ฝุ่นยังไม่ทันจะจางจากกระแสของสกุลเงินดิจิทัลในช่วงต้นปี ที่ทำเอาผู้คนแตกตื่นกันกับมูลค่าที่ระเบิดออกมาชนิดที่ไม่มีใครคาดคิด วงการคริปโตที่เล่นกับเงินดิจิทัลก็คึกคักขึ้นแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ช่วยดึงดูดนักลงทุนทั้งหน้าใหม่และมือเก๋าเข้ามาเล่นกันเป็นแถว เอาเป็นว่าจังหวะนี้หลายคนคงต้องได้ยินศัพท์เฉพาะมากมาย และชื่อของสุดยอดสกุลเงินอย่างบิตคอยน์ (Bitcoin) และอีเธอเรียม (Ethereum) กันให้ควั่ก

รากฐานของสกุลเงินดิจิทัลส่วนใหญ่นั้นมาจากเทคโนโลยีที่เราเรียกกันว่า บล็อกเชน (ในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีทางด้านฐานข้อมูลอื่นมาใช้แทนด้วย ขึ้นอยู่กับสกุลเงินและผู้พัฒนา) ซึ่งผมได้อธิบายไปในบทความบล็อกเชนนั่นเอง

แน่นอนว่าเราไม่ได้มาพูดถึงสกุลเงินดิจิทัลกันในบทความนี้ แต่เราจะมาพูดถึง NFT (Non-Fungible Token) ที่ทำให้เกิดพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งที่ฟังดูแล้วน่าแปลกใจมากๆ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา อย่างการที่แจ็ค ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Twitter ได้ออกมาประกาศขายทวีตอันแรกของตัวเองในรูปแบบ NFT, สุดยอดมีมคลาสสิกแห่งศตวรรษที่ 21 อย่าง Nyan Cat ก็สามารถถูกขายออกไปด้วย NFT เช่นกัน หรือวงการค้ายีนตัวการ์ตูนแมวอย่าง Cryptokitties ที่ทำกำไรกันเป็นล่ำเป็นสันผ่านกระบวนการ NFT ส่งผลให้เว็บออนไลน์แนวคอลเลกชันทั้งหลายผุดตามกันมาเป็นดอกเห็ด หลังจากที่เว็บแนวหน้าอย่าง Cryptokitties ได้กรุยทางและเบิกเนตรในวงการ NFT ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า มันเวิร์กและมีคนเอาเงินจริงมาลงในการตลาดที่ฟังเผินๆ แล้วเหมือนจะโคตรไร้สาระนี้จริงๆ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คงจะทำให้คุณผู้อ่านกุมขมับกันเลยใช่ไหมล่ะครับ ว่ามันจะขายของที่จับต้องไม่ได้ในโลกดิจิทัลที่สามารถคัดลอกกันบานเบอะแบบนี้ได้ยังไง ใครนึกไม่ออกขอให้จินตนาการถึงเกมชื่อดังจากค่ายจีนที่ข้อมูลหลุด ถ้าคุณไม่แคร์ stat ในเกม ตัว CG ก็มีปล่อยในโลกอินเทอร์เน็ตให้คุณได้อภิรมย์กับมันอยู่แล้วมิใช่หรือ คุณค่าในโลกแห่งความเป็นจริงกับ Microtransaction (การจ่ายเงินในเกม) จึงมักจะแตกต่างกันมากจนบางครั้งก็เทียบกันไม่ได้เลย หากความต้องการนั้นเปลี่ยนไป

ก่อนที่เราจะเปิดประตูสู่โลกใบใหม่อันแสนจะโกลาหลในนามของ NFT ทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่า ทำไมบล็อกเชนถึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับมันอย่างชัดเจนขนาดนี้

ย้อนไปดูบล็อกเชนกันก่อน

ด้วยความที่บล็อกเชนโดยรากฐานของมันมีความสามารถในการป้องกันการปลอมแปลง และสร้างระบบที่บันทึก Block อันเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมาได้ ซึ่งยากมากๆ ต่อการทำซ้ำ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีกลุ่มคนที่ ‘ประยุกต์’ เอาเทคโนโลยีชนิดนี้มาใช้ควบคุมผลิตภัณฑ์ดิจิทัลต่างๆ ให้มีเอกลักษณ์ในแบบที่ปลอมแปลงไม่ได้เหมือนกัน จินตนาการว่าคุณติด tag ให้สินค้าแล้วไม่มีใครสามารถปลอม tag ที่ว่านี้ในเชิงดิจิทัลได้เลย ซึ่งหมายความว่าถึงจะมีคน copy สินค้าไป paste ก็ไม่มีทางที่จะเอาความเป็น ‘ต้นฉบับหรือสถานะ’ ของสินค้านั้นไปได้ เพราะระบบบล็อกเชนสามารถแยกออกได้เลยว่าแต่ละ block นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร ผ่านกระบวนการคำนวณทางคณิตศาสตร์อันซับซ้อนในรูปของ Proof of work หรือ Proof of stake 

