หากย้อนกลับไปราวหลายสิบปีก่อนถ้ามีคนเดินมาบอกว่า ‘เกม’ จะกลายเป็นกีฬาหรืออาชีพที่สร้างเงินได้หลักล้าน คงจะเป็นเรื่องเพ้อฝันเกินบรรยายและคงหนีไม่พ้นเสียงหัวเราะเยาะใส่ตามหลังแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่นั่นคือความจริงด้วยพื้นฐานบริบทของสังคมไทย ณ เวลานั้นทำให้การเกมยังถูกจัดหมวดอยู่ในเรื่อง ‘เล่น’ และมองไม่เห็นถึงลู่ทางว่าจะสามารถสร้างรายได้ด้วยวิธีไหน

แต่วันนี้ทุกอย่างกลับตาลปัตร ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศชั้นนำตัดสินใจหันมาสนับสนุนการเล่นเกมให้เป็นอาชีพอย่างจริงจัง อาทิ ประเทศสหรัฐฯ ที่ผลักดันอุตสาหกรรมอีสปอร์ตจนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจแตะหลักพันล้านดอลลาร์ฯ หรือประเทศญี่ปุ่นที่โรงเรียนอาชีวศึกษา ‘Tokyo School of Anime’ ได้เปิดหลักสูตรอีสปอร์ต เพื่อเน้นการพากย์และการแข่งขันโดยเฉพาะ

ทว่า เมื่อตัดภาพกลับมาประเทศไทยกลับยังคงพายเรือในอ่างกับนิยามคำว่า ‘เด็กติดเกม’ พร้อมถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งทำให้เยาวชนนิยมใช้ความรุนแรงและถูกปิดกั้นไปปริยาย

แม้จะตกอยู่ภายใต้ค่านิยมเช่นนั้น แต่ชายวัยกลางคนนามว่า ‘สันติ โหลทอง’ ยังคงมุ่งมั่นรวบรวมกลุ่มคนผู้มีใจอยากขับเคลื่อนวงการเกมไทยให้ออกจากมุมมืด จนกระทั่งวันที่ 21 กันยายน 2564 ความพยายามดังกล่าวตลอดเกือบ 10 ปี ได้บรรลุผลเมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศรับรองให้อีสปอร์ตเป็น ‘กีฬาอาชีพ’ 

คอลัมน์ The Frame สัปดาห์นี้ มีโอกาสได้สนทนากับ ‘สันติ โหลทอง’ นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ต กับประเด็นความรู้สึกหลังอีสปอร์ตถูกรับรองเป็นกีฬาอาชีพ หลังใช้เวลาล้มลุกคลุกคลานมานาน อนาคตของวงการกีฬาอีสปอร์ตไทยต่อจากนี้ และเรื่องราวความผูกพันของเจ้าตัวกับการเล่นเกมตั้งแต่วัยเยาว์

รู้สึกอย่างไรบ้าง กับวินาทีที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้อีสปอร์ตเป็นหนึ่งในกีฬาอาชีพจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพยายามผลักดันมานานหลายปี

ตามปกติของมนุษย์แล้วคงหนีไม่พ้นอาการดีใจ (หัวเราะ) แต่เราก็เห็นว่ามีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องทำ และมีความยุ่งยากซับซ้อนพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องเอกสารข้อกฎหมายที่รอให้เราไปตีความ จัดการ และศึกษาเพิ่มเติม อีกทั้งเมื่อเป็นสมาคมกีฬาอาชีพแล้ว นั่นหมายความว่าวงการอีสปอร์ตจะเปิดกว้างมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งจากตัวสมาคม ภาคเอกชน หรือตัวสโมสรต่างๆ ที่อยากจะขึ้นทะเบียนเป็นสโมสรอาชีพกับเรา

