ในขณะที่ชายคนหนึ่งกำลังจอดรถติดไฟแดงอยู่ จู่ๆ เขาก็มองเห็นทุกสิ่งรอบตัวเป็นสีขาว สีขาวเหมือนมีทะเลน้ำนมไหลบ่าท่วมทับเข้ามาในดวงตา หลังจากงุนงงสับสนอยู่ครู่หนึ่ง เขาจึงตระหนักได้ว่าตัวเองกำลังตาบอด แต่เป็นอาการตาบอดที่มองเห็นแต่สีขาว 

ข้างต้นคือฉากเปิดนวนิยายเรื่อง บอด (ENSAIO SOBRE A CEGUEIRA) ของ ฌูเซ่ ซารามากู (José Saramago: 1922 – 2010) นักเขียนชาวโปรตุเกส ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1998

นวนิยายเรื่องนี้บรรจุประเด็นทางปรัชญาเอาไว้ให้ขบคิดหลากหลายประเด็น อะไรคือความจริง  เรารับรู้การดำรงอยู่ของโลกรอบตัวและสรรพสิ่งต่างๆ อย่างไร จนถึงเรื่องขีดจำกัดของการรับรู้ ความหมายของการดำรงอยู่และคุณค่าความเป็นมนุษย์ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศชายและหญิง รวมไปถึงคำถามทางศีลธรรมที่ย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงระบบคุณค่าที่แต่ละคนยึดถือ 

หากจะอ่านด้วยกรอบคิดทางปรัชญาการเมือง นวนิยายเรื่องนี้ก็ชวนให้เราตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ขอบเขตและความเปราะบางของอำนาจรัฐ ไปจนกระทั่งถึงบทพิสูจน์ถึงสถานะ บทบาท และความมั่นคงของรัฐท่ามกลางภัยคุกคามที่กำลังสั่นคลอนทั้งรัฐและประชาชน

หากมองในแง่ของวรรณกรรม นวนิยายเรื่องนี้ผสมผสานทั้งแนวการเล่าเรื่องแบบนวนิยายดิสโทเปีย (Dystopia) ที่ผู้เขียนสร้างโลกจำลองขึ้นมาใบหนึ่งแล้วโยนคำถามว่าจะเป็นอย่างไรถ้าระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคมและระบบคุณค่าต่างๆ ที่ธำรงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์กำลังพังทลายลง แนวการเล่าเรื่องแบบโลกหลังหายนะ (Post-Apocalypse) ที่นำเสนอภาพซากปรักหักพังของสภาพบ้านเมือง ผู้คน ระบบระเบียบต่างๆ และมนุษย์ที่หลงเหลือเพียงสัญชาตญาณการเอาตัวรอด รวมไปถึงสถานะของการเป็นอุปมานิทัศน์ (Allegory) หรือนิทานเปรียบเปรย/เรื่องเล่าเปรียบเปรยที่แฝงนัยยะและซ่อนความหมายไว้หลายระดับ ทั้งความหมายภายในตัวมันเองและอ้างอิงถึงสิ่งอื่นที่อยู่นอกเหนือตัวมัน

โรคปีศาจขาว

อาการตาบอดสีขาวที่เกิดขึ้นในเรื่อง ถูกเรียกว่า ‘โรคปีศาจขาว’ และต่อมาอาการตาบอดสีขาวดังกล่าวก็แพร่ขยายลุกลามเป็นวงกว้างในลักษณะของโรคระบาด ผู้คนในเมืองนั้นค่อยๆ ตาบอดในเวลาไล่เลี่ยกัน ลุกลามไปจนทั่วทุกองคาพยพของประเทศ รวดเร็วเกินกว่าที่กระบวนการทางการแพทย์และระบบจัดการโรคระบาดจะรับมือได้ทัน (ผู้คนที่มีหน้าที่จะช่วยกันหยุดยั้งโรคดังกล่าวก็ตาบอดกันถ้วนทั่วทุกตัวคนไปก่อนแล้ว) แต่ความย้อนแย้งของสภาพการณ์ดังกล่าวก็อยู่ตรงที่ว่า เราจะบอกได้อย่างไรว่านี่คือโรคระบาด ทั้งที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยโรคออกมายืนยัน และบอกไม่ได้ว่าอะไรคือพาหะนำโรค แต่สิ่งที่ระบาดไปก่อนแล้วคือ ‘ความเชื่อ’ ความเชื่อที่ว่ามันคือโรคระบาด ราวกับว่าเมื่อรับเอาความเชื่อนี้มา ผู้คนก็ตาบอดทันที 

