“ไม่เอาน่ะ แก่” ชายสวมเสื้อเชิ้ตสีน้ำเงิน หยีตามุ่นหน้า เมื่อลองทำท่าจับแว่นตามคำขอของช่างภาพ เหมือนจะดุแต่แล้วก็ตามด้วยรอยยิ้ม

เท่าที่ตามองเห็น ห้องทำงานของ รศ. รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์สาขาวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดูจะเต็มไปด้วยความรู้และความรัก โปสต์การ์ดและรูปภาพจากบรรดาลูกศิษย์แปะเรียงไปตามผนังห้อง หนึ่งในนั้นเป็นภาพตัดต่อนักศึกษาแก๊งสาวๆ ในร่างพาวเวอร์พัฟเกิร์ลทั้งสาม และใบหน้าของอาจารย์

ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ เขาผ่านงานนักข่าวหนังสือพิมพ์ เป็นอดีตอนุกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่สภาฯ เพิ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2540 คอยตัดสินความผิดของสื่อหนังสือพิมพ์ตามคำร้องเรียน และเป็นอดีตที่ปรึกษาชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม กระทั่งในปัจจุบัน อยู่ในคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อความคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) โดยเป็นผู้ดูแลประเด็นเกี่ยวกับสื่อและโทรคมนาคมโดยเฉพาะ

แม้ว่าจะไม่อยากดูแก่ แต่ระยะเกือบสามทศวรรษในแวดวงสื่อมวลชน ทั้งในฐานะนักข่าวและนักวิชาการ ก็บ่งบอกประสบการณ์ที่ยาวนานและมีเรื่องเล่า

ล่าสุด อาจารย์รุจน์ทำงานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของแหล่งข่าวที่ถูกสื่อมวลชนละเมิดสิทธิ์” ชวนมองลึกลงไปไกลกว่าหน้าจอโทรทัศน์ หน้าหนังสือพิมพ์ หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ ว่ากว่าจะได้แต่ละข่าวเด็ดข่าวดังหรือข่าวขยี้หัวใจ เนื้อหาต่างๆ ต้องแลกมากับความเจ็บปวดของคนในข่าวหรือไม่

“แหล่งข่าว 12 คน ทุกคนเขาชีช้ำกันหมดเลย ผมรู้สึกว่า นอกจากเอาผลงานวิจัยไปขึ้นหิ้ง ก็คงต้องช่วยกันกระจายเสียงหน่อย เพื่อให้คนเห็นว่าสื่อเองต้องมี ‘เส้น’ [กติกา] ระดับหนึ่ง อย่าไปล้ำเส้นเขา”

ไม่เพียงแค่เรื่องการละเมิดเหล่านี้ แต่หลายๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ‘จรรยาบรรณสื่อ’ คือสิ่งที่อาจารย์คิดว่าสื่อต้องเร่งหาทางควบคุมกันเองให้ได้ ก่อนที่ประชาชนจะหมดหวัง

“มันเป็นหน้าที่ที่ต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปวงการด้วยกัน ถ้าไม่ร่วมกัน หน่วยงานรัฐเขามาแน่ๆ”

 

สี่ปีกับงานข่าวที่ไทยรัฐ

เมื่อจบจากคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์รุจน์ก็เริ่มต้นทำงานที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐในปี พ.ศ. 2532 ในระยะเวลาสี่ปีนั้น เขาได้ร่วมในทีมข่าวที่ทำซีรีส์ข่าว ‘ป่าดงใหญ่…ใครทำลาย’ ที่ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมอิศรา อมันตกุล ปี 2534 จากสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)

 

ตอนเริ่มทำงานเป็นนักข่าว เจอกับความท้าทายอะไรบ้าง

ถ้าจะมีก็คือ เราจบใหม่ๆ สนใจเรื่องข่าวหนัก พวก hard news ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ที่นั่นเป็นสไตล์ soft news พวกข่าวผีสางเทวดา ข่าวหวย ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวดารา ซึ่งเราก็รู้สึกว่า เอ้! มันจะมีประโยชน์หรือ ก็เป็นเรื่องท้าทายตัวเองว่า สุดท้ายแล้วเราจะทำข่าวที่ดูเป็นน้ำตาลเคลือบที่ว่านี้ยังไงให้พอจะมีไส้ข้างใน ก็ต้องฉกฉวยเอา คล้ายๆ กับว่า ทำ soft news ก็ได้นะ แต่ขอไปสัมภาษณ์นักวิชาการ หรือเอ็นจีโอเพิ่มว่า กรณีแบบนี้เรา ‘อ่าน’ ได้ว่าอะไร เราวิเคราะห์ได้ว่าอะไร แถมๆ ตอนท้ายข่าวไป ก็เป็นชาเลนจ์ เพราะว่าเคมีไม่ค่อยตรงกัน นโยบายเขาแบบหนึ่ง แต่ว่าหน้าที่เราก็อีกอย่างหนึ่ง

ส่วนมากมันเป็นข่าวต่อเนื่อง เช่นบ้านนี้ผูกคอตายทั้งบ้านบนขื่อ ข่าววันต่อมาก็คือ เอ๊ ทำไมเขาฆ่าตัวตาย อีกสามวันถัดมา เฮี้ยน ชาวบ้านเริ่มได้ยินเสียงร้องโหยหวน เนี่ย เขาก็สั่งว่าให้ไปทำข่าวซิ ว่ามันเฮี้ยนจริงหรือเปล่า (หัวเราะ) ไม่คิดเลยว่าชีวิตต้องทำข่าวแบบนี้ แต่ข่าวแบบนี้มันเป็นฟอร์แมตมาเลยน่ะ

หรือว่าชาเลนจ์อีกอย่างที่เจอ ก็เป็นเรื่องคน ‘ขอข่าว’ หมายถึงพวกผู้มีผลประโยชน์ทั้งหลายที่เราไปเปิดโปง เขาจะขอข่าวเข้ามา ว่าอย่าลงนะ ไม่ได้ขอเรา ขอหัวหน้าเราว่าอย่าลง ซึ่งตรงนั้นไม่ใช่หน้าที่เรา มันพ้นหน้าที่เราตั้งแต่ส่งข่าวแล้วเขาเอาไปจัดการต่อ เรามาเจออีกทีก็ตอนตีพิมพ์เช้าวันรุ่งขึ้น ถึงจะเห็นเองว่าได้ลงหรือเปล่า หรือลงมาแบบไหน

ซึ่งนิสัยผมก็ไม่ล้วงนะ เขาจะให้ลงไม่ลงยังไง ตัดตรงไหน เป็นธุระของ บ.ก. ผมไม่เจ๊าะแจ๊ะ ผมทำเต็มที่ของผม

ในสี่ปีนั้นเก็บเกี่ยวอะไรมาได้บ้าง หรือมีผลงานอะไรที่ภูมิใจ

นานมากแล้ว รู้จักเรื่องยาเอพีซี (APC) ไหม มันเป็นสูตรยาแก้ปวด มีสูตร A-แอสไพริน P-พาราเซตามอล C-คาเฟอีน สามอย่างนี้รวมกันในเม็ดเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนจำนวนมากกินไปเรื่อยๆ เลิกไม่ได้ เพราะว่ามันมี C คาเฟอีนอยู่ เขาใส่มาเพื่อให้เราติด เม็ดนึงมันถูกมาก แต่กินกันเยอะ ผลเสียคือกระเพาะทะลุเพราะตัวแอสไพริน

