จากการเก็บข้อมูลของ ilaw ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 พบว่า ในห้วงระยะเวลาขวบปีเศษมีนักกิจกรรมในประเทศไทยถูกทำร้ายทั้งหมด 15 ครั้ง เฉลี่ยแล้วมากกว่าเดือนละครั้ง ซึ่งไม่มีครั้งไหนเลยที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายจะสามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมทางการเมืองสะท้อนว่ารัฐไทยในขณะนี้ เต็มไปด้วยความเกลียดชังและหวาดผวาต่อความคิดและการกระทำที่แตกต่าง ราวกับว่าคนเหล่านั้นเป็นฝีหนองของสังคมที่ควรกลัดออกให้สิ้น

 แต่ความเกลียดชังอันนำไปสู่ความรุนแรงในทางร่างกายไม่ใช่ความรุนแรงชนิดเดียวที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ ในโลกโซเชียลมีเดีย เรามักจะพบข้อความที่ฟังแล้วเสียวสันหลังวาบ อาทิ พวกชังชาติ หนักแผ่นดิน พวกล้มเจ้า หรือข้อความทำนอง ‘ลุง-ป้า ตา-ยาย ใครที่เลือกพลังประชารัฐจะส่งไปบ้านพักคนชราให้หมด’ พ่วงมาด้วยข้อความด่ากราดอย่างอัดอั้นอีกยาวเหยียดโจมตีกลุ่มที่มีความคิดแตกต่างกับตน

ข้อความที่บ่มเพาะและอาจนำไปสู่ความเกลียดชังเหล่านี้ ถูกเรียกว่า ‘ถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง(Hate Speech)’ มีความหมายตรงตัวว่า ถ้อยคำกล่าวที่สร้างความ ‘เกลียดชัง’ ให้แก่ผู้อื่นและสังคม ซึ่งมีข้อสังเกตหลากประการ คือ มักเกิดขึ้นในบริบททางการเมือง สะท้อนและตอกย้ำการแบ่งขั้วทางการเมือง มีลักษณะของความเป็นข่าวลือ หรือข้อมูลที่มีแนวโน้มไม่เป็นความจริง ซึ่งสอดรับไปกับบริบทของสังคมหลังความจริง (Post-Truth) ซึ่งถ้อยคำแห่งความเกลียดชังยิ่งถูกตอกย้ำยิ่งขึ้นด้วยระบบอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย 

ท่ามกลางบรรยากาศสังคมอันน่าหวาดผวา อันมีต้นตอจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานในสังคมไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘ยุติความรุนแรงและเกลียดชังในสังคมไทย’ โดยเชิญวิทยากรสี่ท่าน ได้แก่ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพาและอดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว กรรมการก่อตั้งศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมแลกเปลี่ยนหาทางออกให้แก่สังคมไทย 

เคารพความแตกต่าง เพื่อมองคนให้เป็นคน – ปิยนุช โคตรสาร

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย แบ่งปันประสบการณ์ในฐานะองค์กรที่รณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องว่า การเรียกร้องของแอมเนสตี้ฯ ได้รับแรงต่อต้านจากคนกลุ่มหนึ่งของสังคมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงรัฐบาลใดก็ตาม 

แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ยิ่งทำให้การเข้ามาแสดงความคิดเห็นชื่นชม จนถึงว่ากล่าวโจมตีด้วยถ้อยคำความเกลียดชังต่อการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนของพวกเขาทำได้ง่ายขึ้น แต่ปิยนุชก็กล่าวติดตลกว่า ในอีกด้านหนึ่ง มันก็ช่วยเพิ่มยอดไลค์ ยอดแชร์ และยกระดับการรับรู้ถึงสังคมในวงกว้างเช่นกัน 

จากความคิดเห็นที่เพิ่มขึ้นในโลกโซเชียลมีเดีย เธอสังเกตเห็นว่า สังคมไทยในปัจจุบัน มีคนกลางๆ ที่มองปัญหาเป็นรายประเด็น เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้างเพิ่มขึ้น ซึ่งเธอมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้ แนวทางสำคัญในการสื่อสารท่ามกลางสังคมที่ขัดแย้งร้าวลึก คือต้องสื่อสารต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง 

