Photo: China Stringer Network, Reuters/profile

ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘มังกร’ แค่เพียงขยับตัวก็สั่นสะเทือนตั้งแต่ฟ้าลงมาถึงปฐพี

ตลอดช่วงระยะเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นข่าวความเคลื่อนไหวที่สร้างความประหลาดในวงการฟุตบอลอย่างมาก เมื่อนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์หลายรายตัดสินใจเดินทางไปค้าแข้งใน ‘ไชนีส ซูเปอร์ลีก’ (หรือ CSL) กันเป็นทิวแถว

ที่สำคัญนักฟุตบอลเหล่านั้นไม่ได้มีแค่ค่าตัวที่แพงระยับเท่านั้น หากแต่ยังได้รับค่าเหนื่อยในระดับสูงที่สุดของโลกด้วย

ไม่ว่าจะเป็น คาร์ลอส เตเบซ อดีตกองหน้าทีมชาติอาร์เจนตินา ที่ตกลงรับค่าเหนื่อยระดับ 615,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์จากเซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว มากกว่าที่ได้รับจากสโมสรเดิม โบคา จูเนียร์ส 20 เท่า

หรือ ออสการ์ นักเตะทีมชาติบราซิล ที่ตกลงย้ายจากสโมสรระดับท็อปของโลกอย่างเชลซี เพื่อไปร่วมทีมเซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี สโมสรคู่ปรับร่วมเมืองของเซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว ด้วยค่าตัวกว่า 60 ล้านปอนด์ และจะได้รับค่าเหนื่อย 350,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าที่ ลิโอเนล เมสซี ได้รับจากบาร์เซโลนา เสียอีก

และล่าสุด อักเซล วิตเซล กองกลางทีมชาติเบลเยียม ปฏิเสธโอกาสที่จะย้ายไปร่วมทีมยูเวนตุส ทีมหมายเลขหนึ่งของอิตาลี และเป็นสโมสรในระดับ elite ของยุโรป เพื่อตกลงย้ายจาก เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ไปร่วมเล่นให้กับ เทียนจิน ฉวนเจียน และรับค่าเหนื่อยมากกว่า ปอล ป็อกบา

ก่อนหน้า เตเบซ และออสการ์ สโมสรใน CSL ก็คว้าซูเปอร์สตาร์อย่าง ฮัลค์, รามิเรส, อเล็กซ์ เตเซรา, เดมบ้า บา, แจ็คสัน มาร์ติเนซ, แชร์วินโญ, เฟรดี กวาริน, เอเซเกล ลาเวซซี

ไม่นับสุดยอดโค้ชระดับโลกอย่าง หลุยส์ เฟลิเป สโคลารี, มานูเอล เปเยกรินี, อังเดร บียาส-โบอาส,​ สเวน-โกรัน อีริกส์สัน, แดน เปเตรสคู, ดราแกน สตอยโควิช

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น ‘ปรากฏการณ์’ ที่กำลังสะเทือนโลกลูกหนังทั้งใบอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ว่ากันว่าความรุนแรงของมันมากยิ่งกว่าครั้งที่ โรมัน อับราโมวิช ขยายอาณาจักรยังใจกลางกรุงลอนดอนในทีมเชลซี เมื่อปี 2003 หรือการรุกคืบของกลุ่มทุนจากตะวันออกกลางที่หวังใช้สโมสรฟุตบอลระดับท็อปของยุโรปเป็นศูนย์กลางในการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องพวกนี้ขึ้น?​

มันเป็นเรื่องเพ้อฝันหรือความจริง?

และจีนกำลังคิดอะไรอยู่?

ภายในปี 2017 จีนจะต้องมีโรงเรียนฟุตบอล 20,000 แห่ง
ต้องสามารถผลิตนักฟุตบอลให้ได้ 100,000 คน
และหลังจากนั้นภายในปี 2025 จะต้องมีโรงเรียนฟุตบอลให้ได้ 50,000 แห่ง

แผนครองโลกฟุตบอลภายในปี 2050

การเติบโตอย่างรวดเร็วและบ้าคลั่งของวงการฟุตบอลประเทศจีนเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังมีคำประกาศิตของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ผู้หลงรักในลูกกลมๆ และต้องการให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจของโลกให้ได้ในเรื่องของเกมลูกหนัง

