หากพูดถึงชื่อ ‘วิษณุ เครืองาม’ เชื่อว่าผู้ที่ติดตามการเมืองไทยต้องคุ้นเคยกับนามนี้ เขาเป็นนักกฎหมายที่ถูกตั้งฉายาว่า ‘เนติบริกร’ หรือ ‘กฎหมายเดินได้’ และเป็นที่รู้กันว่าเขาทำหน้าที่เป็นช่างเทคนิคทางกฎหมายให้กับหลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จนไปถึงรัฐบาลทหาร วิษณุ จึงกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทโลดโผนและมีอิทธิพลต่อหลายๆ รัฐบาลที่ต่างเรียกใช้บริการทางกฎหมายของเขา

น่าแปลกตรงที่ว่า การให้เหตุผลทางกฎหมายของเนติบริกร หลายๆ ครั้งกลับไม่สอดคล้องกับสำนึกความเข้าใจของคนในสังคม จนสร้างความงุนงง สับสน และ ‘อิหยังวะ’ บทความชิ้นนี้จึงสนใจศึกษาถึงเนติบริกร ว่ามีความหมายอย่างไร เป็นอาชีพหนึ่งของนักกฎหมายเช่นใด พร้อมกับสำรวจบุคคลที่เป็นต้นแบบของเนติบริกรในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่ามีความเป็นมาอย่างไร จนกลายมาเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลและจำเป็นอย่างยิ่งต่อรัฐบาลทหาร ที่ทำหน้าที่ซักล้างถอดคราบเผด็จการให้เป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม ไปจนถึงการตั้งคำถามว่าทำไมนักกฎหมายจึงกลายเป็น ‘ช่างประปา’ ไปเสียได้

‘เนติบริกร’ อาชีพของ ‘นักกฎหมายไฮเตอร์เซอร์วิส’?

ในช่วงการแนะนำอาชีพนักกฎหมายให้แก่บรรดานักเรียน หรือนักศึกษากฎหมายชั้นปีที่หนึ่ง อาชีพที่มักจะหนีไม่พ้นการถูกแนะนำคือ ทนายความ ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา อาจารย์สอนกฎหมาย นิติกรในหน่วยงานราชการ นายทหารพระธรรมนูญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นอาชีพที่คาดหมายได้ 

แต่ยังมีอีกอาชีพหนึ่งที่มักถูกมองข้าม แต่กลับมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรัฐบาลคือ เนติบริกร อันเป็นฉายาของวิษณุ เครืองาม ที่ถูกตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.​ 2545 ช่วงรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร โดยสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลตั้งให้ด้วยเหตุผลว่าเป็น ‘มือกฎหมาย’ ผู้มีความสามารถเป็นเลิศในการ ‘พลิกแพลง’ ใช้กฎหมายให้รัฐบาลมีความชอบธรรม และได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม1 และนับจากการรัฐประหาร พ.ศ.​ 2549 บทบาทของเนติบริกรนามว่า วิษณุ เครืองาม ก็โดดเด่น และมีอิทธิพลต่อการเมืองไทย จนได้ทำงานเป็นนักกฎหมายประจำรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องจนถึงรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคอยเป็นเครื่องซักล้างโดยใช้เทคนิคทางกฎหมาย รวมไปถึงการให้เหตุผลทางกฎหมาย จนได้รับอีกสามฉายาตามมาว่า ‘ศรีธนญชัยลอดช่อง’ ในปี 2562 ‘ไฮเตอร์ เซอร์วิส’ ในปี 2563 และ ‘เครื่องจักรซักล้าง’ ในปี 25652 

ซึ่งเขาเองมีส่วนต่อการสร้างคำอธิบายทางกฎหมายที่สวนทางกับมติมหาชนหลายเรื่อง ไม่ว่าเป็นการให้เหตุผลเรื่องการไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน กรณีการถือหุ้นของดอน ปรมัตถ์ รวมไปถึงการตีความว่า ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่?3 ซึ่งตัววิษณุ เองได้ให้เหตุผลว่า ‘ลงเรือแป๊ะ’ ที่มาจากสำนวน ‘ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ’ ความหมายคล้ายลงเรือเดียวกัน ว่าไงต้องว่าตามกัน4 

