การเดินทางมาถึงฉากสุดท้ายของไตรภาคศรัทธาและอาคมของผู้กำกับ โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ อย่างภาพยนตร์ลำดับล่าสุด ขุนพันธ์ 3 (2023) ที่หลังเข้าฉายไม่กี่วันก็พ่วงมาด้วยดราม่าชวนปวดใจว่าด้วยการโดนลดโรงลดรอบอันเป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานของอุตสาหกรรมหนังไทย
หลังจากทั้งห่างภาคสองเมื่อปี 2018 ถึง 6 ปี ขุนพันธ์ก็หวนกลับมาใหม่อีกครั้งในฐานะชายผู้หวังจะใช้ชีวิตอย่างสงบที่นครศรีธรรมราช สร้างครอบครัวกับภรรยาที่กำลังตั้งท้องลูกชายคนแรก ก่อนจะพบว่าเขาถูกเรียกกลับเข้าไปรับภารกิจเกี่ยวเนื่องกับรัฐ กองโจรและอาคม ท่ามกลางศรัทธาที่สั่นคลอนทั้งต่อตัวเองและหน้าที่
นับตั้งแต่ภาคแรกเมื่อปี 2016 หนัง ‘ขุนพันธ์’ ดัดแปลงจากชีวิตจริงของ ขุนพันธรักษ์ราชเดช หรือ บุตร พันธรักษ์ ก็ใช้การเมืองและความขัดแย้งระหว่างรัฐกับคนชายขอบเป็นธีมใหญ่ที่คลุมฉากหลังทั้งหมด
ขุนพันธ์ (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) ในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับราชการให้ส่วนกลาง และการปะทะกับ อัลฮาวียะลู (กฤษดา สุโกศล แคลปป์) หัวหน้ากองโจรผู้หวังแบ่งแยกดินแดน และภาคสองซึ่งว่าด้วยภาวะที่ขุนพันธ์สิ้นหวังในราชการไทยทั้งยังโดนหักหลัง ถูกสั่งให้พักราชการจนต้องไปเข้าร่วมกับ เสือใบ (อารักษ์ อมรศุภศิริ) และ เสือฝ้าย (วันชนะ สวัสดี) ซึ่งเปลี่ยนสถานะให้ขุนพันธ์กลายเป็นโจรเสียเอง
เหตุผลที่เล่าเรื่องย่อทั้งสองภาคก่อนหน้ามาเสียยืดยาวเช่นนี้ ก็เพราะหนังภาคก่อนล้วนแล้วแต่มีบทบาทในภาคสาม เสียจนเชื่อว่าหากได้ดูสองภาคก่อนหน้าแล้วมาดูภาคสามด้วย ก็น่าจะกำซาบอรรถรสในการ ‘ทิ้งทวน’ ของไตรภาคขุนพันธ์และผู้กำกับได้เป็นอย่างดี (กระนั้น แม้ผู้อ่านจะยังไม่เคยดูสองภาคก่อนหน้าและข้ามมาดูภาคสามเลย อรรถรสดังกล่าวก็ไม่ได้ลดลงสักกี่มากน้อย เพราะลำพังหนังภาคสามก็ทำงานได้หมดจดในตัวของมันเองอยู่แล้ว ดังที่จะเล่าต่อไปนี้)
ขุนพันธ์ 3 เล่าถึงช่วงเวลาที่ขุนพันธ์ตั้งใจจะวางมือจากทุกสิ่งเพราะเหนื่อยหน่ายจากความไม่ได้เรื่องของราชการเต็มทน ยิ่งกับสภาพสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงทั้งการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองในประเทศ
เมื่อเหล่านักการเมืองผู้พยายามซื่อตรงภายใต้กติกาอันบิดเบี้ยว ถูกลอบทำร้ายและตั้งใจจะหมายชีวิตจากกลุ่มคนร้าย ไหนจะการปรากฏตัวของ เสือดำ (ภาคิน คำวิลัยศักดิ์) ไอ้เสืออาคมดุที่ดูจะมีความแค้นฝังลึกกับขุนพันธ์เป็นการส่วนตัว และ เสือมเหศวร (มาริโอ้ เมาเร่อ) จอมโจรที่ต้องผูกมิตรกับเสือดำไว้เพื่อหวังต้านการบุกรุกจากรัฐ กับอีกด้านหนึ่งของชีวิตที่เขารับหน้าที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ตัวฉกาจ
ดังนั้น แผนจะใช้ชีวิตในเมืองคอนอย่างสงบสุขกับเมียรักของขุนพันธ์จึงดูจะเป็นไปได้ยาก เพราะในที่สุดราชการก็มาตามตัวเขาถึงนครศรีธรรมราชอยู่ดี พร้อมกับข้าราชการหนุ่มน้อย ร้อยเอกทัตเทพ (ภูมิภัทร ถาวรศิริ) ที่ถูกสั่งให้มาร่วมปฏิบัติภารกิจนี้อย่างแข็งขัน
ไล่เรียงไปกับบริบทของการเมืองไทยร่วมสมัย หนังขุนพันธ์ 3 ตั้งคำถามต่อศรัทธา ทั้งในฐานะศรัทธาของขุนพันธ์ที่มีต่ออาชีพพิทักษ์สันติราชของตนต่อข้าราชการและต่อรัฐไทย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลดูเป็นความกังวล ความไม่เชื่อมั่นและความสั่นคลอนที่ผู้คนในปัจจุบันร่วมรับรู้อยู่ อันสะท้อนได้จากบทสนทนาของเหล่านักการเมืองที่พยายามเดินหน้าเรื่องการเมืองอย่างซื่อตรงท่ามกลางกติกาอันบิดเบี้ยว
เหล่าหนุ่มสาวในชุมโจรที่เป็นกลุ่มคนซึ่งถูกรัฐเผด็จการทอดทิ้ง เฝ้าฝันถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการต่อสู้ของพวกเขา,เหล่าคนชายขอบที่ถูกหลอกให้ไปทำงานจนตายในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้อยู่รอดชีวิตตั้งแต่แรก เพื่อที่จะได้เอาเงินเข้ากระเป๋านักการเมือง
ข้าราชการที่ทำงานรองมือรองตีนให้รัฐโดยไม่เคยปริปากถามถึงความถูกต้อง หวังแต่จะก้มหน้าเป็นงัวงานเพื่อความอยู่รอดและอำนาจของตัวเอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทั้งหมดทั้งมวลนี้แทบจะซ้อนทับไปกับสภาพของสังคมไทยปัจจุบัน (โดยเฉพาะช่วงใกล้ระยะเลือกตั้งในเวลานี้) อันเต็มไปด้วยความแหลมคมทางการเมืองเต็มพิกัด
หากว่าขุนพันธ์ภาคก่อนๆ ‘แน่จริง’ เพราะมีคาถาอาคมหนังเหนียวยิงไม่เข้า ภาคนี้เขาก็กลายเป็นชายวัยกลางคนที่เหนื่อยล้าอยากวางมือ ถูกฝันร้ายของการปราบปรามคนชั่วในนามของรัฐหลอกหลอนจนอยู่ไม่สุข ครั้นจะออกไปต่อสู้แบบเดิมก็พบว่าทำเช่นนั้นไม่ได้แล้วเพราะเขาล่าช้าเกินไป อาคมเสื่อมเกินไป (ลำพังแค่กลสะเดาะกลอน เขาก็ต้องใช้เวลาหลายนาทีเพื่อพาตัวเองออกจากคุกของชุมโจร)