ตอนนั้นรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน (พ.ศ. 2534) ซึ่งเป็นรัฐบาลหลังจากคุณชาติชาย (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) โดนรัฐประหาร มีคุณหมออรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข แกก็บอกว่าแกอ่านตัวเลขแล้วเห็นปัญหาว่า ชาวนาไทยกระเพาะทะลุตายเพราะกิน APC เพราะฉะนั้นต้องเอา A และ C ออกให้เหลือ P ตัวเดียว ตอนนั้นแรงต้านเยอะมากจากบริษัทยาทั้งหลาย ไม่ใช่แค่ยี่ห้อเดียวนะ ด้วยความที่ผมชอบไปเที่ยวแถวกระทรวงสาธารณสุข คุณหมออรรถสิทธิ์ก็บอกว่า มา มาช่วยกัน ดันๆๆ จากข้างใน แกก็โดนแรงต้านทานส่วนแก ผมก็โดนแรงต้านทานส่วนผม

แม้ว่าผู้ประกอบการธุรกิจยาจะวิ่งเต้นที่ผู้บริหารและกอง บ.ก.ไทยรัฐ เพื่อให้ยุติการนำเสนอข่าว แต่ในที่สุดแล้วซีรีส์ข่าวเรื่องนี้ก็ได้นำเสนออยู่ดีนะครับ และยาแก้ปวดสูตรผสมก็กลายมาเป็นยาเดี่ยวเท่านั้น คือ A หรือ P

อีกเรื่องคือเรื่องพระประจักษ์ (พระประจักษ์ ธัมมปทีโป) แกเข้าไปดูแลรักษาป่าดงใหญ่ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ว่าแกไปอยู่ในเขตป่าสงวน ไปสร้างกุฏิและวัดเล็กๆ รณรงค์กับชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษาป่า ก็ไปขัดผลประโยชน์กับคนตัดไม้ จากพระที่ดูแลป่า ก็กลายเป็นพระที่ตัดไม้

แกเข้าไปในป่าแล้วเจอไม้โดนตัด แกก็ไปยืน แล้วมีคนถ่ายรูปมาเผยแพร่ว่า “นี่ไง พระประจักษ์ตัดไม้” (หัวเราะ) ใครตัดก็ไม่รู้ แต่แกไปยืนอยู่ตรงนั้นพอดี ฝ่ายกรมป่าไม้ ทหาร ก็ร่วมกับนายทุน โจมตีพระรูปนี้

ช่วงนั้นทำงานเป็นทีม ฝั่งผมทำงานสายพระ ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านว่าเรื่องมันเป็นยังไง อีกทีมก็ไปเกาะกับฝ่ายราชการ สู้กันไปสู้กันมา สุดท้ายพระก็ได้อยู่ในป่าต่อไป

เวลาเข้าไปทำประเด็นอะไรสักอย่างที่ยังไม่รู้ข้อเท็จจริงชัดๆ ว่าใครผิด จะกำหนดวิธีการเล่าเรื่องอย่างไรว่าต้องเริ่มต้นตรงไหน

ถ้าหมายถึงกรณีนี้โดยเฉพาะ มันเกิดจากว่า ชุมนุมอนุรักษ์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมตัวกัน และส่งเสียงมาว่า เฮ่ย พระโดนรังแก แต่อีกส่วนก็คือผมต้องกระโดดเข้าไปดูว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ดูรอบด้านทั้งหมด ก็เจอว่ามันเป็นอย่างนักศึกษาเขาว่า และจริงๆ แล้ว พระเข้าไปเปลี่ยนใจชาวบ้านจากการเป็นพรานตัดไม้ให้มาดูแลรักษาป่าด้วยซ้ำ แต่ดันไปขัดผลประโยชน์ เพราะมันมีคนรอจะงาบป่าผืนนี้อยู่

แต่เวลาทำข่าว เราต่างแบ่งทีมทำงานสองข้าง เพราะเราเองคงวิ่งไม่ไหว เราต้องไปฝังตัวอยู่ที่บุรีรัมย์ ไปอยู่ในป่ากับพระ ส่วนคนที่จะสัมภาษณ์กระทรวงเกษตรฯ กับป่าไม้ก็ต้องเป็นทีมที่อยู่ในกรุงเทพฯ แล้วส่งข่าวไปที่ออฟฟิศ ให้เขารีไรต์ข่าวไป ใช้วิธีนี้ครับ แต่สองฝั่งไม่ได้เกลียดกันนะ ก็เพื่อนกันนี่แหละ แค่เอาข่าวและข้อเท็จจริงที่เจอมาสู้กันไปเรื่อยๆ

นี่คือข่าวสองชิ้นใหญ่ๆ ส่วนที่เหลือพวกเรื่องผีสางนางไม้ เป็นเรื่องกล้ำกลืนทำ แต่ต้องแลกกัน หากอยากอยู่กับหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ซึ่งสร้างผลกระทบสูง ถ้าหัวหน้าสั่งให้ไปทำข่าวแบบนี้ก็ต้องทำ แต่อาจจะเติมสาระเพิ่มเข้าไปให้มันดูมีเนื้อมีหนังบ้าง

งานวิจัย เปิดแผลการละเมิดของสื่อไทย

  • สื่อถ่ายทอดสดขณะ วันชัย ดนัยตโมนุท อาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กำลังใช้ปืนจ่อศีรษะ หลังจากก่อคดียิงอาจารย์ร่วมสถาบันเสียชีวิตสองคน เผยแพร่ทั้งทางโทรทัศน์และเฟซบุ๊กถึงสี่ช่อง ติดต่อกันหลายชั่วโมง จนเกิดเสียงปืนหนึ่งนัด ซึ่งเป็นการจบชีวิตของวันชัย
  • สื่อหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ นำเสนอว่า ไผ่-ดาวดิน (ซึ่งขณะนั้นถูกคุมตัวในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์) หลบหนีการเกณฑ์ทหารมาหลายปี และไม่เคยไปผ่อนผัน แต่ความจริงแล้วไผ่เรียน ร.ด. มาครบสามปีและมีหลักฐานการผ่านหลักสูตร

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากกลุ่มตัวอย่าง 4 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มบุคคลทั่วไป และ กลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงกลุ่มละ 3 คน รวมเป็น 12 กรณี ที่อาจารย์รุจน์ได้เข้าไปสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาทั้งรูปแบบและผลกระทบจากการละเมิดของสื่อเป็นระยะเวลาหนึ่งปี จนออกมาเป็นงานวิจัยชิ้นดังกล่าว

 

ตอนนั้นมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้อาจารย์ตัดสินใจทำเรื่องนี้

ที่ผมเห็นเองกับตาคือเรื่อง ปอ-ทฤษฎี แต่อีกอันที่ผมไม่เห็น แต่ได้ยินเขาเล่ากันเยอะ ก็คือเรื่อง ดร.วันชัย เข้าไปดูย้อนหลัง โห มันเยอะจริงๆ อาจจะเป็นสองเรื่องสำคัญที่ผมว่าคิดว่าคนจะนึกออก

หลังๆ มันเยอะขึ้น อาจเป็นเพราะสื่อพยายามจะแข่งขันกันให้มาก จะต้องประชิดตัวอาจารย์วันชัยให้ได้ ประชิดศพพี่ปอให้ได้ อะไรแบบนี้ เพื่อที่จะ ‘ได้มาก’ กว่าคนอื่นเขา ผมเดาว่าอาจเป็นเรื่องการดึงเรตติงผู้ชม ซึ่งเราจะอยากดูศพไปทำไม​