ในสภาพการณ์ที่ผู้คนต่างมืดแปดด้าน (ในกรณีนี้ควรพูดว่าขาวแปดด้านจะถูกกว่า) ไม่รู้ว่าพวกเขากำลังเป็นอะไรและจะเป็นอย่างไรต่อไป จึงเท่ากับเป็นการตาบอดสองตลบ นั่นคือ ตาบอดจากการที่ดวงตามองไม่เห็นอะไร และตาบอดจากความไม่รู้

โรคปีศาจขาวที่ลุกลามบานปลายไปอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้ทั้งประเทศตกอยู่ในสภาวะอัมพาต ทุกสิ่งทุกอย่างชะงักงัน ทั้งระบบขนส่ง ระบบการเงินการคลัง ระบบสาธารณูปโภค อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย สิ่งต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นสังคมและรัฐค่อยๆ ผุกร่อนและพังทลายลง ผู้คนหิวโหยอดอยากเพราะไม่มีใครสามารถผลิตอาหารป้อนเข้ามาในสายพานการบริโภคได้ บ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่เคยมีเจ้าของชัดเจนก็กลับกลายเป็นไม่สามารถอ้างสิทธิ์ใดๆ ได้เพราะผู้คนที่ตาบอดก็แตกกระสานซ่านเซ็นจนไม่รู้เหนือรู้ใต้ ใครที่จับจองอาคารหรือห้างร้านโล่งร้างแห่งใดได้ก่อนก็กลายเป็นผู้ครอบครองไปโดยปริยาย สรุปรวมความได้ว่าผู้คนและสังคมตกอยู่ในสภาวะแบบอนาธิปไตย และรัฐก็กลายเป็นรัฐล้มเหลว (Failed State)

สภาพที่เกิดขึ้นดังกล่าวชวนให้เราตั้งคำถามถึงสถานะและการมีอยู่ของรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในแง่ความเปราะบางของรัฐ (รัฐในประเทศที่ผู้คนตาบอดกันทั้งประเทศตามท้องเรื่องของนวนิยาย) และระบอบการปกครองแบบรัฐ (ในความหมายทั่วไป) ที่ดูเปราะบางเสียจนราวกับว่าหากเราเปรียบสภาพการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนน็อตตัวหนึ่งที่ถูกขันออกไป ความเป็นรัฐก็พร้อมจะพังครืนลงได้ทุกเมื่อ จึงกลายเป็นว่าไม่เพียงแต่รัฐสูญเสียกลไกในการจัดการกับภัยคุกคาม แต่ยังสูญเสียกลไกในการป้องกันตัวเองเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นรัฐด้วย

ชีวิตที่เปลือยเปล่าและสภาวะยกเว้น 

ในอีกมุมหนึ่งของเมือง ไม่ไกลจากความวินาศสันตะโรที่เกิดขึ้นภายนอก คนตาบอดกลุ่มแรกๆ ถูกต้อนเข้ามาอยู่ในสถานกักกันโรค ชายตาบอดคนแรกที่ปรากฏในฉากเปิดเรื่องรวมถึงตัวละครสำคัญอื่นๆ ก็มารวมอยู่ในสถานกักกันโรคนี้พร้อมๆ กัน

การต้อนคนตาบอดมาอยู่ในสถานกักกันโรคเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ที่รัฐยังเชื่อว่าจะสามารถจัดการกับโรคระบาดนี้ได้ จากจำนวนไม่ถึงสิบคนในตอนแรก ค่อยๆ เพิ่มเป็น 50-60 คน และเพิ่มเป็น 260 คนในที่สุด บทบาทของรัฐในสถานกักกันโรคแห่งนี้มีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ กักบริเวณและบังคับให้ทุกคนทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด โดยมีทหารยามถือปืนคอยควบคุมเหล่าคนตาบอดให้อยู่ในบริเวณที่กำหนดเอาไว้ อย่างที่สองคือ การนำส่งเสบียงอาหาร

ในช่วงแรกที่กลุ่มคนตาบอดที่ถูกกักกันไว้ยังมีไม่ถึงสิบคน ซึ่งเป็นช่วงที่ตัวละครสำคัญในเรื่องเริ่มทำความรู้จักและเกาะกลุ่มกันไว้ สภาพความเป็นอยู่ตามมีตามเกิดในสถานกักกันยังไม่ถือว่าเลวร้ายมากนัก มีการเลือกผู้นำในกลุ่มและพยายามจัดระเบียบการกินการอยู่ การขับถ่าย ระบบสุขอนามัยต่างๆ เท่าที่จะสามารถทำได้ ตัวละครที่ถูกเรียกว่า ‘ภรรยาของคุณหมอ’ เป็นตัวละครเพียงคนเดียวในเรื่องที่ไม่ตาบอด (เหตุผลที่ว่าทำไมเธอถึงไม่ตาบอด ก็ไม่มีคำอธิบายเช่นเดียวกับที่ทำไมคนอื่นๆ ถึงตาบอด) เธอจึงกลายเป็นดวงตาให้กับอีกหกคนที่เหลือ และกลายเป็นผู้นำของกลุ่มไปโดยปริยาย

