเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ผมอาจจะตั้งคำถามในทางกลับกันว่า ผู้คนในโลกสมัยใหม่แสวงหา ‘ความเงียบ’ อย่างไรผ่านเทคโนโลยี? เทคโนโลยีมีผลอย่างไรต่อ ‘ความเงียบ’ ในโลกสมัยใหม่? และแทนที่เราจะวางสองสิ่งนี้ไว้เป็นปฏิปักษ์กัน จะน่าสนใจกว่าไหมหากตั้งคำถามใหม่ว่าสองสิ่งนั้นมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร?

สำหรับผมแล้ว ปัญหาของเสียงรบกวนไม่ใช่ว่ามันทำลายความเงียบ แต่มันทำให้เราสูญเสียความสามารถในการฟังต่างหาก เราหันไปสมาทานความเงียบเพราะดื่มด่ำกับคุณค่าในตัวมัน หรือเพราะเราสูญเสียความสามารถในการฟังกันแน่? ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกว่าปัญหาของคนในโลกสมัยใหม่คือการไม่รู้ว่าความเงียบกำลังบอกอะไรกับเรา ถ้าเช่นนั้นผมก็พูดได้เช่นกันว่า ปัญหาของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็คือการไม่รู้ว่าเสียง (รบกวน) เหล่านั้นกำลังบอกอะไร เพราะคิดแต่เพียงว่าต้องปิดกั้นตัวเองจากเสียง ‘รบกวน’ เหล่านั้น

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง ผมคิดว่าศัตรูตัวฉกาจของความเงียบอาจไม่ใช่เสียงรบกวน แต่คือการนิยามความเงียบอย่างคับแคบต่างหากที่จะทำลายความเงียบได้อย่างแท้จริง 

เราต่างมีความเงียบเป็นของตัวเอง แต่ความเงียบของบางคนก็เสียงดังกว่าความเงียบของคนอื่น  นั่นคือความเงียบในฐานะอำนาจอย่างหนึ่งที่เลือกฟังและเลือกรับรู้เฉพาะเสียงบางเสียงเท่านั้น

 และความเงียบที่คอยกำหนดว่าสิ่งใดใช่และไม่ใช่ความเงียบ

Fact Box

เงียบ (Silence : In the Age of Noise)

Erling Kagge เขียน

วรรธนา วงษ์ฉัตร แปล

สำนักพิมพ์โอ้มายก้อด (OMG BOOKS)

Tags: , , ,