มีการเลือกประเด็นอย่างไร

มันเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ เพราะฉะนั้น เราจะเซ็ตวิธีวิจัยไว้ระดับหนึ่ง แล้วก็ค่อยๆ เก็บและปรับไป จนกลายเป็น 4 กลุ่ม

จริงๆ กลุ่มที่สนใจเป็นพิเศษคือกลุ่มผู้ป่วยครับ เพราะเห็นพวกกลุ่มผู้ป่วยทั้งหลายได้รับความเดือดร้อนเยอะ หมายถึงพวกที่ได้รับการรักษาผิดพลาดแล้วต้องมาร้องเรียน หรือน้องผู้หญิงที่ต้องทำแท้ง หรือคนที่ติดเชื้อเอชไอวี แต่กลายเป็นว่าเอาเข้าจริงแล้วคนกลุ่มนี้ ทำวิจัยได้ยากมาก เพราะเข้าไม่ถึงตัว ไม่ค่อยมีใครอยากพูด

แม้ว่าทางผู้วิจัยจะบอกว่า จะไม่เปิดเผยเอกลักษณ์

ตอนติดต่อ ทุกคนรู้กันหมดว่าสามารถปกปิดเอกลักษณ์ได้ ผมมีผู้ช่วยภาคสนามคนหนึ่ง ช่วยประสานงาน ผมก็ถามเขาว่ามันยุ่งขนาดไหนหรือ เขาบอกว่ายากมากๆ

ตอนแรกผมนึกว่าจดหมายราชการนี่ไม่จำเป็น ใช้วิธียกหู ไลน์ หรืออีเมลเอาก็คงตกลงกันได้ แต่ผู้ช่วยฯ บอกว่า อาจารย์ จดหมายที่มีตราครุฑนี่ช่วยเยอะเลย สันนิษฐานว่าเขาคงโดนมาเยอะ เขาโดนละเมิดโดยสื่อมาระดับหนึ่งแล้ว ก็เลยรู้สึกว่า จะไว้ใจใครได้อีกไหมเนี่ย คนนี้จะมาหลอกเขาอีกทีหนึ่งหรือเปล่า ถ้ามีตราครุฑในจดหมายและมีลายเซ็นอาจารย์ก็คงจะน่าเชื่อถือ

การถ่ายทอดสดที่ละเมิดคนในข่าว กรณีเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีเทคโนโลยีไลฟ์ทางเฟซบุ๊กหรือเปล่า

(นิ่งคิดนาน) อื้ม เป็นไปได้ๆ เพราะว่าสมัยก่อน ถ้าเรานึกถึงทีวีถ่ายทอดสด ต้องมีรถโอบี มีกล้องตัวหนึ่งเป็นอย่างน้อย มีทีมสนาม แต่ทุกวันนี้มีมือถืออันเดียวมันก็ไลฟ์ได้ ผมว่าก็เป็นไปได้

คำถามสำคัญคือว่า มันด่วนขนาดต้องไลฟ์กันเชียวหรือ สุดท้ายแล้วแหล่งข่าวที่เป็นญาติของอาจารย์วันชัยเขาก็พูดชัดเจน คล้ายๆ กับว่า เขาเชื่อว่าอาจารย์วันชัยมี ‘ทางออก’ อยู่แล้วในเรื่องนี้ แต่ว่าการที่ไปรุมแบบนี้มันกดดันเขา ทำให้ทางออกนั้นมันมาเร็วขึ้น

ประเด็นของผมก็คือว่า เทคโนโลยีมันก็เรื่องหนึ่ง แต่เราต้องตั้งคำถามกลับมาว่า มันสำคัญขนาดนั้นเชียวหรือ ที่ต้องถ่ายทอดสด และไม่นึกหรือว่า การถ่ายทอดสดเป็นปัจจัยหนึ่งที่เข้าไปกดดันอาจารย์วันชัย

ญาติยังบอกว่าพอเสียงปืนดังขึ้น แทนที่ทุกคนจะถอย กลับวิ่งกรูเข้าไปประชิดเพื่อจะได้ภาพนั้นให้ได้ มันก็เป็นการเข้าไปขัดขวางการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่

การเข้าไปเพื่อให้ได้ภาพนั้นมา ในทางสื่อสารมวลชนมันมีคุณค่าตรงไหน หรือเป็นไปเพื่ออะไร

ถ้าเกิดว่าไปอ่านคอมเมนต์ที่ขึ้นมาตรงไลฟ์ จะเห็นนะว่ามีคนสนใจจ้องดู อยากดูจริงๆ ในทางนิเทศศาสตร์อธิบายว่าอะไรนะ มันอาจจะเป็นเรื่อง ‘ความไม่แน่นอน’ ซึ่งเป็นเสน่ห์แบบหนึ่ง เช่น กรณีหวย 30 ล้านนี้จะเป็นของใคร (ข่าวหวย) ความไม่แน่นอนเป็นความน่าสนใจที่ดึงดูดคนได้ กรณีนี้ก็คือ จะยิงไหม ถ้าจะยิง จะยิงเมื่อไหร่ ยิงแล้วตายไหม มันก็เลยกลายเป็นธรรมดาที่คนเขาจะสนใจ เพียงแต่ต้องมาถามกับทั้งคนดูและสื่อมวลชนว่า ถึงขนาดที่ต้องดูเชียวหรือ

เคสอาจารย์วันชัย วันที่ไปรับศพ ญาติตกลงกับนักข่าวเป็นกติกาไว้แล้วว่าขอไม่ทำข่าว เพราะต้องการความเป็นส่วนตัวจริงๆ เนื่องจากบอบช้ำมาตั้งแต่อาจารย์วันชัยไปฆ่าคนอื่นและยิงตัวตายแบบถ่ายทอดสด ปรากฏว่านักข่าวก็ยังไปรุมกันที่นิติเวชตอนที่ศพออกมา

ความไม่แน่นอนเป็นความน่าสนใจที่ดึงดูดคนได้ กรณีนี้ก็คือ จะยิงไหม ถ้าจะยิง จะยิงเมื่อไหร่ ยิงแล้วตายไหม แต่ต้องมาถามกับทั้งคนดูและสื่อมวลชนว่า ถึงขนาดที่ต้องดูเชียวหรือ

และด้วยความที่ชุลมุนมาก เขาเล่าว่า มีนักข่าวส่งกระดาษมาให้ญาติคนหนึ่ง ช่วยเขียนให้หน่อยว่าคนที่มารับศพชื่ออะไรบ้าง ปรากฏว่าทางญาติคนนั้นตัดสินใจเขียนให้แล้วส่งกระดาษกลับคืน คนที่อยู่ในกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยของผมไม่พอใจ ก็เลยกระชากกระดาษกลับมาจากมือนักข่าว ซึ่งนักข่าวก็พูดว่า “คุณบอกดีๆ ก็ได้นี่ ต้องมากระชากแบบนี้เลย” แหล่งข่าวคนนี้ก็เลยบอกว่า “มันไม่โอเคตั้งแต่ถ่ายทอดสดแล้ว”

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักข่าวบอกทีมงานข้างหลังว่าให้ตัดเสียงออกด้วยนะ เสียงที่ว่า “มันไม่โอเคตั้งแต่ถ่ายทอดสดแล้ว” ข่าวที่ออกมาวันนั้นก็เลยกลายเป็นว่าญาติไม่พอใจที่ไปทำข่าวงานศพ แต่จริงๆ แล้วความไม่พอใจทั้งหมดมันเริ่มตั้งแต่การถ่ายทอดสด

