‘สื่อทำอะไรอยู่’ คำถามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา เมื่อหน้าที่ของสื่อคือการนำเสนอข้อเท็จจริงแก่ประชาชนเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ แต่หลายครั้งเรื่องที่ประชาชนหวังพึ่งสื่อ สื่อกลับไม่ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะทำ 

Collective ภาพยนตร์สารคดีจากประเทศโรมาเนียที่เข้าชิง 2 รางวัลออสการ์ปีนี้ ในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม และภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม บอกเล่าโศกนาฏกรรมไฟไหม้ผับที่อยู่ๆ กลายมาเป็นชนวนเปิดโปงการคอร์รัปชันที่อื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จนนำไปสู่การออกมาประท้วงโค่นล้มรัฐบาลในเวลาต่อมา

แม้เรื่องราวจะดูเป็นบทหนังชั้นดีของหนังฮอลลีวูด แต่ความเลวร้ายเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เราจะคาดไม่ถึงเลยว่าคนกลุ่มหนึ่งจะเห็นแก่ได้โดยไม่สนใจความเป็นมนุษย์ของคนอื่นๆ ในสังคมได้มากขนาดไหน และ Collective ก็ทำหน้าที่ย้ำเตือนว่าทุกแห่งบนโลกล้วนมีการคอร์รัปชัน แต่การคอร์รัปชันนั้นจะไม่เป็นเพียงเรื่องที่ซุกอยู่ใต้พรม หากสื่อไม่ยอมจำนนอยู่ใต้อำนาจรัฐ 

เรื่องราวในภาพยนตร์เปิดด้วยวิดีโอบันทึกเหตุโศกนาฏกรรมของคืนวันที่ 30 ตุลาคม 2015 ขณะวงดนตรีเมทัล Goodbye to Gravity กำลังแผดเสียงอยู่บนเวทีในคลับ ‘Colectivนักร้องนำสังเกตเห็นประกายไฟเกิดขึ้น พร้อมบอกว่านั่นไม่ใช่ส่วนหนึ่งการแสดง กล้องหมุนไปรอบ ๆ ราวกับว่าคนที่ถือกล้องพยายามตั้งใจฟังว่านักร้องคนนั้นกำลังพูดถึงอะไร วิดีโอเผยให้เห็นเสี้ยววินาทีที่เปลวไฟลุกท่วมเพดานอย่างรวดเร็ว ควันโขมงปกคลุมไปทั่วทั้งคลับ ผู้คนกรูไปยังทางออกด้วยความแตกตื่น ทว่าคลับแห่งนี้กลับไม่มีทางหนีไฟและระบบดับเพลิง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 27 ราย ได้รับบาดเจ็บอีก 180 คน

ที่น่าสงสัยคือ 4 เดือนต่อมา หลังโศกนาฏกรรมยังคงมีเหยื่อที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเสียชีวิตเพิ่มอีก 37 คน กาตาลิน โตลอนตัน (Catalin Tolontan) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์กีฬา Sports Gazette เห็นความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง เขาและทีมงานอีก 3 คนจึงลงมือสืบสวนอย่างจริงจัง ทันทีที่แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรีย 

ยิ่งสืบสวนยิ่งพบว่าน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ใช้แทบทุกโรงพยาบาลในโรมาเนียถูกเจือจางลงถึง 10 เท่า โรงพยาบาลโรมาเนียจึงไม่ต่างอะไรจากแหล่งรวมเชื้อโรคชั้นดี สวนทางกับคำพูดของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นที่แถลงว่าโรงพยาบาลมีมาตรฐานเทียบเท่าประเทศเยอรมนี 

ระบบสาธารณสุขอันเน่าเฟะ เต็มไปด้วยการโกงกินตลอดทั้งสายพาน โดยมีชีวิตของประชาชนเป็นเดิมพัน ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านหนังสือพิมพ์กระแสรอง แต่น้ำยาฆ่าเชื้อเจือจางกลับเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปลายยอดภูเขาน้ำแข็งที่มีขนาดสูงเท่าตึกระฟ้า เมื่อผู้อยู่เบื้องหลังแท้จริงไม่ใช่ใครอื่นไกลนอกจาก ‘รัฐบาล’ 