ทั้งนี้ ผู้เขียนได้พยายาม หาความหมายของเนติบริกร ก็พบการนิยามในทางภาษาบาลี ที่กล่าวว่า เนติบริกร อ่านว่า เน-ติ-บอ-ริ-กอน เนติ มีรากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + ติ ปัจจัย : นี + ตี = นีติ แปลตามศัพท์ว่า ข้อบัญญัติเป็นเครื่องบรรลุ และเครื่องนำไปให้บรรลุหมายถึง กฎหมาย กฎ และแบบแผน

 ในทางพจนานุกรรมฉบับราชบัณฑิตยสภาพ พ.ศ. 2554 อธิบายว่า เนติ: (คำนาม) (คำแบบ) นิติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, กฎหมาย, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนำ, อุบายอันดี ส่วนบริ: บาลีอ่านว่า ปริ เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า รอบ, เวียนรอบ, ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด และกร บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ ปัจจัย ดังนั้น กรฺ + อ = การทำ หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบกระทำ หรือ ผู้ทำ หมายถึง ผู้กระทำ ดังนั้น เนติ+บริกร = เนติบริกร แปลตามศัพท์คล้อยตามความประสงค์ว่า ‘ผู้ทำหน้าที่บริการทางกฎหมาย’5  

อีกหนึ่งคำนิยาม เนติบริกร จาก เว็บไซต์ Sanook มีผู้ให้นิยามว่า บุคคลองค์กรหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งซึ่งสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ โดยมีหน้าที่ให้บริการทางกฎหมายแก่บุคคลผู้มีอำนาจ อาชีพเนติบริกรเป็นอาชีพเปิดสำหรับนักกฎหมาย ที่ไม่สนใจเรื่องผิดชอบ ชั่วดี หรือจริยธรรมใดๆ ขอเพียงได้ใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อบรรลุเป้าหมาย หรือผลประโยชน์ของตน6 

แต่เมื่อพิจารณาถึงนิยามของการเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่รัฐบาล โดยเนื้อหาและบทบาทหน้าที่ของเนติบริกร กลับไม่ได้มีความหมายในเชิงลบต่อตัวบุคคลที่ทำหน้าที่แต่อย่างใด เพราะการทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายก็ถือเป็นเรื่องปกติสามัญสำหรับคนที่ทำงานด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะอยู่ในองค์กรของรัฐ หรือเอกชนก็ล้วนแต่มีมือกฎหมายของตนเองทั้งสิ้น 

อย่างไรก็ตาม เนติบริกรตามบริบทสังคมการเมืองของไทยกลับแตกต่างออกไป เพราะประเทศไทยเป็นประเด็นที่มีการัฐประหารมากถึง 13 ครั้ง และเนติบริกรกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญภายใต้ ‘วงจรอุบาทว์’ ทางการเมืองไทย คือเมื่อเกิดความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยและเป็นเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร เนติบริกรก็จะทำหน้าที่เป็นผู้ร่างคำประกาศของคณะรัฐประหาร ทำหน้าที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้แก่คณะรัฐประหาร จนกลายเป็น ‘มือกฎหมาย’ ที่ขาดเสียไม่ได้สำหรับรัฐบาลทหาร เพราะพวกเขาจำเป็นต้องพึ่งนักกฎหมายที่มีทักษะ มีความรู้และเชี่ยวชาญเทคนิคทางกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดของพวกตน เพื่อไม่ให้คณะทหารผู้ทำการรัฐประหารมีความผิดในข้อหากบฏล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ก่อเกิดมือกฎหมายของรัฐบาลอำนาจนิยม 

ย้อนไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2490 ที่เป็นจุดกำเนิด ‘รัฐธรรมนูญใต้ตุ่มแดง’ ผู้ที่ทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางกฎหมายคนแรกให้กับรัฐบาลทหาร คือพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) อดีตอธิบดีกรมอัยการ ที่ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกรัฐสภา ให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในจำนวนสมาชิกทั้งหมด 40 คน โดยทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นสมาชิกวุฒิสภาภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 จากนั้นก็ดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตุลาการรัฐธรรมนูญ อาจารย์กฎหมาย รวมไปถึงกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายต่างๆ 

