เรื่องราวเริ่มขึ้นจากวันอันแสนบัดซบของ แดนนี (แสดงโดย สตีเวน ยอน) และ เอมี (แสดงโดย อาลี หว่อง) ชายหญิงชาวเอเชีย-อเมริกันที่ชีวิตสวนทางกันด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน ก่อนจะเกิดฉากไล่ล่าสุดเดือดที่บานปลายกลายเป็นต้นธารให้ชีวิตของทั้งคู่พินาศ แต่ในทางกลับกัน มันกลับพาพวกเขาหลุดพ้นออกจากกรอบกรงล่องหนที่พวกเขาอยู่มาค่อนชีวิต
Beef (2023) มินิซีรีส์ออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์ สร้างโดย ลี ซองจิน (Lee Sung Jin) คนทำหนังผู้สนใจสำรวจภาวะ ‘ชีวิตพังยับเยิน’ ของมนุษย์ เห็นได้จากผลงานก่อนหน้าในการร่วมโปรดิวเซอร์ให้มินิซีรีส์ Undone (2019-2022) ซึ่งว่าด้วยหญิงสาวผู้เกลียดชังชีวิตตัวเองและเชื่อว่าความบัดซบของชีวิตจะนำพาเคราะห์ร้ายไปสู่คนอื่นใกล้ตัว และ Tuca & Bertie (2019-2022) แอนิเมชันว่าด้วยมนุษย์นกสองนางในโลกอันโดดเดี่ยว จนมาถึง Beef ซึ่งดูเหมือนจะเป็นงานที่เข้าไม้เข้ามือเขาที่สุด หากวัดจากประเด็นที่เล่าถึงชีวิตคนเอเชีย-อเมริกันในสหรัฐฯ
Beef ดำเนินเรื่องราวผ่านแดนนี ชายหนุ่มที่เปิดบริษัทก่อสร้างและไปได้ไม่สวยนัก ภารกิจใหญ่ของเขาคือการกอบกู้เอาที่ดินของพ่อและแม่ ที่ย้ายกลับไปอยู่เกาหลีใต้กลับมาให้ได้ ทั้งยังต้องคอยดูแล พอล (แสดงโดย ยัง มาซิโนะ) น้องชายเจ้าเสน่ห์ผู้มีชีวิตไม่เอาอ่าว
ขณะเดียวกัน เอมี สาวเชื้อสายเวียดนามที่ดูมีชีวิตดี ตรงกันข้ามกับแดนนีสุดๆ ก็แบกรับปัญหาโลกแตกในแบบของเธอ เพราะการตะเกียกตะกายไปถึงจุดแห่งความสำเร็จและความร่ำรวยนั้น มักแลกมากับการที่เธอต้องทำตัวเป็น ‘สาวเอเชีย’ ในอุดมคติตามที่ชาวอเมริกันเชื่อ นั่นคือสุภาพ นอบน้อม และเข้าถึงปรัชญาลึกซึ้งบางอย่างแบบที่ ‘โลกตะวันตก’ ไม่มี มิหนำซ้ำ ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ จอร์จ (แสดงโดย โจเซฟ ลี) สามีเชื้อสายญี่ปุ่น-อเมริกัน ก็เริ่มร้าวราน กระทั่งอุบัติเหตุบนท้องถนนกลายเป็นชนวนสำคัญ ที่ทำให้ทั้งแดนนีและเอมีมองเห็นแผลฉกรรจ์บางอย่างในชีวิตที่พวกเขาไม่เคยสังเกตเห็น หรือไม่ก็ทำเป็นไม่เห็นมาโดยตลอด
“ผมว่าถึงจุดหนึ่งในชีวิตเราทุกคน น่าจะเคยเจอเรื่องหัวร้อนบนถนนกันทั้งนั้น
“และในยุคสมัยใหม่นี้ รถยนต์คือพื้นที่ซึ่งเราใช้เวลาเป็นส่วนตัวอันเปราะบาง เพื่อโลดแล่นไปโน่นมานี่อยู่ด้วยมากที่สุด โดยตัวมันเองแล้ว ซีรีส์นี้จึงสำรวจภาวะสันโดษของเรา และการสำรวจมันผ่านการใช้ชีวิตบนยานพาหนะนี่ก็สมเหตุสมผลอยู่ไม่น้อยเลยนะ” ซองจินกล่าว
ซองจินเป็นแฟนหนังตัวยงของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน (Paul Thomas Anderson) บอง จุนโฮ (Bong Joon-ho) พี่น้องโคเอน (Ethan and Joel Coen) ตลอดจนคนทำหนังหน้าใหม่อย่าง อาริ แอสเตอร์ (Ari Aster) ซึ่งหากกวาดตามองคงเห็นภาพรวมบางประการ นั่นคือหนังของพวกเขาล้วนพูดถึงชีวิตมนุษย์ในมุมที่เจ็บปวดและหนักหน่วงด้วยกันทั้งสิ้น และซองจินก็รับเอาอิทธิพลนั้นมาผ่านการเล่าเรื่องแสน ‘หัวร้อน’ ของตัวละครใน Beef “พวกเขาเล่าชีวิตคนได้โคตรน่าสนใจแถมเปี่ยมอารมณ์ขันสุดๆ เลย ผมได้แต่หวังว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จแบบนั้นได้บ้าง” ซองจินกล่าวชื่นชมถึงบรรดาเพื่อนผู้กำกับ
