ในโลกของวรรณกรรมและภาพยนตร์ ทะเลถูกใช้เป็นฉากและสัญลักษณ์ (หรือกระทั่งเป็นตัวละคร) ในหลายๆ ความหมายด้วยกัน บ้างมาในรูปของสมรภูมิรบที่แสดงถึงการต่อสู้เอาชีวิตรอดของมนุษย์ท่ามกลางความโหดร้ายบ้าคลั่งของธรรมชาติ บ้างมาในรูปของสถานที่พำนักเยียวยาจิตใจสำหรับผู้ที่ต้องการความสงบ ปลอดพ้นจากความอึกทึกวุ่นวายและพันธนาการร้อยรัดต่างๆ จากชีวิตในสังคมเมือง 

แต่ไม่ว่าจะถูกใช้ในความหมายแบบใด สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ทะเลคือสถานที่ที่เอื้อให้เกิดการตั้งคำถามและครุ่นคิดเกี่ยวกับชีวิตและความเป็นไปของโลก เป็นจุดหมายปลายทางของผู้ที่อยากถอยห่างจากโลกเพื่อให้เข้าใจโลกมากขึ้น

ของฝากจากทะเล (Gift from the Sea) ของ Anne Morrow Lindbergh คือหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ถูกเขียนขึ้นในแนวทางนี้ เป็นความเรียงกึ่งบันทึกประสบการณ์เมื่อครั้งที่เธอเลือกใช้ช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตปลีกตัวออกจากครอบครัว วางบทบาทความเป็นภรรยา ความเป็นแม่ และสถานะทางสังคมไว้ชั่วคราว ออกไปใช้ชีวิตคนเดียวบนเกาะห่างไกลที่แทบจะตัดขาดจากโลก เพื่อค้นหาและเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต

ท่ามกลางบรรดาหนังสือว่าด้วยการแสวงหาตัวตน ค้นหาความสงบภายใน ปฏิเสธวิถีชีวิตและการให้คุณค่าแบบสังคมเมืองเพื่อไปใช้ชีวิตเรียบง่ายใกล้ชิดธรรมชาติที่มีอยู่ล้นตลาด (สำหรับผมแล้วถ้อยคำและแนวคิดเหล่านี้มีความหมายที่ชวนให้ครุ่นคิดอย่างลึกซึ้ง แต่น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่มักถูกอธิบายอย่างคับแคบและตื้นเขิน และหลายครั้งก็ถูกใช้อย่างสามานย์) สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ ‘สอบผ่าน’ ในขั้นแรกจนกลายเป็นความประทับใจสำหรับผมก็คือ น้ำเสียงและท่าทีอันเป็นมิตรของผู้เขียน ที่ไม่ได้วางตัวอยู่เหนือผู้อื่นและเสนอคำตอบแบบครอบจักรวาล แต่ผู้เขียนชวนเราใคร่ครวญถึงประเด็นความรัก ความสัมพันธ์ ครอบครัว ชีวิตการแต่งงาน ความหมายของชีวิต ฯลฯ ผ่านประสบการณ์ของเธอเองเป็นที่ตั้ง 

เราจะเห็นความละเอียดอ่อนในการครุ่นคิด เห็นกระบวนการคิดที่ก่อรูปขึ้นและโต้ตอบกันไปมาระหว่างความเหนื่อยล้าของชีวิตที่ผ่านมากับความสดชื่นโปร่งเบาของปัจจุบันขณะเมื่อได้ถอดสายรัดของชีวิตออกไป เห็นโลกภายนอกและโลกภายในความคิดที่ส่องสะท้อนให้ความหมายแก่กันและกัน สิ่งเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านความคิดอันแหลมคมและจินตนาการที่เปิดกว้าง ด้วยชั้นเชิงการเขียนที่ลุ่มลึก ละเมียดละไม และงดงามราวบทกวี

Anne Morrow Lindbergh ในวัยเกือบห้าสิบ เลือกช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตมาใช้ชีวิตบนเกาะห่างไกลและครุ่นคิดถึงประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจัง เธอบอกกับผู้อ่านไว้ในหลายตอนของหนังสือเล่มนี้ว่า เธอไม่ได้ต้องการจะละทิ้งชีวิตแบบเดิมไปโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ต้องการกดปุ่มหยุดพักชั่วคราว และชาร์จแบตให้กับตัวเองก่อนจะกลับไปสู้รบปรบมือกับภาระหนักหน่วงทั้งหลายต่อไป 

