22 กรกฎาคม 2011 นาย Anders Behring Breivik ติดระเบิดในรถแวนที่จอดใกล้ที่ทำการนายกรัฐมนตรี ในย่านฝ่ายบริหารของกรุงออสโล เกือบสองชั่วโมงหลังระเบิดลูกนั้นทำงาน เขาปลอมตัวเป็นตำรวจ นั่งเรือข้ามฟากเข้าไปยังเกาะอูเตอญา สถานที่จัดซัมเมอร์แคมป์ประจำปีของปีกเยาวชนแห่งพรรคแรงงานนอร์เวย์ (AUF) กราดยิงไล่ฆ่าคนบนเกาะซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนอย่างใจเย็น ก่อนจะมอบตัวต่อกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งไปถึงสถานที่เกิดเหตุหลังปฏิบัติการฆ่าผ่านไปแล้ว 72 นาที

การโจมตีแบบสันโดษของ Breivik มุ่งเป้าที่รัฐบาลพรรคแรงงานนอร์เวย์และกลุ่มเยาวชนของพรรค ในซัมเมอร์แคมป์ประจำปีที่เปรียบเสมือนแหล่งเพาะเชื้อของกลุ่มคนที่เขาเชื่อว่าเป็นอภิสิทธิ์ชนทางการเมือง -มาร์กซิสต์และเสรีนิยมหัวเอียงซ้าย รวมถึงกลุ่มคนที่สนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม- โดยในเช้าวันก่อเหตุยังได้ส่งอีเมล์กว่าพันฉบับเป็นไฟล์หนังสือความหนา 1,518 หน้าชื่อ 2083: A European Declaration of Independence ในลักษณะของแถลงการณ์การเมือง เพื่อเผยแพร่จุดยืนต่อต้าน ต้องการขจัด และประกาศอิสรภาพของทวีปยุโรปจาก “มาร์กซิสต์ทางวัฒนธรรม” (cultural Marxism) ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (multiculturalism) พวกฝ่ายซ้าย พวกเสรีนิยม และศาสนาอิสลาม เพื่อให้ได้สังคมยุโรปคริสเตียนอันบริสุทธิ์กลับคืน ในลักษณะเดียวกับสงครามครูเสด

คาร์บอมบ์ใจกลางเมืองและการสังหารหมู่บนเกาะอูเตอญามีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 77 คน นับว่าเป็นเหตุการณ์นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์นอร์เวย์ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และถือเป็นการก่อการร้ายโดยฝ่ายขวาผิวขาวชาวคริสต์ที่รุนแรงและเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่ง สอดรับกับอุณหภูมิการเมืองโลกในช่วง 7 ปีหลัง ทั้งการต่อต้านผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในทวีปยุโรปกับสหรัฐอเมริกา รัฐบาลฝ่ายขวาหลากเฉดสีตบเท้าก้าวขึ้นสู่อำนาจ และการปลุกระดมของมวลชนอนุรักษ์นิยมในหลายประเทศ ภาพยนตร์สองเรื่องที่ใช้เกาะอูเตอญาเป็นฉากหลังและเปิดตัวออกฉายไล่เลี่ยกันในปี 2018 จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสะท้อนและบันทึกสภาวะดังกล่าว ไม่ว่าดีกรีความตั้งใจของคนทำจะอยู่ในระดับใดก็ตาม

หนังชื่อคล้ายทั้งคู่ที่เรากำลังจะพูดถึงได้แก่ Utøya – July 22 และ 22 July เรื่องหนึ่งเล่าอย่างคนใน เน้นบันทึกความสั่นไหวในวันที่ 22 กรกฎาคม อีกเรื่องเล่าอย่างคนนอกที่พยายามแจกแจงภาพกว้างและการต่อสู้ของเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากผู้ก่อการร้าย น่าเสียดายที่การเลือกโฟกัสคนละที่ด้วยจุดเริ่มต้นที่แตกต่าง ซึ่งน่าจะเป็นข้อดีสำหรับคนดูผู้ต้องการมุมมองหลากหลาย กลับไม่ทรงพลังเท่าที่ควร เพราะทั้งสองเรื่องกลายเป็นแค่ภาพที่เติมไม่เต็มของกันและกัน