แหล่งข่าวคนนี้สุดท้ายก็ถูกทักตลอดเวลา เพราะออกสื่อ จนต้องไปตัดผม ปลอมตัว เพราะว่าไม่ไหวแล้ว มีแต่คนมาถามว่า เป็นญาติอาจารย์วันชัยหรือเปล่า ทำไมอาจารย์วันชัยถึงไปฆ่าเขา ฯลฯ แกก็บอกว่า แกจะตอบว่าอะไร แกไม่รู้

ประเด็นเรื่องไผ่หนีเกณฑ์ทหาร นักข่าวไปได้ข่าวมาจากไหน ทำไมถึงผิดเพี้ยนไปขนาดนั้น

ไม่รู้ว่าตกลงแล้วเรื่องราวจริงๆ เป็นอย่างไร เอาเป็นว่าประเด็นของเราคือ ทีวีที่เอาข่าวมาอ่าน หรือหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวเรื่องนี้ มันอยู่ในวิสัยที่คุณตรวจสอบได้ไม่ยากเลย แค่โทรหาสัสดีหรือโทรหาพ่อแม่ไผ่ ซึ่งก็รู้กันอยู่แล้วว่าพ่อแม่ไผ่คือใคร คนในวงการข่าวก็ถือว่าไม่อยู่ในภาวะเหนือบ่ากว่าแรงที่จะหาว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ไม่เหมือนกับกรณีหวย 30 ล้าน

เพราะถ้าไผ่ทำถูกกฎหมายก็ไม่เป็นข่าว?

อันนี้มันก็เป็น basic reporting คือทำไม่ได้ ต่อให้ไผ่หนีทหารจริงๆ ต้องให้เขาออกมาอธิบายว่าหนีเพราะอะไร สื่อไม่มีสิทธิลงข่าวเขาข้างเดียวแบบนี้

คุณแม่พริ้ม (พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของไผ่) ก็บอกว่า เขาเสียหายนะ จากข่าวเล็กๆ ชิ้นนี้ที่ทีวีช่องอื่นอ่านซ้ำ ปรากฏว่าคุณแม่โดนถามตลอดว่า เอ้า ไผ่ไม่ได้เรียน ร.ด.หรอกหรือ และประเมินว่ามันน่าจะมีผลกับภาพลักษณ์ของครอบครัวด้วย เพราะคุณแม่-คุณพ่อของไผ่เป็นทนาย ถ้าคนเข้าใจว่าลูกยังทำผิดกฎหมายเลย มันก็เป็นเรื่องที่เสื่อมเสียชื่อเสียง

อันหนึ่งที่คุณแม่เห็นว่าเป็นปัญหาคือ ไม่มีใครขอโทษเลย ช่องเพียงแค่ขึ้นข้อเท็จจริงเล็กๆ เป็นบาร์อยู่บนทีวี ขณะที่หนังสือพิมพ์ไม่ทำอะไรเลย

 

  • เฟิร์ส-ศรัณรัชต์ วัย 20 ปี ถูกตำรวจควบคุมตัวเป็นผู้ต้องหาใช้สารเสพติดมอมเมาเด็กหญิงวัย 8 ปี ใบหน้าของเขาฉายขึ้นจอโทรทัศน์ช่องหนึ่ง พร้อมพาดหัว ‘รวบโจ๋ข้างบ้าน ขืนใจเด็ก 8 ขวบบังคับมอมยาบ้าช็อกดับ -เจ้าตัวยังปากแข็ง’ ภายหลังพบว่าผู้กระทำผิดไม่ใช่เขา แต่เป็นพ่อของเด็กหญิงเอ
อย่างกรณีพาดหัวข่าวแบบนี้ อาจจะเป็นการใส่ ‘น้ำเสียง’ ลงไปเพื่อให้ข่าวดูน่าสนใจ แต่ใส่น้ำเสียงมากขนาดไหนที่จะถือเป็นการล้ำเส้นไปตัดสินคนในข่าว

ผมสัมภาษณ์นักวิชาการ คือ อาจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ คณะนิเทศฯ จุฬาฯ และ รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น สองคนนี้ให้ข้อเสนอแนะดีมากครับว่า เวลาจะทำเรื่องผู้ต้องสงสัย เอาให้ชัดนะว่าคือ ‘ผู้ต้องสงสัย’ หรือ ‘ผู้ต้องหา’ หรือ ‘จำเลย’ หรือ ‘นักโทษ’ สี่คำนี้มันไม่เหมือนกันนะครับ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะเสนอข่าวคนที่อยู่ในสี่ประเภทนี้ เอาให้ชัดว่าคุณคนนี้ที่เราเห็นในข่าว เขาอยู่ในสเตจไหน แต่เท่าที่เราเห็นอยู่อย่างนี้ (ชี้พาดหัวของภาพประกอบในงานวิจัย) อ่านยังไงก็ได้ความว่า เฟิร์สผิดแล้วน่ะ

เวลาจะทำเรื่องผู้ต้องสงสัย เอาให้ชัดนะว่าคือ ‘ผู้ต้องสงสัย’ หรือ ‘ผู้ต้องหา’ หรือ ‘จำเลย’ หรือ ‘นักโทษ’

ดูตัวอย่างนี้ ‘รวบโจ๋ข้างบ้าน’ โจ๋นี่ก็เหมารวมไปหนึ่งอย่างแล้วนะ ‘ขืนใจเด็กแปดขวบ’ ขืนหรือเปล่าก็ไม่รู้ ‘บังคับมอมยาบ้า’ ซึ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่ข้อเท็จจริง และ ‘ยังปากแข็ง’

ถ้าเป็นอาจารย์ ต้องเขียนพาดหัวข่าวนี้ จะเขียนยังไงให้น่าสนใจ

…อื้ม (มองกระดาษ หยุดคิด) เขาคือผู้ต้องหา ถ้าพูดตรงๆ คือ “ให้ผู้ต้องหาขึ้นแถลงข่าว เจ้าตัวไม่รับสารภาพ” ให้ตัวข้อเท็จจริงหรือ fact มันไปกับเนื้อหา อย่าไปล้ำเส้นไปกว่านั้น

แต่ในกองบรรณาธิการหรือโต๊ะข่าว อาจจะบอกว่า เขียนอย่างนี้ไม่มีสีสัน น่าเบื่อจังเลย

ใช่ ผมเห็นด้วยจริงๆ แต่แล้วใครเป็นคนจ่ายค่าเสียหายอันนี้ คงไม่ใช่คนที่สนุกหรอก คนที่สนุกทั้งหลายคุณได้มีส่วนร่วมกับเขาหรือเปล่า

ผลจากเรื่องนี้ก็คือ เดือดร้อนกันทั้งครอบครัว พ่อลาออกจากงาน กู้หนี้ยืมสินเพื่อมาสู้คดีให้ลูก กะจะฟ้องทั้งตำรวจและสื่อมวลชนที่ทำให้ลูกเขาเสื่อมเสียชื่อเสียง สุดท้ายก็ป่วยตาย ถามว่าอย่างนี้ คุณรับผิดชอบกันยังไง

 

  • นักข่าวชายสองคน แอบอ้างกับผู้ป่วยติดเชื้อซิกาว่าเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อขอสัมภาษณ์และถ่ายรูปเธอกับลูกวัยสามเดือน พร้อมกับให้ทำหน้าเศร้า แล้วนำไปเผยแพร่
การเข้าถึงแหล่งข่าวที่เป็นการปลอมตัว อย่างกรณีคนไข้ซิกา ในวงการข่าวมีการปลอมตัวเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลแบบนี้เยอะไหม