ทั้งนี้ ภาษาอังกฤษมีสำนวนหนึ่งคือ ‘Hurt people hurt people.’ ที่มีความหมายว่า คนที่ถูกทำร้ายมานั้นมักทำร้ายคนอื่นด้วย (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) และนี่อาจเป็นสำนวนที่สะท้อนภาพของเหล่าตัวละครใน Beef ได้หมดจดที่สุด กล่าวคือตัวละครทุกตัวในเรื่องล้วนแล้วแต่เกลียดชังชีวิตตัวเองไม่ว่าจะแสร้งทำเป็นพึงพอใจมันมากแค่ไหน แดนนีเหน็ดเหนื่อยกับการแบกรับภาระของครอบครัว แบกเอาแอกของความเป็น ‘พี่ชายคนโต’ ของบ้านที่ต้องทำทุกทางเพื่อให้ตัวเอง พ่อแม่ และน้องชายอยู่รอด เอมีที่แม้จะมีบ้านหลังใหญ่ แต่เธอก็ต้องหาทางรับมือกับผู้คนชวนให้ประสาทเสียมากมาย ทั้งแม่ผัว ทั้งคนขาวผู้ร่ำรวย ไหนจะการประชุมเป็นร้อยเป็นพันครั้งไม่รู้จบ พอลที่สงสัยว่าชีวิตเขากำลังเดินไปสู่แห่งหนไหน หรือจอร์จที่หวังอยากเป็นศิลปินตามพ่อตัวเอง แต่ดูเหมือนอะไรต่อมิอะไรก็ไม่เอื้อนัก รวมถึงตัวละครทุกตัวล้วนที่ทำร้ายกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
สิ่งหนึ่งที่ Beef แข็งแรงมากๆ คือการสำรวจมายาคติที่โลกตะวันตกมีต่อคนจากโลกตะวันออก ตลอดจนวิธีคิดที่คนเอเชียมองคนเอเชียด้วยกัน ทั้งความกดดันของลูกชายคนโต การเป็นเมีย เป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบในครอบครัวใหญ่ ตลอดจนปรัชญาการดำเนินชีวิตด้วยความ ‘สงบ’ มากมายมหาศาลที่ชวนให้ตั้งคำถามว่า ไปด้วยกันได้กับโลกซึ่งถูกทุนนิยมฉุดกระชากจนกลับหัวกลับหางได้อยู่จริงหรือไม่ ยิ่งเมื่อเราพินิจว่า ตัวละครทุกตัวล้วนตะเกียกตะกายอยู่ในโลกที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ถูกถาโถมด้วยคลื่นความสำเร็จแบบ ‘โลกตะวันตก’ นั่นคือ การมีบ้านสักหลัง (ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ยากระดับ ‘มหากาฬ’ ของการใช้ชีวิตในสหรัฐฯ) หรือการไต่เต้าจากศูนย์สร้างทุกอย่างด้วยน้ำพักน้ำแรงของเอมีตามวิธีคิดแบบ ‘American Dream’ ขณะเดียวกันนั้น ความวายป่วงทั้งหมดในเรื่องล้วนเกิดขึ้นระหว่างตัวละครชาวเอเชีย-อเมริกันด้วยกันทั้งสิ้น คนขาวแทบไม่มีบทบาทอะไรมากไปกว่าการเป็นเจ้าของบ้านที่ว่าจ้างแดนนี เป็นหนึ่งในแก๊งโจรเด๋อด๋า หรือมหาเศรษฐีที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรมากมายนัก แต่มีเงินมากพอจะเปลี่ยนชีวิตคนอื่นได้ ทว่าแนวคิดแบบคนขาวหรือโลกตะวันตกนี่เองที่ครอบงำตัวละครอยู่ตลอดทั้งเรื่อง
ทั้งแดนนีและเอมี ต่างเกิดจากครอบครัวของชาวเอเชียอพยพรุ่นที่สองในอเมริกา พ่อแม่ของพวกเขาคือกลุ่มคนที่หอบความหวังมาจากบ้านเกิด หวังเติบโตในดินแดนแห่งเสรีภาพที่เชื่อกันว่าให้โอกาสทุกคนได้เติบโตเท่าเทียมกัน แต่ความอำมหิตของเศรษฐกิจอเมริกาไม่ง่ายดายเช่นนั้น มันไม่อนุญาตให้พวกเขาประสบความสำเร็จโดยไว ครอบครัวของแดนนีและเอมีเผชิญหน้าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและกลายเป็นหนึ่งในบาดแผลใหญ่ กลายเป็นกลุ่มคนทนทุกข์ เจ็บปวดและต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด ถ่ายทอดส่งต่อความเครียดเขม็ง ความเจ็บช้ำของชีวิตไปสู่คนรุ่นลูกก็คือแดนนีและเอมี
