Photo: Reuter Staff, Reuter/Profile

หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ออกตัวแรงไปก่อนด้วยการลงนามออกคำสั่งถอดถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) หรือ TPP

และยังมีมาตรการจัดเก็บภาษีเพื่อป้องกันการลงทุนจากต่างประเทศไปยังเม็กซิโก และดึงการจ้างงานกลับเข้าสู่ประเทศ (อ่านต่อ ทรัมป์ถอยห่างจากเอเชีย? TPP อาจสั่นคลอนหลังสหรัฐฯ ถอนตัว)

ความวุ่นวายโกลาหลจึงตกอยู่กับ 11 ประเทศสมาชิก TPP ที่เหลือ ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย ซึ่งต่างกังวลว่าประเทศสมาชิกจะขาดแรงจูงใจและสูญเสียผลประโยชน์ไปด้วย เมื่อไร้เงาของสหรัฐฯ

ไม่ทันไรประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ก็ออกมาประกาศสนับสนุนการค้าเสรีบนเวทีสภาเศรษฐกิจโลกด้วยท่าทีที่จริงจัง ทำให้หลายประเทศกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อาจปะทุขึ้นในไม่ช้า (อ่านต่อ เมื่อสีจิ้นผิง ประกาศ “จีนจะเปิดประตูสู่โลก” หรือจีนจะก้าวมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก)

ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ มีนัดพบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นการส่วนตัวตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10-12 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าประเด็นที่ทั้งสองจะเจรจากันครั้งนี้จะมีเรื่องการค้าระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง

คำถามที่ตามมาคือ ถ้าญี่ปุ่นยอมเจรจาการค้าแบบทวิภาคีตามเกมของทรัมป์ จะยิ่งลดทอนบทบาทความสำคัญของ TPP ลงไปอีกหรือไม่

จะเกิดอะไรขึ้นหาก TPP ไปต่อไม่รอด ประเทศที่เหลืออาจต้องหันมาเจรจาการค้าแบบ 1 ต่อ 1 กับสหรัฐฯ รวมถึงยอมรับนโยบายการเพิ่มการลงทุนและการจ้างงานในอเมริกาของทรัมป์ไปด้วย

หรือไม่ก็หันไปพึ่งขั้วอำนาจตรงข้ามอย่าง ‘จีน’ แทน?

กระทั่งประเทศไทยซึ่งไม่ใช่ประเทศสมาชิก TPP ก็อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางระบอบการค้าระหว่างประเทศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วไทยและอาเซียนจะประคองเศรษฐกิจต่อไปอย่างไรในยุคแห่งความไม่แน่นอน

ประเด็นคำถามเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงอย่างเข้มข้นในงานสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติ ‘การค้าของอาเซียนและการลงทุนภายใต้นโยบายของทรัมป์’ (8 ก.พ.) ซึ่งอาจนำพาเราไปสู่คำตอบที่ไม่ได้มีแค่ ‘อเมริกา’ หรือ ‘จีน’ เท่านั้น

อเมริกาคงจะยังไม่กลับมาหาเรา
จนกว่าประเทศจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ

Photo: Jorge Silva, Reuter/Profile

ทรัมป์จะวางอเมริกาเป็นศูนย์กลางการเจรจาการค้าโลก

ในงานสัมมนา ไดซุเกะ ฮิรัตสึกะ ประธานศูนย์วิจัยเจโทร (กรุงเทพฯ) กล่าวถึงความท้าทายของระบอบการค้าระหว่างประเทศภายใต้กติกาโลกใหม่ พร้อมแนะให้ทุกฝ่ายเตรียมรับกับนโยบายการค้ารูปแบบใหม่ เพราะทรัมป์จะมุ่งเจรจาการค้าระหว่างประเทศแบบตัวต่อตัว ซึ่งตอบโจทย์ตลาดการค้าขนาดใหญ่ของอเมริกา ซ้ำยังจะช่วยให้ทรัมป์บรรลุนโยบายการสร้างงานและสนับสนุนอุตสาหกรรมประเทศที่วางไว้อีกด้วย