วันแรกที่สมาคมอีสปอร์ตฯ ถูกก่อตั้งขึ้น คุณเห็นอะไรมาบ้าง

เราเสนอให้ กกท. รับรองอีสปอร์ตเป็นกีฬาอาชีพเมื่อปี 2556 โดยเรายื่นเสนอรับรองไป 2 ฝั่ง 1. กีฬาอาชีพ และ 2. กีฬาเป็นเลิศ ตอนนั้นเราคิดแค่ว่ากีฬาอีสปอร์ตจะต้องเป็นอาชีพ นักกีฬา โค้ช และผู้ตัดสิน จะต้องมีเงินเดือนรับรอง แต่เอาเข้าจริง พอได้ลงมือทำ เรากลับพบว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น ส่วนที่เราวางแผนคิดกันไว้ตอนแรก เป็นเพียงส่วนเล็กนิดเดียว และถ้าอยากยกระดับอีสปอร์ตให้เป็นระบบมากขึ้น จำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาลรวมถึงเวลาวางแผนจัดการที่มากพอ 

ทำไมถึงต้องเสนอรับรองกีฬาอีสปอร์ตเป็น 2 ฝั่ง

อย่างแรกที่เรายื่นไปในฝั่งกีฬาอาชีพ เพราะเราต้องการให้เกิดการทำสัญญาว่าจ้างกับตัวนักกีฬาเพื่อสร้างความมั่นคงและรองรับลีกการแข่งขันระดับ อาชีพที่กำลังเติบโตขึ้นแบบเป็นรูปธรรม จะสัญญาระยะสั้น 1 ปี 2 ปี หรือระยะยาวก็ตามแต่ ซึ่งจะต่างออกไปกับการส่งนักกีฬาไปในนามทีมชาติตามทัวร์นาเมนต์สากลอย่างซีเกมส์ ที่เป็นรูปแบบเฉพาะกิจ

ส่วนที่สอง กีฬาเป็นเลิศหมายถึงการแข่งขันเพื่อชิงถ้วย ชิงเหรียญรางวัล โดยไม่ได้มีเงินรางวัลเป็นเป้าหมายหลักเหมือนระดับอาชีพ เพราะเราต้องการยกระดับนักกีฬาประเภทสมัครเล่น

หากวัดกับประเทศโซนยุโรปหรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างเกาหลี ที่อุตสาหกรรมเกมเติบโตและได้รับความนิยมมาพร้อมๆ กับเรา แต่เพราะอะไรเราถึงตั้งตัวได้ช้ากว่าประเทศเหล่านั้น

ผมว่าวันนี้เราแซงพวกเขาแล้วนะ ถ้าในแง่เรื่องของระเบียบหลักการ ข้อกฏหมาย และกระบวนแผนการนำเสนอ แต่สิ่งที่หลายๆ คนเข้าใจว่าวงการอีสปอร์ตไทยเริ่มต้นได้ช้า เพราะเพิ่งจดทะเบียนรองรับในปีนี้ (2564) ผมว่านั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เราใช้เวลาเริ่มก่อตั้งเพียงแค่ 9 ปี ขณะที่ประเทศไทยยังมีสมาคมกีฬาอีกกว่า 80 สมาคม ที่ยังไม่ถูกจดทะเบียนเป็นกีฬาอาชีพ นี่จึงถือว่าเร็วมากๆ และคุ้มค่ากับที่เราลงแรง ใช้เวลาหลายปีเดินสายอธิบายชี้แจงกับภาครัฐว่าอีสปอร์ตมีค่ามากกว่าการเป็นแค่กีฬา อุตสาหกรรมและสายงานคนทำอาชีพนี้สามารถสร้างมูลค่ามากมายมหาศาลได้ต่อประเทศ รวมถึงต่อยอดสร้างอาชีพในสายงานแขนงอื่นได้อีก เช่น คนออกแบบกราฟิก คนตัดต่อวิดีโอ

แต่ในมุมที่ช้า เราเห็นอยู่ และผมคิดว่าหลายๆ คนก็เห็นเช่นกัน วงการอีสปอร์ตถูกแช่แข็งมานานราว 7-8 ปี กับปัญหา ‘เด็กติดเกม’ ในฐานะผมเองก็เป็นเกมเมอร์คนหนึ่ง ผมไม่โทษปัญหานี้กับใคร นั่นอาจเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ในมุมมองคนภายนอกเขาไม่แฮปปี้เท่าไรนัก เลยกลายเป็นว่าเกมตกเป็นจำเลยของปัญหาไป ขณะเดียวกันก็ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อมั่นในตัวเอง และสามารถออกไปสร้างชื่อเสียงถึงระดับโลก