ดังนั้นคุณค่าหรือมูลค่านั้นจึงถูกย้ายมาโฟกัสที่ tag มากกว่าตัวสินค้าเอง เหมือนกับคุณเป็นเจ้าของงานศิลปะในโลกแห่งความเป็นจริง ที่ต้องมีหน่วยงานและองค์กรพร้อมกับทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายมาช่วยกันตรวจสอบให้ชัวร์ว่าไม่ได้ถูกปลอมแปลงขึ้นมา เพื่อการยืนยัน Authenticity และ Ownership หรือความเป็นเจ้าของของชิ้นงานนั้นๆ นั่นเอง แต่ระบบบล็อกเชนทำลายความสามารถในการก๊อปวางของโลกดิจิทัลในมุมมองของความเป็นเจ้าของได้ทันที เพราะในเมื่อ chain ทั้งหมดมันสามารถตรวจสอบตัวเองได้ การก๊อปที่นำเอาต้นฉบับไปไม่ได้ก็หมายความว่า Authenticity ของสินค้านั้นยังอยู่ไม่ต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง ถ้าจะสรุปให้ง่ายขึ้นก็คือระบบสามารถแยกของแท้ที่มีเพียงหนึ่งเดียวออกจากของก๊อปเกรดเอล้านตัวที่ทำซ้ำได้เป็นอนันต์ในเวลาเพียงเสี้ยววินาทีภายในโลกดิจิทัลได้นั่นเอง 

ถ้าคุณเป็นคน ‘เจน’ โลกด้านนี้แล้วล่ะก็ เป็นไปได้ว่าคุณน่าจะมองเห็นช่องทางทำธุรกิจแล้วแน่ๆ เลยใช่ไหมล่ะครับ ทีนี้เราก็พร้อมกันแล้วที่จะไปศึกษา NFT กันแล้วล่ะครับว่ามันต่างจากบล็อกเชนปกติขนาดไหนกันเชียว

อะไรคือ NFT กันแน่

ในโลกเศรษฐศาสตร์และความเป็นจริงของจักรวาลที่เราอาศัยอยู่นั้น ไม่มีสิ่งใดเลยที่ทำซ้ำขึ้นมาได้เหมือนกันแบบเป๊ะๆ ทุกอย่างล้วนแตกต่างกันในระดับที่เล็กที่สุดหรือไม่ก็ด้วยตัวแปรที่เราคุ้นชินกันอย่าง ‘เวลา’ ที่ไม่สามารถย้อนกลับไปได้นั่นเอง นี่ทำให้ของสองสิ่งที่มีมูลค่าเท่ากันไม่ได้หมายความว่ามันเหมือนกันทั้งหมด

เพื่อไม่ให้ชีวิตเรายุ่งยากเกินไป มนุษย์จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับความแตกต่างของสิ่งของส่วนใหญ่ ตราบใดที่มูลค่าที่แลกเปลี่ยนนั้นเท่าเดิม เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ‘Fungible’ ความสามารถในการแลกเปลี่ยนได้ ทดแทนได้นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่นเงินตราอันเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนของเรา ธนบัตรแต่ละใบและเหรียญแต่ละเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นล้วนมีเอกลักษณ์รวมถึงข้อแตกต่างกันทั้งนั้น แถมยังถูกแยกด้วยหมายเลขซีเรียลเพื่อป้องกันการปลอมแปลง แต่มนุษย์เราส่วนใหญ่ก็ไม่ได้แคร์อยู่ดี เพราะอย่างแบงก์พันไทย ไม่ว่าจะใบไหนๆ ก็มีมูลค่าหนึ่งพันบาทเท่าเดิมอยู่ดี เช่นเดียวกับสินค้าทั่วๆ ไปอีกมากมายที่หากมีคุณสมบัติที่ทดแทนกันได้ ‘เอกลักษณ์’ ของสินค้าหรือวัตถุนั้นก็จะไม่ใช่สิ่งที่มีผลกระทบต่อมูลค่าเลยแม้แต่น้อย

