ความทรงจำของผมกับ The Innocent นั้นริบหรี่มาก เพราะต้องยอมรับตรงๆ ว่าเกิดไม่ทันในยุครุ่งเรืองของวงนี้ ทว่า จำได้ว่าเคยได้ยินเพลง The Innocent ครั้งแรก น่าจะราวปี 2537–2538 ช่วงปลายๆ ของค่ายนิธิทัศน์ เพราะในช่วงเวลาที่โทรทัศน์มี 5 ช่อง การจะเปิดไปเจอช่อง 9 นั้นง่ายมาก และรายการช่วงบ่ายๆ ของช่อง 9 ก็ไม่ได้มีโฆษณามากมายนัก แต่ที่โฆษณาบ่อยคือโฆษณา เทป–ซีดี รวมฮิตของค่ายนิธิทัศน์ และฉับพลันนั้นเสียงเพลงดังของ The Innocent ก็ลอยขึ้นมาในยามบ่าย ติดหูเด็กอนุบาลในวันนั้น ตั้งแต่วันนั้น
“เพราะเธอหรือเปล่า ก่อนไม่เคยเหงา เพราะเธอหรือใคร…”
เป็นท่อนเพราะๆ สั้นๆ แต่ติดหูมาก
ผมคิดว่าหลังจากนั้น ผมแทบไม่เคยได้ฟัง The Innocent อีกเลย และหากเทียบวัยของคุณพ่อ คุณแม่ และผมเอง The Innocent ก็ดูจะ ‘หวือหวา’ เกินไป เมื่อเทียบกับ แกรนด์เอ็กซ์ หรือ เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ที่ไปทาง ‘ป็อป’ มากกว่า และเป็นกระแสในวงกว้างมากกว่า
จากนั้น ชื่อและเพลงของ The Innocent ก็ค่อยๆ เลือนหายไป กว่าจะกลับมาสู่โสตประสาทผมอีกครั้งก็ต้องรอให้ถึงยุคของยูทูบ เมื่อพวกเขากลับมาจัดคอนเสิร์ต The Innocent Reunite Concert เมื่อ 14 ปีก่อน ผมไม่มีโอกาสได้ดู แต่เมื่อคอนเสิร์ตฉบับเต็มถูกนำมาทำเป็นดีวีดีขาย และมีคนนำมาลงยูทูบ ก็พบว่าเป็นคอนเสิร์ตที่ครบอรรถรสมาก กล่าวคือมีการเรียบเรียงดนตรีใหม่อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเพลงอย่าง ‘มนต์ไทรโยค’ เพลง ‘มือที่สาม’ หรือเพลงอย่าง ‘เพียงกระซิบ’ และจุดสูงสุดอยู่ที่เพลงอย่าง ‘ฝากรัก’ เพลงปิดคอนเสิร์ตที่ได้ เศรษฐา ศิระฉายา นักร้องนำของดิอิมพอสสิเบิล มาร้องปิดงานอย่างสวยงาม
นับจากนั้น ผมคิดว่าหาก The Innocent (ซึ่งไม่ได้รวมตัวกันง่ายนัก) รวมตัวกันเล่นคอนเสิร์ตอีกครั้งเมื่อไร ก็นับเป็นคอนเสิร์ตที่น่าสนใจ แม้อาจรู้จักเพลงไม่ครบ แต่คุณภาพเสียง คุณภาพการเรียบเรียงเพลง ฝีมือของ ชาตรี คงสุวรรณ ไม่น่าทำให้ผิดหวัง ประกอบกับสมาชิกคนอื่นๆ ไม่ว่าจะ พีรสันติ จวบสมัย, สายชล ระดมกิจ ล้วนเป็นคนที่ผมติดตามอยู่กับวง The Palace และ เสนีย์ ฉัตรวิชัย ก็ยังคงเล่นดนตรีอยู่เนืองๆ คอนเสิร์ต The Innocent จึงเป็นหนึ่งในคอนเสิร์ตที่อยู่ในลิสต์
เมื่อได้รับเชิญให้ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่ง จึงอดตื่นเต้นไม่ได้ ยิ่งชาตรี และสายชล ให้สัมภาษณ์ว่าครั้งนี้จะเป็นการกลับไปที่ ‘ราก’ ของ The Innocent จริงๆ มากกว่าจะเป็นการทำเพลงของ The Innocent ให้ ‘ร่วมสมัย’ แบบคอนเสิร์ตครั้งก่อน ยิ่งทำให้คอนเสิร์ตครั้งนี้น่าสนใจมากขึ้นไปอีก
“วาววาว เสียงรถไฟวิ่งไปฤทัยครื้นเครง” ชาวอินโนเซ็นท์ใช้มนต์ไทรโยคเป็นเพลงเปิด ก่อนจะตามด้วยเพลง 14-16-18 วัยบริสุทธิ์ และเพลงดังอย่าง ‘ฝันและใฝ่’ เป็นการอุ่นเครื่อง ก่อนพาลงไปหลายเพลงลึกๆ เป็นการเรียง setlist แบบ เช้า สาย บ่าย ค่ำ เปิดด้วย ‘ลองคิดดู’ ตามด้วย ‘เรา’ จากชุด ‘ครั้งนี้ของพี่กับน้อง’ ที่หลายคนนึกไม่ถึงว่าจะหยิบมาเล่น ‘589-3375’ City Pop ที่กลับมาดังอีกครั้ง และ ‘คืนก่อน’ ที่เป็นตัวแทนเพลงยามค่ำคืน
