แรกเห็นหน้าปกเสรีนิยมยืนขึ้นผมคิดว่าปราบดา หยุ่นคงจงใจใช้สีชมพูเพื่อให้หนังสือดูมีสีสันตัดกับเนื้อหาที่บรรจุอยู่ภายใน เพราะด้วยความเข้าใจดั้งเดิม ผมคิดว่าหนังสือความเรียงชิ้นล่าสุดของเขาน่าจะหนักแน่นอยู่ไม่น้อย 

การมีคำว่าเสรีนิยมเป็นส่วนหนึ่งของชื่อ ทำให้อดไม่ได้ที่จะผูกโยงหนังสือเล่มนี้เข้ากับอุดมการณ์ทางการเมือง ไหนจะคำโปรยที่บอกว่าเป็น ข้อสังเกตว่าด้วยแนวคิดเสรีนิยมในสังคมจารีต ก็ยิ่งตอกย้ำภาพจำว่าหนังสือเล่มนี้ไม่น่าจะอ่านง่ายย่อยคล่อง สีชมพูดูสดใสจึงอาจเหมือนมายาที่ล่อลวงให้คนสะดุดตา เห็นแล้วอยากพลิกดูสัก 2-3 หน้า แม้ว่าประเด็นที่พูดจะจริงจังเท่าไรก็ตามผมคิดเช่นนั้น และอาจเป็นความคิดที่ผิดอยู่เช่นกัน เพราะต่อให้ เสรีนิยมยืนขึ้น จะพูดเรื่องที่ชวนให้ขบคิดได้เป็นวันๆ (หรือเป็นเดือนเป็นปี) ภาษาที่ปราบดาเลือกใช้ก็ค่อนข้างเข้าถึงง่าย จนอาจพูดได้ด้วยซ้ำว่าเป็นงานเขียนที่คล้ายกับการแสดงความเห็นไม่ใช่แถลงการณ์, หรือข้อเสนอทางวิชาการ, หรือปรัชญาการเมือง.”

ถ้าใครเคยผ่านตาความเรียงของปราบดามาบ้าง เสรีนิยมยืนขึ้น ยังคงมีรสชาติที่คุ้นเคย หนักแน่นด้วยข้อมูล ครบถ้วนด้วยแหล่งอ้างอิง น่าสนใจในข้อคิดเห็น เชิญชวนให้ตอบคำถาม และชี้ชวนให้สงสัยในประเด็นที่เขาหยิบยกขึ้นมา

เสรีนิยมยืนขึ้น เปิดตัวด้วยการบอกว่าผู้เขียนมีลักษณะของความเป็นเสรีนิยมในแบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝั่งซ้ายขวา หรือลัทธิใดๆ เขาสนใจในพัฒนาการของแนวคิดเสรีนิยมและระบอบการปกครองประชาธิปไตย ส่วนที่นำเสนอมุมมองต่อเรื่องนี้จนเป็นหนังสือหนึ่งเล่มได้ เป็นเพราะความอึดอัดจากการอยู่ในสังคมอุดมจารีตที่ไม่เปิดโอกาสให้กับความหลากหลาย ไม่รับฟังความคิดของผู้เห็นต่าง อย่างแนวคิดเสรีนิยมนั้น แม้จะมีภาษาอังกฤษกำกับไว้ว่าคือ Liberalism แต่ก็มิวายที่จะถูกเหมารวมให้เป็นฝั่งซ้าย เป็นกลุ่มก้อนเดียวกับคอมมิวนิสม์ และสังคมนิยม

เพื่อขจัดอาการงุนงง เขาจึงขีดเส้นเสรีนิยมในความหมายของตัวเองให้ชัด

หนังสือเล่มนี้เลือกใช้คำว่าเสรีนิยมในความหมายเชิงลึกทางความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์, ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในความเป็นผลผลิตทางการเมือง, และยิ่งไม่ใช่ในความหมายแบบลัทธิในเกมช่วงชิงอิทธิพลทางอุดมการณ์. หัวใจสำคัญของคำว่าเสรีนิยมในหนังสือเล่มนี้คือการตั้งคำถามต่ออุปสรรคของการเป็นปัจเจกท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีกรอบกำหนดอย่างเข้มงวดว่าบุคคลควรคิดและปฏิบัติอย่างไร, โดยไม่ยอมรับในความแตกต่างและหลากหลายของความเป็นมนุษย์, หรือที่โหดร้ายกว่านั้น คือนอกจากไม่ยอมรับแล้วยังพยายามกำจัดความแตกต่างหลากหลายออกไปจากสังคม.”

อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างของหนังสือที่แบ่งออกเป็น 4 บท นอกจากการนิยามเสรีนิยมให้เข้าใจตรงกัน เรายังจะได้เห็นประวัติและที่มาของแนวคิด ซึ่งไม่เพียงทำให้เห็นภาพชัดขึ้น หากนำไปสู่การทำความเข้าใจเสรีนิยมในหลากมิติ โดยเฉพาะสังคมและการเมือง

ที่โดดเด่นและถูกเน้นย้ำมากที่สุดคือยุคเรืองปัญญา (The Enlightenment) ช่วงเวลาที่ความเชื่อถูกสั่นคลอน เริ่มมีการตั้งคำถามต่อสิ่งรอบตัว เริ่มมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แล้วยังมีข้อเขียนของนักคิดนักปรัชญาที่ไปสะกิดให้ผู้คนรู้สึกถึงความอิสระ และตั้งคำถามต่อพันธนาการที่เกิดจากจารีตประเพณี 

ปราบดายังให้ความสำคัญกับฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกามากเป็นพิเศษ ในแง่หนึ่งเพราะถือว่าเป็นกลุ่มประเทศผู้บุกเบิกแนวคิดเสรีนิยมและประชาธิปไตย แต่ในแง่หนึ่งก็เป็นเพราะสองประเทศนี้มีเรื่องราวที่น่าศึกษา จนอาจพูดได้ว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกความเสรีให้เบ่งบานไปแทบทั่วทุกมุมโลก โดยเหตุการณ์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ได้แก่ การปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 18 เหตุการณ์หนึ่งเป็นเพราะความไม่พอใจระหว่างสามัญชนกับราชสำนัก อีกเหตุการณ์หนึ่งเป็นเพราะชาวอาณานิคมลุกขึ้นต่อต้านอาณาจักรอังกฤษ สองเหตุการณ์นี้คือชนวนชั้นดี ทำให้กลุ่มคนในช่วงเวลานั้น เกิดอาการตระหนักรู้ในสิทธิ และคิดว่าการกุมอำนาจโดยคนเพียงกลุ่มเดียวเป็นเหตุให้พวกเขาต้องอดอยากหรือล้มตาย นำพาไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้ามนุษย์ทุกคนยอมรับความแตกต่าง และมีพื้นที่ให้กับสิทธิเสรีภาพมากพอ 

หากมองอย่างผิวเผิน เสรีนิยมยืนขึ้น อาจดูเหมือนหนังสือเชิดชูความดีงามของแนวคิดเสรีนิยม เป็นการชี้ทางสว่างไปหาแนวคิดที่จะช่วยให้พ้นภัย เป็นภาพฝันแสนหวานที่ใครต่อใครอาจคิดว่าช่วยแก้ปัญหาได้ แต่เสรีนิยมไม่ใช่ยาวิเศษ, ไม่ใช่ตัวแปรที่จะแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ, หรือยกระดับคุณภาพประเทศให้ดีขึ้นโดยปริยาย.” 

ท่ามกลางความเป็นมาและการต่อสู้อันมากมาย เราจึงได้เห็นความแพ้พ่ายของเสรีนิยม ที่ชัดเจนหน่อยก็คือปรากฏการณ์โถมกลับที่เกิดในยุคสมัยนี้ ทำให้แม้แต่ประเทศที่เป็นต้นแบบของเสรีนิยมอย่างฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ยังต้องยอมหลีกทางให้กับจารีตนิยม

…..

