1

ภายใต้แสงไฟยามค่ำคืนของย่านวงเวียน 22 กรกฎาคม ในสายตาใครหลายคนอาจเป็นแหล่งเสื่อมโทรม น่าวิตกอันตราย เสียวสันหลังวาบทุกครั้งยามเดินเท้าผ่าน แต่ขณะเดียวกัน นี่คือบ้านและรากเหง้าของคนกลุ่มหนึ่ง

โสเภณี แมงดา อันธพาลไร้อนาคต ซาเล้งหาเช้ากินค่ำ เหล่านี้คือคนกลุ่มหนึ่งที่ว่า บ้างก็ว่าพวกเขามีชีวิตแหลกเหลวไร้ค่า บ้างก็ว่าพวกเขาใช้ชีวิตสุดเหวี่ยง บ้างก็ว่าพวกเขาเป็นภัยสังคมที่รอฉุดกระชากทรัพย์สินผู้อื่นตามซอกหลืบ มิหนำซ้ำยาเสพติดและการโจรกรรมในย่านนี้ยังหาง่ายพอๆ กับหาร้านสะดวกซื้อ อย่างไรก็ดี ต่อให้ชีวิตมิอาจหลุดพ้นจากวงจรโสมมประดุจน้ำครำ พวกเขาก็ยังถวิลหา ‘รักที่ดี’ ให้สมกับการเกิดมา 

แต่อนิจจา สังคมของประเทศนี้กลับเหยียบย่ำฉุดรั้งพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้กระทั่งความรักที่เป็นปัจจัยสามัญของ ‘ปุถุชน’ ก็ไม่สามารถสัมผัสได้เลยสักครั้ง

เกริ่นนำข้างต้นคือพล็อตของ ‘Red Life’ ภาพยนตร์เรื่องแรกจากค่าย BrandThink Cinema ที่ยกชีวิตจริงของกลุ่ม ‘คนจนเมือง’ ในสลัมย่านวงเวียน 22 กรกฎาคม ซึ่งเคยถ่ายทอดบริบทในรูปแบบสารคดีมาต่อยอด ผ่านฝีมือการกำกับของ ลักญ-เอกลักญ กรรณศรณ์ โดยตั้งโจทย์ตัวโตๆ ไว้ คือถ้าคนกลุ่มนี้มีความรักจะเป็นอย่างไร เพราะธรรมดา คนมีอันจะกิน มนุษย์เงินเดือน หรือคนหาเช้ากินค่ำ คิดจะมีรักดีๆ ก็เลือดตาแทบกระเด็นจากปัจจัยอภิมหาศาลทางสังคม

 

2

“ใครแม่งจะอยากเอากับคนที่ไม่ใช่แฟนวะ”

“เดี๋ยววันหนึ่งมึงเจอพวกตัวรวยๆ ก็จะทิ้งกูใช่ไหม”

“อยู่กับแม่อะ สุดท้ายหนูก็เป็นเหมือนแม่ไง”

เหล่านี้คือถ้อยคำที่ปรากฏในตัวอย่างของภาพยนตร์เรื่อง Red Life ที่เชื้อเชิญคนดูพร้อมประโยคโปรยบนโปสเตอร์ว่า ‘หนังรักของคนโลกไม่สวย’ แน่นอนว่าการดำเนินเนื้อหาจึงมีเส้นเรื่องและตัวละครนำมากกว่าหนึ่ง

เส้นเรื่องแรกกล่าวถึง ‘เต๋อ’ (แสดงโดย ธิติ มหาโยธารักษ์) อันธพาลขี้ยา ที่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นเพื่อดึง ‘มายด์’ (แสดงโดย กานต์พิชชา พงษ์พานิชย์) คนรักออกจากอาชีพ Sex Worker แต่ด้วยต้นทุนชีวิตติดลบ ทำให้เต๋อไม่สามารถออกจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมในสลัมวงเวียน 22 กรกฎาคม มิหนำซ้ำ ความสามารถเดียวที่เต๋อหาเลี้ยงชีพได้คือ ‘โจร’ ที่ยิ่งลงมือจี้ปล้นเท่าไร ชีวิตก็ยิ่งเลวร้ายหนักขึ้น