จากนั้นไม่นาน ‘เพียงกระซิบ’ เพลงดังอีกเพลงก็ถูกหยิบขึ้นมาเล่น โดยฉากหลังถูกเปลี่ยนเป็นไนท์คลับยุค 80 ยุคทองของ The Innocent พร้อมกับเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของโอม โดยเปลี่ยนจากเสียงที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็น ‘ร็อค’ แบบ อัสนี–วสันต์ ในคอนเสิร์ต Reunite ครั้งที่แล้ว กลายเป็นเสียงร้องนุ่มๆ หวานๆ แบบดั้งเดิม ชนิดถอดออกมาจากเทปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว อย่างกลมกลืน
แล้วเรื่องก็ดำเนินไปเรื่อยๆ ไฮไลต์มีตั้งแต่การหยิบเอาไลน์อัพชุดแรกของวงที่มี สิทธิศักดิ์ กิจเต่ง มาร้องเพลงหายากในยุคโฟล์คซอง และหลายคนก็ยังไม่เคยได้ยินอย่างเพลง ‘รถเมล์’ ตามด้วยเมดเลย์เพลงสนุกชุดใหญ่อย่างเพลง เสียงจากแม่กลอง อยู่หอ สาว86 และ สอบตก ขึ้นมา หรือการที่อินโทรเพลง ‘เพียงครึ่งใจ’ ขึ้น แล้วเสียงปรบมือก็ดังสนั่นทั้งฮอลล์
“ใจเจ็บ เก็บเป็นครูสอนเรา จะมีใจให้เขา ควรรักเขาเพียงครึ่งใจ” จบลงอย่างสวยงามพร้อมท่อนโซโล่กระแทกอารมณ์จากชาตรี ฝากไว้ให้กับคนที่ยังอารมณ์ค้าง รวมถึง อนุทิน ชาญวีรกูล หนึ่งในผู้ชมวันนั้น (ที่กล้องแพนไปหาบ่อยมาก) ที่ไปเล่นเปียโนอัดลงเฟซบุ๊กตัวเองอีกรอบ
สำหรับท่อนของแขกรับเชิญมีไฮไลต์อยู่หลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของ ตูน บอดีสแลม ในเพลง ‘ทางหนึ่งซึ่งหวัง’ อีกหนึ่งเพลงดังของสายชล เบิร์ดกะฮาร์ท ในเพลง ‘ฝากรัก’ เพลงที่พีรสันติบอกว่าแม้แต่คนแต่งอย่างชาตรีก็ไม่เคยร้องเพลงนี้เองแม้แต่ครั้งเดียว หรือการประชันท่อนโซโล่กีตาร์กับวงแบล็คเฮดในเพลง ‘เสียเวลาเปล่า’ และปิดท้ายคอนเสิร์ตด้วย ‘เพียงกระซิบ’ ในเวอร์ชันของแบล็กเฮด
ส่วนที่ผมชอบมากๆ อีกฉาก คือท่อนโซโล่กีตาร์ท้ายเพลง ‘รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง’ ที่ ติ๊ก ชีโร่ มือกลองวงพลอย ส่งท่อนกลองผ่านไปให้ชาตรี อีกหนึ่งอดีตสมาชิกวงพลอยโซโล่อย่างหวานหยดย้อยจนจบเพลง
อีกส่วนหนึ่งที่น่าประทับใจ คือฉากและจอด้านหลังที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามอารมณ์เพลง ไม่ว่าจะโทรศัพท์ในเพลง 589-3375 ภาพวาดลายเส้นของ The Innocent ยุคคลาสสิกในเมดเลย์ ‘เสียงจากแม่กลอง’ และท่อนท้าย ที่เป็นโลโก้ของ The Innocent
โดยสรุป ใครที่เป็นแฟนข อง The Innocent น่าจะได้ฟังทุกเพลงคลาสสิคอย่างเต็มอิ่มไม่ว่าจะยุคโฟล์ค ยุคสตริง หรือยุคร็อค ผ่านการตีความใหม่ เรียบเรียงดนตรี เรียบเรียงเสียงประสานใหม่ เติมท่อนโซโล่ให้กลมกล่อม ไม่ว่าจะ ‘สักวัน’ ไม่ว่าจะ ‘รักคืออะไร’ หรือ ‘เพราะเธอหรือเปล่า’ หรือเพลงหาฟังยากอย่าง ‘กระต่ายเพ้อ’ ‘สำนึก’ ‘บอกแล้ว’ กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวพอดิบพอดี
ความสมบูรณ์แบบของ The Innocent ในวันนั้น ทำให้แฟนเพลงจำนวนมากยังมูฟออนจากคอนเสิร์ตไม่ได้ และทำให้สมาชิกหลายคนในวงยังกลับมาเล่าเรื่อง Side Story จากแต่ละเพลงอย่างต่อเนื่อง
หากอารมณ์ค้างอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็หวังว่าคอนเสิร์ต The Innocent รอบต่อไปจะจัดอีกรอบไวกว่านี้ ไม่ต้องรอนานถึง 14 ปี “ด้วยรัก อยากฝากไว้ ในหัวใจ ที่หมายมั่น ขอเพียงได้พบกัน สบตาให้หวั่น แค่นั้นพอ”
Tags: 40ปีของพี่กับน้อง, คอนเสิร์ต, The Innocent, ดิอินโนเซ็นท์