เธอกล่าวว่า “ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 อคติทางการเมืองยิ่งรุนแรงมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในภาพของประเทศ แม้กระทั่งโต๊ะกินข้าวที่บ้าน เวลาเปิดทีวีดูข่าวก็มักเกิดเหตุที่คุณพ่อคุณแม่ หรือตัวคุณเองมองบนใส่กัน หรือกินข้าวด้วยกันไม่ได้ก็มี” 

ปิยนุชมองว่า ถึงแม้แอมเนสตี้ฯ จะได้รับถ้อยคำต่อว่าสาดเสียเทเสีย รวมถึงล้อเลียนการรณรงค์ของพวกเขามากมาย แต่พวกเขาพร้อมเคารพทุกความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกของทุกคน เพราะพวกเขาเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้เท่านั้นที่จะทำให้สังคมมองคนอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น และลดทอนความเกลียดชังในสังคมลงได้ 

ในช่วงท้ายของการสัมมนา ชัยวัฒน์ยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นกับการรณรงค์เรื่อง ‘การยกเลิกโทษประหารชีวิต’ ของแอมเนสตี้ฯ ขึ้นมาว่า ฝ่ายที่สนับสนุนให้ยกเลิกและฝ่ายต่อต้านกำลังถกเถียงปัญหากันในคนละมิติ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะมนุษย์สามารถพัฒนาและปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นได้ แต่ฝ่ายที่ต่อต้านกลับมองในประเด็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมจากองค์กรต่างชาติ 

ชัยวัฒน์ชี้ว่า การลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน มีรากฐานมาจากแนวคิดทางบัญชี เช่นเดียวกับการคงอยู่ของโทษประหารชีวิตที่มองว่าหากพลั้งจบชีวิตใครสักคนไปก็ควรจ่ายคืนด้วยชีวิตของตน แต่ในโลกยุคใหม่ที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นและเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้ ความเชื่อสองอย่างนี้จึงสวนทางกัน 

แต่สำหรับชัยวัฒน์ อำนาจในการตัดสินชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งเป็นของพระเจ้า ไม่ใช่ของรัฐและมนุษย์ มนุษย์เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมายที่อาจนำไปสู่ความผิดพลาดได้ และรัฐที่ถูกสร้างขึ้นด้วยกลไกซับซ้อนจากมือมนุษย์ก็อาจผิดพลาดได้เช่นกัน มากกว่านั้น ในรัฐไทยที่กรอบคิด ผู้บังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนตัวระบบทั้งหมดเต็มไปด้วยข้อกังขา ยิ่งน่าตั้งคำถามว่า ‘การมีโทษประหารชีวิตยังเหมาะสมจริงหรือ?’

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นด้วยว่า สังคมต้องประนีประนอมความคิดอันแตกต่างหลากหลายเพื่อขีดเส้นใต้ bipartisan ของสังคมขึ้นมาให้ชัดเจน เส้นที่แบ่งระหว่างการกระทำที่สมควร และไม่สมควรไม่ว่าในกรณีใดๆ เช่น การข่มขืน ทำร้าย รังแกผู้เยาว์ รวมถึงการทำร้ายร่างกายผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในสันติ

ปิยนุชเห็นเช่นเดียวกันว่า ไม่ว่าอย่างไร สังคมควรต้องมีความเห็นอกเห็นใจต่อเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกายไม่ว่าในกรณีใดๆ ในทางเดียวกัน ไม่ควรมีการซ้ำเติมหรือเห็นด้วยกับความรุนแรงไม่ว่าในกรณีใดๆ เช่นเดียวกัน

ความน่าเชื่อถือเท่านั้น ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันของสื่อ – วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV มองว่าสื่อสารมวลชนไทยควรจะมีส่วนร่วมลดทอนความเกลียดชังที่ระอุอยู่ในขณะนี้ สำหรับเขา สื่อต้องเปรียบเสมือนผู้รักษาประตู ต้องกลั่นกรองข่าวสารและความจริง ไม่ใช่ส่งต่ออย่างไร้การตรวจสอบ ราวกับเป็นอีเมลลูกโซ่ที่ส่งต่อๆ กันไป 