การสืบสวนอย่างเข้มข้นไม่ไว้หน้าใคร ตัดสลับไปมากับการบอกเล่าความเจ็บปวดของหญิงสาวผู้รอดชีวิตจากเหตุไฟไหม้แต่ต้องกลายมาเป็นผู้พิการ และพ่อผู้ทุกข์ทรมานจากการสูญเสียลูกชายวัย 19 ไปเพราะแผลติดเชื้อ รวมถึงการรับมือของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นที่ตอบคำถามแบบขอไปที ทั้งยังตัดสินใจผิดพลาดนำผู้ป่วยไฟไหม้รุนแรงไปรวมไว้โรงพยาบาลเดียว แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าผิดหลักทางการแพทย์ 

สุดท้ายรัฐมนตรีคนดังกล่าวชิงลาออกหนีความอับอาย เปิดทางให้ วลาด วอยคูเลสคู (Vlad Voiculescu) อดีตนักเคลื่อนไหวสิทธิผู้ป่วยเข้ามากอบกู้ความฉาวโฉ่แทน แต่การพยายามปฏิรูประบบสาธารณสุขของเขาต้องเผชิญแรงต่อต้านจากกลุ่มประชานิยมอย่างหนัก 

ถึงอย่างนั้น ความกล้าในการตีแผ่ความจริงของทีม Sports Gazette ผลักดันให้ประชาชนชาวโรมาเนียหลายหมื่นคนลุกฮือลงถนนประท้วงกดดันให้เปลี่ยนรัฐบาลจนนำมาสู่การเลือกตั้งใหม่ และทุกอย่างอาจไม่มาไกลขนาดนี้ หากขาดความร่วมมือจากหมอ พยาบาล พนักงาน ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีที่ตัดสินใจหอบข้อมูลเบื้องหลังการคอร์รัปชันสุดเลวทรามมาเปิดเผยต่อสื่อ

ความฉลาดของหนังเรื่องนี้เริ่มมาจากสถานการณ์เดียวในประเทศเล็กๆ ที่ขยายลุกลามไปถึงประเด็นใหญ่ระดับชาติ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นปัญหาคลาสสิกระดับโลกอย่างการ ‘คอร์รัปชัน’ ซึ่งทุกๆ ประเทศต้องเผชิญ แต่ผลลัพธ์ความเลวร้ายของระบบนี้กลับตกมาอยู่ที่ประชาชนคนธรรมดา 

อเล็กซานเดอร์ นาเนา (Alexander Nanau) ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมคิดว่าประชาชนในหลายประเทศกำลังตกอยู่ในสภาพเดียวกัน พวกเราล้วนรู้สึกสูญเสียอำนาจในการควบคุมชีวิตของตัวเอง และไร้ความมั่นใจว่าสังคมที่เราอยู่นั้นยังแยแสต่อความเป็นไปในชีวิตของเราหรือเปล่า แม้เรื่องราวของหนังจะเกิดในโรมาเนีย แต่ความเจ็บปวดของมันคือภาพสะท้อนของคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างเราทั้งโลก”

ใช่ มันสะท้อนภาพคนตัวเล็กตัวน้อยที่โดนเอารัดเอาเปรียบจากรัฐ จากกลุ่มทุน จากอภิสิทธิ์ชนที่มีเพียงหยิบมือ จึงไม่แปลกหากบางสถานการณ์จะชวนให้คิดว่าไทยเองก็กำลังประสบความกล้ำกลืนนี้อยู่ไม่ต่างกัน 

สารคดีบางเรื่องอาจจบด้วยการสร้างความเชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดโลกจะดีขึ้น แต่ Collective จบอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวการทั้งหมดยังคงสืบทอดอำนาจต่อ เมื่อประชาชนบางส่วนไม่รับรู้ว่าพวกเขามีอำนาจในมือจะสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการเลือกตั้ง แต่เพื่อเปลี่ยนรัฐบิดเบี้ยวให้กลับมาสู่ทางที่ถูกที่ควร เราต้องการ ‘สื่อหัวรั้น’ ที่ไม่ยอมสยบต่ออำนาจรัฐ เพราะเมื่อใดสื่อมวลชนสยบยอมต่ออำนาจรัฐ เมื่อนั้นรัฐจะข่มเหงประชาชน เช่นโตลอนตันกล่าวเอาไว้ 

Fact Box

สามารถรับชมภาพยนตร์เรื่อง Collective ได้ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายนเป็นต้นไปที่ House Samyan

Tags: , , , , , , ,