จึงเป็นไปได้ว่าความตกลงทางการค้าในอนาคตจะเป็นในลักษณะทวิภาคีโดยมีอเมริกาเป็นศูนย์กลาง (The America-hub and others-spoke structure) แทนที่จะเป็นการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี (The plurilateral FTA) อย่างที่ผ่านมา เช่น TPP

ภาพไดอะแกรมของโครงสร้างความตกลงทางการค้าแบบพหุภาคี (ซ้าย) และทวิภาคีซึ่งมีอเมริกาเป็นศูนย์กลาง (ขวา)
Photo: Daisuke Hiratsuka

ที่น่าห่วงคือ เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งเริ่มเจรจาตกลงทางการค้ากับอเมริกาแบบ 1 ต่อ 1 แล้ว ประเทศอื่นๆ อาจจะต้อง ‘เอาด้วย’ เหมือนกัน เพราะไม่มีใครอยากสูญเสียผลประโยชน์ทางการค้าในเกมนี้ ซึ่งจะนำไปสู่ผลกระทบมหาศาลตามมาแบบโดมิโน (Domino Effect) ได้ในที่สุด และอเมริกาจะเป็นผู้คุมเกมทั้งหมด

รัฐบาลไทยควรจะทำข้อตกลงทางการค้า FTA กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
และจะต้องทำ FTA ที่มีคุณภาพ
ที่ผ่านมาไทยเจรจา FTA กับคู่ค้าเพิ่มขึ้นหลายประเทศ
แต่เปอร์เซ็นต์การส่งออกสินค้าภายใต้ข้อตกลง FTA นั้นเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

Photo: TDRI

ไทยจะได้โอกาสหรือผลกระทบจากกรณีสหรัฐฯ ถอนตัวจาก TPP

ทางด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน TDRI มองว่าปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ (protectionism) วงจรการผลิตที่สั้นลง (shortened supply chain) และการมาถึงของเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (autonomation & robotics)

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ มาตรการการกีดกันทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตกลับสู่สหรัฐ (reshoring) อาจเป็นอุปสรรคต่อการผลิตและการส่งออกของเอเชีย

จริงอยู่ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน (ซึ่งเป็นสมาชิก TPP) แต่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ผ่านประเทศคู่ค้าอย่างจีน ซึ่งสหรัฐฯ เล็งกีดกันทางการค้าอยู่ ยังไม่รวมถึงความผันผวนทางตลาดหุ้นและการเงินที่เป็นผลมาจากนโยบายและท่าทีที่คาดเดาไม่ได้ของ โดนัลด์ ทรัมป์

อย่างไรก็ดี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ มองว่าประเด็นนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

หากมองในแง่ดี ไทยจะมีโอกาสส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ แทนจีนได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันบริษัทธุรกิจจีนที่ถอนตัวออกจากสหรัฐฯ อาจย้ายมาลงทุนในไทยและอาเซียนแทน ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเข้ามาแข่งขันกับภาคธุรกิจของไทยมากขึ้น และอาจทำให้ธุรกิจรายย่อยที่ผลิตสินค้าส่งออกให้จีนต้องเสียเปรียบ โดยเฉพาะตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

“เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าทำไมเราต้องสนใจเรื่องการค้า” ดร.สมเกียรติกล่าว “นั่นเพราะว่าการส่งออกสินค้าจะทำให้เรามีรายได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้ว สอง การค้าจะดึงการลงทุนและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้เรามีประสิทธิภาพมากยิงขึ้น สาม การค้าจะเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และสี่ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันภายในประเทศ

“ผมคิดว่ารัฐบาลไทยควรจะทำข้อตกลงทางการค้า FTA กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และจะต้องทำ FTA ที่มีคุณภาพ ที่ผ่านมาไทยเจรจา FTA กับคู่ค้าเพิ่มขึ้นหลายประเทศ แต่เปอร์เซ็นต์การส่งออกสินค้าภายใต้ข้อตกลง FTA นั้นเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ประเทศมาเลเซียและเวียดนามมีความมุ่งมั่นที่จะเจรจากับประเทศคู่ค้ารายใหญ่ เช่น อเมริกา และเวียดนามเองก็ประสบความสำเร็จกับการเจรจากับสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลต่อบทบาทความสำคัญในเวทีโลก

“ผมคิดว่าคุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ” ดร.สมเกียรติย้ำ พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหราชอาณาจักรซึ่งตั้งภาษีศุลกากรต่ำและต้องการส่งออกภาคบริการในไทย ขณะเดียวกัน ไทยก็ควรจะพัฒนาภาคบริการและให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดนี้อีกด้วย

นอกจากนี้ ดร.สมเกียรติยังกล่าวว่า ไทยควรเตรียมความพร้อมสำหรับการรื้อฟื้นข้อตกลง TPP ขึ้นใหม่ อีกทั้งควรปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยนโยบายทางการค้า และถือโอกาสเปิดรับแรงงานทักษะสูงเข้ามาในช่วงที่สหรัฐฯ ปิดรับแรงงานต่างชาติ

“เราต้องปรับตัวหาทางเลือกอื่นและปรับนโยบายทางการค้า เพราะการค้าโลกเปลี่ยนเร็ว”

ขณะเดียวกันก็ควรจับตาการเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ของสมาชิก 16 ประเทศ หรืออาเซียนบวก 6 (คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์)

“ผมคิดว่าภาคธุรกิจจะต้องมี Plan B และมองหาตลาดทางเลือกใหม่ เราควรจะเร่งดำเนินการเจรจาและยกระดับข้อตกลงทางการค้า เช่น RCEP หรืออาเซียนบวก 6 ซึ่งค่อนข้างล่าช้า

“สุดท้ายแล้วเราควรจะตระหนักว่า การค้าไม่ควรจะเป็นเกมการแข่งขันที่ต้องมีผู้แพ้ชนะ แต่ต้องชนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย”

จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามก็จริง
แต่อเมริกาเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของเรา
ถ้าอเมริกาตั้งกำแพงภาษีขึ้นมาก็จะมีผลต่อการส่งออกของเราแน่นอน

Photo: Wikimediacommons

อาเซียนร่วมถก TPP ต้องรอดและยังมีโอกาส

บนเวทีการอภิปราย ดร.เด็บเบอร์รา เอมส์ ผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจการค้าอาเซียน (The Asian Trade Centre) ตัวแทนจากประเทศสิงคโปร์ มองว่ารูปแบบการค้าโลกจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างแน่นอนภายใต้กติกาใหม่ซึ่งทรัมป์เป็นผู้กำหนด

ดร.เด็บเบอร์ราเปิดประเด็นอย่างดุเดือดว่า ประเทศสมาชิก TPP ควรจะเดินหน้าต่อไปโดยที่ไม่มีสหรัฐอเมริกา พร้อมย้ำว่าควรจับตามองท่าทีของญี่ปุ่นเป็นพิเศษ

“เขา (ทรัมป์) ไม่เชื่อในการตกลงทางการค้าที่มีมากกว่า 2 ฝ่าย เขาไม่ชอบ NAFTA เพราะเขาเชื่อว่ามันต้องมีแค่ผู้แพ้กับผู้ชนะ เขาเลยไม่ชอบ WTO และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เพราะว่าเขาไม่สามารถเอาชนะได้ทุกอย่าง

“เขาจะมุ่งเน้นไปที่ 6 ประเทศที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ ก่อนเลย และจะดำเนินการเจรจาการค้าแบบ 1 ต่อ 1 ซึ่งไทยไม่ได้อยู่ในนั้น