หากเขาก็ยอมรับว่า ในบางครั้ง นักข่าวไทยไม่สามารถนำเสนอหรือขุดคุ้ยความเป็นจริงได้อย่างเต็มความสามารถ เนื่องจากขั้นตอนการกลั่นกรองและความยึดโยงด้านการเงินกับนายทุน ทำให้หลายครั้ง ความตั้งใจมุ่งมั่นของนักข่าวที่จะลงลึก ขุดคุ้ย ตีแผ่ความจริงต้องสูญสลายไปอย่างไร้ค่า 

ในประเด็นนี้ สะท้อนอย่างชัดเจนว่าสื่อในสังคมไทยไม่ได้มีอิสระเสรีภาพที่จะนำเสนอข่าวอย่างแท้จริง อีกทั้งยังถูกกดดันบ่อยครั้งให้นำเสนอข่าวไม่สร้างสรรค์ ข่าวดราม่าที่มีตัวละครพระเอก-ผู้ร้าย ซึ่งเป็นลักษณะของข่าวที่ใครๆ ก็ชอบ หากข่าวในลักษณะนี้มักไม่ช่วยบ่มเพาะความคิด ความรู้ให้กับคนในสังคม

วันชัยมองว่า สื่อที่เอนเอียงทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าวอชิงตัน โพสต์หรือนิวยอร์ก ไทม์สื่อที่ได้รับความนิยมและมีอิทธิพลในสหรัฐอเมริกาต่างก็ออกตัวอย่างโจ่งแจ้งว่ายืนข้างแนวคิดใดและเป็นกระบอกเสียงให้พรรคอะไร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยกระดับสื่อเหล่านี้ให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องและยาวนาน คือ ความน่าเชื่อถือและการให้พื้นที่แก่ผู้เห็นต่างอย่างเท่าเทียม

อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV เชื่อว่า ถึงแม้ในห้วงเวลาที่สื่อใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด อีกทั้งการนำเสนอข้อมูลข่าวสารไม่จำเป็นต้องออกมาจากสำนักข่าวอีกต่อไป ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของสำนักข่าวเท่านั้น ที่จะเป็นหลักประกันและภูมิคุ้มกันให้สำนักข่าวสามารถยืนระยะมั่งคงต่อไปได้ และความน่าเชื่อถืออีกเช่นกัน ที่จะพิสูจน์ว่าสำนักใดคือของแท้ และสำนักใดคือของเทียม

สื่ออาวุโสผู้นี้มีความเชื่อว่า การทำหน้าที่เสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมา การเปิดพื้นที่ให้กับความคิดแตกต่างหลากหลาย การวิพากษ์ผู้มีอำนาจและปกป้องผู้น้อย และการบ่มเพาะปัญญาให้กับสังคม เป็นหน้าที่และจุดหมายของสื่อมวลชนที่ดี ซึ่งจะช่วยทุเลาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งในแง่ของความคิดและพฤติกรรม 

เขาเชื่ออีกว่าการยีดหลักการข้างต้นจะช่วยขยายพื้นที่ของคนที่มีความคิดไม่สุดโต่ง คนตรงกลางที่ไม่มีส่วนได้-เสียกับผลประโยชน์อันทับซ้อนของสังคมมากนัก กลุ่มคนเหล่านี้จะกลายเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะและยึดมั่นในความยุติธรรม ไม่ใช้อารมณ์นำหน้าเหตุผล คนกลุ่มเหล่านี้เองที่จะบรรเทาเยียวยาความเกลียดชังในสังคม และสร้างวุฒิภาวะให้เกิดขึ้นในสังคม 

สื่ออาวุโสทิ้งท้ายว่า ความยุติธรรมและวุฒิภาวะเท่านั้น ที่จะยับยั้งความรุนแรงไม่ให้ผุดขึ้นมาหลอกหลอนสังคมไทยให้ต้องตกอยู่ในความหวาดผวา

‘ความน่าเชื่อถือ’ ของสำนักข่าวเท่านั้น ที่จะเป็นหลักประกันและภูมิคุ้มกันให้สำนักข่าวสามารถยืนระยะมั่งคงต่อไปได้ และความน่าเชื่อถืออีกเช่นกัน ที่จะพิสูจน์ว่าสำนักใดคือของแท้ และสำนักใดคือของเทียม

ความเกลียดชังที่แพร่ระบาด และโลกที่ทอนความเป็นมนุษย์ – ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี ชวนให้ผู้ฟังสัมมนาย้อนคิดถึงเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดที่เกิดกับ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แล้วถามว่า “พวกคุณมองเห็นเขา (จ่านิว) เป็นใคร?” 

