ในบทสัมภาษณ์หนึ่งของอัลฟองโซ กัวรอง (Alfonso Cuaron) กับนิตยสาร Variety เขาพูดถึง Roma ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดเอาไว้ว่า “มันคงเป็นความรู้สึกผิดของผมที่มีต่อพลวัตทางสังคม ชนชั้น และเชื้อชาติ ตอนนั้นผมเป็นเด็กเม็กซิกันชนชั้นกลางผิวขาวที่ไม่เคยได้ตระหนักรู้อะไร ผมรู้แค่สิ่งที่พ่อแม่บอก นั่นคือผมควรจะทำดีต่อคนที่ด้อยโอกาสกว่า แต่ผมก็ยังอยู่แค่ในโลกเล็กๆ อันอ่อนวัยของผม”
ถ้าดูจากประโยคนี้คงเห็นได้ว่า สำหรับกัวรองแล้ว Roma เป็นเสมือนการย้อนเวลากลับไปสู่วันวานที่ตัวเขายังคงไร้เดียงสาต่อประเด็นทางสังคมใดๆ และแม้ว่าความพยายามนี้จะเกิดจากกัวรองที่เติบโตขึ้น และรับรู้ได้ถึงความไม่เท่าเทียมในโลกมากขึ้นก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น Roma ก็ไม่ใช่หนังที่มุ่งมั่นจะกลับไปวิพากษ์การกดขี่ทางสังคม ชนชั้น และเชื้อชาติอย่างถอนรากถอนโคนแต่อย่างใด หากเป็นเสมือนจดหมายรักต่อสตรีคนหนึ่งที่กัวรองผูกพันเรื่อยมาตั้งแต่จำความได้ สตรีนางนี้ไม่ใช่แม่ของเขา และทั้งคู่ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางเลือดเนื้อใดๆ ด้วย หล่อนคือสาวใช้คนหนึ่งในบ้าน ผู้คอยเก็บกวาดบ้าน ล้างจาน และปลุกเขาให้ตื่นขึ้นมาในทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน ชื่อของหล่อนคือลิโบเรีย ‘ลิโบ’ รอดริเกซ (Liboria ‘Libo’ Rodríguez)
จากคำบอกเล่าของเขา ลิโบเป็นหญิงสาวชาวเผ่า Mixtec จากรัฐวาฮากาทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก หล่อนเริ่มทำงานในครอบครัวกัวรองขณะที่เขายังอายุเพียง 9 เดือนเท่านั้น และแม้กัวรองจะบอกว่าลิโบมักจะเล่าเรื่องความยากลำบากให้เขาฟังอยู่บ่อยๆ เล่าว่าบางครั้งหล่อนเองก็อดอยาก หรือจำใจต้องทิ้งบ้านเกิดมาเพื่อจะหางานในเมือง แต่เพราะยังอ่อนเยาว์อยู่กัวรองจึงรับรู้เรื่องราวของลิโบในฐานะการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นเท่านั้น
นี่เองอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ว่า ทำไม Roma จึงเป็นภาพยนตร์ที่ไม่พูดถึงประเด็นของชนชั้น และความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างตรงไปตรงมา หากใช้วิธีการที่แนบเนียน และบางเบากว่า เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนายจ้างกับสาวใช้
อย่างย่นย่อ Roma ฉายภาพของครอบครัวชาวเม็กซิกันชนชั้นกลางผิวขาวในช่วงปี 1970-1971 ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังหนึ่งพร้อมกับสาวใช้อีกสองคน หนึ่งในนั้นคือคลีโอ (ตัวแทนของลิโบในภาพยนตร์) ผู้เป็นที่รักของสมาชิกทุกคนในบ้าน หน้าที่ของหล่อนก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเลี้ยงดูเด็กๆ ทั้งสี่คนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงซักผ้า เตรียมอาหาร และคอยเก็บกวาดขี้หมาซ้ำๆ ทุกวัน ซึ่งคลีโอก็ตั้งใจทำงานของหล่อนอย่างเต็มที่