เส้นเรื่องที่สองกล่าวถึง ‘ส้ม’ (แสดงโดย สุพิชชา สังขจินดา) ลูกสาวของ ‘อ้อย’ (กรองทอง รัชตะวรรณ) โสเภณีรุ่นใหญ่ ที่ยอมขายศักดิ์ศรีและเรือนร่างแลกกับความสุขสบาย ด้วยความคาดหวังว่า ลูกสาวจะมีชีวิตที่ดีกว่าตัวเอง แต่ความคาดหวังเจ้ากรรมดันทำร้ายลูกสาวทางอ้อม โดยเฉพาะการส่งไปเรียนในโรงเรียนที่มีฐานะทางสังคมสูงกว่า ทำให้ลูกสาวที่อยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อเผชิญกับความกดดัน จนวันหนึ่งส้มได้พบกับ ‘พีช’ (แสดงโดย สุมิตตา ดวงแก้ว) รุ่นพี่สาว ทีี่เธอให้สถานะ ‘ที่พักใจ’ ทว่ารุ่นพี่สาวคนนี้กลับเต็มไปด้วยเบื้องหลังปริศนาซ่อนอยู่

นอกจากนี้ ระหว่างทางยังมีตัวละครอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ‘ลุงกั๊ก’ (แสดงโดย มานพ มีจำรัส) อดีตนางโชว์ตกอับที่จำใจผันตัวเป็นคนเก็บขยะ ผู้เปรียบดังแสงสว่างในซอกหลืบนี้ หรือ ‘เคี้ยง’ (แสดงโดย ดี เจอร์ราร์ด) หัวหน้าแก๊งอันธพาลผู้ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ตัวละครเหล่านี้ล้วนมีส่วนเติมแต่งให้ระหว่างทางของหนังกลมกล่มมากยิ่งขึ้น

3

ในแง่ของงานภาพ จากสายตาที่ผู้เขียนได้ดูตลอดสองชั่วโมง แต่ละเฟรมที่ถูกถ่ายทอดคือความดิบเถื่อนและสมจริงตามสภาพแวดล้อมของย่านวงเวียน 22 กรกฎาคม ทุกกระเบียดนิ้ว รวมถึงวิถีชีวิตของโสเภณีย่านดังกล่าวที่สอดแทรกเป็นระยะ ไม่ว่าจะห้องพักอาศัยขนาดไม่กี่ตารางเมตร วิธีการเรียกลูกค้าของโสเภณีรุ่นใหญ่ที่นั่งเรียงรายบนเก้าอี้พลาสติกสีแดงอยู่หน้าโรงแรมจิ้งหรีด หรือแม้แต่เสื้อผ้าที่ใส่แสดงก็เป็นเสื้อผ้ามือสองจริงๆ 

รวมไปถึงการหยิบซาวนด์แทร็กประกอบมาใช้ก็ถูกจังหวะจะโคนพอดิบพอดี ยกตัวอย่างเพลง La vie en rose ของ อีดิธ ปิยัฟ (Édith Piaf) ที่ดังขึ้นในฉากที่ลุงกั๊กร่ายรำ พลางนึกถึงอดีตนางโชว์อันรุ่งโรจน์ด้วยแววตาใสสกาว 

แต่ที่น่าประทับใจอย่างยิ่งสำหรับผู้เขียน คือการหยิบยกประเด็นละเอียดอ่อนของกลุ่มคนจนเมืองที่ประกอบอาชีพ ซึ่งสังคมนี้มองว่า ‘ไร้เกียรติ’ มาเป็นประเด็นหลักและตัวละครดำเนินเรื่อง ถ้าว่ากันแค่กลิ่นอายคงจะใกล้เคียงกับหนังตีแผ่สังคมขึ้นหิ้งทั้ง ‘เสียดาย’ หรือ ‘น้ำพุ’ แต่ระหว่างทางกลับมีปลายเปิดให้คิดตลอดทาง 

