บางจังหวะของชีวิต การอ่านนวนิยายสักเล่มดูจะใช้พลังงานมากเกินไป ระยะทางยาวไกลกว่า 300-500 หน้าไม่รู้ว่าจะจบลงตรงไหน แถมบ่อยครั้งก็หนาและหนักเกินกว่าจะพกพา

หากจะพกหนังสือเพื่อหยิบขึ้นมาอ่านยามว่างหรือระหว่างการเดินทางสั้นๆ ขณะไปทำงาน ตัวเลือกที่ดีสำหรับนักอ่านคงแปรเปลี่ยนมาเป็นนิยายขนาดสั้นหรือรวมเรื่องสั้น เพราะตอบโจทย์ในหลายๆ ปัจจัย ทั้งขนาด น้ำหนัก และระยะเวลาในการอ่านที่ไม่นานนักก็จบ

ดังนั้น หากใครกำลังมองหาเรื่องสั้นอยู่ เรามีหนังสือรวมเรื่องสั้น 5 เล่มมานำเสนอ ทั้งหมดเป็นรวมเรื่องสั้นจากนักเขียนชาย 5 คน 5 สไตล์ ทั้งเก่าและใหม่ปะปนกัน แล้วไว้คราวหน้าเราอาจจะมาแนะนำรวมเรื่องสั้นนักเขียนหญิงบ้าง

เรือเชื่องช้าสู่เมืองจีน

ผู้เขียน: ฮารูกิ มูราคามิ

ผู้แปล: นพดล เวชสวัสดิ์, สร้อยสุดา ณ ระนอง

สำนักพิมพ์: กำมะหยี่

รวมเรื่องสั้นของมูราคามิมักพาเราไปพบกับจิ๊กซอว์สำคัญบางตัวที่หล่นหายไป บางเรื่องพาเราลอยแล่นไปกลางผืนน้ำแล้วปล่อยให้เคว้งคว้างอยู่อย่างนั้น จะกลับเข้าฝั่งก็ไม่รู้จะไปทางไหน จะไปต่อก็ไม่เห็นทิศทางที่ควรไป เราได้แต่นั่งทบทวนถึงเรื่องราวที่ผ่านมา และมันก็เป็นการใคร่ครวญอย่างเดียวดาย

เรื่องสั้นทั้งหมดในเล่มนี้มีความเป็นมูราคามิอย่างครบถ้วน มันทั้งเรียบง่าย แต่ก็ประหลาด เข้าถึง แต่ก็ไม่หมดจด มันแทบจะไม่มีสิ่งใดที่น่าตื่นเต้น แต่ก็เร้าความรู้สึกอยากอ่านให้คงอยู่ตลอดทั้งเล่ม

เรือเชื่องช้าสู่เมืองจีน เต็มไปด้วยมนุษย์ที่มีชีวิตอย่างตามวิถีที่ควรจะเป็น ไม่มีใครพยายามจะหลุดพ้น หรือเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ทุกคนยอมรับอย่างเป็นธรรมชาติไม่ว่าจะกับเรื่องอะไร ตั้งแต่ชายคนหนึ่งที่แรกเริ่มถามหาความทรงจำเกี่ยวกับคนจีนในชีวิตของตัวเอง แต่แล้วก็นึกได้ว่าเราจะรื้อฟื้นมันเพื่อการตอบคำถามเพียงเล็กน้อยไปทำไม

บทถัดมาค่อนข้างชวนฉงน อะไรทำให้โลกลงโทษคนคนหนึ่งด้วยการทำให้มีป้ายากจนเกาะอยู่บนหลัง และทำไมจะต้องเป็นป้ายากจน ในอีกเรื่องต่อมา ชายนิสัยประหลาดจะฝ่าลมฝนไปสวนสัตว์ทุกครั้งที่มีพายุลมแรง

เรือเชื่องช้าฯ ยังเต็มไปด้วยชายอีกหลายคนที่พบเจอเหตุการณ์อย่างที่เราไม่อาจคาดเดา หลายอย่างดูเหมือนจะไม่มีความหมาย แต่กลับคล้ายเป็นการตั้งคำถามถึงความมีและไม่มีตัวตนของปัจเจกบุคคลในยุคปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นรวมเรื่องสั้นที่ไม่ควรมองข้ามอีกเล่มหนึ่ง

หวนคืนสู่บาบิลอน และเรื่องสั้นอื่นๆ

ผู้เขียน: เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์

ผู้แปล: พันทิพา บูรณมาตร์

สำนักพิมพ์: สมมติ

เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ นักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายไอริช ผู้เติบโตมาท่ามกลางความสวยงามหอมหวานของชีวิตและความพลิกผันฝันร้ายของความฝันแบบอเมริกัน มีความรักแบบเฟื่องฟูหรูหราที่มาพร้อมกับความเจ็บช้ำอันยากจะทานทน