Utøya – July 22 คืองานล่าสุดของ Erik Poppe ผู้กำกับชาวนอร์เวย์ที่แจ้งเกิดจากหนังหลากชีวิตคนทุกข์ Hawaii, Oslo (2004) และเกือบเข้าชิงออสการ์หนังต่างประเทศด้วย The King’s Choice (2016) ที่เล่าการตัดสินใจทางการเมืองของกษัตริย์นอร์เวย์เมื่อนาซียกทัพมาประชิดชายแดน นอกจากเครดิตผลงานเก่าและการเป็น “หนังอูเตอญา” เรื่องแรกจะช่วยเรียกกระแสแล้ว อีกเหตุผลที่หนังเรื่องนี้ดึงความสนใจได้อยู่หมัด คือการโยนคนดูลงไปร่วมหนีตายกับตัวละครอย่างใกล้ชิดที่สุด ด้วยการเล่าเรื่องตามเวลาจริงที่ Breivik ไล่ยิงคนบนเกาะ และถ่ายทำแบบเทคเดียวจบตลอดเรื่อง

หนังรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของวันที่ 22 ผ่านบันทึกความทรงจำและบทสัมภาษณ์จำนวนมากของผู้รอดชีวิตจากเกาะอูเตอญา เพื่อให้ได้ภาพใกล้เคียงเหตุการณ์จริงมากที่สุด แต่หนังไม่ได้ใช้ผู้รอดชีวิตคนใดคนหนึ่งเป็นตัวดำเนินเรื่อง แต่เลือกให้กล้องพาคนดูติดตามรับรู้ประสบการณ์หนีตายไปพร้อมกับตัวละครสมมติชื่อ Kaja (แสดงโดย Andrea Berntzen) ซึ่งถูกเขียนขึ้นแบบเด็กสาวค่าเฉลี่ยคนหนึ่ง เธอไม่ใช่ผู้อพยพหรือคนผิวสีในประเทศยุโรป ไม่ปรากฏความคิดหรือจุดยืนทางการเมืองแข็งขันเมื่อกลุ่มเพื่อนเริ่มถกประเด็นสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่นอร์เวย์มีส่วนร่วมด้วย แต่ก็ไม่ได้ถึงกับว่างเปล่าสิ้นไร้องค์ความรู้ – เด็กสาววัยรุ่นธรรมดาที่ไม่ใช่คนโดดเด่นอะไรในค่ายฤดูร้อนของพรรคการเมือง

ไม่แปลกที่เรื่องเล่าของเหตุการณ์ในวันที่ 22 กรกฎาคมจะเข้มข้นไปด้วยคำอธิบายทางการเมือง หรือความพยายามแปรสัญญาณทำนายอนาคตที่สะท้อนจากการก่อการร้ายครั้งประวัติศาสตร์นี้ ในเมื่อการฆ่าของ Breivik คือแถลงการณ์ทางการเมืองที่ใช้เลือดแทนน้ำหมึก แต่สำหรับหนังนอร์เวย์เรื่องนี้ อูเตอญาคือความเจ็บปวด ความกลัว การเอาชีวิตรอด เลือดเนื้อ และการบาดเจ็บล้มตายของเยาวชน ไม่ใช่แค่พวกวัยรุ่นมาร์กซิสต์หรือเด็กที่เตรียมตัวเติบโตไปเล่นการเมืองให้พรรคฝ่ายซ้าย – ในห้วงเวลาแห่งการหลบหนีเอาชีวิตรอด ไม่มีใครคิดเรื่องซ้ายขวาชาตินิยม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรืออะไรก็ตามที่ Breivik ตั้งเป็นข้อกล่าวหาพร้อมอัตราโทษประหาร

คนตายมากมายไม่มีโอกาสรู้ว่าทำไมพวกเขาถึงตกเป็นเหยื่อ บางคนตายพร้อมความสงสัยว่าทำไมถูกตำรวจไล่ยิง บ้างก็ตายพร้อมความเชื่อกระแสหลักเรื่องผู้ก่อการร้ายมุสลิมตะวันออกกลาง และสิ่งที่วิ่งวนอยู่ในหัวสมองของตัวละครมากมายที่หลบอยู่ตามพุ่มไม้หรือซอกหินก็คือความไม่เข้าใจ และหนังก็แสดงเจตจำนงข้อนี้ชัดเจนตั้งแต่ฉากแรก เมื่อสายตาของ Kaja มองตรงมายังเลนส์กล้อง สบตากับคนดูพร้อมกล่าวว่า “คุณไม่มีวันเข้าใจ” (ก่อนที่หนังจะเลือนประโยคนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างเธอกับแม่)

