ชวนดูโปรแกรมหนังไทยหาดูยากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่พูดถึงการเลือกตั้งและประเด็นการเมืองในมิติต่างๆ กัน ทั้งเลือกตั้งผู้แทน เลือกตั้งในมหาวิทยาลัย เลือกตั้งโดยมีภรรยาวิ่งเต้น! รวมถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทยในแง่อื่นๆ ซึ่งหนังเหล่านี้เอง เป็นภาพสะท้อนที่น่าสนใจเรื่องการเดินทางของประชาธิปไตยในประเทศไทยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

หนังที่เข้าฉายในโปรแกรมนี้มีหนังไทย 7 เรื่อง แถมด้วยหนังต่างประเทศอีก 2 เรื่องในประเด็นการเมืองและการต่อรองอำนาจในระบบประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่วันที่ 7-26 กุมภาพันธ์ ชมฟรีที่หอภาพยนตร์ ศาลายา โดยที่ฉายไปแล้วได้แก่ ‘ผู้แทนมาแล้ว’ (2521) ‘โอ้..มาดา’ (2520) และ ‘ผู้แทนนอกสภา’ (2526) แต่ไม่ต้องห่วง เพราะที่เหลือยังมีอีกหลายเรื่องให้ติดตามชม

วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ เวลา 17.30 น. ฉายเรื่อง ‘บุญชู 5 เนื้อหอม’ (2533) กำกับโดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล / นำแสดงโดย สันติสุข พรหมศิริ, จินตหรา สุขพัฒน์ เรื่องของ บุญชู ซึ่งเป็นที่รู้จักรักใคร่ไปทั่วทั้งมหาวิทยาลัยเนื่องจากเป็นคนไม่มีพิษมีภัย วันหนึ่ง บุญชูยื่นมือเข้าช่วยเหลือน้องนิสิตที่มีปัญหาเรื่องทุนการศึกษาและต้องการผลักดันนโยบายการแจกทุนของมหาวิทยาลัยให้มีความยุติธรรม เขาจึงตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยมีเพื่อนเก่าๆ เข้ามาให้ความช่วยเหลือ

วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ เวลา 17.30 น. ฉายเรื่อง ‘สงครามปาก’ (2526) กำกับโดย เพิ่มพล เชยอรุณ / นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี, ปิยะมาศ โมนยะกุล เรื่องราวของอรรถวุฒิ ผู้ได้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. โดยมีพิมพิลา ภรรยาเป็นผู้วิ่งเต้น ทำให้เขาไม่ค่อยพอใจ เพราะต้องการชนะอย่างใสสะอาด ในขณะเดียวกัน เขาก็เป็นคนเจ้าชู้จนมีเรื่องกับภรรยาบ่อยๆ และทำให้ นาฎนรี หญิงสาวที่หมายมั่นจะจับอรรถวุฒิ ได้ประกาศต่อหน้าหลายๆ คนว่าเธอจะเป็นเมียน้อยของเขา

วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00 น. ฉายเรื่อง ‘ประชาธิป’ไทย’ (2556) กำกับและสร้างโดย เป็นเอก รัตนเรือง, ภาสกร ประมูลวงศ์ ภาพยนตร์สารคดีที่ตั้งคำถามกับ ‘ประชาธิปไตย’ ในประเทศไทย นับแต่แรกมีประชาธิปไตยในสยาม เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 และหาคำตอบด้วยการสัมภาษณ์บรรดานักคิดและนักวิชาการ เพื่อวิเคราะห์ถึงสถานภาพที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ทางการเมือง

วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ เวลา 15.00 น. ฉายเรื่อง ‘Fahrenheit 11/9 E’ (โปรแกรมเลือกตั้ง 2562) สารคดีเดือดเลือดพล่านเรื่องล่าสุดของไมเคิล มัวร์ สุดยอดผู้กำกับสุดแสบที่นำพาชาวอเมริกันและผู้ชมทั่วโลกล้วงลึกสำรวจสังคม การเมือง และสภาพจิตผู้คนปัจจุบัน เพื่อหาคำตอบให้แก่คำถามคาใจสองข้อสำคัญของเขาคือ สหรัฐอเมริกามาถึงจุดที่เลือกโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีได้อย่างไร และพวกเขาจะสามารถหลุดพ้นจากยุคสมัยของผู้นำคนนี้ไปได้ด้วยวิธีไหน หนังภาษาอังกฤษ คำบรรยายภาษาไทย สนับสนุนโดย Documentary Club

วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ เวลา 15.00 น. ฉายเรื่อง ‘Ten Years Thailand’ (2561) กำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, อาทิตย์ อัสสรัตน์, จุฬญาณนนท์ ศิริผล ภาพยนตร์ที่ประกอบด้วยภาพยนตร์สั้น 4 เรื่องประกบกัน โดยมีโจทย์กำหนดแบบเปิดกว้าง ถึงการตั้งคำถามและความหมายของอนาคตประเทศไทยในอีกสิบปีข้างหน้าผ่านมุมมองของผู้กำกับแต่ละคน เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจาก ‘Ten Years’ ภาพยนตร์ฮ่องกง ปี 2558 ซึ่งมีโจทย์แบบเดียวกันและประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย จนถูกส่งต่อมายังประเทศไทย รวมทั้งประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ไต้หวัน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ เวลา 17.30 น. ฉายเรื่อง ‘L’Exercice de l’État (The Minister)’ (2554) กำกับโดย Pierre Schoeller นำแสดงโดย Olivier Gourmet, Michel Blanc ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์นานาชาติ (FIPRESCI Award) ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อ พ.ศ. 2554 เล่าเรื่องราวของแบร์ทรองด์ แซง ฌอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของฝรั่งเศส ผู้ต้องเผชิญกับปัญหาครั้งใหญ่จากการประท้วงโครงการปฏิรูปสถานีรถไฟของรัฐบาล ซึ่งแม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่เห็นด้วย เขาจึงต้องพยายามใช้ทั้งสติปัญญาและเกมการเมืองเพื่อหาทางออกในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ หนังภาษาฝรั่งเศส คำบรรยายภาษาอังกฤษ สนับสนุนโดย สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย และสถาบันฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย

ดูหนังกันจบแล้ว หากเกิดคำถามหรือความสงสัยใดๆ หอภาพยนตร์ ในฐานะองค์กรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านภาพยนตร์ พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับหนังแต่ละเรื่อง บริบท และแง่มุมประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อันเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์สังคมไทย