ฉะนั้นเมื่ออีสปอร์ตถูกรองรับเป็นกีฬาอาชีพตามเป้าหมายได้สำเร็จ ผมเลยขอความร่วมมือกับน้องๆ ในวงการว่าให้หยุดเกรียน หยุดบ้าระห่ำ มีระเบียบ เล่นเกมให้พอดี ใช้ความสามารถของคุณให้มีประโยชน์จะเป็นนักแข่ง สตรีมเมอร์ โค้ช อะไรก็ได้ เพราะเมื่อไรที่คุณเล่นเกมเก่งแต่ไม่มีราย นั่นหมายความว่าคุณมาผิดทางแล้ว 

แสดงว่าคุณก็ต้องกลับไปทำความเข้าใจในธรรมชาติของเด็กที่เล่นเกมให้มากขึ้น

เราเข้าใจด้วยตัวเราเองอยู่แล้ว ผมเองก็เคยเป็นเกมเมอร์ และเกมเมอร์ทุกคนล้วนมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว ฉะนั้น เมื่อไรที่เราเห็นเด็กเล่นเกมมีปัญหา เราจะเข้าใจเขาได้ทันที ยกตัวอย่าง ผมเคยเจอปัญหามีเด็กมาร้องเรียนว่าถูกผู้ดูแลเกมขโมยไอเทม เพราะเขาไปเล่นในเซิร์ฟเวอร์เถื่อน แน่นอนว่าเขาไม่สามารถหาวิธีไปเจอตัวคนทำได้ด้วยตัวเอง เด็กคนนั้นก็ร้องไห้อาละวาด แต่ผมไม่ห้าม เพราะนั่นคือบทเรียนของเขา ขออย่างเดียว อย่าทำลายคีย์บอร์ด อย่าทำลายคอมพิวเตอร์ อย่าทำลายของใช้ในชีวิตจริง

เอาเข้าจริง การเล่นเกมแล้วแสดงออกว่าคุณกำลังโกรธหรือหงุดหงิดออกมายามผิดหวัง ถือเป็นเรื่องเบสิกทางอารมณ์มากๆ เลยนะ คุณเคยเห็นนักกีฬากอล์ฟขว้างหัวไม้ลงพื้นเวลาตีพลาดไหม ช็อตนั้นช็อตเดียวที่พลาด มันมีมูลค่ามากมายมหาศาลสำหรับเขา แต่ถ้าคนที่ไม่เข้าใจเขาจะนึกทันทีเลยว่าคนๆ นั้นเป็นคนก้าวร้าว 

ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรให้คนภายนอกมองเห็นว่าอีสปอร์ตคืออาชีพจริงๆ

อย่างน้อยที่สุดข้อแรกหาเงินจากการเล่นเกมมาเลี้ยงครอบครัวให้ได้บ้าง ข้อสองอย่าตายคาคอมพิวเตอร์ แม้อาชีพนักกีฬาอีสปอร์ตต้องซ้อมจริงจัง ต้องมอนิเตอร์วางแผนการเล่น แต่ถ้าคุณไม่กินข้าว ไม่พักนิ้ว ไม่ออกกำลังกายเลย คุณจะตายเอาเสียก่อน

