คุณจำความรู้สึกตอนตัวเองอายุ 20 ปีได้ไหม? 

บางคนอาจยังเรียนอยู่ บางคนเริ่มทำงานแล้ว บางคนยังสับสนกับชีวิต แต่ไม่ว่าจะทำอะไรในช่วงเวลานั้น เราต่างเปี่ยมไปด้วยความฝัน

‘Hell’s Kitchen’ เป็นรายการเรียลลิตีแข่งขันทำอาหารสุดโหดที่เติมฝันให้คนอยากสัมผัสประสบการณ์ทำงานร่วมกับ กอร์ดอน แรมซีย์ (Gordon Ramsay) สุดยอดเชฟคนดังผู้เคยได้รางวัลดาวมิชลินถึง 16 ดวง หลังสานฝันให้เป็นจริงคนแล้วคนเล่า ในที่สุด ‘Hell’s Kitchen’ ก็เดินทางมาถึงซีซัน 20 เป็นที่เรียบร้อย 

หากเปรียบเทียบรายการเป็นคน 20 ปี ถือเป็นระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ซีซันที่ 20 จึงชูเรื่อง ‘Young Guns’ หรือพลังของคนรุ่นใหม่มาเป็นธีมหลักของรายการ ด้วยผู้เข้าแข่งขันอายุไม่เกิน 24 ปี ต่างจากซีซันก่อนหน้าที่ผู้เข้าแข่งขันล้วนมากด้วยความสามารถและประสบการณ์ ตรงนี้เองที่ทำให้ Hell’s Kitchen: Young Guns มีความพิเศษกว่าซีซันที่ผ่านมา

สิ่งที่คนดูคาดหวังจากรายการเรียลลิตีอาจเป็นความคาดเดาไม่ได้ ใครจะถูกคัดออก ใครจะมีพัฒนาการมากที่สุด ใครจะทะเลาะกันเอง หรือแม้แต่ใครจะทะเลาะกับแรมซีย์ ซึ่งซีซันที่ผ่านๆ มาก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย ทว่าซีซัน 20 อาจปลุกความทรงจำครั้งวันวานของคนดูขึ้นมาว่า ตอนอายุ 20 เราเคยอ่อนหัดหรือไฟแรงขนาดไหน โดยเฉพาะคนที่ล่วงเลยการเป็นวัยรุ่นมานานพอสมควร 

**เนื้อหาต่อไปมีการเปิดเผยรายละเอียดสำคัญของรายการ**

เพชรที่รอการเจียระไน

สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นแฟนตัวยงของ Hell’s Kitchen มาตั้งแต่ซีซันแรก ซีซัน 17-20 ที่ลงใน Netflix เพียงพอจะสามารถทำให้เห็นว่าบรรยากาศของรายการเป็นอย่างไร นี่เป็นรายการประเภทคัดออก โดยมีรางวัลเป็นตำแหน่งหัวหน้าเชฟร้านอาหารสุดหรูของแรมซีย์เป็นเดิมพัน พร้อมการันตีรายได้ต่อปีสูงถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 8.3 ล้านบาท) แต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้น พวกเขาต้องผ่านบททดสอบสุดหินและแรงกดดันมหาศาลให้ได้ก่อน ซึ่งนับว่าเป็นจุดขายสำคัญของรายการที่เราจะได้เห็นแรมซีย์เกรี้ยวกราด พ่นคำด่าใส่ผู้เข้าแข่งขันไม่ยั้งชนิดใจไม่แข็งพอก็แค่เดินออกจากประตูไปเสีย หรือรอจนกว่าแรมซีย์จะลั่นวาจาว่า “Give me your jacket” ประโยคประกาศิตที่หมายถึงโอกาสของพวกเขาดับสิ้นแล้วในครัวนรกแห่งนี้  

สำหรับซีซัน 20 ผู้ชนะจะได้เป็นหัวหน้าเชฟร้านอาหาร Gordon Ramsay Steakhouse ที่โรงแรมปารีสลาสเวกัส รัฐเนวาดา ในวงการเชฟ อายุและประสบการณ์มีความสำคัญอย่างมาก การตัดสินใจมอบตำแหน่งสำคัญนี้ให้แก่เชฟเลือดใหม่ จึงถือเป็นการทลายกรอบความคิดเดิมลงเพื่อตอกย้ำว่าอายุไม่ใช่ปัญหา  

ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 18 คน มีอายุระหว่าง 21-23 ปี ขณะถ่ายทำในปี 2019 ความเด็กของพวกเขาคงชวนให้คิดว่าจะต้องมีเรื่องดราม่าเกิดขึ้นไม่เว้นวันแน่ ตรงกันข้ามที่ซีซันนี้ไม่มีผู้เข้าแข่งขันคนไหนอีโกจัด หรือชวนปวดประสาท จนคนดูสาปแช่งให้ตกรอบไปสักทีเหมือนซีซันที่ผ่านๆ มา จริงอยู่ว่าพวกเขายังอายุน้อย เพิ่งเริ่มเข้ามาสายอาชีพเชฟไม่นาน แต่ความเป็นเด็ก Gen Z  ที่บอบช้ำจากสังคม ทำให้พวกเขาพยายามดันหลังตัวเองให้โตเป็นผู้ใหญ่เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราจึงเห็นความจริงใจซื่อตรง ในเวลาเดียวกันกับการปัดความรับผิดชอบแบบเด็กๆ ของผู้เข้าแข่งขัน รวมถึงเห็นตัวตนของพวกเขาที่สะท้อนพฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์บางอย่างของคนรุ่นใหม่ที่มีความคล้ายคลึงกัน 

แมทธิว ฟรานซิส (Matthew Francis) Vlogger ด้านอาหารที่กำลังปลุกปั้นผลงานตัวเองผ่าน Youtube ผู้ต้องเผชิญความจริงว่าโลกการทำอาหารเพื่อคอนเทนต์กับเพื่อเสิรฟ์จริงๆ ต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

บรินน์ กิ๊บสัน (Brynn Gibson) ผู้มากด้วยฝีมือการทำอาหาร และภาวะผู้นำ แต่ศัตรูตัวฉกาจที่สุดกลับเป็นตัวเธอเอง ตลอดรายการความว้าวุ่นบางอย่างภายในใจ จึงพาเธอไปอยู่ปากเหวหลายต่อหลายครั้ง  

อันโตนิโอ รุยซ์ (Antonio Ruiz) เชฟผู้พกความมั่นอกมั่นใจมาเกินกว่าความสามารถ ในสายตาผู้เข้าแข่งขันคนอื่น เขาจึงเป็นเพียงคนน่ารำคาญที่ดีแต่พร่ำ

เอมิลี่ เฮิร์ช (Emily Hersh) และ โจซี่ คลีเมนส์ (Josie Clemens) สองสาวมังสวิรัติที่กลายมาเป็นเพื่อนซี้กันในรายการ ทว่ายิ่งอยู่รอบลึกการไม่กินเนื้อของพวกเขาสร้างความยุ่งยากขึ้นทีละนิด 

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้เข้าแข่งขันซีซัน 20 ไม่ว่าคนเหล่านี้จะมีพื้นเพและนิสัยใจคอแตกต่างกันอย่างไร สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกันคือ ‘แววตากระหายใฝ่รู้’ ที่ฉายประกายออกมา อาจเพราะเชฟเหล่านี้เพิ่งเริ่มต้นทำงานได้ไม่นาน ยังไม่ทันจะได้ลิ้มรสความสำเร็จเหมือนผู้เข้าแข่งขันซีซันอื่น หรือโปรไฟล์ยังไม่เลิศหรูพอให้ตัวเองมีทางเลือกสำรอง 

เมื่อได้มาเป็นส่วนหนึ่งในรายการที่ตัวเองโตมาพร้อมกับมัน ทั้งยังได้รับคอมเมนต์จาก กอร์ดอน แรมซีย์ ที่พวกเขายกย่องให้เป็นไอดอล ไฟในตัวคนเหล่านี้จึงยิ่งโหมลุกโชนพร้อมแผดเผาทุกความท้าย ขณะคนดูเองก็เหมือนได้เฝ้ามองเพชรค่อยๆ ถูกเจียระไน  

ความเฉลียวฉลาดของโจทย์ 

อีกความสนุกหนึ่งของซีซั่นนี้คือโจทย์ต่างๆ ในแต่ละตอน ทางทีมงานได้ดึงวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่เข้ามาผสมผสานกับการคิดโจทย์ ในเวลาเดียวกันโจทย์เหล่านั้นต้องสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้บางอย่างให้กับผู้เข้าแข่งขันได้ด้วย เช่น โจทย์ใช้อีโมจิบอกสูตร เพื่อนร่วมทีมจะช่วยต้องถอดรหัสอิโมจิที่ติดไว้ด้านหลังของอีกคน เพื่อให้เจ้าตัวสามารถปรุงอาหารออกมาตรงตามสูตร ที่ช่วยเพิ่มเรื่องการสื่อสารระหว่างสมาชิกภายในทีม หรือการปัดขวาปัดซ้ายเลือกจับคู่วัตถุดิบล้อเลียนไปกับแอพลิเคชันหาคู่ชื่อดังในชีวิตจริง เพื่อโชว์ความคิดสร้างสรรค์ ไปจนถึงโจทย์การรังสรรค์ศิลปะอาหารที่อิงตามพฤติกรรมชอบถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียของคนรุ่นใหม่ เพื่อทดสอบความสามารถในการตกแต่งจาน 