คำประกาศิตดังกล่าวนำไปสู่แผนการพัฒนาเกมฟุตบอลของจีนอย่างเป็นระบบ โดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศจีน ได้เปิดเผยรายละเอียดของแผนการในการทำให้ ‘มังกร’ ครองโลกลูกหนัง เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2016 ซึ่งมีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว

ในแผนระยะสั้น ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2015 แล้วนั้น ภายในปี 2017 จีนจะต้องมีโรงเรียนฟุตบอล 20,000 แห่ง ต้องสามารถผลิตนักฟุตบอลให้ได้ 100,000 คน และหลังจากนั้นภายในปี 2025 จะต้องมีโรงเรียนฟุตบอลให้ได้ 50,000 แห่ง

หากเป็นไปตามแผนดังกล่าว ภายใน 15 ปีนับจากแผนการเริ่มต้น จีนจะต้องเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกให้ได้ รวมถึงการคว้าแชมป์โลก หรืออย่างน้อยต้องเป็นทีมที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นทีมระดับโลก

และระยะยาวภายในปี 2050 จีนจะต้องเป็นชาติมหาอำนาจในเกมฟุตบอล เหมือน บราซิล, อาร์เจนตินา, เยอรมนี, อิตาลี, ฝรั่งเศส
เรื่องนี้หากฟังผ่านๆ จะเหมือนเป็นเรื่องเพ้อฝันที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องพูดกันเล่นๆ

พวกเขาเอาจริง และเมื่อ ‘มังกร’ เอาจริง พลังของพวกเขากำลังสั่นสะเทือนโลกทั้งใบได้อย่างสบายๆ เหมือนที่เราเคยเห็นมาแล้วในเรื่องของเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี

เมื่อมีประกาศิตจากผู้นำ ภาคเอกชนของจีนที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนสโมสรฟุตบอลต่างๆ ในประเทศก็พร้อมขานรับ

และนั่นทำให้พวกเขาต้องการที่จะพัฒนาฟุตบอลในชาติให้เร็วที่สุด

ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องทำ

Photo: Aly Song, Reuters/profile

การปฏิวัติลูกหนังมังกร ครั้งที่ 3

อย่างไรก็ดี ความจริงแล้วแผนการพัฒนาเกมฟุตบอลของจีนในยุคของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรก ที่จะมีการ ‘ปฏิวัติ’ วงการลูกหนังแดนมังกร

จีนเคยพยายามมาแล้ว 2 ครั้งด้วยกัน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก

การปฏิวัติลูกหนังจีนครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2000 หลังจากที่พวกเขาสามารถผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2002 ที่ประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้สำเร็จ – ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของจีนที่ได้ไปฟุตบอลโลกด้วย

น่าเศร้าที่การปฏิวัติครั้งนั้นจบลงด้วยความสูญเปล่า เมื่อจีนซึ่งอยู่กลุ่มเดียวกับ บราซิล, ตุรกี และคอสตาริกา ทำผลงานย่ำแย่แพ้รวด 3 นัด โดนยิงไป 9 ประตู และยิงไม่ได้แม้แต่ลูกเดียว ตกรอบแรกแบบน่าอดสู

กระแสความคลั่งไคล้ในเกมลูกหนังจึงดับลงไป และต้องใช้ระยะเวลาอีก 10 ปีจึงมีความพยายามในการปฏิวัติเกมลูกหนังแดนมังกรอีกครั้ง โดยเริ่มมีการซื้อนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์เข้ามา รายแรกคือ นิโกลาส์ อเนลกา ที่ตกลงย้ายออกจากเชลซีเพื่อไปอยู่กับ เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว ในปี 2012

ก่อนที่จะมีซูเปอร์สตาร์เดินทางมาค้าแข้งมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ดิดิเยร์ ดร็อกบา, เดมบ้า บา, เปาลินโญ