เมื่อเป้าหมายของหนังอยู่ที่ความเป็นมนุษย์ที่ผู้ชมเชื่อมโยงได้ ภาพของ Kaja ที่ปรากฏจึงเป็นเด็กสาววัยรุ่นธรรมดา ตัวละครสมทบที่หนังเลือกให้มีน้ำหนักต่อเนื้อเรื่องก็ยิ่งเบาบางทางการเมือง และตัดขาดจากคุณสมบัติอันพึงมีของวัยรุ่นที่มาเข้าแคมป์ซึ่งจัดขึ้นโดยพรรคการเมืองทั้งสิ้น ทั้งน้องสาวที่ Kaja ต้องตามหาไปตลอดเรื่อง เด็กชายสวมแจ็คเก็ตเหลืองที่พลัดหลงกับพี่ชาย และฮิปสเตอร์ผมจุกที่มาด้วยเหตุผลว่าที่นี่มีสาวมากมายให้ลองสำรวจโอกาส

ตลอดทั้งเรื่องไม่มีการเผชิญหน้า Breivik แบบจะแจ้ง เห็นเพียงวอบแวบอยู่ขอบจอไกลๆ เป็นชายผิวขาวถือปืนไล่ยิงคนบนเกาะอย่างเลือดเย็น (กระทั่งฉากที่ใกล้คนดูมากที่สุดก็ได้เห็นเพียงท่อนขา) เพราะท่ามกลางห่ากระสุนและเสียงกรีดร้องโกลาหล เขาคือภัยคุกคามฉับพลันที่ไร้คำอธิบายและไม่ทันได้เป็นภาพแทนของอะไรทั้งสิ้น ในสายตาของเหยื่อบนเกาะอูเตอญา – ส่วนหนึ่งเพราะเมื่อหนังเลือกใช้วัยรุ่นหญิงนำเรื่องเพียงคนเดียว การปะทะใกล้ชิดคงทำให้เธอตายหรือเจ็บหนักจนหนังเล่าไม่จบตามเวลาทั้งหมดของเหตุการณ์ (ในเมื่อโจทย์หลักของหนังคือการตามติดประสบการณ์ของเธอ) แต่น่าเสียดายที่ความเป็นมนุษย์ชอง Kaja กลับดูล้นเกินเพราะความจงใจ และแทนที่จะช่วยเรื่องความสมจริง บทหนังที่เขียนให้เธอกลับเจือจางความเข้มข้นของหนังลง

จำเป็นแค่ไหนที่หนังต้องมอบภารกิจ “ตามหาน้องสาว” ให้เธอแบกรับไว้ในขณะที่กำลังหนีตาย (หากเธอหนีตายเพียงลำพังหรืออยู่กับกลุ่มเพื่อนจะไม่ลุ้นระทึกพอหรือ?) แถมยังต้องคอยแนะนำการเอาตัวรอดให้เด็กเล็กที่เธอเจอระหว่างทาง ปลอบประโลมลมหายใจสุดท้ายของเหยื่อที่ไม่รอดชีวิต และตระหนักถึงอนาคตตามแบบฉบับหนังก้าวพ้นวัย (coming-of-age)?

ฉากที่มีปัญหาที่สุดคือเมื่อ Kaja หนีตายมาถึงริมชายฝั่ง หลังหาที่ซ่อนอยู่พักใหญ่เพราะมีคนมาหลบบริเวณนี้มาก หนังกลับใช้เวลาสิบกว่านาทีให้เธอคอยตอบคำถามเจ้าฮิปสเตอร์ถึงคุณค่าแห่งชีวิต ระดมความคิดกันแบบทีเล่นทีจริงว่าถ้ารอดชีวิตจากเกาะนี้ไปได้อยากเป็นอะไรหรือจะทำอะไรต่อ พร้อมกล้องตั้งนิ่งจับภาพทั้งคู่ในซอกหิน ส่วนคนอื่นกำลังวิ่งหนีกระสุนของ Breivik ไปอีกทาง – ยิ่งคุยกันยาวเรื่อยไปเท่าไหร่ เสียงปืนที่หนังใส่มาให้ดูสมจริง ก็ยิ่งน่าเชื่อถือน้อยลงเรื่อยๆ และบทสนทนาในห้วงเวลาวิกฤติที่ควรจะกินใจ กลับค่อยๆ ลอยเลื่อนห่างไกลจากบริบทอูเตอญาไปทุกที