“ประเทศสมาชิก TPP ที่เหลือจะต้องดำเนินตามข้อตกลงต่อไป ถ้าเกิดข้อผิดพลาดยังไง คุณก็กลับมาแก้ไขได้ แต่ถ้าคุณเดินหน้าเจรจาแบบทวิภาคี หมายความว่าคุณจะต้องซื้อของจากอเมริกาและจ้างคนอเมริกา คุณจะต้องคำนึงด้วยว่าจะทำยังไงให้อเมริกาได้ดุลการค้าคืนกลับมา คุณต้องจัดการภาษีออกไปให้หมด คุณจะต้องเปิดหมด แต่อเมริกาจะไม่เปิดเลย”

Photo: KYODO Kyodo, Reuter/Profile

ดร.ทาคาชิ ฮัตโตริ ผู้อำนวยการฝ่ายเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีและความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะยังคงให้ความสำคัญกับ TPP ต่อไป ไม่ว่าผลของการนัดพบระหว่างทรัมป์กับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จะลงเอยเช่นไร

“เราเชื่อมั่นในระบอบการค้าเสรีที่เป็นธรรม มีกฎที่เป็นธรรม ผมว่าทรัมป์ไม่สนใจการค้าเสรี อย่างที่ ดร.เด็บเบอร์รา กล่าวว่า เขาสนใจแต่เรื่องชนะอย่างเดียว ผมว่าเขาคงเน้นเดินหน้าตามนโยบายที่หาเสียง แต่เขาก็ต้องเจอกระแสประท้วงในอเมริกาเช่นกัน ดังนั้นเป็นไปได้สูงว่าเขาจะเปลี่ยนใจในเร็วๆ นี้ นี่เป็นเรื่องสำคัญกับระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และทั่วโลก

“ตอนนี้เราพยายามโน้มน้าวฝ่ายบริหารของทรัมป์ว่า ถ้า TPP ไม่มีอเมริกาจะส่งผลกระทบยังไงบ้าง เราต้องโน้มน้าวให้เขาเห็นความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของ TPP ผมว่าเรายังมีโอกาส”

ทางด้าน ดาโต๊ะสตีเฟน หวง เฉิน หมิง รองผู้อำนวยการนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ ตัวแทนจากมาเลเซียยอมรับว่า กำลังเจรจากับประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย ชิลี ทั้งยังกล่าวว่าทุกฝ่ายอาจต้องสอนพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ให้ทรัมป์ใหม่

“ทางทำเนียบขาวพยายามจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของตัวเอง แต่ถ้าไม่ปล่อยให้มีการค้าเสรีเกิดขึ้น อาจจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ตก ประเทศต่างๆ จะเป็นหนี้กันหมด เราอาจต้องสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ 101 ให้เขาใหม่เลย

“ไม่ว่า TPP จะอยู่รอดไหม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมันใหญ่มาก ไม่แน่ว่าในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เราอาจต้องต่อสู้เอาตัวรอดกันเลยทีเดียว เพราะโมเดลเศรษฐกิจโลกจะไม่สามารถเดินต่อได้แล้ว

ทางด้านตัวแทนจากเวียดนาม ดร.โว ตริ ตราน ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันบริหารจัดการเศรษฐกิจส่วนกลาง กล่าวว่าแม้ว่าเวียดนามจะเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก แต่ก็จะพยายามปรับตัวรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยจะมุ่งเน้นการปฏิรูปภายในประเทศ เน้นการทำ FTA ที่มีคุณภาพสูง และสำรวจตลาดอื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักร

“จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามก็จริง แต่อเมริกาเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของเรา ถ้าอเมริกาตั้งกำแพงภาษีขึ้นมาก็จะมีผลต่อการส่งออกของเราแน่นอน โดยเฉพาะสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งคิดเป็น 50% ของสินค้าส่งออกไปยังอเมริกา รวมทั้งส่งผลต่อการจ้างแรงงานของเราแน่นอน”

