1

เช้าวันหนึ่งบนแผ่นดินเกาหลีใต้ เหตุการณ์ดูปกติเช่นที่เคยเป็นมา มีเสียงแตรดังลั่นบนถนนเป็นระยะ มีเหล่ามนุษย์เงินเดือนเดินขวักไขว่สวนกันไปมา โดยพวกเขาไม่ต้องการปล่อยเวลามีค่านี้ให้เสียเปล่า เพราะต้องเร่งกวดฝีเท้าไล่ล่าความสำเร็จ

แต่จู่ๆ เช้าวันนั้นกลับพลิกผันดุจฝันร้าย เมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งมโหฬาร ผืนดินสาแหรกขาด เสียงดันลั่น สั่นสะเทือนไปรอบทิศ ตึกสูงและบ้านเรือนถล่มกลายเป็นซากปรักหักพัง ท้องฟ้าถูกฝุ่นควันปกคลุมจนดำทะมึน จนเมื่อกวาดสายตาดูแล้วสภาพพื้นดินในวันนี้ แทบไม่ต่างกับ ‘ขุมนรก’ แม้แต่น้อย

ทว่าเคหสถานแห่งเดียวที่รอดพ้นจากหายนะดังกล่าว คือ ‘ฮวังกุง’ อพาร์ตเมนต์ใจกลางกรุงโซล ที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นวิมานหลังสุดท้ายของบรรดาผู้รอดชีวิต

เรื่องราวในข้างต้น คือสิ่งที่ผู้กำกับ ออม แท-ฮวา (Um Tae-hwa) เกริ่นนำใน ‘Concrete Utopia’ หรือในชื่อภาษาไทย ‘วิมานกลางนรก’ ภาพยนตร์แนวภัยพิบัติ-เอาชีวิตรอด ดีกรีชิงรางวัลออสการ์ ปี 2024 จากประเทศเกาหลีใต้ ที่เค้าโครงดัดแปลงจากมังฮวาเรื่อง Pleasant Bullying ในแอปพลิเคชัน Line Webtoon

แม้ฉากหน้าจะเรียกความสนใจจากผู้ชม ผ่านภาพเหตุการณ์ภัยพิบัติสุดสิ้นหวังที่เนรมิตด้วยเทคโนโลยีซีจีล้ำสมัย จนกลายเส้นเรื่องหลักที่ตัวละครเอกต้องหาทางเอาตัวรอดจากวิกฤตครั้งนี้ ทว่าประเด็นที่ถูกแทรกระหว่างกลับน่าสนใจยิ่งกว่า โดยเฉพาะ ‘ประชาธิปไตยจอมปลอม’ ที่ใช้เป็นเครื่องมือบดขยี้ผู้อื่น เพื่อต่อลมหายใจสู่เช้าวันใหม่

จนระหว่างดูเผลอออกอาการหน้านิ่วคิ้วขมวดนึกตามว่า ถ้าเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ เกิดขึ้นกับตัว เราจะสามารถหลงเหลือความเมตตาในโลกที่กลายเป็นซากปรักหักพังได้หรือไม่?

2

Concrete Utopia เล่าเรื่องราวผ่านตัวละคร มินซอง (แสดงโดย พัก ซอ-จุน) อดีตข้าราชการตกอับ และ มยองฮวา (แสดงโดย พัก โบ-ยอง) ผู้เป็นภรรยา ซึ่งทั้งคู่เป็นเจ้าของห้องเบอร์ 602 ใน ฮวังกุง อพาร์ตเมนต์ที่ตกอยู่ในฐานะผู้ประสบภัยเช่นเดียวกับลูกบ้านคนอื่นๆ 

ท่ามกลางความอลหม่านหลังเกิดแผ่นดินไหว อาหารและน้ำกลายเป็นของมีค่ายิ่งกว่าธนบัตรทุกใบ รวมไปถึงฮวังกุงเอง ที่กลายเป็นที่อยู่อาศัยเดียว จนผู้คนทั่วทุกสารทิศแห่มาพึ่งใบบุญอพาร์ตเมนต์หลังนี้จนแน่นขนัด พาลเกิดการแย่งชิงของใช้จำเป็นตามมา

ไม่ช้า กึมแอ (แสดงโดย คิม ซอน-ยอง) ลูกสะใภ้ของเจ้าของฮวังกุงอพาร์ตเมนต์ จึงได้เรียกลูกบ้านทั้งหมดมาประชุมเพื่อหาทางออก ว่าจะไล่ผู้รอดชีวิตคนอื่นที่ไม่ใช่ลูกบ้าน หรือจะยอมช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ด้วยวิธีโหวตลงคะแนนเสียง

แน่นอนว่าในสถานการณ์เลวร้ายสุดขีดมนุษย์ย่อมเผยสันดานดิบ ยอมทำทุกวิถีทางแม้กระทั่งไล่เด็กตัวน้อยออกไปเผชิญกับความหิวโหยและอากาศหนาวเหน็บ สมาชิกฮวังกุงไล่ผู้รอดชีวิตในตึกจนหมด ก่อนจะสถาปนา ‘ยังทัก’ (แสดงโดย อี บยอง-ฮอน) ชายหนุ่มรูปร่างกำยำผู้เงียบขรึม เป็นหัวหน้าเฉพาะกิจของอพาร์ตเมนต์แห่งนี้