ช่วงที่เข้าไปยื่นเอกสารเพื่อจดทะเบียนรับรองสมาคมกับ กกท. ยากขนาดไหน

ยากมาก เขาไม่สน และเขามองว่าการเล่นเกมมีแต่ปัญหาเชิงลบ เราเลยเเย้งเขาไปว่าถ้าคุณไม่ทำสุดท้ายปัญหาเชิงลบตรงนั้นก็ยังคงอยู่นะ สู้กระโดดเข้าไปในแกนกลางของปัญหา แล้วไปปรับแผนชี้นำคนในวงการเกมยังดีกว่า เพราะถ้าคุณไม่รองรับสมาคม เด็กที่ไหนจะมาฟังผม เขาต้องมองผมเป็นตาลุงธรรมดาคนนึงแน่ๆ แต่พอมาวันนี้ผมได้เป็นนายกสมาคมฯ ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะไปชี้นิ้วสั่งใคร เวลาผมไปเดินสายบรรยาย ผมไม่เคยไปบังคับความเข้าใจของนักเรียน นักศึกษา หรือแม้แต่ครู ผมใช้วิธีเสนอแนะเขาว่าเกมแอกทิวิตี้ต่างๆ ที่คุณสนใจ กับสิ่งที่คุณกำลังศึกษาในห้องเรียนเอามาผสมผสานกันได้อย่างไรแล้วอนาคตคุณจะต่อยอดกลายเป็นบุคลากร เป็นผู้ผลิต ในวงการอีสปอร์ตที่มีความสามารถ

เปรียบได้ว่าสมาคมฯ พยายามเป็นศูนย์รวมยึดเหนี่ยวคนในวงการอีสปอร์ตทั้งประเทศ

เราเปรียบตัวเองเป็นโน้ตดนตรีตัวหนึ่ง ส่วนคนในวงการเกมคนอื่นจะเป็นเครื่องดนตรีชนิดไหนก็เป็นไป เพราะถ้าจะให้ผมลงไปเป็นเครื่องดนตรี ไปยุ่งกับทุกๆ คนในวงการเกม มันเหนื่อยเกินไป ผมไม่แคร์ว่าบริษัทเอกชนหรือกระทรวงไหนจะลงมายุ่งเรื่องอีสปอร์ตแล้วได้รับการยกย่องเกินหน้า สิ่งที่ผมตั้งใจตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ คือทำยังไงก็ได้ให้คนระดับรัฐมนตรี คนระดับนายกฯ ขึ้นเวทีระดับประเทศแล้วพูดยอมรับวงการอีสปอร์ต

 คุณน่าจะเคยได้ยินข่าวที่รองนายกฯ พูดว่ามีงบทำอีสปอร์ต 4,000 ล้านบาท เอาเข้าจริงเขาพูดผิดนะ เงิน 4,000 ล้าน คืองบกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติต่อปี ส่วนอีสปอร์ตมีงบให้ 4 แสน ถึงแม้งบส่งนักกีฬาแข่งทัวร์นาเมนต์ระดับชาติจะมีเป็นล้าน แต่เงินตรงนั้นสมาคมฯ ไม่ได้นะ นักกีฬาต่างหากเป็นคนได้ ที่เห็นเป็นรูปเป็นร่างตอนนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นงบที่สมาคมฯ หามาเอง

หลายคนน่าจะอยากทราบว่าทำไมคุณถึงอยากเข้ามาดูแลวงการอีสปอร์ตไทย เพราะเอาเข้าจริง การเข้ามาทำคุณเองก็แทบไม่ได้รายได้จากตรงนั้นเลย

ผมได้เงินมาจากวงการเกมเยอะอยู่นะ อย่างตึกที่นั่งอยู่นี้เอาเข้าจริงต้องตั้งชื่อว่าตึกแร็กนาร็อกด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เพราะผมขายหนังสือคู่มือเกมแร็กนาร็อกจนมีเงินมาซื้อที่สร้างตึก รวมถึงทำงานอีกหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับเกมจนหล่อเลี้ยงให้ผมมีรายได้ ทีนี้ผมเลยฉุกคิดเป้าหมายใหม่ขึ้นมาว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้เกมเมอร์ทั้งประเทศสามารถหารายได้จากการเล่นเกมได้แบบเรา จะทำไงให้เขาได้โอกาส ได้เล่นเกมโดยที่ไม่ถูกกดดัน ไม่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดีหรือเป็นแค่เด็กติดเกม โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬาอย่างเดียวก็ได้ 

