หากพูดถึงเรื่องสั้นชุด หันมาทางนี้เถอะนะ, โมโมเสะ ชื่อของ ‘เออิจิ นาคาตะ’ อาจจะไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูนัก

แต่ถ้าพูดถึงนักเขียนชื่อ โอตสึอิจิ (Otsuichi) หรือชื่อจริง อาดาจิ ฮิโรทากะ (Hirotaka Adachi) นักอ่านหลายคนคงจำได้ถึงเรื่องสั้นแนวระทึกขวัญที่ถ่ายทอดความซับซ้อนและดำมืดของมนุษย์ ทั้งเรื่อง Zoo และ Goth: คดีตัดข้อมือ (สำนักพิมพ์เนชั่น) และนวนิยายขนาดสั้นที่แฝงด้วยประเด็นบาดแผลทางจิตใจอันละเอียดซับซ้อนของคนธรรมดาที่ทรงพลัง ทั้งเรื่อง ดอกไม้ไฟ และร่างไร้วิญญาณของฉัน และเรื่องสั้นในชุดโทรศัพท์สลับมิติ หรือรอยสักรูปหมา (สำนักพิมพ์บลิส)

การเปลี่ยนนามปากกาของนักเขียนหนุ่ม จากชื่อที่คุ้นหูกันดีกลายมาเป็นชื่อ เออิจิ นาคาตะ จึงมีนัยยะถึงสไตล์การเขียน และประเด็นในการเล่าที่เปลี่ยนไป

 

วัยรุ่น ทั้งตื่นเต้นและหวาดกลัว

ในงานเขียนเรื่อง หันมาทางนี้เถอะนะ, โมโมเสะ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2008 เน้นเรื่องความสัมพันธ์วัยรุ่นของตัวละครที่มาพร้อมกับความรู้สึกหวานขม และการทบทวนความทรงจำของตัวละคร

ขณะที่คนอ่านบางคนอาจสัมผัสได้ว่า การอ่านงานของเออิจิ นาคาตะ เล่มนี้ ไม่ใช่แค่การอ่านเรื่องราวชีวิตของตัวละครซึ่งเป็นนักเรียน ม.ปลาย แต่เป็นการหวนกลับไปนึกถึงความทรงจำสมัยที่ยังเก็บเกี่ยวรายละเอียด และความรู้สึกอันซาบซึ้งหวานขมของชีวิตคนอ่านในยุคที่สัมผัสงานของโอตสึอิจิด้วยเช่นกัน

ถึงจะทิ้งลายของคราบเลือด และจิตใจดำมืดแฝงเร้นในตัวละครไปแล้ว แต่แก่นเรื่องของ หันมาทางนี้เถอะนะ, โมโมเสะ ก็ยังคงมีจุดร่วมคล้ายกับหนังสือหลายเล่มที่เคยตีพิมพ์มาก่อน และยังคงมีประเด็นน่าสนใจ นั่นคือการเล่าถึงความรู้สึกแปลกแยกของตัวละครเอกต่อเพื่อนและสังคมรอบข้าง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับวัยรุ่น

ในช่วงวัยเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือความรู้สึกของตัวเอง และโลกทั้งใบคือสังคมเพื่อน และครอบครัว ที่คอยตัดสินและกำหนดความเป็นไปของชีวิต หัวใจของวัยรุ่นจึงเป็นหัวใจที่เต้นไปด้วยความรู้สึกตื่นเต้นและหวาดกลัวไปพร้อมกัน และหนทางสุดโต่งที่จะจัดการกับสายตาและความสัมพันธ์ของคนรอบข้างที่ง่ายและได้ผลที่สุด จึงเป็นการหดหนีกลับเข้ามาอยู่แต่กับตัวเอง แปลกแยกจากคนรอบข้าง

“พวกผมควรใช้ชีวิตที่เหมาะกับตัวเอง ปราศจากความคาดหวัง ต้องเจียมตัว ไม่มีความหลงใหล ไม่ชอบใคร อยู่นิ่งเหมือนหอย อยู่เงียบๆ พยายามไม่รบกวนใคร พยายามเอาตัวเองไม่เข้าไปอยู่ในสายตาใครให้เขารู้สึกแย่ (…) อย่าไปมีเลย ความฝงความฝัน” จากเรื่องสั้น ‘หันมาทางนี้เถอะนะ, โมโมเสะ’

 

