“I Will Survive คือเพลงชาติของกะเทยไทยและเทศ”
“เพลง Hush Hush ของ The Pussycat Dolls แซมพ์มาจาก I Will Survive”
“เพลง After Like ของเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลี IVE ก็แซมพ์มาจาก I Will Survive เหมือนกัน”
“ถ้าเพลงป๊อปแดนซ์เพลงไหนมีทำนองแบบ I Will Survive ก็นับไปก่อนเลยว่าถูกจริตกะเทย”
“I Will Survive จะทำให้คนไปเที่ยวสีลมซอย 2 ลุกขึ้นเต้นและเดินด้วยจริตตัวแม่พร้อมกันทั้งซอย”
ประโยคที่ว่านี้ไม่ได้มาจากแค่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เพียงอย่างเดียว แต่ควบรวมถึงความคิดเห็นหลายคนที่มองตรงกันว่าเพลง I Will Survive ของ กลอเรีย เกย์เนอร์ (Gloria Gaynor) ที่ปล่อยเมื่อปี 1978 แล้วได้รับความนิยมล้นหลามจนคว้ารับรางวัลสาขาดิสโก้ยอดเยี่ยม (Best Disco Recording) จากเวที Grammy Award ประจำปี 1980 ไปครอง ถือเป็นเพลงฮิตอมตะที่ไม่ว่าคนยุคไหนย้อนกลับมาฟังก็ไม่เบื่อ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ
แต่ทำไมคนส่วนใหญ่จึงคิดแบบนั้น? ในเมื่อความหมายของเพลง I Will Survive ก็ไม่ได้เล่าถึง LGBTQ+ แต่อย่างใด
ข้อสงสัยนี้ถูกตีความในหลายทฤษฎีด้วยกัน แม้ I Will Survive จะไม่ได้ถูกเขียนขึ้นโดยเจาะจงไปยังผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่กลับเป็นเพลงยอดนิยมของชาว LGBTQ+ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่วงทำนองสนุกสนาน เชื้อเชิญให้เต้นไปตามจังหวะของดนตรี รวมถึงความนิยมที่วัดด้วยการถูกเปิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในรายการวิทยุหลายสถานี หรือการแวะเวียนมาติดชาร์ต Billboard 100 นานกว่า 4 ทศวรรษ มีศิลปินหลายคนร้องคัฟเวอร์อยู่เสมอ มิหนำซ้ำเวลาไปผับบาร์ร้านไหน ดีเจที่หวังเร่งอารมณ์คึกคักก็มักเลือกเพลงดังกล่าวให้ทุกคนได้เต้นกันสุดเหวี่ยง แต่ช่วงแรก I Will Survive ก็ยังไม่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์เด่นชัดเหมือนในยุคหลัง
อีกข้อสังเกตน่าสนใจคือการที่ภาพยนตร์ดราม่ากึ่งคอมเมดีเรื่อง ผู้ชายอะเฮ้ว! หรือในชื่อต้นฉบับอย่าง The adventure of priscilla (1994) เล่าเรื่องราวของแดร็กควีน 3 คนออกแสดงโชว์ทั่วออสเตรเลีย ได้หยิบยกเพลง I Will Survive มาเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ จนนักวิจารณ์ภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยลงความเห็นว่าเข้ากับเนื้อเรื่องอย่างมาก อนุมานได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คืออีกปัจจัยสำคัญที่คนเริ่มมีภาพจำว่า I Will Survive มักจะมาพร้อมกับการเต้นหรือการแสดงของ LGBTQ+
มีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมเพลงดิสโก้ในนิวยอร์กก็ชวนคิดตามได้ไม่น้อย เนื่องจากคลับดิสโก้หลายแห่งในแมนฮัดตันช่วงปี 1970-1980 มักถูกขับเคลื่อนโดยคนผิวดำ ชาวลาติน เกย์ เลสเบี้ยน ทรานส์เจนเดอร์ ฯลฯ ดนตรีจังหวะสนุกๆ ถูกเปิดคู่กับการแสดงแดร็กควีนในคลับลับห่างไกลจากสายตาของตำรวจ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่มักจ้องจะตามจับกุมผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ในช่วงเวลาหนึ่ง การแสดงของแดร็กควีนและกลุ่มนักเต้นหญิงก็มักหยิบเพลงดิสโก้ดังกล่าวมาประกอบการแสดง ส่งให้ภาพของ I Will Survive อยู่ใกล้ชิดเคียงคู่กับสตรีและ LGBTQ+ เรื่อยมา รู้ตัวอีกทีก็กลายมาเป็นเพลงที่ผู้ฟังกลุ่มเดิมๆ เปิดฟังบ่อยขึ้น สร้างภาพจำชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดภาพยนตร์เรื่อง In & Out (1997) ก็ยังมิวายแซวว่าถ้ามีเกย์ที่กำลังปกปิดตัวตนได้ยิน I Will Survive พวกเขาอาจไม่สามารถห้ามใจตัวเองให้โยกไปตามจังหวะแสนสนุกสนานได้
นอกจากเรื่องของดนตรีที่เหมาะกับการเต้นหรือทำการแสดงจัดจ้าน เนื้อเพลงก็ทำให้ I Will Survive เป็นที่นิยมในหมู่นักฟังเพลงเพศหญิงและ LGBTQ+ เพราะเนื้อหาคือการสนับสนุนให้เข้าใจถึงคุณค่าของความรัก สามารถสลัดความกลัว ความกังวล แล้วยืนหยัดอย่างมั่นใจ เพราะใครๆ ก็สามารถรักตัวเองและมอบความรักที่มีแก่คนที่คู่ควร โดยไม่หันหลังกลับไปมองยังรักครั้งเก่าที่ล้มเหลว
การรักตัวเองถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงพลัง แสดงถึงการภาคภูมิใจในตัวตนและอัตลักษณ์ทางเพศของ LGBTQ+ รวมถึงขบวนการเฟมินิสต์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในช่วงปี 1980 ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศกำลังต่อสู้กับการระบาดของโรคเอดส์ และต่อสู้กับคลื่นความเกลียดชังของคนในสังคม
ชีวิตที่ต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลาของผู้ขับร้องอย่าง กลอเรีย เกย์เนอร์ อาจถูกนับเป็นอีกเหตุผลได้ด้วยเหมือนกัน เธอเป็นนักร้องผิวดำในยุคที่ยังไม่เปิดกว้างเรื่องเพศและเชื้อชาติสีผิวเท่าปัจจุบัน กลอเรียต้องต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิตหลายอย่างทั้งเคยตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหาหนี้สิน การพยายามเดินตามฝันในวงการเพลง รวมถึงความเจ็บปวดทางกายจากอุบัติเหตุตกเวทีจนต้องพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลนานหลายเดือน เรื่องราวชีวิตของเธอสามารถสร้างแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนชายขอบของสังคม
ในฐานะผู้มอบความบันเทิง ฉันอยากเปิดเผยประสบการณ์ชีวิตของตัวเองให้ทุกคนได้รับรู้ หวังว่าเรื่องราวของฉันจะทำให้ผู้คนที่พบกับช่วงเวลายากลำบากที่สุดได้รับรู้ว่า ทั้งหมดมันไม่ใช่ความผิดของคุณ
– กลอเรีย เกย์เนอร์
ปัจจัยหลายอย่างที่หยิบยกมาประกอบร่างสร้างตัวจน I Will Survive ถูกเรียกว่าเป็นบทเพลงที่มีความหมายต่อชุมชน LGBTQ+ รวมถึงการแสดงพลังแบบเพื่อนหญิงพลังหญิง หลายครั้งศิลปินป๊อปยุคหลังเลือกหยิบเพลงดังกล่าวมาเป็นแซมพ์ (แสลงจากคำว่า Sample หรือ Sampling หมายถึงการเอาบางช่วงบางตอนของบทเพลงอื่นมาใช้ทำเพลงใหม่) ในผลงานของตัวเอง ซึ่งเพลงที่ถูกพูดถึงมากสุดคงหนีไม่พ้น Hush Hush จากอัลบั้ม Doll Domination ของเกิร์ลกรุ๊ปวง The Pussycat Dolls ในปี 2009
แม้ดนตรีจะแซมพ์มาอีกที แต่ Hush Hush ก็มีกลิ่นอายตามแบบฉบับของ The Pussycat Dolls ถูกปรับจังหวะเร็วและทันสมัยขึ้นตามกาลเวลา ประกอบกับไลน์เต้นอันยอดเยี่ยมของสมาชิกในวง เนื้อเพลงบอกเล่าถึงการยืนหยัดด้วยตัวเอง จะไม่ยอมให้ใครมาชี้นิ้วบงการชีวิตเช่นเดียวกับ I Will Survive ความเข้ากันอย่างลงตัวส่งให้บทเพลงดังกล่าวขึ้นหิ้งเป็นหนึ่งในเพลงฮิตของนักฟังเพลงป๊อปแดนซ์ยุค 2000
เพลง After Like ของศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปวง IVE (ออกเสียงภาษาอังกฤษว่า ‘ไอพ์’ แต่ถ้าออกเสียงตามเกาหลีจะเรียกว่า ‘ไอบึ’) ที่ปล่อยออกมาเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2022 ก็มีท่วงทำนองคุ้นเคย เนื่องจากใช้ I Will Survive มาเป็นแซมพ์เหมือนกับ Hush Hush แล้วเล่าผ่านภาษาเกาหลี เคล้ากับดนตรีหลากหลายสไตล์ทั้ง Electronic Dance Music แนวเพลงแบบ Pop Dance และ House ทำให้ After Like มีความสดใหม่แต่ก็ยังฟังง่ายเพราะมีจังหวะติดหู
หากเสิร์ชดูฟีดแบคของ Hush Hush และ After Like จะพบว่าทั้งสองเพลงถูกจริตนักฟังเพลงเพศหญิงและ LGBTQ+ เอามากๆ ทั้งการยกย่องว่าเป็นเพลงกะเทย เป็นเพลงที่เควียร์มาก หรือเป็นเพลงที่จะทำให้ผู้คนที่ไปเที่ยวสีลมซอย 2 ลุกขึ้นเต้นและเดินด้วยจริตตัวแม่พร้อมกันทั้งซอย I Will Survive จึงมีภาพจำที่ชัดเจนเหมือนเคย แล้วถ้ายิ่งถูกแซมพ์มาภายใต้คอนเซ็ปต์ของศิลปินหญิงที่ร้องเพลงสไตล์ป๊อปแดนซ์ ภาพลักษณ์นี้ก็จะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น
แม้จะเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีศิลปินชายนำ I Will Survive ไปแซมพ์กับผลงานของตัวเอง ในปี 1995 เมธ็อด แมน (Method Man) ปล่อยเพลง Release Yo’ Delf จับจังหวะแบบดิสโก้มามิกซ์กับแนวเพลงฮิปฮอป ประกอบเข้ากับท่อนแร๊พอันโดดเด่นตามแบบฉบับของเขา สร้างความสดใหม่และเปิดตลาดผู้ฟังเพศชายได้มากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีเพลง Supreme ของ ร็อบบี วิลเลียมส์ (Robbie Williams) ที่ปล่อยเมื่อปี 2000 ก็มอบบรรยากาศการฟังที่นุ่มนวล สื่ออารมณ์แตกต่างไปจากเวอร์ชันต้นฉบับ ตามหมุดหมายสำคัญของดนตรีคือการทลายกรอบทางเพศ กรอบทางภาษา หรือกรอบค่านิยมหลากหลาย แล้วมุ่งเน้นไปยังการล้อกับห้วงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟัง
อ้างอิง
– https://en.wikipedia.org/wiki/I_Will_Survive
– https://zora.medium.com/i-will-survive-is-an-unexpected-lgbtqia-anthem-efffeb312c2a
– https://zora.medium.com/the-triumphant-queer-legacy-of-gloria-gaynors-i-will-survive-77551274b762
ภาพ: Richard E. Aaron/Redferns และ Reuters
Tags: เพลง, I Will Survive, ดนตรี, เพลงกะเทย, Kpop, IVE, song, After Like, LGBTQ, Gloria Gaynor, ความหลากหลายทางเพศ, Hush Hush, เฟมินิสต์, The Pussycat Dolls, Screen and Sound, กลอเรีย เกย์เนอร์, Gender, เพลงเกาหลี, Music, เพศ