ก่อนหน้านั้นคุณทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์มาก่อน

ใช่ ผมเปิดบริษัทชื่อว่า Compgamer ผลิตนิตยสารเกม จุดเริ่มต้นมาจากสมัยก่อนผมรับงานมีเดีย งานโฆษณา พอตกค่ำผมก็มานั่งเล่นเกมฟุตบอล Winning Eleven 4 กับเพื่อน ซึ่งมันก็ต้องมีการวางแผนฟอร์แมตการเล่น ผมกับเพื่อนก็เริ่มเขียนฟอร์แมตที่ว่าใส่กระดาษแปะข้างฝาจนเต็มไปหมด และด้วยความซน เลยเอาฟอร์แมตที่เขียนๆ ไปพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ เอาการ์ดแคปเจอร์เซฟรูปภาพในเกม จัดอาร์ตรูปเล่ม แล้วลองตีพิมพ์เป็นคู่มือกะขายให้ได้สักหมื่นเล่ม แต่ปรากฏคนนิยมจนต้องรีปรินต์ใหม่ไปหนึ่งแสนห้าหมื่นเล่ม ผมเลยคนพบว่านี่เป็นสิ่งที่เราอยากจะทำมาโดยตลอด สุดท้ายเลยตัดสินใจวางมือจากงานโฆษณาแล้วมาทำกองบรรณาธิการนิตยสารเกม

แล้วคุณกับการเล่นเกมในวัยเด็กล่ะ

ในวัยเด็กผมเติบโตมากับครอบครัวที่มีฐานะลำบากพอสมควร ด้วยความที่เราไม่มีเงินซื้อของเล่น เราก็เลยประดิษฐ์ประดอยเกมกระดานทำจากไม้อัดขนาด 4 คูณ 4 ฟุต สร้างแผนที่ทะเล ดีไซน์ตัวละคร มีรถถัง เครื่องบิน ทหาร แล้วชวนพี่น้องมาเล่นกันทุกวันหลังเลิกเรียน ด้วยความที่เราเป็นน้องเล็กสุดก็เห็นพี่ๆ โกงกัน ทะเลาะกันบ้าง (ยิ้ม) กระทั่งโตขึ้นมาหน่อยก็จะมีพวกตู้เกมไฟฟ้าหยอดเหรียญ ภาพไม่ได้เวอร์วังอลังการ แต่สำหรับตอนนั้นมันมีความสุขมากๆ โดยเฉพาะเมื่อเราเล่นทำลายสถิติแล้วมีคนมาหยุดยืนดูเรามันเหมือนได้รับการยอมรับ วันหนึ่งผมเลยไปขอแม่ว่าผมจะเก็บเงินซื้อไอ้ตู้เกมเกมนี้มาเก็บไว้ในบ้าน แกก็สวนผมเลยว่าไม่ได้ เงินจะกินข้าวยังแทบจะไม่มี แต่แกก็ไม่ได้บังคับห้ามผมเล่นนะแกก็ให้เหรียญมาวันละ 50 สตางค์ เล่นยังไงก็ได้ให้คุ้มที่สุด อาจจะเพราะเราช่วยงานที่บ้านและผลการเรียนไม่ได้มีอะไรน่าเป็นห่วงด้วยก็เลยไม่ถูกห้ามปราม

ตอนสมาคมฯ ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เคยคิดอยากจะเลิกทำแล้วกลับไปดูแลกิจการบริษัทสยามสปอร์ตของครอบครัวไหม

ผมทำงานกับพี่ชาย (ระวิ โหลทอง) มาจนถึงอายุ 25 กระทั่งจุดหนึ่งผมรู้ว่างานโรงพิมพ์ งานบรรณาธิการ มันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการผมเลยลาออกมาทำสิ่งที่เราต้องการ พ่อผมสอนมาเสมอว่าให้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ถึงแม้ช่วงที่สมาคมฯ ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เราจะคิดเสมอว่าพอเเล้ว เหนื่อยแล้ว มันมีความยากดักรอมาเซอร์ไพรส์เราตลอดทุกนาที แต่เพื่อนๆ คณะกรรมการในสมาคมฯ เขาก็สนับสนุนให้เราทำต่ออุตส่าห์กัดฟันศึกษามาถึงขนาดนี้แล้ว ถ้าเอานักธุรกิจ เอานักการเมืองมาทำ มันก็จะไม่ตรงกับเจตนาที่เราตั้งเป้าไว้ตอนแรก สุดท้ายเราก็เทหมดหน้าตักแล้วเดินหน้าต่อมาถึงจุดนี้