ในช่วงเวลาต่อมา7 ยังเป็นนักกฎหมายคนสำคัญ เมื่อครั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ได้รับแต่งตั้งจากหัวหน้าคณะปฏิบัติให้เป็นประธานกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.​ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ให้เป็นไปตามนโยบายของคณะปฏิวัติกรรมการร่างกฎหมายที่คณะปฏิวัติ ภายหลังได้มีการรัฐประหารในปีพ.ศ. 2501 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาวางแผนของคณะปฏิวัติ ทำผลงานจนได้เป็นประธานคณะที่ปรึกษากฎหมายของหัวหน้าคณะปฏิวัติ โดยมีผลงานชิ้นโบว์แดง คือ ประกาศคณะปฏิวัติ8 และให้กำเนิดมาตรา 17 ธรรมนูญการปกครอง ที่ให้อำนาจพิเศษและเด็ดขาดแก่หัวหน้าคณะปฏิวัติ9 ซึ่งกลายเป็นแบบอย่างให้กับคณะปฏิวัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน 

มือกฎหมายลำดับต่อมาถูกส่งต่อให้ ศ.ดร.สมภพ โหตระกิตย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยภายหลังการทำรัฐประหาร วันที่ 20 ตุลาคม 2520 คณะปฏิวัติที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งคณะกรรมการเพื่อร่างธรรมนูญการปกครองอาณาจักรไทย พ.ศ.​ 2520 ซึ่งหากสืบย้อนไปตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อครั้ง พ.ศ.​ 2501 จะพบว่า สมภพ โหตระกิตย์ เป็นหนึ่งในที่ปรึกษากฎหมายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จนต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และทำงานในคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐฒมนตรี งานสมาชิกสภานิติบัญญัติ10 จนเข้าสู่วังวนการเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงบทบาทสมาชิกวุฒิสภา ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2511 เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญ 2523 และกลับเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและหน้าที่นิติบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญ 2534 เรียกได้ว่า สมภพ โหตระกิตย์ เป็นผู้ทำหน้าที่มือกฎหมาย และมือร่างรัฐธรรมนูญให้แก่คณะปฏิวัติและรัฐบาลมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี11 

มือกฎหมายคนต่อมา คือ นายมีชัย ฤชุพันธ์ มีประวัติการทำงานร่วมกับ สมภพ โหตระกิตย์ เมื่อครั้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีชัย ฤชุพันธ์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยกองการยกร่างกฎหมายคนแรกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรียกได้ว่าเป็นสายสัมพันธ์แบบ ‘หัวหน้างานและลูกน้อง’

 ทั้งตามหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของสมภพ ยังปรากฏคำเขียนไว้อาลัยของมีชัย ฤชุพันธ์ (และ วิษณุ เครืองาม) เมื่อพิจารณาบทบาทของ มีชัย เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ทำให้เขาได้ทำงานร่วมกับชนชั้นนำไทยและคณะปฏิวัติหลายชุด ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เริ่มมีบทบาทในทางการเมืองและการเป็นที่ปรึกษากฎหมาย จนกระทั่งเข้าสู่รัฐบาลของเสนีย์ ปราโมช (1) รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช และรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช (2) ‘มีชัย’ ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และเป็นมือร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว 7 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2519, 2520, 2521 ธรรมนูญการปกครอง 2534 รัฐธรรมนูญ 253412 จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขาได้ปล่อยไม้เด็ดการสืบทอดอำนาจของ คสช. ไว้ในหลายรูปแบบผ่านกลไกรัฐธรรมนูญเช่นที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน

มือกฎหมายคนปัจจุบันคือ วิษณุ เครืองาม เริ่มรับอาชีพราชการด้วยตำแหน่งอาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ก่อนที่ต่อมาจะดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายหลังได้เข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ภายหลังรัฐประหารในปี พ.ศ.​ 2549 และ พ.ศ. 2557 เขากลับเข้ามามีบทบาทเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับรัฐบาลของคณะรัฐประหารเสมอ ผ่านรูปแบบการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หัวหน้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รวมไปถึงการเป็นเครื่องซักล้างให้กับรัฐบาล 