(เงียบอยู่นาน) มีสองแบบนะ อย่างกรณีในงานวิจัยคือ คุณโกหกแหล่งข่าวว่าคุณคือใคร กับอีกแบบคือมันเทากว่า คือไม่บอกเลยว่าเราคือใคร เพราะถ้าบอกว่าเราเป็นนักข่าว สังคมอาจจะเสียประโยชน์ตรงที่เราเข้าไปไม่ถึงข้อเท็จจริง เช่น เราไปคุยกับคนที่ทุจริต หรือมีส่วนรู้เห็นกับการทุจริต ถ้าบอกว่า “ผมเป็นนักข่าวนะครับ” จบ ไม่ได้ข่าว แต่ถ้าทำเนียนๆ เป็นใครก็ไม่รู้ ไปนั่งคุย อันนี้ผมเคยเห็น และก็ได้ข่าวมาด้วย

แต่หลักการก็คือ ‘ไม่บอกไม่ได้’ ต้องบอกว่าเราคือใคร แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักเอาระหว่างประโยชน์สาธารณะของการไม่บอกกับการบอก อะไรมากกว่า แต่กรณีนี้ (คนไข้ซิกา) สาธารณะได้ประโยชน์จากคุณตรงไหน

เขาอาจจะอ้างได้ว่า เพื่อสร้างความตระหนักว่ามีโรคระบาดอยู่

มันทำด้วยวิธีอื่นก็ได้ เช่นใช้วิธีบอกบริเวณ ว่าอยู่ในอำเภอนี้ ตำบลนี้ มีจำนวนกี่คนแล้ว

ที่ผมเจออีกกรณีคือ มีผู้ป่วยซิกาอีกคน คราวนี้ข้อมูลของเขาถูกเปิดเผยด้วยเทศบาล ซึ่งน่าประหลาดใจมาก เทศบาลนี้ออกประกาศแปะไว้ข้างฝาสำนักงานว่า หมู่บ้านเรามีคนชื่อนี้ บ้านเลขที่นี้ ติดเชื้อซิกา และได้เริ่มมาตรการทางการควบคุมโรคแล้ว จึงแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน คำถามคือว่า ทำทำไม? เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับงานวิจัยแล้วนะ แต่ด้วยความที่อยากรู้ก็เลยติดต่อถามไปว่าเขาทำไปทำไม เขาบอกว่าเป็นวิธีปฏิบัติทางราชการ ไม่อย่างนั้นเขาเบิกค่าใช้จ่ายในการทำงานควบคุมโรคไม่ได้ ซึ่งผมคิดว่าเขาตีความผิด

สรุปคือ ราชการซึ่งควรจะเป็นผู้ดำรงรักษาสิทธิประโยชน์ของประชาชน ดั๊น – ละเมิดเสียเอง

 

  • ชายพิการถูกวัยรุ่นรุมทำร้ายจนเสียชีวิต สื่อมวลชนสัมภาษณ์ลูกชายของผู้ตายซึ่งอายุ 12 ปี และ 9 ปี หลายต่อหลายครั้ง รวมมากกว่า 10 แห่ง ทั้งยังเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ซึ่งผู้เป็นแม่มองว่าทำให้เด็กเศร้าซึม และฝ่ายคู่กรณีเป็นผู้มีอิทธิพลจึงน่ากังวลความปลอดภัย
การที่สนับสนุนให้แหล่งข่าวรู้จักสิทธิของตัวเอง ที่จะปฏิเสธไม่ให้ข่าวหรือไม่ให้เปิดเผยตัวตน มันจะไม่ทำให้นักข่าวรู้สึกว่าทำงานยากขึ้นหรือ

ก็ควรจะทำงานยากนะ งานข่าวก็ควรยากไม่ใช่หรือ ผมรู้สึกว่า คนควรจะรู้ว่าการปฏิสัมพันธ์กับนักข่าวมีกติกาได้ เรากำหนดกติการ่วมกันได้ว่าควรจะทำหรือไม่ทำอะไร โอเค ผมเห็นด้วยว่างานสื่อจะยากขึ้น แต่งานสื่อก็ต้องเข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้ให้ข่าวด้วย ในงานวิจัยเจอว่า น้องเขาเบื่อมาก ถึงขั้นพูดว่า อยากจะไปฆ่าคนที่ฆ่าพ่อจังเลย จนแม่เขารู้สึกว่า “เอ๊ะ ทำไมฉันปล่อยให้ลูกฉันถูกนักข่าวสัมภาษณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนลูกเริ่มไม่สบาย” พอแม่ไม่รู้ นักข่าวก็ไม่ระวัง กลายเป็นว่าเด็กคนหนึ่งเกิดวิธีคิดแบบนี้ขึ้นมา

จาก 12 กรณีในงานวิจัยชิ้นนี้ อาจารย์ว่ากรณีไหนหนักสุด

เฟิร์ส เคสอื่นอาจจะทำให้บอบช้ำทางจิตใจ หรือทำให้เสียเวลา แต่ของเฟิร์สนี่ พ่อเขาตาย อาจไม่ใช่ผลลัพธ์ตรงแหน่วขนาดนั้น แต่พ่อเขาไม่พอใจตำรวจที่จับลูกเป็นแพะ ตั้งใจจะฟ้องตำรวจและฟ้องสื่อมวลชนที่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งไปตัดสินลูกเขา กู้หนี้ยืมสินมาจ้างทนาย คิดมาก คิดตลอดเวลา เคยถึงขั้นจะฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ฆ่าตัวตาย เพราะป่วยตาย ซึ่งอันนี้ก็เศร้าใจ

แค่ขอโทษหรือแก้ข่าวให้หน่อยก็ยังดี แต่ไม่มีเลย ช่องโทรทัศน์ที่มีปัญหานี้มาเยียวยาตอนหลัง เอาเงินมาให้ หลังจากที่คดีมันพลิกไปแล้ว

ผมถามเฟิร์สว่า โอเคไหม แต่เขาก็บอกว่า ไม่เกี่ยว  ชดเชยก็ส่วนชดเชย แต่ถ้าให้ดี คือไม่ล้ำเส้นตั้งแต่ต้น ซึ่งหลายคนพูดแบบนี้

 

สื่อควบคุมกันเอง เป็นไปได้หรือแค่ฝัน?