แกนหลักของหนังสือเล่มนี้มาจากข้อสังเกตของเธอที่ว่า สิ่งที่ทำให้ชีวิตของผู้หญิง (อเมริกัน?) ตกอยู่ในสภาวะเสียสมดุล ไม่เป็นตัวของตัวเอง และแตกสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย คือการต้องรับบทบาทและทำหน้าที่หลายๆ อย่างพร้อมกัน ทั้งในบทบาทภรรยาของสามี แม่ของลูก รวมไปถึงชีวิตทางสังคมในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เอื้อให้ผู้หญิงได้มีเวลาและชีวิตเป็นของตัวเอง พวกเธอต้องหัวหกก้นขวิด ถูกฉีกทึ้งทั้งจากภาระในบ้านและภาระนอกบ้าน กลายเป็นชีวิตที่หิวกระหาย แห้งผาก ขาดสิ่งหล่อเลี้ยงเติมเต็มจิตวิญญาณ

จากจุดผู้เขียนนี้จึงขยับไปสู่การวิพากษ์วิถีชีวิตแบบสังคมอเมริกันที่โลกทางวัตถุกำลังกลืนกินจนไม่เหลือที่ว่างให้กับโลกของความสงบภายใน ชีวิตในบ้านของผู้หญิง VS ชีวิตนอกบ้านของผู้ชายที่นับวันช่องว่างของความคิดและความเข้าใจมีแต่จะถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่ความขัดแย้งกันระหว่างเสรีภาพในทางสังคม กับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการแสวงหาความสงบภายใน

เธอตั้งข้อสังเกตว่าผู้หญิงอเมริกัน (หรือคนอเมริกัน) มีโอกาสในชีวิตมากมาย มีเสรีภาพในการเลือกมากกว่าผู้หญิงในสังคมอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ตกอยู่ในภาวะเคว้งคว้างสับสนอยู่กับทางเลือกที่มีมากเกินไป จนไม่รู้ว่ามีสิ่งใดบ้างที่จำเป็นจริงๆ สำหรับตัวเอง ในมุมมองของเธอ สิ่งเหล่านี้เป็นผลโดยตรงมาจากความเร่งรีบในชีวิตและการไล่ตามสิ่งต่างๆ จนไม่มีเวลาพอจะหยุดคิดใคร่ครวญกับตัวเอง สภาวะเหล่านี้ทำให้ชีวิตแตกออกเป็นเสี่ยงๆ และเสียสมดุล สิ่งที่เธอตั้งใจจะค้นหาผ่านหนังสือเล่มนี้จึงเป็นสภาวะของ “การเป็นดุมล้อที่นิ่งสนิทภายในล้อที่หมุนวน”

ในแง่อีกหนึ่ง มันก็ชวนให้เราตั้งคำถามว่า ใช่หรือไม่ว่าการวิพากษ์ ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ (American Dream) อย่างที่เธอทำผ่านหนังสือเล่มนี้ แท้จริงแล้วก็คือความฝันแบบอเมริกันอีกแบบหนึ่ง? เป็นความฝันแบบอเมริกันที่ยิ่งกว่าความฝันแบบอเมริกันในความหมายทั่วไปเสียอีก นั่นก็เพราะว่ามันคือผลผลิตที่มาจากการมองเห็นว่าความฝันแบบอเมริกันกำลังทำให้ชีวิตพังทลายลง มันคือความฝันถึงการกอบกู้ความฝันของตัวเอง

แน่ล่ะ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับวิถีชีวิตและสภาพสังคมอเมริกันดังที่กล่าวมา อาจเป็นประเด็นที่ถูกตีตกและล้าสมัยไปมากแล้วในปัจจุบัน (หนังสือเล่มนี้ก็ถูกเขียนขึ้นเมื่อหกสิบกว่าปีที่แล้ว) กระนั้นก็ตาม แม้สภาพสังคมและภูมิทัศน์ของความคิดจะเปลี่ยนไปเพียงใด สิ่งที่เป็นแก่นแกนในคำถามของหนังสือเล่มนี้ก็ยังคงอยู่ นั่นคือ เราจะจัดวางสมดุลในตัวเองอย่างไรในเงื่อนไขชีวิตที่ไม่ได้เอื้อให้มีอิสระเสรีได้อย่างสมบูรณ์ การตั้งคำถามต่อโครงสร้างทางสังคมที่คอยกดทับหน่วงรั้งเสรีภาพของผู้คนเอาไว้ กล่าวในอีกแง่หนึ่ง มันคือคำถามสุดคลาสสิกของวิชาปรัชญาที่ว่า ‘ชีวิตที่ดี’ คืออะไร

ชีวิตที่ดีคืออะไร ? อาจเป็นคำถามที่ซับซ้อนและตอบได้ไม่ง่ายนัก แต่การได้ใคร่ครวญถึงมันก็เป็นสุนทรียะอย่างหนึ่ง มันคือการขัดเกลามุมมองให้ลุ่มลึกและขยายขอบฟ้าความคิดให้กว้างไกล ผมขอเรียกสิ่งนี้ว่า สุนทรียะของการใคร่ครวญถึงชีวิตที่ดี