สิ่งที่ผมชอบในหนังสือเล่มนี้ คือภายใต้การพูดถึงเสรีนิยมในเชิงกึ่งๆ สนับสนุน ปราบดาก็ไม่ลืมที่จะพาไปสัมผัสข้อเสียของเสรีนิยม ความเลื่อนไหลของแนวคิดที่อาจทำให้เสรีนิยมกลายเป็นจารีตนิยมไปเสียเอง ไปจนถึงชี้ช่องให้เห็นว่าที่จารีตนิยมกลับมาผงาดอย่างทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากความผิดพลาดของเสรีนิยมด้วย

บางกลุ่มก้อนอาจติดหล่มอยู่ในวังวนของสิทธิเสรีภาพไม่กี่มิติ บางกลุ่มก้อนอาจปรับตัวเข้ากับสมัยใหม่ได้ช้ากว่าจารีตนิยม หรือบางกลุ่มก้อนก็พบว่าเสรีนิยมไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้

ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องชวนหมดหวังสำหรับเสรีนิยมด้วยซ้ำ แต่ความพ่ายแพ้ที่เขายกมาเป็นตัวอย่างนั้น กลับขยายให้ผู้อ่านอย่างเราๆ ได้เห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่น้อยนิดในสังคมไทย (ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ เรียกว่าเป็นประเทศที่ตกอยู่ในการปกครองของจารีตนิยมก่อนสมัยใหม่) นั่นคือพื้นที่ของเสรีนิยม

จริงอยู่ว่าการเป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความขุ่นข้องให้เสรีนิยมอเมริกันมากมาย แต่การก่นด่าทรัมป์ก็ไม่ใช่เรื่องที่คนอเมริกันต้องเกรงกลัวเท่าไร กลับกันในบางประเทศ เสรีนิยมไม่แม้แต่จะส่งเสียงได้ หรือต่อให้ส่งเสียงได้ ก็อาจต้องคอยระวังภัยว่าจะมาถึงตัววันไหน

บางทีสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในเรื่องราวเหล่านี้อาจเป็นการตบบ่าให้กำลังใจชาวเสรีนิยมว่าถ้ายึดมั่นในแนวคิดและอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากพอ การปะทะทางความคิดยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ การอยู่ร่วมชายคากับจารีตนิยมอาจไม่ใช่วันสิ้นโลกเสมอไป เพราะสักวันเสรีนิยมอาจเบ่งบานได้อีกครั้ง

แต่ถ้าในสังคมที่เสรีนิยมแทบไม่มีอากาศหายใจ การแสดงความคิดยังถูกตรวจสอบ เสรีนิยมยืนขึ้น อาจเป็นหนังสือแห่งประกายความหวังว่าคงมีสักวันที่ผู้คนซึ่งเห็นต่างจะเข้าใจความต้องการของเสรีนิยม

สิ่งที่ผมฉุกคิดตามมาก็คือ ใครกันจะเป็นผู้อ่านของหนังสือเล่มนี้

หากตัดสินอย่างมักง่าย ผู้ที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาก่อนอาจเป็นผู้ที่มีจิตใจฝักใฝ่เสรีนิยมเป็นทุนเดิม การได้รู้ประวัติและที่มา ได้เห็นพัฒนาการทางด้านความคิด ได้เห็นว่าเสรีนิยมไม่ได้เป็นแนวคิดที่สว่างสดใสเหมือนสีชมพูบนหน้าปก ก็อาจเท่าทันมิติอื่นๆ ของมันมากขึ้น

ส่วนผู้อ่านอื่นๆ นั้น โดยเฉพาะผู้ที่อาจมีแนวคิดไปในทางจารีตนิยม ผมไม่แน่ใจว่าจะมีมากน้อยเพียงไหน ชื่อหนังสือที่ประกาศเจตนารมณ์อย่างเด่นชัด อาจทำให้บางคนมองข้ามไป แต่ถ้ามองข้ามสิ่งเหล่านั้นไปได้  เสรีนิยมยืนขึ้น อาจจะเป็นเล่มที่น่าสนใจสำหรับคุณ

ไม่ใช่เพื่อให้คุณเปลี่ยนแนวคิด คุณยังคงจารีตเหล่านั้นเอาไว้ได้ แต่เพื่อให้คุณเข้าใจว่าโลกนี้ยังมีความคิดอันหลากหลาย ยังมีทางเลือกอีกมากมาย

วันหนึ่งคุณจะได้ไม่แปลกใจว่าทำไมถึงมีคนกลุ่มหนึ่งยืนอยู่ตรงนั้น

Fact Box

  • เสรีนิยมยืนขึ้น / ปราบดา หยุ่น เขียน / สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น / 295 บาท
Tags: ,