จากกรณีการละเมิดของสื่อ สู่เรื่องจรรยาบรรณของสื่อ ที่ดูเหมือนจะไม่มีใครคุมใครได้อย่างจริงๆ จังๆ แต่อาจารย์รุจน์มองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ก่อนที่มือที่สามอย่างรัฐจะยื่นมา ‘ช่วยคุม’ และตีกรอบการนำเสนอ จนสื่อไม่มีเสรีภาพ

“เราคุมกันเองอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2540 คือตั้งแต่มีสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในปีนั้นเรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่คนมีส่วนร่วมสูงมาก เสรีภาพกำลังเบ่งบาน ทุกคนก็เรียกร้องว่าทุกส่วนในประเทศต้องปฏิรูป ทั้งภาคส่วนราชการ การเมือง สื่อมวลชน เราก็เลยต้องทำสภาฯ ขึ้นมา เพราะถูกกดดันว่าทุกส่วนเขาเปลี่ยนกันหมดแล้ว”

แต่หลังจากนั้น น้อยคนนักจะรู้จักสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หรือไม่ก็แทบไม่รู้ว่า หากมีเรื่องเดือดร้อนจากสื่อแล้วจะต้องไปพึ่งพาที่ไหนนอกจากหน่วยงานของรัฐ

ในฐานะที่อยู่กับแวดวงสื่อมานาน อาจารย์มองว่าการละเมิดของสื่อนี้มีมากขึ้นหรือน้อยลง

มันละเมิดตั้งแต่สมัยผมทำงานแล้วนะ อย่างการเต้าข่าวหรือคลิกเบต แต่ผมรู้สึกเองว่า มันเยอะขึ้น ข่าวล่อลวงหรือ fake news มันเยอะขึ้นอย่างชัดเจนจริงๆ

ถ้าให้สันนิษฐานก็คือว่าเงินโฆษณามันมีอยู่ก้อนเดียวเท่าเดิม คือหนึ่งแสนล้านบาท แต่สื่อหรือเพจทั้งหลายเพิ่มปริมาณมากขึ้น เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรคุณถึงจะได้แชร์เงินก้อนนี้ ก็ต้องทำวิธีที่ดึงดูดคนส่วนมากให้ได้มากที่สุด หนึ่งในนั้นคงเป็นการถ่ายทอดสดภาพศพ ดารา คลิกเบต ฯลฯ

แล้วการนำเสนอข่าวลักษณะนี้ หรือข่าวหวย ถือเป็นการมอมเมาสังคมไหม

(นั่งก้มหน้าคิดนาน) ผมว่ามันสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระดับหนึ่ง พอสื่อเสนอข่าวหวย ก็มีคนสนใจเรื่องหวยแล้วก็ติดตาม แต่มันจะมีคนจำนวนหนึ่งที่เขาก็ไม่ได้สนใจนะ เขารู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตเขา เขาก็ไปทำหรือไปอ่านอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ

ประเด็นคือว่าทำอย่างไรให้คนที่สนใจเรื่องหวยได้มีตัวเลือกอื่นให้หันไปสนใจได้บ้าง เพราะใน 100 คน อาจจะมีคนสนใจเรื่องหวยสัก 70 คน ถ้าไม่ดูเรื่องหวย เรามีอะไรให้เขาดูไหม แล้วมีสื่อที่ ‘กล้า’ ที่จะไม่นำเสนอเรื่องหวยไหม

มันไม่ได้สัมพันธ์กันแบบตรงไปตรงมา แต่ว่าสัมพันธ์กันระดับหนึ่ง เพราะ 30 คนที่ไม่ดูเรื่องหวย ต่อให้มีเรื่องนี้ทุกช่องเขาก็ไม่ดูอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าสื่อบอกอะไรแล้วเขาจะเชื่อหมด ขณะเดียวกันคนจำนวนหนึ่งก็มีความสัมพันธ์กับสื่ออย่างแนบแน่น พูดเรื่องหวยมา ก็ตามเรื่องหวยไปด้วย ก็มีอยู่

คำถามคือว่า ความสัมพันธ์แนบแน่นนี้ ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาไปทางอื่น ซึ่งอันนี้ต้องช่วยกันครับ อาจจะพูดง่าย แต่ว่านักข่าวก็ต้องทำตัวให้เห็นว่ามันมีข่าวเรื่องอื่นน่าสนใจกว่าหวย 30 ล้านนะ มันมีไหม และกล้าทำไหม

ทำข่าวอื่นแล้วมันคงไม่ติดเทรนด์

เข้าใจเลยอันนี้ โคตรเข้าใจ แต่ว่าสังคมเรา หรือวงการสื่อ วงการโฆษณา มีวิธีคิดอื่นอีกไหมนอกจากเรื่องเทรนด์ เช่นเรื่องประโยชน์สาธารณะ…พูดเรื่องเดิมอีกแล้ว (ยิ้ม) หรือเราไม่ต้องสนใจว่าหน้าตาศพจะเป็นยังไง ได้ไหม หรือไม่ต้องรู้เร็วได้ไหม ขอช้าอีกนิดแต่ถูกต้องได้ไหม เราก็เจอบ่อยๆ ว่า พอผิดปุ๊บ ดึงออกมา อ้าว แล้วที่มันก็อปไปแล้วหรือแชร์ไปแล้ว ทำยังไง

โดยหลักการคือ สื่อต้องฉีกตัวเอง ยอมแลกเพื่อให้ตลาดเติบโต (mature) กว่านี้ ขณะเดียวกันตลาดก็ต้องโตเร็วๆ ด้วย ไม่ต้องดูคนฆ่าตัวตายก็ได้ ไม่ต้องบอกว่าเฟิร์สปากแข็งก็ได้ ไม่ต้องแชร์แล้วก็ด่ากันกระหน่ำแบบนี้ แต่เรื่องแบบนี้เราเร่งไม่ได้ มันเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของทั้งสังคม ว่าเราควรจะเติบโตไปทิศทางไหน

สิ่งที่ทำวันนี้คือ เรามาคุยกัน แชร์ไอเดียกันว่าเราควรจะทำอย่างไร บทสนทนาแบบนี้มันควรจะเกิดเรื่อยๆ แล้วก็ทำให้สังคมมันเอ๊ะ แล้วก็โตให้เร็วขึ้นอีกหน่อย ถ้าโตช้า คนแบบกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยนี้มันจะลำบาก

เวลาสื่อมวลชนทำงาน สื่ออาจจะคิดว่าเขาทำเพื่อนำเสนอสิ่งที่มวลชนกำลังรอดู เขาก็จะขยายกรอบคำว่า ‘ประโยชน์สาธารณะ’ ได้กว้างมาก

เอาเข้าจริงๆ เส้นแบ่งที่ว่านี้ สมาคมนักข่าว หรือสภาหนังสือพิมพ์ หรือสภาวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ก็ยังไม่ชัดนะว่ามันคืออะไร ทุกวันนี้ก็ยังเถียงกันอยู่ ก็เถียงกันต่อไป และขอให้เถียงกันให้ดังๆ ขอให้คนอื่นเข้ามาร่วมในวงเถียงนี้ด้วย กรุณาอย่าเถียงกันแบบงุบงิบๆ ในสมาคมฯ เถียงกันว่าอะไรที่สังคมไทยรับได้ อะไรที่ยังขอพักไว้ก่อน หรืออะไรที่ไม่ได้เลย

งานวิจัยนี้อาจจะทำให้คนรู้สึกว่าอาจารย์กำลังทำลายความน่าเชื่อถือของวงการสื่อ แล้วเรียกอำนาจรัฐเข้ามา

ไม่ได้มีเป้าประสงค์แบบนั้นครับ มีเป้าประสงค์ว่า เฮ้ย เห็นปัญหาไหม ช่วยกันแก้ไหม และถ้าเกิดสื่อสถาบัน หรือสภาวิชาชีพช่วยกันแก้ เครดิตมันก็จะดีขึ้น ได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น ประชาชนก็มาอยู่ข้างคุณมากขึ้น รัฐก็ไม่กล้าเข้ามายุ่งกับคุณมากไปกว่านี้

แต่ทุกวันนี้ เครดิตสื่อลดน้อยลงทุกทีๆ สุดท้ายแล้วพอมีปัญหาปุ๊บ รัฐก็เข้ามาจัดการ ประชาชนก็เฮ…เอากับรัฐด้วย