เช่น ‘ถ้าตกอยู่ในสถานะแฟนของคนที่มีอาชีพ Sex Worker เราจะทนเห็นเขาทำอาชีพนั้นได้จริงๆ หรือ’, ‘จะกล้าบอกคนอื่นไหมว่าเรามีแม่เป็น Sex Worker’ หรือ ‘ทำไมคนพวกนี้ถึงไม่เลิกเป็นโจรแล้วหันไปทำอาชีพสุจริต’ คำถามเหล่านี้เป็นปลายเปิดที่ผูกพันธะด้วยคำว่า ‘รัก’ ทั้งสิ้น และเอาเข้าจริง วันเลวร้ายหนึ่งวันของคนทั่วไป อาจเทียบได้กับวันธรรมดาของพวกเขาเสียด้วยซ้ำ

4

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการหยิบ ‘มุมมืด’ ของกรุงเทพมหานครชั้นใน ที่ภายนอกสายตานักท่องเที่ยวหรือคนต่างชาติมองว่าเป็นสรวงสรรค์ ดังที่มีการจัดอันดับตามนิตยสารต่างๆ มาเล่าอย่างตรงไปตรงมา ก็ถือเป็นจุดแข็งของ Red Life

แม้ภาครัฐหลายต่อหลายรุ่นจะบอกว่า ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ปลอดภัยทุกย่างก้าว แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีแหล่งเสื่อมโทรมเกลื่อนกลาด ไม่ใช่แค่ย่านวงเวียน 22 กรกฎาคม และแน่นอนว่าชีวิตของคนในนั้นย่อมอัตคัด กระเสือกกระสนทำทุกวิถีทางเพื่อให้มีชีวิตอยู่วันต่อวัน ท่ามกลางข้อจำกัดผูกมัดทางสังคม ที่ชี้หน้าพ่วงคำด่าตัวโตๆ ว่า “ต่อให้เอ็งดิ้นรนแค่ไหนก็ไม่มีวันเจริญ”

ฉะนั้น แม้เปลือกนอกของหนังเรื่องนี้จะเล่าถึงความพยายามไขว่คว้า ‘รัก’ ของกลุ่มคนจนเมือง ทว่าแก่นด้านในก็ยังคงทำหน้าที่สะท้อนความเสื่อมโทรมของสังคมไทย ที่มักฉาบหน้าด้วยสิ่งสวยงามและกลบสิ่งสกปรกลงใต้พรม ดังความเป็นอยู่ของสลัมวงเวียน 22 กรกฎาคม ที่เวลานี้รายล้อมไปด้วยคาเฟ่ บาร์แจซ หรือห่างออกไปไม่กี่เมตรคือย่านเยาวราชที่เต็มไปด้วยคนมีอันจะกิน 

ทั้งหมดทั้งมวลจึงไม่ใช่แค่เรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ทำให้หลายคนลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ยังรวมไปถึงการได้รับ ‘รัก’ และต้องการการปฏิบัติเฉกเช่นมนุษย์คนหนึ่ง นี่คือส่วนหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่อง Red Life ต้องการจะสื่อสารไปยังคนดู หาใช่การจูงมือเดินไปชมสวนสัตว์มนุษย์แบบจำลองแต่อย่างใด

เหนือสิ่งอื่นใด ขอคารวะให้กับความมุมานะของทีมงาน BrandThink Cinema ที่ใช้เวลาผลักดันภาพยนตร์เรื่องนี้ตลอด 4 ปี จนสำเร็จ และปล่อยออกมาในช่วงที่กระแสหนังไทยกลับมานิยมอีกครั้งอย่างถูกจังหวะ แม้จะมีบาดแผลเล็กน้อยที่อาจไม่ถูกใจคนดูทุกกลุ่มก็ตาม แต่ก็ช่วยให้เฉดความหลากหลายของหนังไทยในปี 2023 นี้สมบูรณ์

Tags: , ,