และเมื่อปีกลายก็เกิดการปฏิวัติรอบที่ 3 โดยครั้งนี้เกิดเป็น ‘ปรากฏการณ์’ การย้ายทีมที่เหลือเชื่อมากมาย  ไม่ว่าจะเป็น รามิเรส ที่ย้ายจากเชลซี ไปร่วมทีมเจียงซู ซูหนิง (25 ล้านปอนด์), แจ็คสัน มาร์ติเนซ ที่ย้ายจากแอตเลติโก มาดริด ไปร่วมทีมกวางโจว เอเวอร์แกรนด์ เถาเป่า (31 ล้านปอนด์) และอเล็กซ์ เตเซรา ที่ปฏิเสธ ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล และเลือกย้ายจากชักตาร์ โดเน็ตส์ก ไปอยู่กับเจียงซู ซูหนิง (38.4 ล้านปอนด์) ที่ทำลายการย้ายทีมในจีนถึง 3 ครั้งในรอบ 10 วัน

ก่อนจะตามมาด้วย เอเซเกล ลาเวซซี (เหอเป่ย ไชน่า ฟอร์จูน),​ ฮัลค์ (เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี), กราเซียโน เปลเล (ชานตง ลู่เหนิง)

และปัจจุบันทั้ง ออสการ์, คาร์ลอส เตเบซ,​ อักเซล วิตเซล และซูเปอร์สตาร์อีกหลายคนที่เชื่อว่าจะตามมาในอนาคต ซึ่งอาจจะไม่ใช่นักเตะระดับที่ดีที่สุดของโลกในตำแหน่งนั้น แต่อย่างน้อยก็ไม่ใช่เอาไม้ใกล้ฝั่งมาเล่นเหมือนในเมเจอร์ลีก สหรัฐฯ ที่ไม่ประสบความสำเร็จนักกับกฎ Designated Player Rule (ที่อนุญาตให้แต่ละทีมสามารถจ่ายเงินเป็นพิเศษเพื่อดึงสตาร์จากต่างประเทศเข้ามาร่วมทีม เช่น เดวิด เบ็กแฮม, สตีเวน เจอร์ราร์ด)

ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า ‘เงิน’ คือแรงดึงดูดที่สำคัญที่สุดในปรากฏการณ์นี้ นักฟุตบอลหลายรายตกลงยอมรับข้อเสนอ ทั้งที่ไม่รู้ว่าสโมสรที่พวกเขาจะเล่นนั้นอยู่ตรงไหนของโลกด้วยซ้ำไป

ขณะที่ส่วนของสโมสรนั้น พวกเขาต้องการขานรับนโยบายของท่านผู้นำเพื่อ ‘ประโยชน์’

ประโยชน์ในเชิงเกมลูกหนังนั้นส่วนหนึ่ง

แต่ว่ากันว่าประโยชน์แฝงในเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทนในการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน

ไม่มีใครกล้าที่จะขัดหรือไม่ดำเนินตาม

เพราะนั่นอาจหมายถึงจุดจบทางธุรกิจได้

ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า ‘เงิน’ คือแรงดึงดูดที่สำคัญที่สุดในปรากฏการณ์นี้
นักฟุตบอลหลายรายตกลงยอมรับข้อเสนอ ทั้งที่ไม่รู้ว่าสโมสรที่พวกเขาจะเล่นนั้นอยู่ตรงไหนของโลกด้วยซ้ำไป

Photo: Aly Song, Reuters/profile

คำถามและความท้าทายที่รออยู่

ความทะเยอทะยานของจีนสูงเทียมฟ้า เรื่องนี้ไม่มีใครสงสัยแล้ว

พวกเขากล้าแม้กระทั่งยื่นข้อเสนอขอซื้อ คริสเตียโน โรนัลโด นักฟุตบอลเบอร์หนึ่งของโลกในรอบปีที่ผ่านมา โดยให้ค่าตัวถึง 300 ล้านยูโร – มากกว่าสถิติโลกปัจจุบันของปอล ป็อกบา 3 เท่า และให้ค่าเหนื่อยโรนัลโด สูงถึงปีละ 100 ล้านยูโร หรือคิดเฉลี่ยสัปดาห์ละเกือบ 2 ล้านยูโร มากกว่าที่ได้รับในสัญญาฉบับใหม่กับเรอัล มาดริด มากมายมหาศาล

แน่นอนว่าด้วยระดับชั้นของโรนัลโด มันเร็วเกินไปที่เขาจะตอบรับข้อเสนอนี้ และปฏิเสธด้วยคำพูดที่ดูดีว่าชีวิตการเล่นฟุตบอลของเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินเพียงอย่างเดียว