รอบแจ็คเกตดำที่คัดผู้เข้าแข่งขันเหลือเพียง 5 คน สามารถเห็นได้ชัดว่าทุกคนพัฒนาตัวเองมาไกลขนาดไหน ความมั่นใจพวยพุ่งออกมาผ่านสีหน้า ท่าทาง คำพูด และฝีมือการทำอาหารที่ฉายเด่นขึ้นเรื่อยๆ  รวมไปถึงการตกผลึกวิธีเป็นผู้นำในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะแบบ ไคยา วิลเฮล์ม (Kiya Willheim) ผู้แน่วแน่ จริงใจ เต็มที่กับการทำอาหารเกินร้อย เทรนตัน การ์วีย์ (Trenton Garvey) สายออกคำสั่งที่แทบจะโคลนนิ่งความเกรี้ยวกราดฉบับแรมซีย์มาทุกอย่าง และมอร์กาน่า เวซีย์ (Morgana Vesey) กับการควบคุมสติเป็นเลิศ เรียนรู้ และปรับตัวไวราวกับฟองน้ำที่ดูซับทุกคำสอน  

สิ่งที่รอบแจ็คเกตดำทำเอาคนดูอ้าปากค้างคือ แรมซีย์สั่งให้ผู้เข้าแข่งขันตะโกนด่าเขาก่อนเริ่มดินเนอร์เซอร์วิส ซึ่งแต่ละคนจะต้องไปยืนตำแหน่งส่งจาน นับว่าเป็นภารกิจชี้เป็นชี้ตายว่าพวกเขามีคุณสมบัติเป็นหัวหน้าเชฟหรือไม่ เพราะเชฟคริสตินา วิลสัน ผู้ชนะเลิศในซีซัน 10 ที่กลับมารับหน้าที่เป็นหัวหน้าเชฟของทีมจะคอยส่งอาหารแบบผิดๆ ให้พวกเขาคอยจับผิด การให้ผู้เข้าแข่งขันตะโกนด่าแรมซีย์ จึงไม่ใช่เพื่อสีสันของรายการ แต่เป็นวีธีหนึ่งในการสอนว่า บทบาทการเป็นหัวหน้าเชฟของพวกเขาเริ่มขึ้นแล้ว และการแสดงก็เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับกุมบังเหียนครัวให้เป็นไปอย่างราบรื่น

ตลอดรอบแจ็คเกตดำแรมซีย์เคี่ยวเข็ญเหล่าเชฟเลือดใหม่ที่มีความสามารถเหล่านี้ด้วยท่าทางอ่อนโยนลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะท้ายที่สุดเมื่อถอดแจ็กเกตออก พวกเขายังคงเป็นเพียงวัยรุ่นคนหนึ่ง ต่อให้พยายามเป็นผู้ใหญ่ขนาดไหน ก็ไม่อาจหลบซ่อนความเปราะบางของตัวเองได้ตลอดเวลา 

การร้องไห้จนตาแดงก่ำให้กับความผิดพลาด การเผลอขยับปลายเท้าเวลาพูดโดยไม่รู้ตัว รวมถึงการยิ้มกว้างและหัวเราะอย่างสุดเสียงเวลาได้รับคำชม ความบริสุทธ์ของพวกเขานี่แหละที่อาจทำให้คนดูน้ำตาซึมตามได้เหมือนกัน 

แม้จะขึ้นว่ารายการเรียลลิตี ทว่าอีกแง่หนึ่งนี่เป็นการสัมภาษณ์งานอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะต่อให้มีแขกรับเชิญและคนทั่วไปมาร่วมตัดสิน แต่แรมซีย์เป็นผู้ชี้ขาดเพียงคนเดียว ต่อให้คุณมั่นใจว่าคนนี้เหมาะสมจะเป็นผู้ชนะ อาจไม่ได้หมายความว่าแรมซีย์จะเห็นพ้องต้องกันเสมอไป 

ไม่ว่าบทสรุปของซีซันนี้จะออกมาเป็นเช่นไร รายละเอียดปลีกย่อยของ Hell’s Kitchen: Young Guns อาจทำให้คุณเห็นตัวเองในแบบที่เคยเป็น 

Tags: , , , ,