แน่นอนว่ามันมีข้อยกเว้น ยกตัวอย่างเช่น ผมมีภาพวาดโมนาลิซาชื่อดังจากฝีแปรงลีโอนาร์โด ดา วินชี ที่เหมือนกันเป๊ะเลยอยู่สองรูปยันระดับอะตอม รูปหนึ่งเป็นของแท้ร้อยล้านเปอร์เซ็น พึ่งดึงออกมาจากผนังพิพิธภัณฑ์ลูฟจากฝรั่งเศสแบบสดๆ ร้อนๆ ส่วนอีกรูปหนึ่งผมใช้กระจกก๊อปปี้ของโดราเอมอนสร้างขึ้นมา ถามว่ามูลค่ามันจะเท่ากันไหม คำตอบคือไม่ (ถ้าคนซื้อไม่โดนหลอกนะ) เพราะคุณค่านั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวสินค้า แต่อยู่ที่ความเป็นมา ประวัติศาสตร์ และเอกลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวและต้นฉบับของสิ่งนั้นนั่นเอง วงการของสะสมไม่ว่าจะเป็นสแตมป์หายาก งานศิลปะ ธนบัตรและเหรียญที่ระลึก (ซึ่งขัดหลักการของเงินทั่วๆ ไปก่อนหน้า), การ์ดและของเล่น รวมไปถึงโมเดลสารพัดสารเพล้วนมีมูลค่ามาจากความ Authentic เป็นหลักทั้งสิ้น เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า Non-Fungible หรือสิ่งที่ทดแทนกันไม่ได้นั่นเองครับ

NFT (Non-Fungible Token) จึงเป็นการนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ผมอธิบายไปข้างต้นมาใช้ในการระบุและสร้างเอกลักษณ์ให้สินค้าในโลกดิจิทัล จนมันไม่สามารถทดแทนกันได้ ทั้งที่สามารถถูกก๊อปแล้วก๊อปอีกไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยการยืนยันเอกลักษณ์นั้นไม่ได้ใช้เพียงแค่เพื่อความปลอดภัยเหมือนสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ (ซึ่งเป็น Fungible ไม่ต่างจากเงินตราทั่วไป) แต่ทำให้สินค้าดิจิทัลไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนก็ตามกลายเป็นของที่แลกเปลี่ยนหรือทดแทนกันไม่ได้ (Non-Fungible) ไปโดยปริยาย โดยผูกติดเอาไว้กับชุดข้อมูล NFT (เป็นการส่งผลให้ราคาสามารถพุ่งปรี๊ดทะลุเพดานไปด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ที่อ้างอิงจากโลกแห่งความเป็นจริงในบางกรณี) ซึ่งถ้าใครยังคิดอยากจะก๊อปข้อมูลของสินค้า NFT ล่ะก็ ไม่เพียงแค่จะต้องเจาะการเข้ารหัส 256 Bits ให้ได้เท่านั้น แต่ต้องปลอมบล็อกเชนทั้งเส้นและรันต่อไปให้ได้ด้วย ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ ยกเว้นว่าคุณจะคุมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ประมวลผลทุกเครื่องในจักรวาลเอาไว้ได้

ในตอนนี้ระบบ NFT ส่วนใหญ่ยังคงใช้สกุลเงิน Ethereum (ETH) เป็นโครงสร้างหลัก โดยเฉพาะในการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าครับ แต่ไม่แน่ว่าถ้าตลาดบูมมากไปกว่านี้ เราอาจจะได้เห็นบล็อกเชนระบบใหม่ๆ ที่ยึดกับระบบสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ สำหรับใช้ร่วม NFT ก็ได้

