เคยไหมที่แอบชอบใครสักคนในที่ทำงาน มองแล้วมองอีก หวังว่าเขาจะชอบเราบ้าง เวลาเขาพูดอะไรในที่ประชุมก็รู้สึกเท่ รู้สึกฉลาด หรือเวลาเขากดเครื่องทำกาแฟก็ดูน่ารักไม่น้อย คงจะดีไม่น้อยถ้าเธอมานั่งข้างกันหลังเลิกงาน ยิ่งพอถึง ‘วันศุกร์’ เย็นเมื่อไร จิตใจยิ่งห่อเหี่ยว รอให้ถึงเช้าวันจันทร์เร็วๆ เพื่อจะได้พบกับเธอคนนั้นอีกครั้ง

ไม่ใช่เรื่องแปลก ผลวิจัยบอกว่า มีพนักงานมากกว่า 48% เคยตกหลุมรักคนในที่ทำงานเดียวกันจากความใกล้ชิด แล้วยิ่งทำงานมากขึ้น ก็ยิ่งเห็นด้านที่ชอบพอกันมากขึ้น อยากอยู่ใกล้เธอเข้าไปทุกวัน ข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ในสหรัฐอเมริกายังพบด้วยว่า หลังอัตราการ Work from Home ลดลง ความรักในที่ทำงานกลับเบ่งบานมากขึ้น ผลสำรวจพนักงานในสหรัฐฯ 550 คน พบว่า 1 ใน 3 มีความรักผลิบานกับเพื่อนร่วมงาน เพิ่มขึ้น 6% นับจากการระบาดของโรคโควิด-19 ข้อมูลอีกแหล่งพบว่า ผู้คนในวัย 20-50 ปี ใช้เวลากับ ‘เพื่อนร่วมงาน’ มากกว่า ‘เพื่อน’ ถึง 4 เท่า จึงไม่แปลกที่ความรักจะก่อตัว

ก่อนอื่น สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนก็คือการตกหลุมรักในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องแปลก ประเด็นดังกล่าวถูกพูดถึงมาหลายร้อยปีนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ผู้ที่มีชื่อเสียงหลายคนพบรักกันในที่ทำงาน เป็นต้นว่า บารัก โอบามา (Barack Obama) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ พบภรรยา มิเชล โอบามา (Michelle Obama) ในสำนักงานทนายความที่ชิคาโก ตั้งแต่วัย 20 ปีเศษๆ บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ก็พบรักกับ เมลินดา เกตส์ (Melinda Gates) ภรรยาในเวลาต่อมา ในขณะที่เธอทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ ทั้งคู่ครองรักกันนานกว่า 27 ปี ก่อนจะแยกทางกันในปี 2022

เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นปกติ ในโรงพยาบาลมีหลายคู่ที่หมอพบรักกันเอง หรือพบรักกับพยาบาล ฝ่ายไอทีอาจจะตกหลุมรักครีเอทีฟ ขณะที่หัวหน้าฝ่ายอาจตกหลุมรัก อาจชอบอะไรบางอย่างในตัวพนักงานใหม่หลังจากทำงานไปได้สัก 1 ปี การทำงานด้วยกันทำให้ได้เห็นตัวตน ความคิด ทัศนคติ เห็นรอยยิ้ม เห็นมุมที่แอบซ่อนไว้

ทว่าบางครั้ง ความรักในที่ทำงานมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หลายครั้งมีข้อจำกัด และหากจัดการไม่ดีก็อาจส่งผลเสียต่อทั้งงาน ต่อทั้งคนรอบข้าง แล้วความรักในที่ทำงานมีประโยชน์และข้อควรระวังอย่างไรบ้าง

1. ยิ่งฉันใกล้เธอเท่าไร ยิ่งอยากจะเผยใจ – อันดับแรกเลยคือ หาก ‘แอบชอบ’ ใครสักคนในที่ทำงานก็ควรรีบบอกเขาไป ความรักในที่ทำงานเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว และเกิดขึ้นในทุกที่ ไม่มีใครผิดหากแอบชอบใคร และบางทีเขาก็อาจแอบชอบคุณอยู่ ความรักในที่ทำงานเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้จาก ‘ความใกล้ชิด’ และ ‘ความคุ้นเคย’ อย่างที่บอก มนุษย์ออฟฟิศจะออกไปเจอใครได้ หากงานที่คุณทำนั้นต้องเจอกับ ‘เขา’ และถ้า ‘เขา’ เป็นคนที่คุณคิดว่าใช่ คุณจะไปหาใครที่ไหนเสีย

เพราะฉะนั้น หากไม่อยากให้เรื่องนี้ยืดเยื้อก็รีบ ‘บอกรัก’ เข้าไป การเริ่มบอกรักในที่ทำงานอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น มีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น (แน่ละ คุณจะอยากไปที่ทำงานทุกเช้าเพื่อไปเจอเขา) มากกว่าจะเก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวเหมือนแอบชอบใครสมัยเรียน ม.ปลาย แล้วสุดท้าย ถ้าความรักไปด้วยดี งานก็เป็นไปได้ดีขึ้น เปรียบเสมือนความรักเป็นส่วนผสม ปรุงงานให้ออกมาได้

2. อย่าคิดว่าความรักในที่ทำงานเป็นเรื่อง ‘ต้องห้าม’ – หลายคนอาจดูเรื่อง ATM เออรัก เออเร่อ ที่ห้ามไม่ให้พนักงานมี ‘ความรัก’ เพราะกลัวกระทบกับงาน และอาจร่วมกันกระทำการทุจริต แต่อย่างที่บอก ในโลกยุคนี้ การห้ามไม่ให้มีความรักยิ่งเป็นเรื่องยาก และยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ เพราะฉะนั้น การห้ามรักในที่ทำงานก็เหมือนกับการ ห้ามน้ำไม่ให้ไหล ห้ามไฟไม่ให้มีควัน