ชัยวัฒน์กล่าวว่า คนกลุ่มหนึ่งมองสิรวิชญ์ว่าเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ออกมาต่อต้านความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น คนอีกกลุ่มมองว่าเขาเป็นหุ่นเชิดที่ข้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเมือง แต่สำหรับชัยวัฒน์ จ่านิวเป็นลูกศิษย์ในคณะรัฐศาสตร์ มธ. คนหนึ่งที่มักจะมีคำถามมากมายระหว่างคลาสเรียน มีทั้งที่เข้าท่าและไม่เข้าท่าจนเพื่อนตอบสวนกลับก็มี และมักมีท่าทีที่อ่อนโยนเมื่อพูดถึง ‘แม่’

ชัยวัฒน์มองว่า การทำร้ายนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนหนึ่งในที่เปิดเผยเช่นนี้สะท้อนความป่าเถื่อนที่ซ่อนเร้นในสังคมไทย ความป่าเถื่อนที่สอดรับกับโลกปัจจุบันที่ทอนทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งความจริง โลกที่ข้อมูลข่าวสารไหลท่วมจนสำลัก ส่งให้ความเชื่อของปัจเจกยืนเด่นนำหน้าความจริงที่ควรค่าแสวงหา ยุคที่เราเรียกกันว่า ‘ยุคหลังความจริง(Post-Truth)’

 ประดุจห้วงยามของสงคราม เพลิงโทสะของทั้งสองฝ่ายต่างโหมความเกลียดชังกันและกัน เผาไหม้ความเป็นมนุษย์ของฝั่งตรงข้ามให้หลงเหลือเพียงมิติเดียว เป็นเพียงชาวมุสลิม ชาวคริสต์ ชาติตรงข้าม และความเกลียดชังนั้นเองที่บดบังสายตาของเราให้พร่าเลือนจนลืมมองไปว่า คนเหล่านั้นที่เราลงมือสังหารหรือประทุษร้ายอย่างเหี้ยมโหด นอกจากที่เป็นศัตรู พวกเขายังเป็นพ่อ แม่ เกษตรกร คนรักหรือครูบาอาจารย์ของใครบางคนในขณะเดียวกัน

(ภาพจากเฟสบุ๊ก Sirawith Seritiwat)

ชัยวัฒน์ มองว่า เทคโนโลยีปัจจุบันบิดเบือนและก่อร่างตัวตนของมนุษย์ขึ้นมาใหม่ ตัวตนที่ไม่มีใบหน้า แววตา หรือภาษากาย ตัวตนใต้สำนึกที่อาจป่าเถื่อนและไร้การยั้งคิดกว่าตัวตนจริงๆ ตัวตนที่พร้อมผรุสวาทหักหาญน้ำใจผู้อื่น ตัวตนเหล่านั้นที่เราสร้างและนำเสนอบนโลกอินเทอร์เน็ต ‘ตัวตนออนไลน์ (online-self)’

  ความรุนแรงบนโลกออนไลน์เกิดขึ้นง่ายดายกว่าในโลกความเป็นจริง เพราะในโลกหน้าจอนั้น เรามีปฏิสัมพันธ์ต่อกันโดยปราศจากการเห็นใบหน้า ซึ่งมันทำให้คนเราปฏิบัติต่อกันอย่างพร่องความเป็นมนุษย์ เรามองไม่เห็นภาษากายของกันและกัน เราไม่รู้ถึงสายตา มือ เท้า แขน หรือส่วนต่างๆ ที่บ่งบอกเราว่าคนตรงหน้ารู้สึกอย่างไร เราจึงมีความกล้าที่จะด่าทอคำมากมายเพื่อทำร้ายคนอื่น ยิ่งบวกเข้ากับความเร็วและการเข้าถึงอันทันท่วงทีจากเทคโนโลยีปัจจุบัน ยิ่งทำให้ขาดการไตร่ตรองและรัวนิ้วลงบนแป้นคีย์บอร์ดรวดเร็วมากขึ้น