การประยุกต์ใช้ในปัจจุบันและอนาคต

ในตอนนี้ NFT มักจะถูกเอาไปเชื่อมโยงกับงานศิลปะเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มภาพวาดหรืองานวิดีโอต่างๆ กับในกลุ่มวงการเว็บสะสมต่างๆ (ก็คืออะไรก็ตามที่มันมีความเป็นชิ้นเป็นอันและปรากฎให้เห็นอยู่แล้ว) สำหรับกลุ่มแรกนั้นก็เข้าใจง่าย มันไม่ต่างจากวงการสะสมงานศิลปะและงานคอมมิชชันในโลกแห่งความเป็นจริงซักเท่าไหร่ แค่เพิ่มโมเดล tag เข้าไป แต่สำหรับของสะสมในกลุ่มหลักนั้น จินตนาการเป็นเพียงแค่ข้อจำกัดจริงๆ ว่าผู้สร้างจะสามารถผลิตอะไรที่มีคุณค่าพอจะริเริ่มความต้องการของผู้บริโภคได้ ซึ่งในตอนนี้ถ้าไม่ดึงเอาของที่เราคุ้นชินกันในโลกแห่งความเป็นจริงมาทำเป็น NFT อย่างพวกการ์ดสะสม ก็เห็นจะไม่พ้นกลุ่มงานดิจิทัลแบบสุ่มทั้งหลาย ตัวอย่างที่ชัดๆ เลยคือ Cryptokitties ที่ได้เกริ่นไป

Cryptokitties นั้นเป็นเกมออนไลน์ที่สร้างขึ้นสตูดิโอสัญชาติแคนาดานาม Dapper Labs เพื่อหวังที่จะเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เพื่อเป้าหมายนอกเหนือไปจากด้านการเงิน ซึ่งในที่นี้ก็คือเพื่อความบันเทิงครับ ในตัวเกมนั้นผู้เล่นสามารถที่จะซื้อและขายแมว (Cryptokitties) ซึ่งก็คือ Block หนึ่งหน่วยในระบบบล็อกเชนได้ เพียงแต่แมวแต่ละตัวนั้นสามารถที่จะมีคุณสมบัติและลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันไปได้โดยยึดจากรหัสข้อมูลของ Block นั้น ๆ (แมวแต่ละตัวไม่มีทางเกิดมาซ้ำกัน จึงมีคุณสมบัติ NFT ไปโดยพื้นฐานแล้ว) นอกจากนี้ผู้เล่นยังสามารถผสมพันธุ์แมวของตนเองได้ด้วยเพื่อที่จะสร้างแมวตัวใหม่ที่น่าจะมีลักษณะตามที่หวังไว้จากรหัสข้อมูลของพ่อและแม่แมว ไม่ต่างจากพวกเกม Virtual Pet ทั่วไป เพียงแต่ทุกอย่างเป็น NFT และผูกกับระบบสกุลเงิน EHT ก็เท่านั้น

ในช่วงแรกเกมก็ยังไม่ค่อยบูมมาก แต่พอเริ่มมีการตามล่ายีนแมวหายากขึ้นมาเท่านั้นแหละครับ (ยีนที่ทำให้แมวมีสีหรือลักษณะที่แปลกไปว่าปกติมากๆ) ตัวเกมก็ระเบิดไปด้วยความนิยมอย่างล้นหลามจากนักผสมพันธุ์แมวมือสมัครเล่นที่ตื่นทองกันแบบสุดๆ จนเล่นเอาระบบดำเนินการทางการเงินของ ETH เกือบล่มไปในช่วงปลายปี ค.ศ. 2017

นี่เป็นปรากฏการณ์แรกๆ ที่ผู้คนเริ่มมาลงทุนกันจริงๆ จังๆ กับ NFT และทุกอย่างก็ดูจะเปลี่ยนไปหลังจากนั้นครับ Cryptokitties กลายเป็นเสมือนพื้นที่ประมูลสัตว์หายากไปเป็นที่เรียบร้อย เหมือนที่คนบางกลุ่มตามล่าสัตว์เลี้ยงพันธุ์แท้หรือหายากมากๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง

นอกเหนือไปจากนี้แล้ว NFT ยังถูกนำไปใช้กับวงการเกมได้ด้วย เพื่อที่ผู้พัฒนาจะได้สามารถติดตามข้อมูลของสินทรัพย์ดิจิทัล ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการประยุกต์ใช้ทางด้านความปลอดภัยก็ดูจะเข้าท่าสำหรับ NFT เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม ตรงส่วนนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพเป็นหลักด้วยเช่นกัน