หากย้อนกลับไปสำรวจอดีตจะพบว่า ในปีพ.ศ. 2534 ที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้รัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.​ 2521 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ‘วิษณุ’ เป็นหนึ่งในบุคคลที่อยู่ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ ‘มีชัย ฤชุพันธ์’ เป็นประธาน ต่อมาในปีพ.ศ. 2549 เกิดการรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เขาเองก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก่อนที่ในปีพ.ศ. 2557 จะได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาของคสช. ให้ดูแลงานด้านกฎหมายยุติธรรม ต่อมาจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทีมร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ​255713 ที่มีการแปลงมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.​ 2502 มาสู่มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช. เป็นอย่างมาก ทั้งบทบาทการเป็นเครื่องซักล้างให้กับรัฐบาลในยุค 3 ป.14 ที่ได้ฝากผลงานชิ้นโบว์แดงไว้มากมาย

หากพิจารณาที่มาของ ‘มือกฎหมาย’ เหล่านี้ จะพบว่าพวกเขาล้วนมาจากฐานนักกฎหมายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอัยการ สำนักคณะกรรมการคณะกฤษฎีกา รวมไปถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กลุ่มมือกฎหมายเหล่านี้ยังเป็นหัวกะทิที่มีความเชี่ยวชาญคุ้นเคยกับการยกร่างพระราชบัญญัติต่างๆ เข้าใจเทคนิคทางภาษาและเทคนิคทางกฎหมายเป็นอย่างดี พวกเขายังเป็นเครือข่ายมือกฎหมายที่มีโอกาสเข้าไปทำงานใกล้ชิดกับการรัฐบาลและคณะรัฐประหารหลายๆ ครั้งอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการส่งต่อวิธีการ พัฒนาเทคนิควิธีการเขียนและการให้เหตุผลทางกฎหมายไปสู่จุดที่สร้างกฎหมายหนุนเสริมอำนาจของคณะรัฐประหาร และขจัดช่องว่างในการเอาผิดกับบุคคลที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ จนขัดต่อหลักการให้เหตุผลทางกฎหมายและสามัญสำนึกของบุคคลในหลายครั้ง แต่สิ่งเหล่านั้นกลับไม่ผิดกฎหมาย 

ทำไมนักกฎหมายถึงกลายเป็น ‘ช่างประปา’ ประจำรัฐบาล ?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยอธิบายถึง การเรียนการสอนของไทยภายหลังปีพ.ศ. 2492 ว่าหดแคบลง เพราะไม่ได้เชื่อมโยงวิชากกฎหมายเข้ากับวิชาอื่นๆ หลักสูตรกฎหมายในทุกวันนี้เป็นลักษณะ ‘กฎหมายเป็นคำสั่งของรัฐ’ ที่นักกฎหมายเองไม่สามารถผูกโยงเข้ารู้เข้าความใจทางกฎหมายกับหลักวิชาอื่นๆ และ ‘ผู้สอนกฎหมาย’ เป็นนักปฏิบัติกฎหมายที่ครอบงำการเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ผู้พิพากษา อัยการ ทนาย จนต่อมาภายหลังอีก 20 ปี จึงได้มีการสร้างนักวิชาการกฎหมายขึ้นมา 

แม้จะมี ‘อาจารย์กฎหมาย’ ขึ้นมาแต่การสอนนิติศาสตร์กลับยังคงการสอนในเรื่องเทคนิคทางกฎหมาย ที่จะสร้างทักษะความชำนาญในทางกฎหมายเพื่อนำไปใช้ในทางปฏิบัติ จนกลายไปเป็น ‘ช่างเทคนิค’ ที่ใช้ความรู้กฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงพลิกแพลง หรือหาช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ของผู้มาใช้บริการ มากเสียกว่าการสร้างนักกฎหมายที่ใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาและเข้าใจบริบททางสังคม รวมไปถึงหลักการของกฎหมายนั้นๆ อย่างแท้จริง 