หวนคืนสู่บาบิลอน และเรื่องสั้นอื่นๆ รวบรวมสามเรื่องสั้นชิ้นสำคัญที่สำนักพิมพ์อยากให้นักอ่านได้ลิ้มลอง ได้แก่ ‘ปราสาทน้ำแข็ง’ ‘ความฝันในฤดูหนาว’ และ ‘หวนคืนสู่บาบิลอน’ หนังสือเล่มนี้ไม่ต่างจากชีวิตจริงของฟิตซ์เจอรัลด์ เราจะได้เห็นประกายชีวิตอันสดใสที่ตามมาด้วยพายุร้ายของของความรัก และการเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

‘ปราสาทน้ำแข็ง’ นั้นมีเรื่องราวเยือกเย็นไม่ต่างจากชื่อเรื่อง แซลลี่ แครอล เลือกจากบ้านเกิดเพื่อตามหาบางอย่าง เธอออกเดินทางทั้งที่ไม่มีความมั่นใจว่าสิ่งที่เลือกจะมอบอะไรกลับคืนมา ความดีงามหรือความโดดเดี่ยว ความแปลกแยกหรือความอบอุ่น ที่นั่นจะเป็นดั่งปราสาทน้ำแข็งที่ละลายแล้วหรือจะมอบความเหน็บหนาวให้เธอยิ่งกว่าเดิม

ส่วน ‘ความฝันในฤดูหนาว’ เป็นเรื่องของเด็กซ์เตอร์ กรีน ชายชนชั้นกลางที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ แต่ก็ยังมีความว่างเปล่าที่เติมไม่เต็มในหัวใจ และสิ่งที่ผู้หญิงบางคนมอบให้เขาได้ก็มีเพียงความผิดหวังเท่านั้น

ส่วนในเรื่องสุดท้าย ‘หวนคืนสู่บาบิลอน’ เป็นเรื่องที่ฟิตซ์เจอรัลด์เขียนห่างจากสองเรื่องแรกนานเกือบ 10 ปี เราจึงเห็นช่องว่างและความเติบโตบางอย่างที่แตกต่างออกไป เป็นเรื่องของชาร์ลี ผู้ทนทุกข์กับชีวิตหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เขาได้แต่หวนไห้ถึงอดีตที่ผ่านมาอย่างเข้าใจว่าสิ่งใดบ้างที่พาเขามาสู่จุดนี้

โยเซฟิเนอ นักร้องสาวหรือประชากรหนู และเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ

ผู้เขียน: ฟรันซ์ คาฟคา

ผู้แปล: ถนอมนวล โอเจริญ

สำนักพิมพ์: ไลบรารี่ เฮ้าส์

ฟรันซ์ คาฟคา นักเขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สไตล์การเขียนของเขาถูกเรียกว่า Kafkaesque (คาฟคาเอสค์) โดยรวมงานของคาฟคาจะนำเสนอความเซอร์เรียลที่เกิดขึ้นในชีวิต ความแปลกแยก และความกังวลต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนคนหนึ่ง งานส่วนใหญ่ถูกตีพิมพ์หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว คาฟคาไม่ได้มีชื่อเสียงในขณะที่ยังมีลมหายใจ ไม่ต่างจากศิลปินหลายๆ คนที่อาภัพในยามมีชีวิต

โยเซฟิเนอฯ ประกอบด้วยเรื่องสั้น 6 เรื่อง ทั้งหมดล้วนสะท้อนให้เราเห็นถึงตัวคาฟคาเอง นักเขียนผู้บาดหมางกับพ่อ มีภาพลักษณ์ติดตัวคือความหวาดกลัว โดดเดี่ยว และไร้อำนาจ

ใน ‘คำพิพากษา’ เราจะพบความเผด็จการของผู้เป็นพ่อ ซึ่งเผยให้เห็นความเป็นส่วนตัวของคาฟคาอย่างไม่ปิดบัง คำขาดเดียวของพ่อนั้นนำไปสู่การตัดสินใจอันน่าหวาดหวั่น ถัดมาในเรื่อง ‘ช่างเครื่อง’ อันเป็นต้นร่างของนิยาย Amerika เป็นเรื่องของหนุ่มน้อยคาร์ล จุดจบของเรื่องไม่ได้นำพาอะไรมาให้ แต่กลับปกคลุมไปด้วยความกังวลบางอย่างอย่างบอกไม่ถูก เขาไหลไปตามกระแส เผชิญกับเหตุการณ์สืบเนื่องไปเรื่อยๆ จนอยู่ในภาวะครึ่งๆ กลางๆ คล้ายกับไม่แน่ชัดในความต้องการของตัวเองอีกแล้ว

เรื่องสั้นอื่นๆ ในเล่มจะพาเราไปรู้จักกับคาฟคายิ่งๆ ขึ้น เหมือนค่อยๆ เดินไปสอดส่องความคิดและการเติบโตของเขาเอง ทั้งนี้ยังแฝงสัญญะในเรื่องสังคมและการเมืองไว้อย่างพอประมาณ สุดท้ายแล้วความคลุมเครือต่างๆ ก็ยังมีเสน่ห์ในแบบฉบับของคาฟคา ที่มีทั้งความหม่นหมองและทึมเทาอยู่ในนั้น