แต่พ้นไปจากชีวิตที่ต้องวิ่งวุ่นอยู่ในบ้าน คลีโอเองก็มีชีวิตส่วนตัวที่นายจ้างไม่ค่อยจะรับรู้นัก อย่างหล่อนเองก็มีแฟนหนุ่มเช่นสาววัยรุ่นทั่วไป หรือหล่อนเองก็หลงไหลในการร้องเพลงเงียบๆ เมื่อแน่ใจว่าไม่มีใครฟัง ยามว่าง คลีโอก็ไปดูหนังกับคนรัก และร่วมรักกับเขาเฉกเช่นมนุษย์ทั่วไป แต่ละวันของหล่อนคล้ายจะผันผ่านไปอย่างเรียบง่าย จนกระทั่งวันหนึ่งคลีโอพบว่าประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ หล่อนคิดว่าตัวเองตั้งท้องจึงบอกเรื่องนี้กับแฟนหนุ่มที่พอได้รู้ก็หนีหายไปจากชีวิตคลีโอในทันที ในช่วงเวลาเดียวกับที่สาวใช้เผชิญมรสุม ภาพชีวิตอันเคยปกติธรรมดาของครอบครัวนายจ้างเองก็เริ่มที่จะถูกสั่นคลอน เมื่อ ‘พ่อ’ ผู้เป็นประหนึ่งเสาหลักของบ้านได้อ้างว่าจะต้องไปประชุมที่แคนาดา เพื่อที่ว่าในความเป็นจริงเขาจะได้หนีหายไปเสวยสุขร่วมกับหญิงสาวอีกคนหนึ่งแทน
เมื่อได้รู้ว่าพ่อได้ทิ้งครอบครัวไปแล้ว ‘แม่’ ที่ต่อแต่นี้ไปจะต้องเลี้ยงดูลูกๆ ทั้ง 4 คน รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดของบ้านเพียงลำพังก็ถึงแก่การแตกสลาย ซ้ำร้าย ยิ่งเมื่อความพังทลายนี้มาเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่ คลีโอมาสารภาพว่าหล่อนกำลังท้องอยู่ แต่กลับถูกพ่อของลูกทิ้งไปแล้ว ก็ดูจะเป็นไปได้เสียเหลือเกินว่าครอบครัวนี้จะยิ่งพังพินาศไปกันใหญ่ ทว่ากัวรองเลือกที่จะไม่ชักพาหนังไปสู่เส้นทางอันล่มสลายนั้น เขากลับเลือกจะแสดงให้เห็นความหวังเล็กๆ ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นท่ามกลางพายุร้าย ด้วยไม่เพียงแต่แม่จะไม่ไล่สาวใช้ออกจากบ้านแค่เพราะหล่อนตั้งครรภ์ หากยังยินดีจะพาคลีโอไปตรวจครรภ์ด้วยซ้ำ แม่ไม่มีทีท่าจะกล่าวโทษ หรือตัดสินว่าการตั้งท้องของคลีโอเป็นเรื่องผิดอะไรเลย ราวว่าในชั่วขณะที่ได้ยินคำสารภาพจากสาวใช้อย่างซื่อๆ สั้นๆ แม่ไม่ได้มองหญิงสาวตรงหน้าด้วยสายตาของนายจ้าง หากมองด้วยสายตาที่ผู้หญิงมองผู้หญิงด้วยกัน เป็นสายตาของผู้หญิงที่เข้าใจกันและกันว่าอีกฝั่งกำลังเจ็บปวด