แต่ความรักในที่ทำงานนั้นต้องการความเป็น ‘มืออาชีพ’ มากกว่าความรักทั่วไป ก่อนจะตัดสินใจมีความรัก คุณต้องตกลงกับตัวเองก่อนว่า คุณต้องแยก ‘เรื่องงาน’ ออกจากเรื่อง ‘ความรัก’ ให้ได้ คุณต้องเอา ‘ความหึงหวง’ ออกไป หากคนรักของคุณต้องทำงานกับคนอื่น และในเวลาเดียวกัน หากคบกันแล้ว มีเรื่องระหองระแหงกันในทางส่วนตัว ก็พึงระวังเรื่องการส่ง ‘มวลลบ’ ออกไปถึงคนรอบข้าง พึงระลึกไว้เสมอว่าในที่ทำงาน คุณทั้งสองต่างเป็นพนักงานด้วยกัน ทำงานกินเงินเดือนด้วยกัน และมีเป้าหมายคือ ‘งาน’ หากไม่สามารถแยกเรื่องทั้งหมดออกจากงานได้ ก็ทบทวนกับตัวเองให้ดีก่อนเริ่มเรื่องนี้

3. ความรักในที่ทำงานอาจซับซ้อนขึ้น หากอีกฝ่ายมีสถานะ ‘หัวหน้า’ – ใช่ เรื่องยากลำบากก็คือในที่ทำงานมักมีลำดับขั้น (Hierarchy) เป็นธรรมดา เรื่องที่เกิดขึ้นในยุค ‘ชายเป็นใหญ่’ ก็คือหัวหน้าชายมักมองพนักงานหญิงในทางชู้สาว และหลายครั้งเรื่องก็มักเลยเถิด ข้อพึงระวังก็คือ การมีความรักกับ ‘หัวหน้า’ หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศต้องย้ายหัวหน้า หรือย้ายลูกน้องให้ไปขึ้นกับอีกคน เพื่อระมัดระวังเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests) ขณะเดียวกัน หากมีเรื่องจุกจิกที่คนในฝ่ายจะมองว่า ‘ลูกน้อง’ อาจได้อภิสิทธิ์บางอย่าง ก็ทำให้เรื่องนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น หากมีความรักข้ามสถานะในที่ทำงานก็พึงระลึกความซับซ้อนนี้ให้ดี ตกลงกับตัวเองให้แน่ใจและบอกให้คนอื่นรู้มากกว่าจะปกปิด จนมีเรื่องเกิดขึ้นลับหลัง จนคนอื่นรู้ในภายหลัง กลายเป็นเรื่องใหญ่แล้วควบคุมไม่ได้

4. แล้วองค์กรควรจัดการอย่างไร – ก่อนอื่นเลย องค์กรไม่ควรมีกฎในการปิดกั้นความรักในที่ทำงาน และอย่ามองเป็นเรื่องผิด หากแต่ควรมีข้อตกลงที่ดีว่าด้วยการรักษา ‘ความเป็นมืออาชีพ’

“บริหารจัดการมัน อย่าปฏิเสธว่าไม่มีสิ่งนี้เกิดขึ้น หรือไม่ควรเกิดขึ้น” จอห์นนี เทย์เลอร์ จูเนียร์ (Johnny Taylor JR) ซีอีโอของสมาพันธ์ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลแห่งสหรัฐฯ (US’s Society for Human Resource Management) พูดถึงเรื่องนี้ภายใต้ความเชื่อว่า หากเปิดเผยกับหัวหน้างานหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลย่อมเป็นเรื่องดีกว่าปล่อยให้ความรักนั้นเกิดขึ้นแบบหลบซ่อน ขณะเดียวกัน ทั้งหัวหน้างานและ HR ต่างก็ควรมีสิ่งที่เรียกว่า ‘หลักปฏิบัติสำหรับคู่รักในที่ทำงาน’ ให้ชัดเจน เพื่อให้ความรักนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อองค์รวม ทั้งเรื่องบรรยากาศอันผิดปกติ หรือข้อเสียหากทั้งคู่เกิดเลิกกัน หรือมีภาวะเป็นพิษภัยใส่กัน

แต่ก็อีกนั่นละ ความรักเป็นเรื่องสวยงาม แต่ลองคิดให้ดีๆ เพ่งพิจารณาถึงหน้าที่การงาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานว่าบรรยากาศนั้นน่าจะมีความรักไหม และลองคิดดีๆ ว่าหากความรักนั้นต้องเปิดเผยกับทุกคน เพื่อนร่วมงานคุณทุกคนจะยอมรับในความรักนั้นไหม หรือจะทำให้คุณเป็น ‘ตัวร้าย’ ในบางเรื่องเล่า เพราะถึงที่สุด คุณจะไม่มีทางปิดเรื่องความรักให้เป็นเรื่องลับๆ ได้เสมอไป

หากตัดสินใจได้แล้ว คิดถึงข้อดีข้อเสียครบถ้วนแล้ว ก็เดินหน้าลุย บอกรักคนที่คุณชอบไปเสีย แล้วยอมรับผลที่จะตามมา

แล้วเจอกันใหม่ในเช้าวันจันทร์

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก

https://www.bbc.com/worklife/article/20220228-the-inevitability-of-the-office-romance

https://www.hrmorning.com/articles/office-romances-persist/?msclkid=7cd03c7ecf7011ec8693a57b9e0a8d25

Tags: , , ,