มองยังไงว่ากับประเด็นที่ว่า ‘เกม’ คือ ช่องว่างของความต่างระหว่างวัย

ถ้าใครมองอย่างนั้นจริงถือว่าคุณความคิดแคบนะ เกมไม่ได้มีแค่คนวัยเด็กและวัยรุ่นอย่างเดียวที่จะเล่นได้ คนแก่เองก็มีหัวใจ (หัวเราะ) ถ้าคุณไม่ได้แก่กะโหลกกะลา เล่นเกมเก่งจริง ในมุมของการบริหารจัดการคุณสามารถเอาประสบการณ์ไปทำอาชีพเป็นโค้ชหรือเป็นนัก System Analyst ก็ได้

สุดท้ายแผนของสมาคมอีสปอร์ตฯ ในเร็ววันนี้ คืออะไร

สิ่งที่สมาคมจะทำในเร็ววันนี้ คือจัดกิจกรรมแนะแนวทางให้ครูอาจารย์ทั่วประเทศเข้าใจถึงความหมายของอาชีพอีสปอร์ต และทำให้เข้าใจว่าบทบาทอาชีพอีสปอร์ตต้องมีอะไรบ้าง เพราะอีสปอร์ตไม่ใช่แค่การเอนเตอร์เทนเมนต์อย่างเดียว หากเด็กอยากจะเข้าสู่สายอาชีพนี้ ต้องชี้นำให้เขาไปเรียนที่ไหน เรียนสาขาอะไร ให้เขาเข้าใจตั้งแต่ระดับมัธยมต้น นั่นเป็นการหล่อหลอมเปิดโอกาสและอนาคตให้แก่เด็กรุ่นใหม่ที่อยากจะทำสายงานอาชีพอีสปอร์ตในอนาคต

Fact Box

  • สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Esports Federation (TESF) ถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2556 พร้อมกับเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์อีสปอร์ตนานาชาติในปีเดียวกัน โดย ณ เวลานั้นยังไม่ได้ถูกรับรองให้เป็นสมาคมกีฬาอาชีพ จากการกีฬาแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด ทำให้ต้องใช้ชื่อกลุ่มว่า ‘สมาคมไทยอีสปอร์ต’ ก่อนภายหลังจะใช้เวลาเกือบ 10 ปี เพื่อยื่นเรื่องนำเสนอกับทางภาครัฐให้อนุมัติรับรองอีสปอร์ตเป็นหนึ่งในกีฬาอาชีพ จนเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 จะมีมติจากที่ประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ให้อีสปอร์ตถือเป็นหนึ่งชนิดกีฬาอาชีพ ที่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมกีฬาในประเทศไทยได้ และเมื่อได้รับการรับรองจากราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 21 กันยายน 2564 จึงได้เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น ‘สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย’ ตามที่เห็นเช่นทุกวันนี้ 
  • หน้าที่ของสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากการเป็นองค์กรที่มีหน้าที่เฟ้นหาตัวแทนและดูแลนักกีฬาตามแต่ละทัวร์นาเมนต์การแข่งขันแล้ว ยังมีอีกหลายหน้าที่สำคัญ อาทิ ส่งเสริมกีฬาอีสปอร์ตให้มีมาตรฐานสู่สากล เสริมสร้างศักยภาพนักกีฬาสู่ความเป็นเลิศ และมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการแข่งขันทัวนาเมนต์กีฬาอีสปอร์ตภายในประเทศ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน โดยทั้งหมดนี้จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
Tags: , , , ,