การไลฟ์หรือถ่ายทอดสดฉากฆ่าตัวตาย การช่วงชิงอย่างถึงที่สุดเพื่อจะให้ได้ภาพดีๆ มานำเสนอผู้ชม การพาดหัวกระตุ้นอารมณ์เพื่อชวนให้อ่าน ต้องยอมรับว่า กว่าจะออกมาเป็นผลงานสื่อ มีหลายกรณีที่คนทำสื่อข้ามเส้นละเลยประเด็นละเอียดอ่อนของคนในข่าว บ้างเป็นปัญหาใหม่ชวนขบคิด บ้างเป็นปัญหาเก่าแก่ที่ไม่ค่อยถูกตรวจสอบและแก้ไข

เนื่องในวันที่ 5 มี.ค. วันนักข่าว The Momentum ขอนำเสนอประเด็นจากงานวิจัยล่าสุด เรื่อง “ผลกระทบของแหล่งข่าวที่ถูกสื่อมวลชนละเมิดสิทธิ์” โดย รศ. รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำลังจะตีพิมพ์ในกลางปีนี้ งานชิ้นนี้เข้าไปเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพจากแหล่งข้อมูลที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ์ของสื่อ 4 กลุ่ม ได้แก่ เด็กและเยาวชน ผู้ป่วย บุคคลทั่วไป และคนมีชื่อเสียง พบกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงหลายกรณี ในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น

* ไลฟ์สดฆ่าตัวตาย การกดดันคนในข่าว

หากใครยังจำข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2559 ที่ วันชัย ดนัยตโนมุท ได้ก่อเหตุยิงผู้อื่นไปก่อนหน้าแล้วสองคน และกำลังจะฆ่าตัวตาย ก็คงจำได้ว่าขณะนั้นสื่อและคนดูเกาะติดเรื่องราวเหมือนหนังช่วงไคลแม็กซ์ที่ต้องลุ้นตอนจบ ขณะเจ้าหน้าที่พยายามเข้าเจรจาต่อรอง

เรื่องนี้กลายเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนหลายสำนัก กระทั่งสื่อเลือกใช้วิธีการไลฟ์สดตลอดเหตุการณ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสนใจและการเกาะติดแบบรายการสด มีส่วนสร้างความตึงเครียดและกดดันต่อคนในข่าว กระทั่งเมื่อมีเสียงปืนดังขึ้น กลุ่มสื่อมวลชนต่างรีบวิ่งฝ่าแนวกั้นเข้าไปในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นการขัดขวางเจ้าหน้าที่กู้ชีพและรถพยาบาล

* ละเมิดกติกาการทำข่าวภาคสนาม

เช่นกรณีของดาราดัง ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์ ที่ป่วยหนักจากไข้เลือดออก ที่สุดท้ายแล้วเสียชีวิต อาการป่วยของดาราดังกลายเป็นประเด็นที่สื่อเกาะติดต่อเนื่องนานหลายเดือน จนกระทั่งในวันเคลื่อนศพออกจากโรงพยาบาล สื่อถึงขั้นฝ่าแนวกั้นเข้าไปประชิดศพเพื่อจะถ่ายภาพให้ได้

* เสนอภาพศพ ทำร้ายจิตใจคนข้างหลัง

กรณีเด็กสาววัย 11 ขวบที่ถูกฆาตกรรม เรื่องราวเริ่มต้นจากที่เด็กหญิงหายตัวไป ขณะพ่อแม่ยังไม่มีเบาะแส แต่สื่อชิงนำเสนอไปก่อนแล้วว่า “เด็กหญิงหนีไปกับผู้ชายที่สถานีรถไฟ” ก่อนจะมีข้อเท็จจริงปรากฏในเวลาต่อมาว่า ที่จริงแล้วเด็กหญิงถูกฆ่าแล้วทิ้งศพลงท่อ

นอกจากการเสนอข่าวที่ผิดพลาดและทำให้เสียชื่อเสียงแล้ว ต่อมา สื่อยังเผยแพร่ภาพศพ ที่ส่งผลทำร้ายจิตใจบุคคลที่เกี่ยวข้อง