หรือในอีกฉากหนึ่ง เราเห็นแม่เดินเข้าบ้านมาอย่างเมามาย และซึ่งพอเห็นคลีโอที่ยืนรอรับอยู่เงียบๆ แม่ก็ได้พูดกับสาวใช้พร้อมเสียงหัวเราะว่า “เราอยู่กันอย่างโดดเดี่ยว ไม่ว่าพวกนั้นจะบอกเธอว่ายังไง พวกผู้หญิงเราก็ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวตลอด” แน่นอนว่าประโยคนี้แม่กำลังหมายถึงผู้ชายในชีวิตของทั้งคู่ ทั้งพ่อ และแฟนหนุ่มของคลีโอที่สุดท้ายแล้วก็ปล่อยให้ผู้หญิงซึ่งเคยเกี่ยวพันต้องมาแบกรับในสิ่งที่พวกเขาต่างก็มีส่วนสร้างขึ้นโดยลำพัง และไม่คิดจะแยแสสนใจ
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือท่าทีการพูดเรื่องชนชั้นของกัวรองในหนังเรื่องนี้ อย่างที่ได้เกริ่นไปว่า Roma ไม่ได้วิพากษ์เรื่องชนชั้นอย่างตรงไปตรงมา หากแสดงให้เห็นผ่านปฏิสัมพันธ์อันเรียบง่ายระหว่างสมาชิกในครอบครัว และสาวใช้ เช่นในฉากหนึ่งที่ทุกคนในครอบครัวกำลังนั่งดูโทรทัศน์กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งคลีโอเองก็นั่งดูอยู่พร้อมๆ กัน หล่อนหัวเราะร่วนไปกับทุกคน พร้อมๆ กับที่ลูกชายคนหนึ่งโอบไหล่หล่อนอย่างรักใคร่ แต่แล้ว – ด้วยน้ำเสียงเรียบง่าย – แม่บอกคลีโอให้ไปยกน้ำชามาเสิร์ฟซึ่งหล่อนก็ลุกไปปฏิบัติงานของตนตามปกติแต่โดยดี
ผ่านฉากเล็กๆ นี้ที่กัวรองแสดงให้เห็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวกับคลีโอที่ซ้อนทับกันอยู่ระหว่างความสัมพันธ์แบบนายจ้าง–ลูกจ้าง กับความรู้สึกประหนึ่งว่าหล่อนเป็นคนสำคัญในครอบครัว ในบทสัมภาษณ์หนึ่ง กัวรองเล่าถึงความผูกพันของเขากับลิโบไว้ว่า
“ลิโบคือผู้หญิงที่เลี้ยงดูผม เธอเป็น—มันประหลาดอยู่สักหน่อยหากจะพูดว่าเธอเป็นแม่อุ้มบุญของผม แต่ผมรู้สึกว่านี่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับสาวใช้และพี่เลี้ยงหลายๆ คน นั่นคือพวกเธอมักจะมีตัวตนในชีวิตคุณมากกว่าแม่แท้ๆ เสียอีก“
อาจเป็นเพราะเหตุนี้ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของนายจ้างและลูกจ้างใน Roma จึงปรากฏให้เห็นอย่างแนบเนียน และเรียบง่าย เช่นกันที่ก็อาจกล่าวได้ว่า กัวรองเองก็ไม่ได้ต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้วิพากษ์ประเด็นชนชั้นระหว่างนายจ้าง–สาวใช้ในบ้านอย่างรุนแรงแต่อย่างใด ด้วยเพราะเขาเองก็เติบโตขึ้นมาในบ้านที่ความเหลื่อมล้ำแปรเปลี่ยนเป็นรูปแบบหนึ่งของความรัก ความผูกพัน และแม้เมื่อเขาเติบโตขึ้นกัวรองจะได้เห็นว่าโลกใบนี้ช่างเต็มไปด้วยความกดขี่ที่น่าเกลียดชัง แต่เมื่อเขาในวัยเด็กไม่ได้รับรู้ถึงสิ่งนั้น และเมื่อ Roma คือภาพยนตร์ที่ต้องการจะเชิดชูความรักที่เขามีต่อสาวใช้ในบ้าน มันจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าทำไมประเด็นชนชั้นจึงไม่ถูกนำเสนอออกมาอย่างชัดเจน หรือตรงไปตรงมานัก ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้จะสูญหาย หรือไม่ถูกแสดงให้เห็นในหนังแต่อย่างใด
เช่นกันกับประเด็นทางประวัติศาสตร์และการเมืองของประเทศเม็กซิโกในช่วงปี 1970-1971 ที่แม้เราจะเห็นว่า เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ถูกนำเสนอให้เห็นเพียงฉากหลัง หากนั่นก็ไม่ได้แปลว่าหนังจะทำตัวไร้เดียงสา หรือแยกขาดตัวเองออกจากความเป็นการเมืองไปเลย เพราะกัวรองได้แสดงให้เห็นว่าเขาเอง ‘ตระหนัก’ ถึงบรรยากาศและความเป็นไปของการเมืองเม็กซิโกในช่วงนั้นเป็นอย่างดี ผ่านฉากเล็กๆ ที่ฉายภาพตัวละครในเรื่องซึ่งได้รับผลกระทบจากการกดขี่ของรัฐบาล เช่น การที่เพื่อนสาวใช้ถามคลีโอว่า รู้หรือยังว่ารัฐบาลยึดที่ดินของแม่หล่อนที่บ้านไปหมดแล้ว หรือฉากการปะทะกันในช่วงท้ายระหว่างนักศึกษาและกองกำลังทหาร ซึ่งส่งผลให้รถติดสาหัสจนคลีโอเกือบจะไปคลอดที่โรงพยาบาลไม่ทัน
อีกโครงสร้างหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งสะท้อนว่า กัวรองตระหนักในประเด็นชนชั้นเป็นอย่างดี คือการออกแบบสายตาของกล้องให้เคลื่อนที่ในระนาบแนวนอนเกือบทั้งเรื่อง จะยกเว้นแค่เพียงฉากเปิด – ปิดเรื่องเท่านั้นที่กล้องจะค่อยๆ เคลื่อนจากล่างสู่บน การเคลื่อนกล้องในระนาบนี้อธิบายมุมมองที่กัวรองมีต่อสาวใช้ในเรื่องเป็นอย่างดี ว่าเขาไม่ได้ต้องการจะจัดลำดับชั้นของตัวละครในเรื่องว่าใครอยู่เหนือใคร และใครอยู่ล่างใคร เพราะผ่านสายตาของกล้อง ทุกคนต่างเป็นมนุษย์ที่เคลื่อนที่อยู่ในระดับเดียวกัน แม้ว่าในทางหนึ่งจะมีความเป็นนายจ้าง–ลูกจ้างกำกับพฤติกรรมของตัวละครในเรื่องอยู่จริง ทว่าความผูกพันอันลึกซึ้งที่กัวรองมีต่อลิโบนั้นก็ได้พร่าเลือนเส้นแบ่งทางชนชั้นลงไป ดังที่เราจะเห็นได้จากฉากสุดท้ายที่กล้องค่อยๆ เคลื่อนสูงติดตาม คลีโอที่กำลังเดินขึ้นชั้นดาดฟ้าบ้านไปอย่างช้าๆ ว่านั่นอาจสะท้อนถึงความซาบซึ้งและสถานะอันสูงส่งในหัวใจที่กัวรองมีต่อลิโบของเขาก็เป็นได้
สำหรับกัวรอง ภาพยนตร์เรื่องนี้คือจดหมายรักสู่อดีตและหญิงสาวผู้เลี้ยงดูเขาจนเติบใหญ่ เขาอนุญาตให้คนนอกอย่างเราได้มองลอดเข้าไปในช่วงชีวิตหนึ่ง ที่ถึงแม้ว่าจะดูธรรมดา และแสนจะเรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นฉากชีวิตอันบริสุทธิ์ และไร้เดียงสา แม้ถึงที่สุดแล้ว เราอาจไม่เข้าใจถึงความรักที่กัวรองมีต่อลิโบได้ทั้งหมด กระนั้นอย่างน้อยๆ Roma ก็มอบโอกาสที่จะให้เราได้ลองจับจ้องเสี้ยวชีวิตหนึ่งของใครอื่นอย่างเงียบเชียบ พลางเรียนรู้ว่า นั่นแหละคือชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ที่แม้จะเห็นเป็นเพียงสาวใช้ หากทว่าก็ซับซ้อน ลึกซึ้งและเต็มเปี่ยมไปด้วยหัวจิตหัวใจไม่ต่างอะไรจากใครอื่นเลย
Tags: Roma, Alfonso Cuaron, Netflix, film, Mexico