ชัยวัฒน์เสนอว่า เราควรหาทางป้องกันความรุนแรงในโลกออนไลน์ที่อาจไต่ระดับขึ้นไปสู่การประทุษร้ายในโลกแห่งความเป็นจริงได้ เขาเห็นด้วยกับกฎหมายป้องกันข่าวลวง (Fake News) ที่สิงคโปร์เพิ่งออกผ่านสภาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เขายังตั้งคำถามถึงความเหมาะสมระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกและการควบคุมใต้ระบบกฎหมายว่าควรอยู่ตรงไหน

ชัยวัฒน์ยังเสนออีกว่า สมาชิกรัฐสภาในฐานะตัวแทนของประชาชน ควรจะหาทางแก้ไขปัญหาความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ เขาเสนอว่า ‘การป้องกันโดยพลเรือนอันปราศจากอาวุธ (unarmed civillian protection)’ ที่เคยใช้ในศรีลังกา กัวเตมาลา และโคลอมเบีย อาจจะเป็นหนทางที่ป้องกันความรุนแรงในรูปแบบศาลเตี้ยที่เกิดขึ้นกับสิรวิชญ์ได้ และช่วยกระชับสายสัมพันธ์ในสังคมให้กลับมาใกล้ชิดต่อกันได้มากขึ้น

“ผมมองว่าความเกลียดชังเป็นเหมือนโรคระบาดที่แพร่ออกไป มันเป็นยาพิษที่มันมีอำนาจในการกร่อนสายสัมพันธ์ในสังคม แต่สังคมเป็นบ้าน เราอยากเทยาพิษใส่ลงในบ้านเราเพื่ออะไร” ชัยวัฒน์กล่าว

ในช่วงท้ายของวงสัมมนา นักศึกษาคนหนึ่งยกมือถามถึง ‘ขอบเขตของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกต่อทั้งคนที่ยังอยู่และจากไป’ 

ชัยวัฒน์ตอบคำถามโดยการยกวรรณกรรมของอัลแบร์ กามู เรื่อง ‘กาฬวิบัติ(La peste)’ ขึ้นมา โดยหนังสือเล่มดังกล่าว เล่าผ่านสภาพของเมืองโอร็องที่กาฬโรคกำลังแพร่ระบาด กัดกินตั้งแต่โคนรากจรดยอดสูงของเมือง ก่อนเขาจะถามต่อว่า ‘ในเมืองเช่นนั้น เราจะอาศัยอยู่กันอย่างไร?’

คำตอบของกามูและชัยวัฒน์เป็นเช่นเดียวกันคือ ‘Act of Decency’ หรือที่เขาแปลว่า การปฎิบัติต่อกันอย่างสุภาพในฐานะมนุษย์  

ถอดบทเรียนศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง เมื่อความรุนแรงในสังคมไทยกลายเป็นแบบแผน

รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว กรรมการก่อตั้งศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลการทำวิจัยของศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ความรุนแรงในสังคมไทยก่อรูป สร้างตัว และมีรูปแบบอันชัดเจน จนกระทั่งเรียกได้ว่ามีแบบแผนความรุนแรง ซึ่งมีแนวโน้มที่อาจจะนำไปสู่ใบอนุญาตฆ่า (License to Kill) คล้ายกับประเทศญี่ปุ่นที่มีการทำร้ายผู้สูงอายุ เพราะมองว่าผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นรังแต่จะสร้างภาระให้กับสังคมของญี่ปุ่นในวงกว้าง

ทั้งนี้ ในการคลี่คลายความขัดแย้งให้หายไปจากสังคมต้องมีสิ่งที่ห้ามลืมด้วยกันทั้งหมด 4 ประการ ได้แก่ การไม่ใช้ความรุนแรง, ความอดทนอดกลั้น, ห้ามหลงลืมใครไว้ข้างหลัง และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจแก่กัน

หนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาสันติภาพมองว่า มายาคติหรือจินตนาการบางประการเปรียบดังฟืนที่โหมความเกลียดชังให้ลามไปทั่วสังคม ซึ่งหากใช้คู่กับความเกลียดชังพ่วงด้วยความรู้สึกไม่มั่นคง มีโอกาสที่จะนำไปสู่วาทกรรมปั้นน้ำเป็นตัวที่สร้างรอยร้าวลึกให้กับสังคม อาทิ ล้มเจ้า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สอดรับกับบริบทของโลกออนไลน์และแนวคิดของยุคหลังความจริง