* ละเลยทักษะการทำข่าวเบื้องต้น ไม่ตรวจสอบข้อมูลก่อนนำเสนอ

เช่นกรณีการเสนอข่าว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักเคลื่อนไหวที่ต้องคดีการเมืองหลายคดี มีหนังสือพิมพ์และรายการเล่าข่าว เสนอข่าวเชิงลบถึงตัวเขาว่า เคยหลบหนีการเกณฑ์ทหาร แต่ในความเป็นจริง จตุภัทร์ผ่านการเรียนรักษาดินแดนมาครบสามปีและผ่านหลักสูตรเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานที่ไม่เกินกำลังที่สื่อจะพึงตรวจสอบ

* หลอกลวง ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้ข่าวมา

เช่นกรณีนักข่าวต้องการทำข่าวคนติดเชื้อซิกาในประเทศไทย จึงหลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้าไปถึงบ้านของแหล่งข่าว ขอถ่ายรูป และยังบอกด้วยว่า อย่ายิ้มแต่ให้ทำหน้าเศร้าเข้าไว้ แล้วนำไปลงภาพข่าวที่แม้จะเบลอใบหน้า แต่เปิดเผยชื่อ-สกุลจริงและที่อยู่ครบถ้วน ทำให้คนรอบข้างแสดงอาการรังเกียจ

 

นอกจากเรื่องราวที่กล่าวมา ในงานวิจัยนี้ยังมีกรณีตัวอย่างอีกหลายกรณี เช่น สื่อแอบถ่ายรูปโดยไม่ขออนุญาต การสัมภาษณ์เด็กในภาวะที่ไม่พร้อม สื่อรับบทศาลเตี้ย การใช้พาดหัวรุนแรง ฯลฯ

ผลของการละเมิดสิทธิ์ แม้มีข้อดีอยู่บ้างในบางกรณี เช่น กระตุ้นให้คดีมีความคืบหน้า หรือทำให้มวลชนให้ความสนใจและให้ความช่วยเหลือเหยื่อ แต่ก็เกิดผลเสียมากกว่าในอีกหลายระดับ เช่น ทำให้แหล่งข่าวสูญเสียความเป็นส่วนตัว ตั้งแต่รบกวนความสะดวก ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง รวมถึงผลกระทบต่อการทำงานในคดี ที่สื่อทำให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานลำบาก

งานวิจัยพบว่า สาเหตุที่สื่อละเมิดสิทธิ์แหล่งข่าว เป็นเพราะสื่อไม่เข้าใจหลักสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นทึกทักเอาว่าสามารถนำข้อความในเฟซบุ๊กของแหล่งข่าวไปเผยแพร่ต่อได้ สื่อไม่เข้าใจความละเอียดอ่อนของคนที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ไปจนถึงการจงใจละเมิด (เช่นปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่) ละเลยการตรวจสอบข้อเท็จจริง (เช่นกรณี ไผ่ ดาวดิน) อีกทั้งองค์กรสื่อต่างๆ ยังไม่มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง

ในต่างประเทศก็เคยมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับขอบเขตที่เหมาะสมของการทำงานของสื่อมวลชน เช่นที่สหราชอาณาจักร เคยมีกรณีที่นักข่าวของหนังสือพิมพ์ นิวส์ออฟเดอะเวิลด์ (NoW) สืบข่าวด้วยการดักฟังโทรศัพท์ โดยเจาะเข้าไปในกล่องฝากข้อความเสียงของ มิลลี ดาวเลอร์ เด็กผู้หญิงที่ถูกลักพาตัวและฆาตกรรม แต่นักข่าวของ NoW ไม่เพียงแต่ดักฟัง ยังแอบลบบางข้อความออกไป จนทำให้พ่อแม่ของเด็กเข้าใจผิดว่าลูกสาวยังมีชีวิต เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่จนนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรสั่งให้มีการไต่สวน Leveson Inquiry และในระหว่างการไต่สวน รูเพิร์ต เมอร์ด็อก เจ้าพ่อวงการสื่อ ก็ตัดสินใจปิดตัว NoW ซึ่งมีอายุ 168 ปีนี้ลง

 

ที่มา:

Tags: , , , , , , ,