มนุษย์จืดในสังคมสมบูรณ์แบบ

ตัวละครหลักของเรื่องสั้นทั้งสี่เรื่องในเล่ม พยายามที่จะดำรงอยู่ในสังคมที่มีแต่คนที่สมบูรณ์พร้อมโดยที่ “อยู่เงียบๆ ไม่ต้องเป็นที่สนใจมากนัก” หรือพูดง่ายๆ ว่า พยายามทำตัวเป็นมนุษย์จืดจางท่ามกลางคนเจิดจ้าทั้งหลาย ถ้าให้เปรียบกับสังคมตะวันตก ตัวเอกก็คือ Loser ที่มีทักษะการเข้าสังคมต่ำเตี้ย ตัวเอกในเรื่อง ‘หันมาทางนี้เถอะนะ, โมโมเสะ’ จึงมีคำพูดที่มักจะบอกกับเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวที่มีอยู่ว่า ตนมักจะเปรียบตัวเองว่ามีความเป็นมนุษย์แค่ระดับ 2 ในขณะที่มนุษย์คนอื่นอยู่ในระดับ 1 ซึ่งแม้ว่าจะฟังดูเป็นความคิดที่ดูขบขัน ไร้เดียงสา แต่ก็เถียงไม่ได้เลยว่าเป็นความจริงที่ชวนขันขื่น

ความรู้สึกที่คิดว่าตัวเองด้อยกว่าในฐานะมนุษย์ ทั้งที่เกิดจากการเข้าสังคมไม่เก่ง หรือจากที่คิดว่าหน้าตาไม่ดี หรือไม่มีความสามารถเทียบเท่ากับคนอื่นเหล่านี้ ซ่อนความรุนแรงจากความกดดันที่คนญี่ปุ่นต้องเจอตั้งแต่ในวัยเรียน การแคร์สายตาคนรอบข้างและเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นยังกลายเป็นปมในใจของตัวเอกทั้งสี่เรื่อง ไม่เว้นแม้แต่ตัวละครที่หน้าตาดี และมีคนให้ความสนใจในเรื่อง ‘การก้าวผ่านของโคอุเมะ’ ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เคยได้รับการยอมรับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มากไปกว่าความสนใจในรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเอง

ด้วยการเล่าเรื่องที่เรียบง่าย สมจริง การสร้างปมปัญหาเล็กๆ ในชีวิตประจำวันจึงมักจะเป็นเรื่องของความลับที่พูดออกมาไม่ได้ ซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เก็บไว้ในใจ แต่เป็นจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การคลี่คลายปมปัญหา

ในเรื่องสั้น ‘หันมาทางนี้เถอะนะ, โมโมเสะ’ และ ‘การก้าวผ่านของโคอุเมะ’ ทำให้เห็นว่าคนที่สมบูรณ์พร้อม จริงๆ แล้วเป็นเพียงนักแสดงที่เก่งกาจ หรือบางครั้งปมในใจผลักดันให้เราทำร้ายคนที่รักโดยไม่ตั้งใจ หรือคนที่แอบชอบอาจจะไม่ได้เก่งการเลิศเลออย่างที่เราคาดหวังไว้ และบางครั้งโลกสีขาวเจิดจ้าก็ไม่ได้โหดร้ายกับมนุษย์มืดมนเสมอไป

ในเรื่องสั้น ‘หันมาทางนี้เถอะนะ, โมโมเสะ’ และ ‘การก้าวผ่านของโคอุเมะ’ ทำให้เห็นว่าคนที่สมบูรณ์พร้อม จริงๆ แล้วเป็นเพียงนักแสดงที่เก่งกาจ

การเผยด้านสีเทาของมนุษย์จึงเข้ามาเติมให้กับการมองโลกสีขาวดำของเด็กหนุ่มสาว เปลี่ยนจากความคิดสุดโต่งของการหนีห่างจากสังคมกลายเป็นไอ้ขี้แพ้ ถูกเจือด้วยสีเทาจากการค้นพบข้อเสีย และจุดบกพร่องในโลกของมนุษย์เพอร์เฟ็กต์ซึ่งแบกรับความกดดันของสังคมเอาไว้เสมอไม่ต่างกัน และพบว่าแสงสว่างเป็นความกล้าหาญที่ส่งมาจากตำแหน่งที่ยืนอยู่ในเงามืดของตัวเอง เช่น ความกล้าที่จะบอกรัก กล้าที่จะให้อภัย และความกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองอย่างที่คนรอบข้างยอมรับและเข้าใจ

 

ปลดเปลื้องและเติมเต็ม

เสน่ห์ของเรื่องสั้นทั้งสี่เรื่อง นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวละครที่เล่าอย่างสมจริงแล้ว การร้อยเรียงเรื่องราว และการหยิบจับความธรรมดาสามัญในชีวิตของตัวละครมาเล่า ก็ยังทำให้คนที่เลยวัย ‘ใจเต้นเมื่อเจอคนที่ชอบ’ ไปนานแล้ว อ่านด้วยความรู้สึกกระทบใจ เพราะปัญหาที่ตัวละครเจอนั้นจับต้องได้ รุนแรงแต่ไม่หวือหวา เช่นชีวิตของเด็กสาวขี้อายในเรื่องสั้น ‘ระลอกคลื่นริมฝั่ง’ ซึ่งเคยมีชีวิตที่เรียบง่าย และเดินตามกรอบของสังคม แต่จู่ๆ ก็ประสบอุบัติเหตุจมน้ำ ทำให้กลายเป็นเจ้าหญิงนิทราไปตลอดห้าปี แล้วฟื้นขึ้นมาอย่างปาฏิหาริย์