แต่มันกลับทำให้ผมคิดถึงวันที่ ‘เทพบุตรลูกหนัง’ ริคาร์โด กาก้า ปฏิเสธจะย้ายมาร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2009 เพราะไม่ต้องการ ‘ลดระดับ’ ตัวเองลงมา

ด้วย ‘โมเมนตัม’ ของ CSL ในเวลานี้ หากพวกเขายืนระยะได้อีกอย่างน้อย 4-5 ปี ในการเอาจริงเอาจังกับการทุ่มซื้อซูเปอร์สตาร์มาประดับวงการ และเร่งยกระดับมาตรฐานการเล่นของลีกขึ้นโดยเร็ว

ถ้าทำได้ – ถึงวันนั้นใครจะกล้าปฏิเสธลีกแดนมังกร?

ไม่นับเรื่องที่จีนเองก็เริ่มมีการลงทุนในสโมสรชั้นนำของโลก โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อการตลาดหรือการประชาสัมพันธ์ หากแต่ยังต้องการองค์ความรู้จากสโมสรที่อยู่ในระดับสูงสุดด้วย

อย่างไรก็ดีพวกเขายังมีคำถามและความท้าทายรออยู่อีกมาก

จริงอยู่ที่ในเกมฟุตบอล การจะสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในเกมลูกหนังนั้นไม่มีวิธีใดที่จะรวดเร็วและได้ผลดีไปกว่าการนำ ‘บุคลากร’ ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยในการพัฒนา และนั่นหมายถึงนักฟุตบอลและโค้ชต่างชาติ

แต่จีนเองก็ต้องสร้าง ‘คน’ ของพวกเขาขึ้นมาเอง ควบคู่ไปกับสร้าง ‘ระบบ’ ที่ดีพร้อมด้วย

เพราะไม่เช่นนั้นทุกอย่างที่ทำไปจะเป็นการ ‘ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ’ ทันที

กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ เจลีกของญี่ปุ่น ที่ในจุดเริ่มต้นนั้นพวกเขาเองก็ทำแบบเดียวกัน (ซึ่งก็เป็นต้นแบบของลีกอาชีพเกิดใหม่จำนวนมากในยุคหลัง รวมถึงไทย) ด้วยการดึงตัวนักเตะระดับโลกอย่าง ซิโก้, แกรี ลีนิเกอร์, เลโอนาร์โด, การาก้า, ปิแอร์ ลิตต์บาร์ตสกี้ เข้ามา และช่วยพัฒนานักฟุตบอลญี่ปุ่นได้เป็นอย่างมาก

ความตื่นตัวที่เกิดขึ้นจนเป็นกระแส ‘ฟีเวอร์’ ขึ้นมา ทำให้คนญี่ปุ่นหันมาเล่นฟุตบอลมากขึ้น เกิดสโมสรอาชีพในท้องถิ่นต่างๆ แต่สิ่งสำคัญคือ ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับ ‘ระบบ’​ และ ‘คน’ ที่จะเป็น ‘รากแก้ว’ ของความสำเร็จที่ยั่งยืน

นักฟุตบอลซูเปอร์สตาร์ต่างชาติมาแล้วก็ไป ไม่ต่างอะไรจากใบและดอกที่ผลัดร่วงผลัดผลิตามฤดูกาล แต่ถ้ารากแก้วยังอยู่ไม้จะยิ่งเติบใหญ่และไม่มีวันล้ม

มันมีช่วงเวลาที่เจลีกเองก็ประสบปัญหาความนิยมเสื่อมถอย แต่รากแก้วที่แน่นหนาทำให้พวกเขายืนหยัดได้ และเวลานี้วงการฟุตบอลญี่ปุ่นเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ รวมถึงนักฟุตบอลญี่ปุ่นในเจเนอเรชันหลังๆ เองก็พัฒนาขึ้นมาจนสามารถก้าวไปสู่ระดับสโมสรชั้นนำของโลกได้โดยไม่อายใคร

จีนก็ต้องทำให้ได้เช่นนั้น หากคิดจะยืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลกจริงๆ

สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ ภายใต้ความคลุ้มคลั่งกับการกว้านซื้อซูเปอร์สตาร์ระดับโลก หลังฉากแล้วจีนได้รับความร่วมมือจากพรีเมียร์ลีก (ซึ่งได้รับความนิยมสูงในจีน และมีการถ่ายทอดสดให้ชมฟรีๆ ผ่านระบบ IPTV) ในการให้คำแนะนำการบริหารจัดการ CSL อย่างมืออาชีพ

นอกจากนี้ยังมีโค้ชจากพรีเมียร์ลีกที่ทำงานร่วมกับครูในโรงเรียนของจีนด้วย

แน่นอนมันต้องใช้เวลา บางทีแค่ 15 ปี หรือต่อให้ถึง 50 ปีก็อาจจะไม่เพียงพอ

Photo: China Stringer Network, Reuters/profile

จาก ‘แฟนตาซีฟุตบอล’ สู่ ‘เรียลลิตี้ฟุตบอล’

ในสายตาและความรู้สึกของคนที่ได้สัมผัสกับฟุตบอลจีนถึงถิ่นมาแล้ว หลายราย มองว่า จีนยังห่างไกลจากการเป็นชาติมหาอำนาจในเกมฟุตบอลอีกมาก

หนึ่งคือ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และอีกหนึ่งคือ เรื่องของวัฒนธรรมทางเกมลูกหนัง

เดมบ้า บา อดีตศูนย์หน้านิวคาสเซิล และเชลซี ไม่คิดว่าเม็ดเงินมหาศาลที่ลงทุนไปนั้นจะเปลี่ยนจีนให้เป็นมหาอำนาจได้ทันที พวกเขาต้องทำมากกว่านี้ และต้องใช้เวลาอีกนานมากในการจะลงทุนสร้างสนามฟุตบอล และสร้างระบบขึ้นมารองรับ

รวมถึงการสร้าง ‘วัฒนธรรมฟุตบอล’ ที่แข็งแกร่งและเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะในปัจจุบันแฟนฟุตบอลจีนจำนวนมากเลือกที่จะชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลบนอินเทอร์เน็ตมากกว่าจะเข้ามาในสนาม และทำให้สนามฟุตบอลจำนวนมากมีผู้ชมเพียงแค่ครึ่ง (แม้ตัวเลขค่าเฉลี่ยผู้ชมในปี 2016 จะอยู่ที่ 22,193 คนต่อเกม ซึ่งเท่ากับในอิตาลี และฝรั่งเศส แต่ก็ยังน้อยกว่าสเปน, อังกฤษ และเยอรมนี)

อีกด้านของผู้ผ่านโลก (ลูกหนัง) มามากอย่าง สเวน-โกรัน อีริกส์สัน เขากลับเชื่อว่าเวลานี้วงการฟุตบอลจีนเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ “ที่นี่มีเงิน และฟุตบอลที่นี่ก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าทัศนคติเริ่มเปลี่ยนแปลงไป พวกเขาตระหนักดีว่าพวกเขายังห่างไกลจากการเป็นชาติมหาอำนาจในโลกฟุตบอล และพวกเขาต้องการจะไปให้ถึงจุดนั้น ซึ่งผมเชื่อว่าพวกเขาจะกลายเป็นมหาอำนาจได้อย่างแน่นอน”

ในความรู้สึกส่วนตัวผมเอง CSL และวงการฟุตบอลจีนมีข้อจำกัดอยู่มาก และหลายเรื่องมันยากเกินกว่าที่จะใช้เงินเพื่อหาคำตอบ

โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมลูกหนังที่เป็น ‘ความจริง’ ที่จีนไม่อาจมองข้ามได้

เพราะไม่ใช่ทุกประเทศบนโลกจะ ‘บ้าบอล’ ครับ

หากสังเกตให้ดีประเทศที่ประสบความสำเร็จในเกมฟุตบอลก็ล้วนแต่เป็นประเทศที่คลั่งไคล้ในลูกกลมๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น บราซิล, อาร์เจนตินา, สเปน, เยอรมนี, อิตาลี หรือแม้แต่อังกฤษ ที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในระดับชาติ แต่ประสบความสำเร็จในระดับสโมสร