ต่อมาเมื่อจำนวนคนเพิ่มขึ้น การจัดระเบียบและการมีข้อตกลงร่วมกันเริ่มทำได้ยากขึ้น ระบบสุขอนามัยและความสะอาดเริ่มมีปัญหา เสบียงอาหารที่ทางการนำมาส่งเริ่มมาไม่ตรงเวลาและไม่เพียงพอสำหรับทุกคน ความขัดแย้งเรื่องการแบ่งสรรปันส่วนจึงตามมา และเมื่อจำนวนคนเพิ่มจำนวนพุ่งสูงขึ้นเป็น 260 คน สภาพความเป็นอยู่และความอดอยากขาดแคลนก็มาถึงจุดวิกฤติ ในกลุ่มคนที่มาใหม่ มีกลุ่มคนที่ตั้งตัวเป็นอันธพาลแย่งยึดเสบียงอาหาร ตั้งกฎแห่งการแลกเปลี่ยนที่เอารัดเอาเปรียบ และข่มเหงทุบตีคนที่ไม่ยอมทำตาม

นสายตาของรัฐ เหตุผลในการต้อนคนตาบอดเหล่านี้มาอยู่ในสถานกักกันโรคที่เริ่มจาก “ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร” (ยังไม่รู้วิธีรักษา แต่กักกันไว้ก่อน) ต่อมาก็ค่อยๆ กลายเป็น “ไม่สามารถทำอะไร” (ตระหนักว่าไร้ความสามารถที่จะรับมือ แต่ก็ต้องกักกันไปเรื่อยๆ) และจบลงด้วยการ “ไม่ทำอะไร” ในท้ายที่สุด นั่นคือ ปล่อยให้คนตาบอดเหล่านี้อดอยากและฆ่าฟันกันจนตายไปเอง

ชีวิตของเหล่าคนตาบอดในสถานกักกันดังกล่าว จึงคล้ายคลึงกับสิ่งที่ จอร์จิโอ อะแกมเบน (Giorgio Agamben) นักปรัชญาและนักทฤษฎีสังคมการเมืองชาวอิตาลี เรียกว่า ‘ชีวิตที่เปลือยเปล่า’ (Bare Life) นั่นคือ พวกเขาถูกผลักไสและบีบบังคับโดยอำนาจรัฐให้ไปอยู่นอกขอบเขตความคุ้มครองของรัฐ อยู่ในสภาพที่รัฐไม่รับรองและคุ้มครองความปลอดภัย รัฐกลายเป็นผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรง (ทหารยามถือปืนสามารถยิงใครก็ได้ที่ฝ่าฝืนกฎโดยไม่มีความผิด) และในขณะเดียวกันก็เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้คนที่รัฐเองผลักไสผู้คนเหล่านั้นให้พ้นไปจากขอบเขตอำนาจของตน ซึ่งอะแกมเบนเรียกสภาวะดังกล่าวว่า ‘สภาวะยกเว้น’ (State of Exception) นั่นคือปล่อยให้กลไกอย่างอื่นที่ไม่ใช่อำนาจรัฐจัดการกับสิ่งที่อำนาจรัฐไม่สามารถจัดการ ไม่อยากจัดการ (เอง) และไม่รู้ว่าควรจะจัดการอย่างไร

ศีลธรรมกับการมองเห็น

หากเรานิยามความหมายของศีลธรรมอย่างกว้าง ๆ ว่าคือ ‘ความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับผู้อื่น’ ในแง่นี้ความรู้สึกทางศีลธรรมและความสามารถในการมองเห็นจึงเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก การมองเห็นในที่นี้ไม่ได้หมายความแค่เพียงเฉพาะการมองเห็นด้วยสายตาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการมองเห็นที่ได้จากการคิดโดยใช้ตรรกะเหตุผล และการมองเห็นที่เกิดจากการมีจินตนาการอีกด้วย

จริงอยู่ว่าการสูญเสียความสามารถในการมองเห็นอาจไม่ได้ทำให้ความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับผู้อื่นขาดสะบั้นลงในทันทีทันใด แต่การมองไม่เห็นก็อาจกลายเป็นข้อจำกัดและข้ออ้างเพื่อการตัดขาดจากความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับผู้อื่นได้ หากมองผ่านความหมายตามที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้ แม้การตาบอดจะทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็น แต่ในขณะเดียวกันการมองไม่เห็น (ทั้งคนอื่นมองไม่เห็นตัวเอง และตัวเองมองไม่เห็นคนอื่น) ก็ช่วยเพิ่มอำนาจในการปกปิดซ่อนเร้นบางสิ่งให้พ้นจากการมองเห็นไปโดยปริยาย 