ในบรรดานักวิชาการสองคนที่ผมสัมภาษณ์ ไม่มีใครเห็นด้วยเลยว่าให้รัฐเข้ามาเอี่ยว เพราะว่าถ้าเข้ามาเอี่ยว มันจะกลายเป็นการใช้อำนาจรัฐเข้ามาคุม ซึ่งตรงนี้สุ่มเสี่ยงมากต่อการถูกแทรกแซงเสรีภาพในการทำงาน

เพราะรัฐคงจะไม่ได้เข้ามาดูแลแค่เรื่องจริยธรรมสื่อ

คือดูจริยธรรมนั่นแหละ แต่หลักการคือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ง่ายๆ ถ้าตอนนี้เราตรวจสอบศรีวราห์ (พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล) แล้วปรากฏว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอมาเป็นบอร์ดสักคน แม้ว่าจะเป็นเสียงเดียว แต่ก็ถือว่าเป็น conflict of interest แบบหนึ่ง มันเป็นโอกาสในการเข้ามาแทรกแซงเสรีภาพในการทำงานได้ แล้วจู่ๆ มีสักคนบอกว่า เฮ้ย นี่กำลังผิดจรรยาบรรณหรือเปล่า มันก็พากันไป ทีนี้สุดท้ายอาจจะมีคำสั่งว่า สิ่งที่ทำอยู่นี้ไม่ถูกต้อง

ประเด็นที่วงการหนังสือพิมพ์ไทยสู้มาตลอดก็คือ ขอควบคุมกันเอง และขอให้อำนาจรัฐไปอยู่ห่างๆ จะเข้ามาก็ต่อเมื่อทำผิดกฎหมาย เช่น หมิ่นประมาท หรือ พ.ร.บ. คอมฯ ซึ่งก็ไม่ค่อยดีเท่าไรหรอกนะ หรือเรื่อง พ.ร.บ. เด็ก ก็เข้ามาเลย ปัญหาคือว่า เวลาทำผิดกฎหมายเหล่านี้ ก็ไม่เห็นทำอะไรกันเลย ทำสิ! มีอำนาจในมือ ทำไมไม่ทำ แต่พอสื่อจะคุมกันเอง ก็จะมาขอเข้ามาเอี่ยวตลอดเวลา

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยก็คือ รัฐต้องไม่เกี่ยวข้อง แต่จะเกี่ยวเฉพาะเรื่องกฎหมาย (เน้นเสียง) ส่วนเรื่องจริยธรรม เราคุมกันเอง

แต่จริงๆ แล้ว สื่อจะควบคุมกันเองอย่างไร

(ยิ้ม) จริงเลย แต่มันคือหลักการ ถ้าออฟฟิศคุมลูกน้องไม่ได้ [หนังสือพิมพ์กับนักข่าว] หรือสภาวิชาชีพคุมสมาชิกไม่ได้ ประโยชน์ที่เสียหายคือประโยชน์สาธารณะ เพราะว่าสื่อมวลชนแบบสถาบันทำหน้าที่แทนคนทั่วไปในการเข้าถึงข้อมูลบางระดับได้ เช่น เข้าถึงตัวนายกฯ เข้าถึงตัวปลัดกระทรวง เพราะฉะนั้น พอคนพวกนี้คุมกันเองไม่ได้ สุดท้ายแล้วประโยชน์สาธารณะมันเสียไป

แต่เท่าที่ผมดูตอนนี้ สภาวิชาชีพไทยยังใช้องค์ประกอบของสื่อมวลชนเยอะเกินไป สมมติว่ามี 20 คน แต่ 15 คนต้องเป็นนักข่าว ซึ่งมันเยอะเกินไป ในต่างประเทศ เขาจะเอาผู้บริโภคเข้ามาให้เยอะๆ เพื่อจะลดปัญหาเรื่องพวกพ้อง เอาเสียงคนนอกมาช่วย ก็อย่างที่เขาลือกันน่ะว่า ‘แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน’ อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ ก. กับ หนังสือพิมพ์ ข. ไม่ถูกกัน แต่ ก. จะฟัน ข. ก็ไม่กล้าฟัน เพราะฉะนั้นก็ต้องให้ประชาชนซึ่งอยู่ในบอร์ดมาพูดแทน  ต้องทำให้ความเป็นพวกพ้องลดลง

ตอนก่อตั้งสภาฯ อาจารย์ได้มีส่วนร่วมไหม

ตอนเป็นอาจารย์ใหม่ๆ เขาชวนไปเขียนจริยธรรม 30 ข้อ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมี 30 ข้ออยู่

สมัยก่อนตัวบอร์ดสภา 20 คน เขาเขียนกฎไว้ชัดเจนว่าห้ามข้าราชการมานั่งในตำแหน่ง เขียนชัดเจนเพื่อป้องกันสำนักนายกฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือส่วนราชการเข้ามานั่ง เพราะฉะนั้น 20 คนที่ว่านี้ต้องไม่ใช่ข้าราชการ ผมเป็นอาจารย์จึงนั่งไม่ได้ เราไม่ยอมเทรดกับการที่พวกผู้มีอำนาจจะมานั่ง ผมเลยได้ไปเป็นอนุกรรมการคอยตรวจสอบข้อเท็จจริง จากการที่ทำงานตรงนั้นระยะหนึ่ง ก็เห็นเลยว่าบรรยากาศตอนที่เรากำลังจะฟันหนังสือพิมพ์สักฉบับ มันเย็นมาก ไม่มีใครพูดเลย ต้องยืมปากพวกนี้แหละพูดแทน

ซึ่งแนวโน้มในการควบคุมกันเองเป็นอย่างไรบ้าง

แรกๆ มันก็เวิร์กอยู่นะครับ มีการตรวจสอบ แล้วแจ้งผลการตรวจสอบ เช่นแจ้งว่า ตรวจสอบแล้วพบว่าหนังสือพิมพ์ ก. มีความผิด สภาฯ จึงแถลงให้ทราบโดยทั่วกัน แต่หลังๆ มันหายไปไหนหมดก็ไม่รู้ มันเป็นเรื่องการไม่ได้รับความไว้วางใจ สมาชิกที่เป็นหนังสือพิมพ์บางฉบับก็ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาฯ ซึ่งที่จริงโดยหลักการมันควรจะมีสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ ใช่ไหม

แล้วการที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลาออกจากการเป็นสมาชิก ไม่ได้สร้างผลกระทบทางลบให้เขาหรือ

ใช่ไหม นี่แหละครับ พริ้ม (แม่ของไผ่) ก็บอกว่า มีสภาหนังสือพิมพ์ด้วยเหรอ ทำไมไม่รู้เลย เนี่ย! การมีส่วนร่วมของคนมันไม่เกิด คนไม่รู้กันว่านอกจากไปฟ้องตำรวจเพื่อเอาผิดทางอาญาแล้ว ยังมีสภาฯ ที่จัดการเรื่องจริยธรรมกันเองได้ด้วย ที่ผมทำวิจัยมาก็พบว่าคนจำนวนมากไม่รู้จักว่ามันคืออะไร

พอคนไม่มีส่วนร่วม มันจึงแทบไม่มีความหมาย หนังสือพิมพ์ถึงไม่แคร์และลาออกไป ถ้าเกิดคนรู้จัก แล้วคุณไปเปรี้ยว อย่างนี้สังคมถึงจะเริ่มถามขึ้นมาว่า ทำไมถึงไม่เป็นสมาชิกกับเขา