แดนนีในฐานะลูกชายคนโตกับการแบกแอกของความสำเร็จที่ดูเหมือนเขาจะเดินไปไม่ถึงสักที มิหนำซ้ำยิ่งใช้ชีวิตไปเท่าไร ก็ดูเหมือนเขายิ่งห่างไกลจากสิ่งที่ตัวเองอยากเป็นมากขึ้นเท่านั้น อันจะเห็นได้จากฉากที่เขาระเบิดน้ำตาเมื่อเข้าไปเยือนโบสถ์คริสต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่สำคัญมากๆ ของชาวเกาหลี ทั้งในเกาหลีใต้และในสหรัฐฯ คล้ายว่าการหวนกลับไปยังโบสถ์คือการหวนกลับไปยังชีวิตที่เขาคุ้นเคย แต่เดินจากมาไกลเสียจนไม่อาจหวนกลับไปสู่ครรลองที่เหมาะสมหรือความสงบนิ่งของชีวิตได้อีกแล้ว
เอมีที่สภาพครอบครัวผลักให้เธอเกลียดชังตัวเอง ด้วยความเชื่อที่ว่าเธอเกิดขึ้นมาจากความไม่ปรารถนาของพ่อกับแม่ ดังนั้น เธอจึงไม่น่าจะเป็นที่ปรารถนาของใครในโลกนี้เลย ตัวละครจึงกอดเอาความเจ็บปวดจากคนรุ่นหนึ่งมาไว้กับตัวเอง และพร้อมจะส่งต่อให้คนอีกรุ่นไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผ่านการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับลูกสาว ภาวะการเป็นแม่ทำให้เอมีเชื่อว่า แม่ที่ดีนั้นควรจะรักลูกโดยปราศจากเงื่อนไข แต่คำถามคือ แล้วแม่ของเธอรักเธอแบบมีเงื่อนไขหรือไม่ (ในเมื่อเธอเชื่อว่าตัวเองเกิดขึ้นมาโดยความไม่ปรารถนา) และมันจะผิดปากมากมายเท่าไร หากเธอในฐานะแม่รักลูกโดยมีเงื่อนไขบางอย่างตั้งอยู่ กระทั่งการตั้งคำถามว่า “แล้วทารกรักเราแบบไร้เงื่อนไขจริงๆ หรือ” ก็ดูเป็นคำถามที่ ‘แค่คิดก็ผิดแล้ว’ สำหรับเอมีในฐานะแม่คน เธอจึงทุกข์ตรม อึดอัด และหวังอยากทุบทำลายกรอบกรงบางอย่างที่ขังเธอไว้
ทั้งแดนนีและเอมีล้วนเติบโตขึ้นมาในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เลวร้ายสุดขีด เป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ตลาดแรงงานไม่มีพื้นที่ให้เด็กจบใหม่อย่างพวกเขา บ้านกลายเป็นสิ่งหายากและถึงที่สุด ครอบครัวของแดนนีก็ยังต้องสูญเสียโรงแรมกับที่ดินจนต้องระหกระเหินกลับประเทศ พอลที่หวังอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยก็ต้องตะเกียกตะกายหาทุนเพราะการกู้เรียนหมายถึงการแบกเอาหนี้ก้อนโตติดตัวไปทั้งชีวิต แม้จะไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าจบมาแล้วจะมีงานทำ ตัวละครจึงใช้ชีวิตด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว ขมขื่นอยู่ในประเทศที่พ่อแม่พวกเขาเชื่อว่าเป็นประเทศที่ดี และเปิดโอกาสให้ได้เติบโตมากกว่าประเทศเก่าที่จากมา ไม่ว่าจะเกาหลีใต้ของครอบครัวแดนนี เวียดนามของเอมี หรือญี่ปุ่นของจอร์จก็ตามที
ทั้งนี้ หนังไม่ได้มีท่าทีประนีประนอมต่อความรุนแรงที่ตัวละครหลักมอบให้ครอบครัวตัวเอง เพราะมันพาหวนกลับไปยังสารตั้งต้นของเรื่องที่ว่า ‘คนที่ถูกทำร้ายมักทำร้ายคนอื่น’ ถึงที่สุดแล้วเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การกระทำของแดนนีกับเอมี ที่เป็นผู้ถูกกระทำ ก็ไปสร้างบาดแผลให้คนอื่นเช่นกัน และคนอื่นที่ว่านั้น คือสมาชิกในครอบครัวของตัวเอง หรือด้านหนึ่ง มันคือการส่งต่อไม้ผลัดแห่งความเจ็บปวดจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง และการจะตัดหนทางนี้ให้ชะงักลง ก็มีเพียงแค่การสบตากับบาดแผลของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น
Tags: Netflix, beef, เน็ตฟลิกซ์, Screen and Sound, A24, สตีเวน ยอน, อาลีหว่อง