ชื่อเสียงที่ว่าเขาเป็นยอดชายฟันแทงไม่เข้าเริ่มเสื่อมสภาพเมื่อลูกกระสุนของเสือดำ (ผู้เป็นคู่แค้นทั้งเขาและของรัฐ) เจาะเข้ากลางร่างจนต้องหามส่งโรงพยาบาล ขณะที่ตัวละครอื่นๆ ที่มาพร้อมอาคมสุดแข็งแกร่ง เอาเข้าจริงกลับดูมีจุดอ่อนซ่อนอยู่โดยเฉพาะเสือดำกับเสือมเหศวรที่มีอาคมปัดเป่ากระสุนจากฝั่งตรงข้าม ก็เป็นอาคมที่กันได้แค่เพียงกระสุนที่ตาเห็นเท่านั้น เท่ากับว่าหากกระสุนถูกยิงมาจากด้านหลังก็กลายเป็นใช้กายเนื้อรับเต็มๆ
สิ่งที่น่าจับตาอีกประการคือ ท่ามกลางความอ่อนไหวของแวดวงภาพยนตร์ไทยที่มีต่อประเด็นทางศาสนา ขุนพันธ์ 3 ก็เล่าเส้นเรื่องศาสนาและความเชื่อได้อย่างน่าจับตา ทั้งการปรากฏตัวของเหล่าพระที่เป็นผู้ช่วยลับๆ ของขุนพันธ์ในการลงอาคม ล้วนแล้วแต่สวดอ้อนวอนขอพลังจากเทพเจ้าซึ่งแน่นอนว่าไม่ปรากฏในคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือพระไตรปิฎกฉบับไหน หรือบทบาทในการช่วยหญิงทำคลอดอย่างแข็งขันอันแสนจะฉายให้เห็นภาพความเป็นมนุษย์ มีเลือดมีเนื้อ มีหัวใจของเหล่าพระสงฆ์ได้ดีเสียยิ่งกว่าภาพความผ่องแผ้วที่รัฐไทยปรารถนาสร้างให้เป็นไม่รู้ตั้งกี่เท่า ศาสนาจึงผนวกเป็นเส้นเดียวกันกับความเชื่อของขุนพันธ์อย่างแยกไม่ขาด
จุดแข็งของหนังไตรภาคขุนพันธ์คือการที่มันเป็นเสมือนหนังซูเปอร์ฮีโร่สัญชาติไทยเต็มไปด้วยการใช้พลังวิเศษ คาถาอาคมและฉากการต่อสู้ดุเดือดชั้นยอด และกับภาคสุดท้ายนี้ยิ่งเดือดดาลกว่าเดิม เพราะนอกเหนือจากจะให้มันเป็นหนังแอ็กชันเลือดพล่านแล้ว ผู้กำกับยังปรารถนาให้มันเป็นทั้งหนังผี หนังดราม่า ไปจนถึงใส่ความคอมิดี้เข้าไปด้วย (โดยเฉพาะการเข้าฉากปะทะคารมของเสือมเหศวร)
ตลอดความยาวเกือบสองชั่วโมงครึ่ง ขุนพันธ์ 3 จึงเต็มไปด้วยรสชาติหลากหลาย ที่ยิ่งตอกย้ำว่าหนังไทยยังหลากรสชาติกว่านี้ได้อีกมากหากมันมีพื้นที่ทั้งในเชิงรอบฉาย ในเชิงโอกาสจากการหาทุน และมันไม่ได้ง่อยเปลี่ยนเสียขา ไม่ได้ไร้ศักยภาพอันเป็นอคติที่หลายคนมีต่อหนังไทยเลย
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายเหลือเกิน หากว่าระบบผูกขาดและโรงหนังยังมีอิทธิพลในการจัดรอบฉายหนังตามอำเภอในเช่นนี้อยู่ เพราะมันย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือหนึ่งในการขัดแข้งขาและเหนี่ยวรั้งศักยภาพของหนังไทย จนทำให้หนังหลายต่อหลายเรื่องไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร
Tags: Flims, ขุนพันธ์ 3, ภาพยนตร์, รีวิวหนัง, Screen and Sound