ผลจากการเรียนการสอนเช่นนี้ จึงทำให้ “กฎหมายกลายเป็นเพียงเรื่องของเทคนิค เมื่อนั้นก็ต้องแคบ เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ และจะผูกพันกับเนติบริกรเป็นธรรมดา ถ้าผมเป็นช่างเก่งในเรื่องเทคนิคเครื่องสูบน้ำ แล้วนายกสั่งให้แก้เครื่องสูบน้ำเป็นเครื่องพ่นน้ำแทน ผมก็ทำได้ เพราะว่าเป็นเรื่องเทคนิคอย่างเดียว แล้วเรื่องเนติบริกรที่เราพบกันดาษดื่นในสังคมไทย มาจากการที่คุณเป็นนักกฎหมายเป็นเพียงแต่เทคนิค เมื่อเป็นเทคนิคคุณจะสูบน้ำก็ได้ พ่นน้ำก็ได้ ได้ทั้งนั้น” 

เพราะหากคุณไปบอกอธิการว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะมันขัดต่อหลักการ เขาก็เพียงแต่ไล่คุณออกและหาคนอื่นทำแทนก็เท่านั้น15 

 

อ้างอิง

Supachat Lebnak, เนติบริกร “วิษณุรัฐ” และประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่, เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562, https://thematter.co/thinkers/state-in-definition-of-lawyer/81653

Thestandardteam, วิษณุ เครืองาม จาก ‘เนติบริกร’ ถึง ‘เครื่องจักรซักล้าง’ยุค 3 ป., เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566, https://thestandard.co/people-in-politics-wissanu-krea-ngam/

3 ThaiPublica, “วิษณุ เครืองาม” จาก “เนติบิกร” สู่ “กฎหมายเดินได้” ของ คสช., เผยแพร่เมื่อ 22 กรกฎาคม 2562, https://thaipublica.org/2019/07/wissanu-krea-ngam-22-7-2562/

4 Thestandardteam, “วิษณุ เครืองาม จาก ‘เนติบริกร’ ถึง ‘เครื่องจักรซักล้าง’ยุค 3 ป.”, เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566, https://thestandard.co/people-in-politics-wissanu-krea-ngam/.

5 ชมรมธรรมธารา, บาลีวันละคำ “เนติบริกร”, สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2023, https://dhamtara.com/?p=7576

6 Sanook, “เนติบริกร”, https://www.sanook.com/dictionary/dict/dict-user/search/เนติบริกร/ 

7 อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์), ม.ป.พ.:-, พ.ศ. 2521, หน้า 51- 64. 

8 อ้างแล้ว, หน้า 79

9 อ้างแล้ว, หน้า 90-92. 

10 อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศ.ดร.สมภพ โหตระกิตย์, อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง : กรุงเทพฯ, พ.ศ. 2540, หน้า 110. 

11 อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศ.ดร.สมภพ โหตระกิตย์, อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง : กรุงเทพฯ, พ.ศ. 2540, หน้า 110-111.

12 ศุภาพิชญ์ ศิริพร ณ ราชสีมา และคณะ, บทบาทและความคิดทางการเมืองของนายมีชัย ฤชุพันธุ์, วารสารรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ปีที่ 5 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2565, https://so04.tci-thaijo.org/index.php/SSRUJPD/article/view/261630/177623. สืบค้นเมื่อ วันที่28 มิถุนายน 2566. 

13 เนชั่นออนไลน์, วิษณุ เครืองาม เนติบริกรมือฉมัง, เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557, https://www.nationtv.tv/news/378416841. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566. 

14 The Standard Team, วิษณุ เครืองาม จาก ‘เนติบริกร’ ถึง ‘เครื่องจักรซักล้าง’ ยุค 3 ป., เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566, https://thestandard.co/people-in-politics-wissanu-krea-ngam/. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566.  

15 นิธิ เอียวศรีวงศ์, “งานวิชาการรำลึก ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ครั้งที่ 11 ‘บุคคลหลายหลากวิพากษ์นักกฎหมาย’”, วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2549 ณ ห้องแอลที 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 11-15. 

Tags: , , , ,