การมองไม่เห็นจึงไม่ใช่เพียงการมองไม่เห็น แต่คือการลบความหมายและการดำรงอยู่ของสิ่งที่เรามองไม่เห็นออกไปด้วย การมองไม่เห็นใบหน้าของกันและกันก็จึงยากจะตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของกันและกัน เพราะใบหน้าไม่ใช่เพียงแค่อวัยวะหนึ่งของร่างกาย แต่ใบหน้าที่ปะทะกับสายตาได้กลายเป็นตัวตน อัตลักษณ์ ความจำได้หมายรู้ และความทรงจำที่ยึดโยงการดำรงอยู่ของคนอื่นเข้ามาเกี่ยวร้อยกับสายใยแห่งการดำรงอยู่ของเรา ความสัมพันธ์ที่เกิดจากการมองเห็นและจดจำใบหน้าจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการตระหนักถึงรู้การดำรงอยู่ของกันและกัน

นวนิยายเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า การมองไม่เห็นกันและกันได้เปิดช่องให้กับภาวะที่ใครจะทำอะไรก็ได้เพราะไม่มีใครมองเห็นว่าใครทำอะไร การตาบอดจึงกลายเป็นการลุแก่อำนาจ หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า การลุแก่อำนาจคือการตาบอดแบบหนึ่ง เพราะมองไม่เห็นการกระทำของตัวเอง ไม่เห็นผลจากการกระทำของตัวเอง และไม่เห็นใบหน้าของผู้ถูกกระทำ (การมองเห็นว่ามือตัวเองเปื้อนเลือดย่อมต่างจากการมองไม่เห็น การมองเห็นว่าใบหน้าคนอื่นเปื้อนเลือดย่อมต่างจากการมองไม่เห็น) เมื่อมองไม่เห็นผู้อื่น (และผู้อื่นก็มองไม่เห็นตัวเอง) ก็ไม่ต้องสนใจว่าควรจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร รวมถึงไม่มีสายตาของผู้อื่นมาคอยรู้เห็น จดจำ และตัดสินการกระทำนั้น 

อำนาจของการมองเห็นจึงเป็นอำนาจที่ไม่อาจปฏิเสธได้ทั้งในมุมของผู้ถูกมองเห็นและในมุมของผู้ที่มองเห็น

ทว่าในอีกแง่หนึ่ง การมองเห็นก็กลายเป็นภาระทางศีลธรรม ดังที่ตัวละครภรรยาของคุณหมอ ในนวนิยายเรื่องนี้ซึ่งเป็นคนเดียวที่ไม่ตาบอด ต้องแบกรับภาระในการช่วยเหลือประคับประคองคนตาบอดอีกหกคนในกลุ่มของเธอ และขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับสิ่งที่เข้ามากระทบกับความรู้สึกทางศีลธรรมของตัวเอง มันอาจเป็นทั้งความโชคดีและคำสาปที่ทำให้เธอต้องกลายเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นความอัปลักษณ์ของผู้คนและโลกที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า  

ในแง่นี้ภาระทางศีลธรรมของเธอจึงอาจเป็นได้ทั้งความรู้สึกถึงคุณค่าทางศีลธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับผู้อื่น และในขณะเดียวกันก็อาจเป็นที่มั่นสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ในโลกที่พังทลายลง พอให้เธอได้ยึดเหนี่ยวตัวเองไว้ไม่ให้กลายเป็นบ้าจากความอัปลักษณ์ของสิ่งที่เห็น และเพื่อที่จะได้ไม่ต้องตายไปกับการมองไม่เห็น ดังที่นิยายกล่าวว่า

“…ร่างกายเป็นระบบที่จัดเป็นระเบียบด้วยเช่นกัน มันดำรงชีวิตในขณะที่มันคงรักษาระเบียบไว้ได้ และความตายเป็นผลมาจากความไร้ระเบียบ แล้วสังคมของคนตาบอดจะจัดระเบียบตนเองเพื่อที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร โดยการจัดระเบียบตนเองนะสิ ในแง่หนึ่งการจัดระเบียบตนคือการมีดวงตา…” 

Fact Box

บอด (ENSAIO SOBRE A CEGUEIRA)

José Saramago เขียน

กอบชลี แปลจากภาษาโปรตุเกส

สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์

ผลงานอื่น ๆ ของ José Saramago ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว

  • ออล เดอะ เนมส์ (All the Names) แปลโดย ศิริรัฐ ทองใหญ่ ณ อยุธยา สำนักพิมพ์ Silkworm Books
  • เรื่องเล่าของเกาะที่ไม่มีใครรู้จัก (The Tale of the Unknown Island) แปลโดย วรรณพร เรียนแจ้ง สำนักพิมพ์หนังสือยามเช้า