ความรักและความผูกพันนั้นเกิดขึ้นยาวนาน ไม่ใช่แค่หลักสิบ แต่เป็นหลักร้อยปี

เรื่องท้าทายที่สุดคือ การทำให้คนจีนซึ่งส่วนมากนิยมฟุตบอลต่างประเทศมากกว่า หันกลับมามา ‘บ้าบอลบ้านตัวเอง’ ในระดับที่มีแฟนบอลเข้ามาชมกันเต็มความจุสนามในเกมลีกทุกนัดเหมือนในอังกฤษ

 เหล่าซูเปอร์สตาร์ที่กรีธาทัพเข้ามาและนักเตะสายเลือดใหม่ของจีนเองคือ ‘ความหวัง’ ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

หากมีสักคนที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็น ‘ไอคอน’ ที่สามารถชวนแฟนเข้ามาชมเกมในสนามได้ แรงกระเพื่อมที่จะเกิดขึ้นตามมานั้นย่อมรุนแรงมหาศาลถึงขั้นพลิกฟ้าผ่าปฐพีได้

นั่นเป็นเรื่องที่น่าจับตาอย่างยิ่งครับว่า ท้ายที่สุดแล้วจีนจะทำได้หรือไม่

 แต่อย่างน้อยที่สุดพวกเขาได้เริ่มต้นแล้ว และโลกทั้งใบกำลังจับตามองพวกเขา

ที่มา:

FACT BOX:

ทำเนียบนักฟุตบอลที่ได้รับค่าเหนื่อยแพงที่สุดในโลก

1. คาร์ลอส เตเบซ – เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว 615,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

2. ออสการ์ – เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี 400,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

3. คริสเตียโน โรนัลโด – เรอัล มาดริด 365,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

4. แกเร็ธ เบล – เรอัล มาดริด 350,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

5. ลิโอเนล เมสซี – บาร์เซโลนา 336,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

6. ฮัลค์ – เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี 320,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

7. ปอล ป็อกบา – แมนฯ ยูไนเต็ด 290,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

8. กราเซียโน เปลเล – ชานตง ลู่เหนิง 290,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

9. เนย์มาร์ – บาร์เซโลนา 275,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

10. เวย์น รูนีย์ – แมนฯ ยูไนเต็ด 260,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

ข้อมูล www.telegraph.co.uk

DID YOU KNOW?

  • ไชนีส ซูเปอร์ลีก หรือ CSL มีจำนวนทีมทั้งหมด 16 ทีม และมีผู้เล่นขึ้นทะเบียนเกือบ 500 คน (ข้อมูล มี.ค. 2016)
  • 18% ของผู้เล่นทั้งหมดเป็นผู้เล่นต่างชาติ
  • แต่ละสโมสรสามารถขึ้นทะเบียนผู้เล่นต่างชาติได้ 5 คน บวกกับอีก 1 คนที่มาจากชาติในเอเชีย (เอเอฟซี)
  • ในแต่ละนัดทีมสามารถส่งผู้เล่นต่างชาติลงสนามได้สูงสุดพร้อมกัน 4 คน
  • ไม่อนุญาตให้มีผู้รักษาประตูชาวต่างชาติ โดยมีเจตนาเพื่อที่จะพัฒนาผู้เล่นในชาติตัวเองในตำแหน่งนี้
  • CSL ไม่มีกฎข้อบังคับเรื่องการใช้จ่ายเงินใดๆ ทั้งสิ้น แตกต่างจากในยุโรปที่มีกฏ Financial Fair Play (FFP) – แต่ถึงจะมีกฎ แต่ละทีมก็ไม่ได้มีปัญหาทางการเงินอยู่แล้ว เพราะสปอนเซอร์หลักล้วนเป็นบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ของประเทศทั้งสิ้น
  • CSL จะทำการแข่งขันในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ย.
  • ล่าสุดมีรายงานว่าจีนมีการพิจารณากฎที่จะตัดสินแชมป์จากจำนวนประตูที่ ‘นักเตะจีน’ ทำได้เท่านั้น โดยไม่ว่าซูเปอร์สตาร์จะยิงได้กี่ประตูก็ไม่มีความหมาย เพื่อทำให้เกิดการพัฒนานักฟุตบอลจีนอย่างจริงจัง กฎนี้อยู่ระหว่างการเสนอเพื่อพิจารณา
Tags: , ,