คำถามนี้ไม่น่าถามเลยใช่ไหมครับ เพราะถ้าไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องนาฬิกาทั้งหลาย แต่ละคนก็จะอธิบายได้ว่าทำไมนาฬิกาถึงเป็นสิ่งที่ ‘ผู้ชาย’ ชอบ

ถ้าผู้หญิงต้องสะสมกระเป๋าหรือรองเท้า ผู้ชายก็ต้องสะสมรถยนต์หรือนาฬิกานี่แหละครับ ถึงจะสมน้ำสมเนื้อ

แต่ถ้าเราไปดู ‘คำอธิบาย’ ว่าทำไมผู้ชายถึงคลั่งไคล้นาฬิกา เราจะพบว่าคำอธิบายเหล่านี้มันมี ‘มายาคติ’ ทางเพศแฝงฝังอยู่ด้วยไม่น้อยเลยนะครับ

อย่างแรกสุดเลยก็คือ การที่คนเราสามารถ ‘สะสม’ นาฬิกาแพงๆ ขนาดราคาหลายๆ ล้านบ้านได้นั้น แทบทุกคนอธิบายว่ามันคือการแสดงออกถึง ‘ความสำเร็จ’ ของชีวิต โดยให้นาฬิกาเหล่านี้เป็น ‘สัญญะ’ แทนความสำเร็จพวกนั้น

ผมคงไม่ยกตัวอย่างคนที่คิดแบบนี้ในไทยนะครับ เพราะเราก็คงเห็นๆ กันอยู่แล้ว – ว่าความบ้านาฬิกาของบางคนด้วยความกระเหี้ยนกระหือรืออยากให้นาฬิกาแสดงภาพความสำเร็จของตัวเองออกมา มันได้ต้อนพวกเขาเข้าสู่มุมอับในชีวิตและหน้าที่การงานมากขนาดไหน แต่อยากจะยกตัวอย่างจากบทความเก่าของ The Wall Street Journal เรื่อง ‘Do Men Still Crave Status Watches?’ ซึ่งตอนต้นของบทความ เขาเล่าถึงคุณแฟรงก์ ชิลลิง (Frank Schilling) ผู้คลั่งไคล้นาฬิกา

ตอนเรียนมัธยม คุณแฟรงค์เก็บเงินซื้อนาฬิกา TAG Heuer ซึ่งเขาบอกไว้ในบทสัมภาษณ์ว่าเป็น Poor Man’s Rolex หรือเป็นนาฬิกาโรเล็กซ์ของคนจน (สมัยก่อนโน้นเป็นแบบนี้จริงๆ นะครับ เพราะนาฬิกาแท็กฮอยเออร์นั้นราคาแค่หมื่นต้นๆ แต่ในยุคหลังๆ นี่เริ่มไม่จริงแล้ว เพราะแท็กฯ ราคาพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคน ‘อดออม’ เก็บเงินซื้อนาฬิกามาใช้เองตั้งแต่เด็ก

แล้วพอบริษัทของเขาเริ่มประสบความสำเร็จ ทำรายได้เดือนละล้านเหรียญ สิ่งที่เขาทำก็คือการซื้อนาฬิกา โดยเฉพาะ Patek Philippe รุ่นคลาสสิก ราคา 79,000 เหรียญ ซึ่งเป็นสิ่งที่บทความนี้เรียกว่า Status Watch หรือนาฬิกาที่มีเอาไว้บอก ‘สถานะ’

แต่ที่จริงแล้ว นาฬิกาไม่ใช่แค่เครื่องบอก ‘สถานะ’ ของผู้คนเท่านั้น ทว่าโดยทั่วไป มันยังเป็นเครื่องบอกสถานะของ ‘ผู้ชาย’ อีกด้วย

ถ้ามองให้ลึกลงไปในมิติด้านเพศ ความคลั่งไคล้นาฬิกาของผู้ชายนั้น เป็นเรื่องที่ ‘ถูกปลูกฝัง’ (หรือถ้าพูดด้วยศัพท์แบบเฟมินิสต์หน่อยๆ ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ ‘ถูกประกอบสร้าง’) ขึ้นมาตั้งแต่ยังเด็ก

นาฬิกาแพงๆ ถูกมองว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง หลายเรือนซื้อมาแล้วบอกเวลาน้ำขึ้นน้ำลงได้ไปชั่วลูกชั่วหลานโดยใช้กลไกต่างๆ (ไม่ได้ใช้ข้อมูลดิจิทัล) ก็แล้วจะส่งมอบนาฬิกาให้กับใครล่ะครับ

แต่ที่จริงแล้ว นาฬิกาไม่ใช่แค่เครื่องบอก ‘สถานะ’ ของผู้คนเท่านั้น ทว่าโดยทั่วไป มันยังเป็นเครื่องบอกสถานะของ ‘ผู้ชาย’ อีกด้วย

โดยทั่วไป เรามักไม่ค่อยได้เห็นเด็กผู้หญิงได้รับนาฬิกาข้อมือเป็นของขวัญที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นเท่าไหร่ แต่ที่เราเห็นเป็นภาพจำส่วนมาก ก็คือนาฬิกาเป็นของ ‘แมนๆ’ ที่พ่อหรือพี่ชายจะส่งมอบให้ลูกหรือน้องชาย จากรุ่นสู่รุ่น ลูกผู้ชายล้วนได้นาฬิกามาจากพ่อหรือพี่กันทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น นอกจากนาฬิกาจะมีสัญญะของสถานะแล้ว มันยังเป็นภาพตัวแทนของเพศชายอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีผู้วิเคราะห์ว่า สถานภาพหรือความสำเร็จในชีวิตตามขนบที่นิยมกันนั้น แท้จริงก็สืบสานมาจากวิธีคิดแบบสังคมชายเป็นใหญ่ คือผู้ชายเป็นผู้หาเงินมาเลี้ยงครอบครัว เมื่อประสบความสำเร็จ ผู้ชายจึงย่อมต้องให้รางวัลตัวเองด้วยวัตถุที่ตอกย้ำและแสดงความเป็นชายมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือไปจากรถยนต์แล้วก็เป็นนาฬิกานี่แหละครับที่มัน ‘เป็นชาย’ เอามากๆ

มีผู้วิเคราะห์ว่า การที่คนรุ่นใหม่ๆ เริ่มซื้อนาฬิกาแพงน้อยลงนั้น นอกเหนือไปจากคนรุ่นใหม่มีรายได้ยังไม่มากพอแล้ว ยังสอดคล้องกับการที่พวกเขาแต่งงานน้อยลง มีลูกน้อยลง จึงไม่รู้ว่าจะซื้อนาฬิกาแพงๆ เพื่อเก็บเป็นมรดกให้ลูกไปทำไมอีกด้วย บทความใน The Wall Street Journal ข้างต้น ยังบอกด้วยว่า คนรุ่นใหม่มักจะเห็นว่า Status Watch นั้นเป็นเรื่อง Stupid เนื่องจากทุกวันนี้มีเครื่องมืออื่นมาคอยบอกเวลาให้ได้อย่างแม่นยำกว่า เช่นนาฬิกาในมือถือที่ไม่ต้องมาคอยตั้งเวลา หรือ Smart Watch ต่างๆ ที่ทำทีเหมือนจะโค่นล้มนาฬิกาแพงๆ เหล่านี้ลงไปได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขยอดขายนาฬิกาหรูในช่วงหลังก็กลับพุ่งทะยานขึ้น ทำให้มีหลายคนวิเคราะห์ว่า เป็นไปได้เหมือนกันที่คนรุ่น Millennials หรือ Generation Z จะหันกลับมานิยมในนาฬิกาหรูและแพงเหล่านี้อีกครั้ง เพราะวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้กลับเหวี่ยงกลับไปมีความอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ไม่เหมือนคนในเจนวายที่ต่อต้านแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมของคนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์สและเจนเอ็กซ์บางส่วน

แม้ความคลั่งไคล้นาฬิกาจะถูกสร้างขึ้นและปลูกฝังกันผ่านมารุ่นต่อรุ่น แต่กระนั้น ทั้งหมดนี้ก็ยังตอบคำถามไม่ได้นะครับ ว่าแล้ว ‘ทำไม’ ผู้ชายถึงได้คลั่งไคล้นาฬิกามากกว่าผู้หญิงตั้งแต่ต้น

เรื่องนี้เราต้องย้อนกลับไปดูบทความใน The Atlantic กับบทความหนึ่งใน cracked.com นะครับ

บทความทั้งสองบอกว่า ถ้าเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของ ‘นาฬิกาข้อมือ’ แล้วละก็ แท้จริงจุดกำเนิดตั้งต้นของนาฬิกาข้อมือเหล่านี้ ไม่ใช่ของผู้ชายมาตั้งแต่ต้นนะครับ

ในหนังสือ Making Modern Times: A History of Clocks, Watches, and Other Timekeepers in American Life ผู้เขียนคืออเล็กซิส แม็คครอสเซน (Alexis McCrossen) บอกว่าเดิมทีเดียว นาฬิกาข้อมือนั้นเป็นสิ่งที่ ‘ถูกเหยียด’ จากพวกผู้ชายด้วยซ้ำนะครับ เพราะในช่วงศตวรรษที่ 18 ผู้ชายจะไม่ใช้นาฬิกาข้อมือ ทว่าพก ‘นาฬิกาพก’ กัน

ประวัติศาสตร์การ ‘ดูเวลา’ ให้ต้องตรงกันนั้น จริงๆ ต้องเริ่มจากหอนาฬิกากลางเมืองก่อนนะครับ คือแต่ละเมืองต้องมีหอนาฬิกาให้คนตั้งเวลาได้ตรงกันก่อน แล้วต่อมาคนก็เริ่มอยากมีนาฬิกาแบบเคลื่อนย้ายได้ (Portable Clocks) ถึงได้เกิดเป็นนาฬิกาพกขึ้นมา

คุณแม็คครอสเซนบอกว่า ถ้าไปดูบันทึกของโรงรับจำนำในศตวรรษที่ 19 ของอเมริกา จะพบว่า 40-50 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าที่ถูกนำมาจำนำ ก็คือนาฬิกาพกนี่แหละ

นาฬิกาพกเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลกหลายอย่าง เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรม การแพร่ขยายอย่างรวดเร็วของรางรถไฟ การเดินทางไกล โรงงานอุตสาหกรรม และการเกิดขึ้นของกระแสไฟฟ้า ผลลัพธ์ก็คือต้องมีการ ‘ตั้งมาตรฐาน’ (Standardization) ของเวลาให้ตรงกันด้วย

อย่างที่คุณก็คงรู้นะครับ ว่าโลกในยุคนั้นล้วนแต่เป็นโลกของผู้ชาย ผู้ชายคุมโรงงาน สร้างรางรถไฟ วางแผนสร้างเมือง ผลิตรถยนต์ ฯลฯ ทำให้โลกของ ‘การกำหนดเวลา’ เป็นโลกของผู้ชายล้วนๆ เราคงนึกภาพออกว่าผู้ชายในยุคโบราณล้วนแต่ใช้นาฬิกาพกกันทั้งนั้น เอาง่ายๆ หลายคนคงคุ้นตากับการควักนาฬิกาพกของชาร์ลี แชปลิน ในยุคหนังเงียบเป็นอย่างดี

แต่นาฬิกาพกก็คือนาฬิกาพก นาฬิกาพกไม่ใช่นาฬิกาข้อมือ ที่สำคัญ นาฬิกาข้อมือยังเป็นเครื่องไม้เครื่องมือบอกเวลาที่ ‘ถูกเหยียด’ ด้วยซ้ำ โดยสามารถดูหลักฐานได้จากบทความเก่าแก่อายุเป็นร้อยปีของ The New York Times ที่พูดถึงการ ‘เปลี่ยนสถานะ’ ของนาฬิกาข้อมือเอาไว้

โลกในยุคนั้นล้วนแต่เป็นโลกของผู้ชาย ผู้ชายคุมโรงงาน สร้างรางรถไฟ วางแผนสร้างเมือง ผลิตรถยนต์ ฯลฯ ทำให้โลกของ ‘การกำหนดเวลา’ เป็นโลกของผู้ชายล้วนๆ

บทความนี้ทำให้เรารู้ว่า เดิมทีนั้น นาฬิกาข้อมือถูกมองว่าเป็น Silly-Ass Fad คือเป็นแค่แฟชั่นชั่วครั้งชั่วคราวที่ ‘โง่เง่าเต่าตุ่น’ ด้วยนะครับ (ในแง่ภาษา ก็อาจจะทำให้รู้ด้วยว่าคนพูดโดยใช้ภาษาอังกฤษแบบนี้มานานเป็นร้อยปีแล้ว) คนที่ใช้นาฬิกา ‘โง่ๆ’ พวกนี้ มีแต่ ‘ผู้หญิง’ เท่านั้น

นาฬิกาพกจะมีขนาดใหญ่กว่า หนักกว่า และต้องใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง (โดยมีกระเป๋าเล็กซ่อนอยู่ข้างในกระเป๋ากางเกงอีกทีหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันวิวัฒนาการกลายมาเป็นที่ใส่เศษสตางค์) ในขณะที่ผู้หญิงไม่มีกระเป๋ากางเกงเพราะไม่ได้ใส่กางเกง นาฬิกาข้อมือจึงถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องประดับของผู้หญิงก่อน แบบเดียวกับกำไลข้อมือ ผู้ชายสมัยนั้นถ้าใครใส่นาฬิกาข้อมือ จะถูกมองว่าตุ้งติ้งกรีดกราย ต้องพกเฉพาะนาฬิกาพกเรือนหนาหนักเท่านั้น

แต่ ‘เทรนด์’ นี้มาเปลี่ยนไปในต้นศตวรรษที่ 20 (นี่เอง!) เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ที่จริงก่อนหน้าจะเปลี่ยนมาสู่ศตวรรษที่ 20 ในสงคราม Boer War ครั้งที่สอง ในแอฟริกาใต้ (ในช่วงปี 1899 ถึง 1902) ทหารหาญที่เข้าร่วมรบต่างเริ่มถอดสายนาฬิกาพก แล้วเอามารัดไว้ที่ข้อมือกันแล้วนะครับ เพราะว่าเวลาออกรบ การต้องมาควักนาฬิกาพกเข้าๆ ออกๆ เป็นเรื่องไม่สะดวก แต่ก็ยังไม่ได้เป็นที่นิยมในหมู่หนุ่มๆ แมนๆ อยู่ดี

ต้องรอจนถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งแน่ะครับ ที่ผู้ผลิตนาฬิกาผลิตนาฬิกาข้อมือออกมาให้ทหารใส่จริงจัง เนื่องจากทหารต้องตรงเวลา นาฬิกาจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก และทำให้พลเรือน (ชาย) ทั้งหลาย เริ่มเห็นว่าการใส่นาฬิกาข้อมือเป็นเรื่องที่ไม่ Silly-Ass เหมือนเดิม เพราะทหารหาญเขาใส่กัน (เชียวนะ)

นาฬิกายิ่งมาได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะกับตัวเรือนที่แข็งแกร่ง ก็เมื่อทหาร (อเมริกัน) กลับบ้านหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงทศวรรษ ’50s ซึ่งก็อย่างที่รู้กันอยู่นะครับ ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้ผู้คนสามารถหาซื้อนาฬิกามาใส่ได้ ประกอบกับในยุคนั้น คนที่เป็นผู้นำครอบครัว ผู้นำธุรกิจต่างๆ ล้วนเป็นผู้ชาย นาฬิกาจึงค่อยๆ ถูกประกอบสร้างและใส่สัญญะแห่งความเป็นชายลงไปในนั้น จนกระทั่งมันกลายเป็น ‘ของเล่น’ ของ ‘ผู้ชาย’ แทบจะโดยเฉพาะ – มาจนถึงปัจจุบันนี้

รู้อย่างนี้แล้ว คงไม่ต้องสงสัยใช่ไหมครับ ว่าทำไมผู้ชาย (ที่คิดว่าตัวเอง) แมนๆ ที่ (คิดว่าตัวเอง) ประสบความสำเร็จมากๆ ถึงต้องมีนาฬิกาแพงๆ หลายๆ เรือน

ซึ่งถ้า ‘มี’ ด้วยการขวนขวาย มีด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองที่ไม่ต้องไปยืมใครเขามา นาฬิกาก็น่าจะเป็น Status Watch ที่น่าภาคภูมิใจไม่หยอก

แต่ถ้าไม่ได้เป็นอย่างนั้น คงไม่ต้องบอกหรอกนะครับว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

Tags: ,