เศษเสี้ยวของเธอ

ผู้เขียน: ทาโบล

ผู้แปล: ทศพล ศรีพุ่ม

สำนักพิมพ์: ไจไจบุ๊คส์

ผลงานการเขียนเล่มแรกของทาโบล ผู้ที่หลายคนรู้จักในฐานะนักร้องแรปเปอร์วง Epik High เขาผ่านมรสุมชีวิตมาอย่างหนักหน่วงในแง่ชีวิตส่วนตัว มันฉุดกระชากลากถูเขา แต่นั่นทำให้เขายิ่งแข็งแกร่งขึ้น ทาโบลทำให้เรารู้สึกว่าเขาเป็นแบบนั้น เผชิญหน้าและผ่านเรื่องราวเหล่านั้นมาได้ จนสิ่งต่างๆ กลายเป็นเศษเสี้ยวและส่วนหนึ่งในชีวิต อันประกอบไปด้วยความเศร้าและการสูญเสีย มิตรภาพและความรัก เสียงดนตรีและเสียงสะอื้นไห้

สิบเรื่องสั้นในเล่มนี้มีเนื้อหาสั้นบ้างยาวบ้าง ความยาวแต่ละเรื่องไม่สมดุลกัน ไม่ต่างจากบางช่วงเวลาของชีวิต มันมีบรรยากาศหม่นๆ และความเศร้าแบบหน่วงๆ อยู่ในทุกเรื่อง ทาโบลไม่ได้ทำให้เราเศร้าอย่างฟูมฟาย แต่เป็นความเศร้าที่ทำให้เราก้าวเดินต่อไปได้ ไม่แน่ใจนักว่าทาโบลเปิดปากแผลของตัวเองกว้างแค่ไหนเพื่อเขียนงาน และสิ่งที่ได้รับกลับมามันช่วยเยียวยาเขาได้แค่ไหน

ตัวละครของทาโบลแบกรับปัญหาและบาดแผลเอาไว้ พวกเขาล้วนเปราะบาง สับสน และมีชีวิตเป็นของตัวเอง ทาโบลปล่อยให้พวกเขาเป็นไป เฝ้ามองอยู่ห่างๆ อย่างไม่ก้าวก่าย แต่เขากลับชักชวนเราเข้าไปในนั้นได้อย่างง่ายดาย ดึงเราเข้าสู่สถานที่นั้น ในส่วนลึกที่เราพบเจออะไรคล้ายๆ กันในเรื่องราวของเราเอง นี่เองคงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเฝ้ารอหนังสือเล่มถัดไปของทาโบลจากสำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์

อาซาฮินะ ชายหนุ่มแห่งคิจิโจจิ

ผู้เขียน: เออิจิ นาคาตะ

ผู้แปล: ปิยะวรรณ ทรัพย์สำรวม

สำนักพิมพ์: ซันเดย์ อาฟเตอร์นูน

รวมเรื่องสั้นจากเออิจิ นาคาตะ นักเขียนผู้มีอีกนามปากกาว่า ‘โอตสึอิจิ’ เล่มนี้นับเป็นผลงานลำดับสองของเออิจิจากสำนักพิมพ์ซันเดย์ อาฟเตอร์นูน ต่อจาก หันมาทางนี้เถอะนะ โมโมเสะ (สามารถอ่านรีวิวได้ที่นี่) เนื้อหาของทั้งสองเล่มไม่ต่อเนื่องกัน แต่ยังคงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่มาพร้อมกับความรู้สึกหลากหลายรูปแบบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม

หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยห้าเรื่องสั้น ทุกเรื่องวางความสัมพันธ์ไว้ตรงจุดหนึ่งของช่วงชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องในวัยเรียน เหมือนเออิจิตั้งใจพาเราไปค้นความทรงจำเก่าๆ ย้อนรอยไปถึงวัยหวานที่ความรักเป็นสิ่งไม่ซับซ้อน มันไม่ได้หวานจนผู้อ่านหันหน้าหนี แต่ก็ไม่ได้เหงาเศร้าจนหดหู่ มันยังคงเป็นความรู้สึกหวานขมแบบที่เออิจิมักจะทำ

สำหรับเล่มนี้เออิจิสื่อสารเรื่องราวผ่านการเขียนไดอารี่หนึ่งเล่มแต่หลายคนเขียน มันจึงเต็มไปด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และความบังเอิญอย่างไม่น่าเชื่อ การกลั่นแกล้งในโรงเรียน วีรกรรมที่มักเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันในทางที่ไม่ควรแล้ววันหนึ่งเราก็เกิดคำถามกับมัน รักสามเส้ากับมิตรภาพของเราสามคน เด็กสาวผู้เกิดมาพร้อมเสียงท้องร้องที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่นั่นกลับทำให้ใครบางคนเข้าหาเธอ และการเลิกราที่นำไปสู่จุดเริ่มต้น มันคือลูกหลงหรือพรหมลิขิต

ความสนุกอาจไม่ได้อยู่ที่การเฉลยปมที่เออิจิผูกไว้ แต่กลับเป็นความเรียบง่ายตามรายทางที่ถูกวางมาแล้วอย่างดี

Tags: , , , , , ,