ซึ่งอันนี้ผมมองว่าไม่ใช่ความผิดประชาชนนะที่เขาไม่รู้จัก เพราะสภาฯ เองก็ไม่ทำตัวให้เป็นที่รู้จัก เช่นมีเคสเจ๋งๆ ไหมที่คุณได้จัดการในปีที่ผ่านมา มันไม่มีไง ประชาสัมพันธ์ก็ไม่ได้ ผลงานก็ไม่ชัด

โครงการในการควบคุมที่ว่านี้ มีบทลงโทษอย่างไร

ออกแถลงการณ์ จบ เพราะเราไม่ใช้อำนาจทางกฎหมาย กฎหมายมีเรื่องปรับ เรื่องจำ แต่อันนี้เราแค่ประกาศว่าผิด สภาฯ จะแถลงว่ามีหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ถูกร้องเรียน ผลงานเป็นอย่างนี้ ขอแจ้งให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน แค่นี้ก็อายแล้ว

โดยระเบียบแล้ว หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นต้องเผยแพร่ว่าตัวเองผิด แต่ฉบับอื่นควรจะสังฆกรรมด้วย แต่เท่าที่เห็นก็คือฉบับอื่นทำตัวเงียบเข้าไว้ ฉบับนั้นเป็นหน้าที่ของคุณ คุณก็ทำไป สุดท้ายคือไม่มีใครรู้จักสภาฯ

ถ้าอย่างนั้น เราต้องเริ่มจากอะไร

ก็ตัววงการสื่อสถาบันทั้งหลาย เขาต้องทำหน้าที่ พวกคุณเป็นสื่อ จะพูดอะไรคนก็ได้ยิน ก็พูดสิว่าเราคือใคร เรามีสภาฯ ไว้กำกับกันเองนะ

ประเด็นของผมคือว่า เราท้อถอยไม่ได้ นี่อาจจำเป็นคำตอบสุดท้าย ถ้าเราหลุดจากอันนี้ ก็เหลือแต่รัฐเข้ามาแทรกแซงจรรยาบรรณแล้ว ซึ่งก็จะกู่ไม่กลับ นี่แหละที่ผมกลัว มันเห็นริ้วรอยเรื่อยๆ ตั้งแต่ พ.ร.บ. คอมฯ ที่แก้ไขรอบที่แล้ว

มาอันหลังนี้คือเรื่องการควบคุมกันเอง สักปีสองปีที่แล้ว เขาจะกำหนดให้มีเก้าอี้ของฝ่ายข้าราชการเข้าไปนั่งด้วย แต่เรื่องนี้ก็ถูกมหาวิทยาลัยและวิชาชีพออกไปตบเท้าว่าไม่เอาเด็ดขาด รัฐบาล คสช. ก็ไม่กล้าเปิดแนวรบเยอะ คงคิดว่าอย่าเป็นอริกับสื่อมากกว่านี้เลย แค่นี้ก็ศัตรูเยอะแล้ว เรื่องมันก็เลยเงียบไป ซึ่งถ้าผ่านกฎหมายนี้ได้ก็แย่เลย

ในงานวิจัยนี้มีส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงว่า พอนายกฯ ประยุทธ์บอกให้หยุดนำเสนอข่าว ก็ปรากฏว่าสื่อมวลชนยอมหยุดกันจริงๆ

คำถามคือ ทำไม…ทำไมบิ๊กตู่พูดแล้วนักข่าวเงียบกันหมด คนเหล่านี้ [ในงานวิจัย] เดือดร้อน มองไม่เห็น ต้องให้บิ๊กเนมพูดแล้วถึงจะหยุด ทำไมจึงยอมให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น (ถอนหายใจ)

ต้องบอกว่าเศร้าใจ ญาติเจ้าตัวบอกว่าอย่ามายุ่งกับเขา ไม่เชื่อ แต่พอบิ๊กตู่พูดคนเดียว เงียบกันหมด

 

ภารกิจสอนคนให้เป็นนักข่าว

ทำไมอาจารย์ถึงออกมาจากสายอาชีพนักข่าว ทั้งที่จริงๆ หากทำงานต่อก็อาจเปลี่ยนแปลงอะไรจากข้างในได้

ใช่ ใช่ คือผมเป็นนักข่าวแล้วรู้สึกว่า เราอยากจะเปลี่ยนอะไรเยอะ และเราเปลี่ยนสำเร็จได้หลายเรื่อง แต่สุดท้ายแล้วมันมีสองเหตุผลก็คือ หนึ่ง เราเหนื่อยมาก เหนื่อยสุดๆ ทำงานวันละ 14 ชั่วโมง เจ็ดวัน ซึ่งอันนี้อาจจะวางระบบงานไม่ดี สุดท้ายมันเบิร์นเร็วมาก

อันที่สอง ผมรู้สึกว่ามันมีอีกทางคือมาทำโรงเรียน อันนี้ก็เป็นการทวีคูณ สร้างนักข่าวแล้วออกไปทำแทนเราด้วย ก็ชดเชยกัน ไม่ต้องทำเอง แต่มาสร้างคนช่วยกันทำ พร้อมกับเขียนบทความเองอยู่เป็นระยะๆ

แล้วอย่างนี้จะไม่โดนนักข่าวในปัจจุบันโจมตีหรือว่าเป็นอาจารย์แล้วจะรู้อะไร

จริง! ทำไมจะไม่โดน และจริงๆ ตัวเองก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นผมก็เลยต้องทำวิจัย ต้องลงสนาม ต้องคุยกับคนไปเรื่อยๆ พูดตามตรง มันก็มีอาจารย์บางคนที่ปิดห้องอ่านหนังสือ แต่เราก็ต้องพยายามตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ไปคุยกับคน เจอกับนักข่าว ไปคุยกับแหล่งข่าว ต้องทำตัวเองให้ทันสมัยครับ แต่ว่ายังไงก็ไม่ทันสนามเท่ากับคนอยู่ในสนามหรอก เราก็มีสนามของเรา คือสนามห้องเรียน อีกสนามคือสนามนักข่าว เราก็ต้องบาลานซ์สองอันนี้ ถ้าเราลงสนามนักข่าวมาก ห้องเรียนมันก็หลุด

เป็นอาจารย์ด้านสื่อ ทำงานกับนักศึกษา ปกติใช้ช่องทางใดในการติดตามข่าวสาร

ผมเป็นคนที่ไม่ใช้โซเชียลมีเดียเลย โทรศัพท์มือถือก็ไม่มี ถ้ามีอะไรน่าสนใจหรือดังมาก ก็จะมีคนมาบอก หรือปรากฏในเว็บไซต์ของสื่อสถาบัน โดยส่วนตัว ผมไม่ได้อยากรู้เร็วหรือรู้มากขนาดนั้น รู้เฉพาะบางเรื่องก็พอ

ผมเข้าถึงข้อมูลข่าวสารช้ากว่าคนอื่นจริงๆ และช้ามากด้วย แต่ว่าผมไม่ได้ต้องการเร็ว ที่ต้องการและอาจจำเป็นมากกว่า คือข้อเท็จจริงที่รอบด้าน ความเห็นที่ตกผลึกเพื่อหยิบไปพูดคุยและวิเคราะห์ร่วมกันกับนักศึกษาในห้องเรียน

ส่วนถ้าผมจะมีคอมเมนต์ในเรื่องไหน ถ้าจะมีความเห็นกับเรื่องสักเรื่อง ก็จะตั้งใจทำ ตั้งใจคิดรอบคอบ เขียนให้เป็นเรื่องเป็นราว ออกมาเป็นบทความไปเลย

Tags: , , , ,