 

3

ทันทีที่ใช้อภิสิทธิ์ความเป็นเจ้าของตึก ชาวฮวังกุงอพาร์ตเมนต์ก็ปลงใจร่าง ‘ประชาธิปไตย’ ในโลกยูโทเปียของพวกเขา เช่น ลูกบ้านต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย เพื่อแลกกับอาหารและสิ่งของจำเป็น ลูกบ้านต้องเคารพเสียงโหวตข้างมาก มิเช่นนั้นจะถูกขับไล่จากอพาร์ตเมนต์

 และที่สำคัญสุดคือห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาอยู่อาศัยโดยเด็ดขาด

แล้วเรื่องราวก็เป็นไปดั่งวลีที่ว่า ‘อยากรู้ว่าธาตุแท้คนคนนั้นเป็นอย่างไร ลองให้เขามีอำนาจในมือแล้วจะรู้’ หลังจากนั้นเรื่องราวของ Concrete Utopia จึงเกิดเป็นภาพเหล่าผู้นำที่มีจิตใจบิดเบี้ยว ใช้อำนาจชี้นำสังคมในอพาร์ตเมนต์สู่ ‘ประชาธิปไตยจอมปลอม’ ไม่ว่าจะผ่านการเลือกที่รักมักที่ชัง ปล้นฆ่าผู้บริสุทธิ์ และละทิ้งซึ่งความเมตตาใดๆ เป็นต้น

เรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงเป็นความกดดันมหาศาลต่อมินซองและมยองฮวา ว่าพวกเขาจะเลือกเดินตามประชาธิปไตยจอมปลอมนี้ หรือจะเลือกศรัทธาความถูกต้องในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

4

สาเหตุที่ผู้กำกับ อูม แท-ฮวา เลือกเซ็ตอพาร์ตเมนต์เป็นฉากในการดำเนินเรื่อง นอกจากการสร้างสถานการณ์กดดันในที่แคบตามสูตรหนังระทึกขวัญทั่วไปแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งคือการหยิบยก pain point ของชาวเกาหลีใต้ ที่การซื้อบ้านสักหลังถือเป็นเรื่องเลือดตาแทบกระเด็น

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะหากสำรวจราคาอพาร์ตเมนต์ในพื้นที่กรุงโซลจะพบว่า มีมูลค่าแพงถึง 3 พันล้านวอน (ประมาณ 80 ล้านบาท) ขณะที่คอนโดอยู่ที่ราว 2 พันล้านวอน (ประมาณ 55 ล้านบาท) ส่วนบ้านเดี่ยวแทบไม่ต้องพูดถึง อย่างน้อยๆ ต้องมีแพงกว่า 5 เท่า โดยเฉพาะในเขตเมืองหลวง 

และแม้ปี 2020 รัฐบาลเกาหลีใต้จะเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว แต่สุดท้ายก็ยังแก้ปัญหาไม่ตก จนแทบเอาตีนก่ายหน้าผาก

นอกจากนี้ ‘ดวง’ ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการซื้ออพาร์ตเมนต์สักห้อง เพราะจำนวนประชากรครัวเรือนแดนโสมขาวที่หนาแน่นทุกตารางนิ้ว การซื้ออพาร์ตเมนต์สักหลังจำต้องใช้วิธีจับฉลากเสี่ยงโชค ยังไม่รวมธรรมเนียมเสียภาษีอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มต้น 0.04% และขยับขึ้นตามฐานะความก้าวหน้าของเจ้าบ้าน

จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวละครลูกบ้านภายในเรื่องจะยอมพลีชีพ ปกป้องบ้านของพวกเขาจากคนแปลกหน้า 

 

5

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจใน Concrete Utopia  คือการหยอดประเด็นความสูญเสียของ ‘ผู้ลี้ภัย’ ที่ถูกผลักไสให้ไปเผชิญหน้ากับความตาย ด้วยเหตุผลเพราะทรัพยากรที่มีจำกัดหรือกฎหมายบุคคลในประเทศนั้น

คิดตามเหมือนไกลตัว แต่หากย้อนนึกถึงประเด็นผู้ลี้ภัย ‘โรฮีนจา’ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เมื่อปลายปี 2022 จนเกิดเป็นกระแสสองฝั่งทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย (ในเวลานั้น คนส่วนมากมักเห็นด้วยกับฝั่งไม่เห็นด้วยเสียมากกว่า ก็คงจะพอเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ว่าสถานการณ์ที่ตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องเจอเป็นอย่างไร

ดังนั้น ความคิดเห็นหลังดูจบจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าลองคิดตามว่า การกระทำของทุกตัวละครกำลังบอกอะไรกับเรา เพราะหากพิจารณาให้ดีประเด็นเหล่านี้ ล้วนสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เหนือสิ่งอื่นใด ขอปรบมือให้กับมาตรฐานภาพยนตร์จากประเทศเกาหลีใต้ ที่นับวันดูจะเทียบเคียงระดับฮอลลีวูดได้ไม่เคอะเขิน พลันนึกฝันว่าถ้าวงการภาพยนตร์บ้านเราได้รับการสนับสนุนดีพอ จะมีวันก้าวไปสู่จุดเดียวกันได้หรือเปล่า

Tags: , , , ,