การเปลี่ยนผ่านของเธอจึงไม่ใช่แค่การเติบโตของตัวเอง แต่ต้องเรียนรู้การเติบโตของโลกรอบข้าง ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ราวกับเด็กเพิ่งเริ่มหัดเดิน ถึงจะฟังดูย่ำแย่เคราะห์ร้ายแค่ไหน ทว่าชะตาชีวิตของเธอไม่ได้ถูกเล่าให้เป็นบาดแผลในใจ แต่กลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้เธอได้เริ่มปลูกความคิด ความกล้าแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในตัวเองมาก่อน ประสบการณ์เลวร้ายพลิกผันเป็นโอกาสให้เธอหาตัวเองเจออีกครั้ง ทว่าเรื่องอันหนักหน่วงทั้งหมดถูกเล่าคั่นด้วยเสียงคลื่นกระทบฝั่งซึ่งมีมาตลอดในเรื่อง คลื่นที่เคยพัดร่างเธอจมหายไปในทะเล แต่ก็ยังเป็นคลื่นกระทบฝั่งแห่งเดียวกันกับที่เธอและแฟนหนุ่มใช้มือสัมผัสรับความเย็นเยียบพร้อมกับสายลมของการเริ่มต้นใหม่ไปด้วยกัน

ชะตาชีวิตของเธอไม่ได้ถูกเล่าให้เป็นบาดแผลในใจ แต่กลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้เธอได้เริ่มปลูกความคิด ความกล้าแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในตัวเองมาก่อน

การเปลี่ยนแปลงในตัวละครหลักทั้งสี่เรื่องอาจไม่ได้สร้างผลกระทบมากมายในชีวิต แต่ได้เติมเต็มสิ่งที่ค้างคาและช่วยปลดเปลื้องความกดดันบางอย่างที่เคยมี ทั้งยังเป็นจุดที่ผลักให้ตัวละครเติบโต เพื่อแสวงหาความกล้าและตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในสังคมของผู้ใหญ่ที่ต้องเผชิญต่อไป

“เจ้ากะหล่ำปลีที่ฉันเปิดหน้าต่างออกไปมองเป็นครั้งคราวระหว่างถอดเทป ตอนแรกเป็นเพียงต้นอ่อนเล็กจิ๋ว แล้วก็อวบอ้วนขึ้นตามลำดับ เติบใหญ่จนกลายเป็นลูกบอลทรงกลม ต่างเบียดเสียดกันและกัน รอคอยว่าสักวันจะถูกพาออกจากที่นี่ไปยังทื่อื่น” จากเรื่องสั้น ‘เสียงของเขาในไร่กะหล่ำปลี’

 

กาลเวลาและน้ำตาของโมโมเสะ

การใช้ชีวิตในช่วงเปลี่ยนผ่าน (coming of age) ของวัยรุ่น ดูจะทั้งหดหู่ เต็มไปด้วยการแบ่งรับแบ่งสู้มากกว่าจะยืนหยัดเติบโตอย่างมั่นใจ เราอดไม่ได้ที่จะเห็นว่าเรื่องสั้นเหล่านี้ พยายามจะสื่อให้เห็นความสวยงามของการดิ้นรน ที่ทั้งอึดอัด ผิดหวัง และเจ็บปวด ในแบบที่สุดท้ายแล้วตัวละครก็ยังยิ้มได้ ต่อให้คุณเป็นมนุษย์จืดชืดที่ต้องพยายามมากกว่าคนอื่นก็ตามที

ภาพบนหน้าปกของหนังสือฉบับแปลภาษาไทยจึงสื่อความหมายร่วมกับเนื้อหาในเรื่องสั้นได้อย่างลึกซึ้ง ภาพด้านข้างของเด็กสาวที่มีสายลมพัดผ่าน ซึ่งน่าจะเป็นตัวละครโมโมเสะ แปลความตรงตัวกับชื่อหนังสือแปลภาษาไทยที่ต้องการให้เด็กสาวหันกลับมามองข้างหลัง

แต่ในอีกความหมายหนึ่ง เราอาจจะบอกได้ว่าภาพนี้คือการแสดงความกล้าหาญของคนในวัยหนุ่มสาวต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในช่วงชีวิตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งถึงแม้ใบหน้าจะเปื้อนคราบน้ำตา แต่ก็มีสายลมของกาลเวลาที่จะคอยพัดผ่านให้ความเจ็บปวดได้ผ่านไป ใบหน้าอันจริงจังของโมโมเสะจึงเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่า เธอจะเผชิญกับการเติบโตจากบทเรียนในชีวิตด้วยความมั่นคงและเด็ดเดี่ยว

Tags: , ,