ถ้าคุณเดินหน้าเจรจาแบบทวิภาคี
หมายความว่าคุณจะต้องซื้อของจากอเมริกาและจ้างคนอเมริกา
คุณจะต้องคำนึงด้วยว่าจะทำยังไงให้อเมริกาได้ดุลการค้าคืนกลับมา
คุณต้องจัดการภาษีออกไปให้หมด คุณจะต้องเปิดหมด แต่อเมริกาจะไม่เปิดเลย

ไทยมองไม่ใช่เกมของเรา จนกว่าประชาธิปไตยจะคืนกลับมา

เมื่อย้อนกลับมามองที่ไทยซึ่งไม่ได้เป็นประเทศสมาชิก TPP แล้วไทยควรเตรียมตัวอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้ กฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ ที่ปรึกษาหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่าไทยไม่เสียผลประโยชน์อยู่แล้ว ย้ำควรแก้ปัญหาภายในประเทศและยกระดับการเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจริงจัง

“สำหรับประเทศไทย เราไม่มีต้องอะไรสูญเสีย เรามาจากศูนย์ TIFA (Trade and Investment Framework Arrangement – กรอบความตกลงทางการค้าและการลงทุนที่สหรัฐฯ) เป็นเหมือนการบ้านที่เรายังไม่ได้ส่ง ซึ่งผ่านมา 17 ปีแล้ว เราก็ยังลังเลที่จะตกลงเจรจาการค้ากับอเมริกา ผมก็หวังว่ารัฐบาลปัจจุบันจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้สำเร็จ เพื่อที่ว่าเราจะได้เดินหน้าไปสู่จุดใหม่ และเปิดการค้าเสรีสำหรับการลงทุน

“เราติดอยู่ใน Watch List ของอเมริกามา 9-10 ปีแล้ว สำหรับอเมริกา เราเป็นประเทศที่ผู้นำไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญก็มีปัญหา ซึ่งเขาอาจใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือจัดการกับเราก็ได้

“อเมริกาคงจะยังไม่กลับมาหาเราจนกว่าประเทศจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ แต่ที่ผ่านมาเรายังได้เจรจาการค้ากับปากีสถาน และเจรจาทวิภาคีกับออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในนามของประชาคมอาเซียน ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากทำ FTA กับแคนาดาและสหราชอาณาจักร ซึ่งเราก็พยายามจะเปิดเสรีการลงทุนมากกว่าที่ผ่านมา ทั้งด้านบริการและการเปิดรับแรงงาน

“ภาคธุรกิจเรียกร้องรัฐบาลตลอดเวลาให้เปิดเสรีมากขึ้น เพราะกฎหมายเราโบราณมาก ซึ่งเราได้ยืนยันกับผู้นำทางการเมืองของเราแล้ว ไม่งั้นเราก็เสี่ยงที่จะถูกเบียดไปอยู่ชายขอบ” กฤษฎากล่าวสรุป พร้อมกับสนับสนุนให้สมาชิก TPP และอาเซียนเดินหน้าต่อไป และควรยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนร่วมกัน

แม้จะยังไม่มีบทสรุปว่าการเจรจาการค้าจะเดินต่อไปในทิศทางไหน จนกว่าผู้นำญี่ปุ่นจะแถลงการณ์ว่าจะยอมทำข้อตกลงทางการค้ากับอเมริกาแบบตัวต่อตัวหรือไม่ แต่ทุกฝ่ายก็มีความเห็นตรงกันว่าควรจะก้าวต่อไปด้วยกัน และหาพันธมิตรใหม่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เช่น แคนาดา และอินเดีย

อย่างน้อยนี่เป็นทางออกที่ดูมีความหวังเล็กน้อยว่า โลกไม่ได้หมุนตามแค่ ‘จีน’ หรือ ‘อเมริกา’

แต่โจทย์ที่ท้าทายพอๆ กับที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ไทยต้องปรับตัวตามโลกให้ทัน ไม่เช่นนั้นเราก็คงก้าวไปไม่ถึงไหนเสียที

อ้างอิง:

Tags: , , , , ,