 ความสงบ ความเรียบง่าย และความสมดุล คือสามคำที่เราจะพบได้ตลอดในหนังสือเล่มนี้ เป็นเสมือนแผนที่ทางความคิดที่นำโลกภายนอกและโลกภายในมาบรรจบกัน ในการมาอยู่บนเกาะแห่งนี้ เธอเริ่มต้นด้วยความคิดว่า “ความน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ความมากเพียงไรที่ชีวิตต้องการ” แล้วจากนั้นจึงเริ่มทดลองตัดสิ่งที่ล้นเกินออกไปทีละอย่าง ทั้งข้าวของเครื่องใช้ กิจกรรมต่างๆ ที่ทำจนเคยชิน และความคิดที่คอยกำกับว่าชีวิตจะต้องถูกเติมเต็มด้วยสิ่งนั้นสิ่งนี้ ค่อยๆ ตัดออกไปจนกระทั่งถึงจุดที่พบว่ามีสิ่งใดบ้างที่จำเป็น สิ่งใดบ้างที่ทดแทนแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งอื่นได้ 

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักว่าเธอใช้ชีวิตบนเกาะนี้อย่างไรในแต่ละวัน เรารู้เพียงว่าเธอพักในกระท่อมไม้หลังเก่า มีอาหารกินประทังชีวิตในแต่ละวัน ได้พบเจอผู้คนบนเกาะบ้าง หากไม่นับสิ่งเหล่านี้แล้ว เนื้อหาส่วนใหญ่ของแต่ละบทได้อุทิศพื้นที่ให้กับกิจกรรมแห่งความสงบ ความสันโดษ การซึมซับความงามของธรรมชาติ และการครุ่นคิดเกี่ยวกับโลกภายในของผู้เขียนเป็นหลัก 

ส่วนนี้เองที่ผมคิดน่าเสียดายอย่างยิ่งที่รายละเอียดในชีวิตประจำวันไม่ถูกนำมาครุ่นคิดพิจารณาไปพร้อมๆ กับกิจกรรมแสวงหาและเติมเต็มทางจิตวิญญาณอื่นๆ มันได้กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้น้ำหนักของหนังสือเล่มนี้เอนเอียงไปในทางที่มุ่งมองเข้าสู่ภายในมากเกินไปจนละทิ้งบริบทอื่นๆ ที่อาจขัดเกลามุมมองให้แหลมคมและลุ่มลึกได้ไม่ต่างกัน 

เราจะเห็นแต่เพียงการปะทะกันระหว่างโลกภายในของผู้เขียนกับโลกธรรมชาติภายนอก (ผืนทราย เปลือกหอย เสียงคลื่น ฯลฯ) แต่ไม่มีร่องรอยของการปะทะกันกับโลกทางสังคมและวัฒนธรรม เราไม่เห็นการปะทะกันระหว่างผู้คนกับพื้นที่ ผู้คนกับผู้คน ทัศนคติและวิถีชีวิตที่ไม่อาจลงรอยกันได้อย่างสมบูรณ์ เป็นจุดอ่อนที่ทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นเพียงการแสวงหาในโลกอุดมคติอันล่องลอยของความคิดจิตใจแบบศิลปิน 

กระนั้นก็ตาม ในมุมมองของผม สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดไม่ใช่การอภิปรายถึงประเด็นเรื่องความรักความสัมพันธ์ สภาพความเป็นไปในสังคม หรือคำถามทางปรัชญาเกี่ยวกับโลกและชีวิตที่ถูกร้อยเรียงออกมาโดยตรง แต่มันได้กลายเป็นเสมือน ‘พื้นที่’ ที่เอื้อต่อการหยุดพักและนั่งลงเพื่อครุ่นคิดทบทวนถึงสิ่งต่างๆ เป็นสุนทรียะของการใคร่ครวญ เป็นหนังสือประเภทที่ผมจะหยิบมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าเมื่อต้องการขบคิดถึงอะไรบางอย่าง หรือไม่ก็ในเวลาที่ผมไม่อยากครุ่นคิดถึงสิ่งใดนอกจากทอดวางอารมณ์ความรู้สึกไว้บนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เป็นทัศนียภาพที่ปลอดโปร่งโล่งกว้างพอจะหาคำตอบหรือไม่ก็เก็บคำถามเอาไว้ในนั้น 

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เพียงข้อคิดที่ได้จากการใช้ชีวิตอยู่กับทะเล แต่หนังสือเล่มนี้คือทะเล เป็นหนังสือที่บรรลุถึงความหมายของทะเลด้วยการที่มันกลายเป็นทะเลเสียเอง

Fact Box

  • ของฝากจากทะเล โดยสำนวนแปลของ จณัญญา เตรียมอนุรักษ์ ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักหนังสือไต้ฝุ่น และถูกนำมาตีพิมพ์อีกครั้งโดยสำนักพิมพ์ openbooks
  • Gift from the Sea เคยได้รับการแปลมาแล้วในอีกสำนวนหนึ่งชื่อ ทะเลชีวิต แปลโดย วนินทร และตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ 
Tags: