ว่ากันว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม รักที่มีต่อครอบครัว รักที่มีต่อคนอื่น รักที่จะดูแลใส่ใจตัวเอง ทั้งหมดที่ว่าคือความรัก นอกจากนี้ ยังเคยมีวลีดังในยุคก่อนที่บอกกันว่า “ความรักชนะทุกอย่าง” หรือในภาษาอังกฤษที่ใช้กันสั้นๆ ว่า ‘Love wins’ มักใช้ในเวลาที่คู่รัก ครอบครัว หรือเพื่อนฝูง เผชิญกับปัญหาด้านความสัมพันธ์ เป็นคำให้กำลังใจกึ่งปลอบโยนว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ความรักที่มีให้กันก็จะทำให้เราสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้ ซึ่งวลีนี้อาจใช้ได้จริงกับใครหลายคน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะชนะทุกครั้งไป

โดยเฉพาะกับคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ถึงแม้พวกเขาจะรักกันมากแค่ไหน จารีต ค่านิยม และความคิดความเข้าใจเก่าๆ รวมถึงกฎหมาย ที่ต่อต้านอัตลักษณ์ ตัวตน และความสัมพันธ์ของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็ทำให้ LGBTQ+ พ่ายแพ้อยู่ร่ำไป

‘กอล์ฟ’ – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียนบท และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเท่าเทียมทางเพศ เคยร่วมงานกับ mesoestetic ในงานเสวนา ‘Pride month Talk’ ที่ทางแบรนด์จัดขึ้น เพราะต้องการประกาศจุดยืนเรื่องการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และสนับสนุนให้ทุกคนให้เกียรติในตัวตนและอัตลักษณ์ของ LGBTQ+

งานเสวนาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะทาง mesoestetic เกิดการตกตะกอนทางความคิดว่า ความรักที่ว่าการรักในผู้อื่น รักในการดูแลตัวเอง และประเด็น ‘ความรักชนะทุกอย่าง’ นั้นแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน แล้วทำไมความรักในหลากหลายรูปแบบถึงถูกสังคมจัดกรอบไว้อย่างไม่เท่ากัน เพราะสังคมในตอนนี้ทำให้เห็นว่าความรักอาจไม่ทำให้คนบางกลุ่มชนะทุกอย่างอย่างที่ว่าไว้จริงๆ

ธัญญ์วารินเล่าว่า ความรักทำให้คนคนหนึ่งทำได้หลายอย่าง เมื่อมีความรัก สิ่งที่ตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้คือ ‘ความคาดหวัง’ คนรักจำนวนมากหวังจะมีอนาคตร่วมกัน หวังสร้างครอบครัว ลงหลักปักฐานในที่ใดที่หนึ่ง ถ้าคู่รักที่มีรสนิยมทางเพศแบบที่สังคมจัดว่าเป็น ‘ปกติ’ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร สามารถจดทะเบียนสมรส รับสิทธิที่พึงมีตามพื้นฐานสิทธิมนุษยชนใต้รัฐธรรมนูญ แต่สำหรับคู่รัก LGBTQ+ พวกเขาไม่สามารถวางแผนชีวิตได้เหมือนคู่รักชาย-หญิง

“ความรักเป็นของเรา เราจะรักใครก็ได้ เพศอะไรก็ได้ รสนิยมทางเพศลื่นไหลเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ได้ ถ้าเราเกิดมาแล้วมีรสนิยมทางเพศตามอวัยวะเพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิดคงไม่มีปัญหา เพราะสังคมไทยเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ หญิงเป็นรอง ส่วนบุคคลอื่นที่ไม่มีเพศตามนี้จะถูกจัดเป็นพลเมืองชั้นสอง สาม สี่ ห้า เพราะกฎหมายรองรับให้จดทะเบียนสมรสได้เพียงแค่ชายกับหญิงเท่านั้น ไม่ได้มองว่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นคนเท่ากัน แล้วพวกเขาก็สามารถมีความรักเหมือนกับทุกคน

“ในโลกความเป็นจริง ผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากมายที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน มีความฝันร่วมกัน มีการใช้เงินด้วยกัน สร้างธุรกิจมาด้วยกัน เจ็บป่วยมาด้วยกัน แต่กลับไม่มีกฎหมายที่ครอบคลุมถึงการอยู่ร่วมกันของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย

“คำถามคือทำไมรัฐไทยจึงยังไม่มีกฎหมายรองรับความรักที่ว่านี้ ทั้งที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศก็เสียภาษีไม่ต่างจากทุกคน ดังนั้น LGBTQ+ ก็ควรได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สามารถจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้”

ไม่เพียงแค่เรื่องการตั้งคำถามถึงสิทธิที่ไม่เท่ากันระหว่างชาย หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ที่ต่อต้านความเท่าเทียมบางคนอาจหยิบยกประเด็นเรื่องการหลอกลวงมาเป็นเหตุผลสนับสนุนการต่อต้านสมรสเท่าเทียม หรือหยิบยกเหตุผลที่ว่าความรักของ LGBTQ+ นั้นไม่มั่นคงเท่ากับความรักระหว่างชาย-หญิง เพื่อทำให้การสมรสเท่าเทียมยังไม่ขยับไปไหน

ในงานเสวนาของ mesoestetic ธัญญ์วารินกล่าวถึงความคิดเห็นดังกล่าวว่า หลายคนมักจะมีคำถามว่าถ้าผู้มีความหลากหลายจดทะเบียนสมรสกันได้แล้วจะทำให้มีคนโดนหลอกหรือไม่ น่าแปลกที่คำถามนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่มาจากชายจริงหญิงแท้ที่กลัวว่าตัวเองจะโดนหลอก ชวนให้ขบคิดต่อว่า ถ้าตัวผู้ถามมั่นใจในรสนิยมทางเพศของตนเอง แล้วจะมีผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ไหนไปหลอกให้จดทะเบียนด้วย รวมถึงความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ชีวิตและความรักของชาย-หญิงที่จดทะเบียนสมรส สร้างครอบครัวอยู่ด้วยกัน ไม่มีการหลอกกันหรือไม่เคยพบกับความล้มเหลวเลยสักคู่หนึ่งจริงหรือ แล้วทำไมถึงต้องมีกรอบคำถามแบบนี้กับคู่รัก LGBTQ+ เท่านั้น

“การที่ใครจะใช้ความรักไปหลอกใครเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ควรมาเหมารวมเฉพาะผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นที่จะหลอกคนอื่น และก็มีคนตั้งคำถามอีกว่า ‘ความรักของผู้มีความหลากหลายทางเพศมันจะยั่งยืนเหรอ’ ซึ่งคนถามส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ คงต้องถามกลับไปว่า แล้วความรักของชายหญิงยั่งยืนกว่าของคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างนั้นเหรอ ในเมื่อทุกความรักก็มีวันหมดอายุ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะรักษาและประคองความสัมพันธ์ได้นานกว่ากัน หรืออยู่ร่วมกันจนตายจากกันไปข้างหนึ่ง

“แน่นอนว่าหลายคู่จดทะเบียนสมรสกันด้วยความรัก ความหวัง ความฝัน แต่บางครั้ง คู่รักหลายคู่ก็หมดรัก หมดความอดทน เลิกรากันทั้งความรู้สึกและเลิกรากันตามกฎหมาย มีทั้งจากกันด้วยดี จากกันแบบไม่ดี จึงเหมาเอาว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศยังไม่สมควรได้รับสิทธิเท่ากับชายหญิงด้วยการให้เหตุผลแบบนี้ไม่ได้”

การต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะรัก สู้เพื่อสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับตั้งแต่แรกถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง mesoestetic ที่เป็นหนึ่งในตัวแทนขององค์กรเอกชนระดับโลก ก็ได้ประกาศจุดยืนสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศทางเพศในสังคมไทยเช่นกัน

 

Fact Box

mesoestetic แบรนด์ที่ออกผลิตภัณฑ์บูรณาการความงามแบบองค์รวม (Aesthetic) ผลิตภัณฑ์เวชสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสัญชาติสเปนก่อตั้งในปี 1984 ซึ่งแรกเริ่มเป็นผู้ผลิตยาฉีดผิวที่ใช้ในแวดวงศัลยกรรมความงาม จำหน่ายให้แก่โรงพยาบาล สถานพยาบาล และคลินิก ก่อนจะขยายฐานการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวทั้งใบหน้าและเรือนร่าง อุปกรณ์เสริมความงาม และยา โดยมีผลิตภัณฑ์สร้างชื่ออย่าง Cosmelan สำหรับลดเลือนฝ้าและจุดด่างดำ

ทุกผลิตภัณฑ์ของ mesoestetic อยู่ภายใต้การผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีการค้นคว้าวิจัยและมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถือ มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อวิจัยและพัฒนาสินค้าภายใต้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานทางเภสัชกรรมที่เข้มงวดที่สุด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงามที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปี ปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

ทำความรู้จักกับ mesoestetic และพบกับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามเพิ่มเติมได้ที่ https://mesoestetic-th.com/

 

Tags: , , , , , , ,