NFT คือเครื่องมือที่เล่นกับสัญชาติญาณของมนุษย์ได้อย่างดีเยี่ยม

*ส่วนนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเป็นหลัก

จะผิดไหม ถ้าผมบอกคุณว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมเขียนมานี้อาจจะไม่มีสาระอยู่เลยก็ได้ เพราะโดยรากฐานของ NFT คือการทำให้สิ่งที่ไม่มีมูลค่า มีมูลค่ามากเกินไปกว่าที่มันจะเป็น? นี่เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่อย่างหนักในเวลานี้ทั้งจากฝั่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน คนทั่วไป และศิลปินหรือดิจิทัลครีเอเตอร์ทั้งหลายที่มีสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์จาก NFT ไปมากที่สุด จากการอัพเกรดคุณค่างานต่างๆ ของพวกเขาให้ ‘ทดแทนกันไม่ได้’ 

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ลองมาดูกรณีตัวอย่างที่ผมจะขอสมมุติขึ้นมาครับ

สมมุติว่าเกมหนึ่งมีระบบสุ่มที่จะให้ไอเทมหายากกับคุณตามเรตต่างๆ ที่มันมี โดยการดรอปนั้นไม่จำกัดจำนวน มูลค่าของไอเทมนั้นก็จะถูกยึดกับระบบการจ่ายเงินในเกมในเกม ซึ่งในที่นี้คือรอบในการสุ่ม (เหมือนเราสุ่มของจากงานทั่วไป แต่ของนั้นหาซื้อไม่ได้นอกเหนือไปจากการสุ่ม) ถ้าผมต้องการไอเทมนั้นมากๆ มูลค่าของมันก็ยังคงไม่ต่างจากเดิม แต่ถ้าผมไม่แคร์ ไอเทมนั้นก็มีโอกาสจะไม่ได้กินเงินจริงผมเลยด้วยซ้ำ

ทีนี้ถ้าเราจำกัดจำนวน ‘ของ’ ขึ้นมาล่ะ แน่นอนว่าไอเทมจะยิ่งหายากมากขึ้นไปอีก ผู้คนจะเริ่มหันมาสนใจเติมเงินเพื่อให้ได้รอบสุ่มมากยิ่งขึ้นในการตามล่าไอเทมมาครอบครองก่อนของจะหมดไป ส่งผลให้ราคานั้นทะยานมากขึ้นไปอีก เกมออนไลน์ชื่อดังหลายเกมที่ใช้ระบบนี้จึงมักจะส่งผลให้เกิดการขายแอ็กเคานต์หรือสิ่งของลิมิเต็ดกันในตลาดออนไลน์แบบคับคั่ง เพราะมูลค่านั้นถูกผูกด้วยความ ‘จำกัด’ และหาใหม่อีกไม่ได้

ในกรณีสุดท้าย นอกจากเราจะจำกัดจำนวนของแล้ว เรายังใช้ระบบ NFT ทำให้ของที่มีจำกัดนี้แตกต่างกันไปอีกในแต่ละชิ้น ไอเทมหายากจึงได้กลายเป็นไอเทมที่มีเพียง ‘ชิ้นเดียว’ ในเกมไปเป็นที่เรียบร้อย นี่จึงเพิ่มมูลค่าของไอเทมจนสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในทางทฤษฎี (เพราะไม่มีทางหาของซ้ำกันแล้ว) ผู้คนจะแก่งแย่งกันเติมเงินเพื่อชิงเอาไอเทมแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และราคาของไอเทมที่ได้จากการสุ่มก็จะถูกขายไปในราคาที่สูงลิบลิ่วไม่ต่างจากการประมูลเลย

แต่อย่างที่ผมได้พูดไปแล้ว ในเมื่อผมไม่แคร์ มันก็ไม่มีค่าอะไรนอกเหนือไปจากโค้ดในคอมพิวเตอร์ที่จับต้องไม่ได้อยู่ดี แต่ความแตกต่างอยู่ที่มีคนต้องการนอกเหนือจากผมยังไงล่ะ นี่คือคีย์สำคัญของ NFT และวงการของหายากหรือของสะสมทั้งหลาย ตราบใดที่มีความต้องการที่จะ ‘ครอบครอง’ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่หาอีกไม่ได้ วงล้อของ NFT ก็จะหมุนต่อไปเรื่อยๆ อยู่ดี นี่เป็นเพราะมนุษย์เรามีสัญชาติญาณของ Gatherer หรือนักเก็บสะสมอยู่ในพันธุกรรมอย่างเด่นชัด เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เรารอดชีวิตและวิวัฒนาการมาได้จนถึงปัจจุบันนี่เอง ทำไมเราถึงเก็บหินหน้าตาประหลาดๆ หรือเลือกที่จะหยิบสิ่งของที่แปลกกว่าชิ้นอื่นๆ มาใช้ล่ะครับ นี่อธิบายถึงความต้องการในจิตใจของมนุษย์ที่ลึกสุดๆ ได้ดีทีเดียว ดังนั้น NFT จึงเป็นเหมือนกุญแจในการเปิดเอาความ Authenticity ของโลกแห่งความเป็นจริงไปไว้ในโลกดิจิทัลได้สำเร็จนั่นเอง ซึ่งในอดีตก่อนยุคบล็อกเชนนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย

โลกใบใหม่ของงานศิลปะดิจิทัลหรือสินค้าออนไลน์ที่ถูกขายไปด้วย NFT จึงมีมูลค่าที่สูงโดยธรรมชาติ ไม่ว่าคุณจะมองว่ามันไร้สาระขนาดไหน แต่ถ้ามีคนซื้อ ‘คุณค่า’ แล้ว วงจรทางเศรษฐศาสตร์ก็พร้อมจะขับเคลื่อนไปอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้อยู่ดี

NFT ในตอนนี้อาจจะยังอยู่ในช่วงพัฒนา ไม่แน่ว่าถ้ามันกลายเป็นมาตรฐานจริงๆ ขึ้นมาเมื่อไหร่ อาชีพหลายอาชีพในโลกดิจิทัลก็มีสิทธิ์ที่จะได้ประโยชน์กันไปแบบเต็มๆ เราอาจจะได้เห็น Banksy และศิลปินอีกหลายคนวางขายงาน NFT ในราคาที่โหดสุดๆ หรือวงการดิจิทัลครีเอเตอร์ที่ได้รายได้จากงานอันเป็นเอกลักษณ์ทั้งหลายที่ปล่อยออกไป ไม่แน่ว่านี่อาจจะเป็นเครื่องมือในการต่อต้านการก๊อปในรูปแบบของทุนนิยมแบบสุดกู่เลยก็ว่าได้เหมือนกัน

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ‘มูลค่า’ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นไม่ได้ถูกตัดสินโดยคุณเพียงคนเดียว

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

บทส่งท้าย

การที่ NFT เริ่มเข้ามาสู่ตลาดกระแสหลักได้นั้นเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ เพราะผมเชื่อว่าโลกอินเทอร์เน็ตและดิจิทัลที่โคตรจะตรงข้ามกับ NFT สุดๆ นั้น เป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าจะเอื้ออำนวยต่อการมีอยู่ของอะไรแบบนี้เลยจริงๆ 

แต่สิ่งหนึ่งที่ NFT นำมาด้วยนอกจากความหวังและการเปิดประตูสู่โลกใบใหม่ ก็เป็นคมดาบอีกด้านหนึ่งที่น่ากังวลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทรัพยากรที่ใช้ในการรันระบบบล็อกเชนอันสุดแสนจะมหาศาลจนกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ใครเป็นสายขุด น่าจะเข้าใจ) การนำไปใช้ในทางที่ผิด ทั้งการฟอกเงินหรือฉ้อโกง ไปจนถึงการถูกโจมตีอย่างหนักว่าเป็นการลงทุนที่เสี่ยงมากและดูจะวิปริตเกินไป ไม่ต่างจากการเผาเงินเล่น

ตัวผมเองคงไม่สามารถให้คำตอบที่แท้จริงในเวลานี้ได้ว่า NFT จะเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกใบนี้ได้ในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งผมว่ามันน่าติดตามมากๆ ถึงความเป็นไปได้ของนวัตกรรมที่ทรงพลังพอสมควรตัวนี้

แต่ที่แน่นอนที่สุดคือมหากาพย์ NFT จะยังดำเนินต่อไปในอนาคตที่ไม่ค่อยจะแน่นอนเท่าไหร่นัก พร้อมด้วยคำถามโลกแตกที่ว่า ‘คุณค่าที่แท้จริงของสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นจะวัดกันได้อย่างไร’

 

อ้างอิง

https://www.theverge.com/22310188/nft-explainer-what-is-blockchain-crypto-art-faq

https://www.youtube.com/watch?v=zpROwouRo_M

https://www.youtube.com/watch?v=x3nmAX3gAlw

https://ethereum.org/en/nft/

https://www.cryptokitties.co/

วิกิพีเดีย

https://en.wikipedia.org/wiki/Non-fungible_token

Tags: , , ,