ปัจจัยหนึ่งที่นำพาสังคมไทยไปสู่ความรุนแรง คือความไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ ฉันทนามองว่าเป็นบทเรียนหนึ่งที่สังคมไทยควรเรียนรู้ การวิพากษ์วิจารณ์ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความเกลียดชังเสมอไป สังคมควรจะเปิดกว้างและตระหนักถึงความสำคัญของการวิพากษ์ ทั้งนี้ เส้นแบ่งที่ควรขีดให้ชัดเจนระหว่างความอดทนอดกลั้นและเสรีภาพ คือมนุษยธรรม

ฉันทนาไม่เห็นด้วยกับการที่สังคมผลักภาระในการคลี่คลายความเกลียดชังให้แก่ภาครัฐเสียทั้งหมด ภาคประชาสังคมสามารถรวมตัวขึ้นเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความขุ่นข้องหมองใจในสังคมกันเองได้ รวมถึงแวดวงสื่อและนักวิชาการก็ควรมีส่วนอย่างมากในการเก็บรวบรวมข้อมูลและปรากฏการณ์ต่างๆ เพื่อนำมาประมวลผล และหาแนวทางลดความขัดแย้งในสังคมในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังต้องเป็นหัวขบวนหลักในการป้องกันความเกลียดชังไม่ให้กลายเป็นศาลเตี้ยอยู่ดี ยิ่งในกรณีที่ความรุนแรงมีต้นตอจากความเกลียดชัง ภาครัฐยิ่งต้องเพิ่มความใส่ใจ หมั่นติดตาม ที่สำคัญต้องตามจับผู้กระทำผิดให้ได้ เพื่อสร้างความมั่นใจและมั่นคงให้กับประชาชนต่อระบบความปลอดภัยของรัฐ

สิ่งที่ผู้มีอำนาจควรตระหนักอย่างที่สุด คือความสัมพันธ์ระหว่างความอดทนอดกลั้นของสังคมและอำนาจในมือตน กฎหมายบางข้อ นโยบายบางอย่าง หรือการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบางประโยค อาจเป็นทั้งบันไดหรือหลุมลึกที่เพิ่มหรือทอนความสมานฉันท์ในสังคมก็ได้

แน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำและความยุติธรรมย่อมส่งผลต่อระดับขันติธรรมของสังคม แต่ฉันทนาชี้ว่า ข้อสรุปอย่างหนึ่งที่น่าแปลกใจจากงานวิจัยของศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง คือการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมของประชาชนมีส่วนสำคัญ ในการเพิ่มความอดกลั้นของคนในสังคม เปิดใจต่อความคิดที่แตกต่าง ยอมรับและเคารพในระบบกติกา อีกทั้งพัฒนาทักษะการสื่อสารกับผู้เห็นต่าง

มายาคติหรือจินตนาการบางประการเปรียบดังฟืนที่โหมความเกลียดชังให้ลามไปทั่วสังคม ซึ่งหากใช้คู่กับความเกลียดชังพ่วงด้วยความรู้สึกไม่มั่นคง มีโอกาสที่จะนำไปสู่วาทกรรมปั้นน้ำเป็นตัวที่สร้างรอยร้าวลึกให้กับสังคม

Fact Box

  • Post-Truth เป็นคำที่ได้รับเลือกจาก Oxford Dictionary ให้เป็นคำแห่งปี 2016 หมายถึง สภาวะที่อารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวมีผลอยู่เหนือความเป็นจริง ในการสร้างแรงกระทบต่อสาธารณะ
  • กาฬวิบัติ(La Peste) เป็นวรรณกรรมที่เขียนขึ้นโดยนักข่าว นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศษ อัลแบร์ กามู งานชิ้นนี้เล่าถึงสภาพของเมืองโอร็องที่กาฬโรคกำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก นักวิจารณ์เชื่อกันว่ากามูเปรียบเทียบกาฬโรคในงานของเขาเข้ากับพรรคนาซี ในเยอรมัน ต่อมาในปี 1947 กามูได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุเพียง 44 ปี
  • นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ถูกลอบทำร้ายโดยชาย 4 คน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้รับอาการบาดเจ็บสาหัสบริเวณศีรษะ ตาขวาและสันจมูก โดยก่อนหน้านี้เขาเพิ่งได้รับทุนการศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียและมีแผนจะเดินทางในช่วงนี้ ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้
Tags: , , ,