ตัวเลือกเหล่านี้ไม่ผิดเลยในเชิงทฤษฎี เพราะในฐานะตัวละครสมมติ เธอย่อมเป็นอะไรก็ได้เพื่อสะท้อนเหยื่อก่อการร้ายในสายตาผู้กำกับ ไม่ว่าจะเรื่องสายสัมพันธ์กับคนรอบตัว ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต (survivor’s guilt) หรือการที่วัยรุ่นคนหนึ่งได้ฉุกคิดว่าชีวิตแสนสั้นและไม่แน่นอน ก็คงเกิดขึ้นจริงกับเหยื่อจำนวนมาก แต่เมื่อทุกอย่างโถมทับอยู่ในระยะเวลาเพียงน้อยนิดของหนึ่งตัวละคร เธอจึงกลายเป็นแค่คาแรคเตอร์ที่พยายามจะครบถ้วนในแบบตำราเขียนบทภาพยนตร์ หากหนังยังเชื่อมั่นในการเล่าแบบลองเทคตลอดเรื่อง อาจดีกว่าด้วยซ้ำถ้าเล่าผ่านตัวละครหลากหลาย ทุกสิ่งที่คนทำหนังต้องการจะได้ไม่อัดแน่นอยู่ในตัวละครแค่ตัวเดียว (แน่นอนว่าการถ่ายทำจะซับซ้อนขึ้น) และเปิดโอกาสให้ใช้คุณสมบัติที่หลากหลาย สะท้อนความคิดและความจริงของเหตุการณ์ในวันนั้นได้แหลมคมกว่าที่เป็นอยู่

เข้าใจได้ไม่ยาก หากความรู้สึกในฐานะเพื่อนร่วมชาติของผู้กำกับนั้นจะเข้มข้น และรู้สึกใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เขาเลือกนำเสนอเหยื่อในฐานะมนุษย์อย่างเต็มที่ และพยายามถอดการเมืองออกจากหนังให้ได้มากที่สุด เพื่อกระตุ้นเตือนให้ใครก็ตามที่ติดกับเรื่องเล่าที่ผูกโยงกับการเมืองเรื่องซ้ายขวา ให้กลับมาตระหนักถึงเนื้อแท้ของคนเจ็บ คนตาย และความสูญเสีย แต่ในขณะเดียวกัน ทางเลือกนี้ก็สะท้อนการเบือนหน้าหนีจากความกลัวที่แท้จริงของหนัง ซึ่งคนทำหนังพยายามจ้องตาสู้ในช่วงแรกเริ่ม แน่นอนว่าคำอธิบายนี้เป็นการเมือง

ประจักษ์พยานในข้อนี้คือข้อความที่ปรากฏขึ้นในตอนท้ายเรื่อง นอกจากระบุข้อเท็จจริงรายละเอียดต่างๆ ของวันที่ 22 ในภาพกว้าง (ระยะเวลาโจมตีบนเกาะอูเตอญา, จำนวนผู้เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ ได้รับผลกระทบทางจิตใจ, ผู้ก่อการ-เป้าหมาย, ผลสรุปรายงานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงหลังจากนั้น) ยังมีการทิ้งท้ายด้วยจุดยืนทางการเมืองของคนทำหนัง โดยระบุว่าแนวคิดขวาสุดโต่ง (Right-wing extremism) กำลังขยายตัวในยุโรปและโลกตะวันตก ในขณะที่ภาพของการก่อการร้ายลักษณะนี้ก็เห็นชัดและเติบโตขึ้นทุกขณะ

ปฏิเสธไม่ได้ (และคนทำหนังคงไม่คิดปฏิเสธ) ว่าแม้โครงสร้างของหนังจะดูเสมือนตีตนออกห่างจากการเมือง แต่ Utøya – July 22 ก็คือภาพสะท้อนความกลัวของยุโรปเสรีนิยมต่อกระแสสูงของฝ่ายขวาในปัจจุบัน ทั้งจากใกล้บ้านและในบ้าน แต่เมื่อแผลของเหตุการณ์ยังไม่ทันตกสะเก็ดดี การพูดหรือวิพากษ์เหตุการณ์ใกล้ใจอาจยากเย็นและเรียกร้องพลังมากเกินไป เช่นเดียวกับ Paul Greengrass คนทำหนังอูเตอญาอีกเรื่อง (22 July) ที่เลือกเล่าส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ 9/11 ใน United 93 (2006) ด้วยวิธีการทางภาพยนตร์แบบเดียวกับ Poppe คือเน้นความสมจริงใกล้ชิดกับเหยื่อก่อการร้าย – สิ่งที่ท่วมท้นในความรู้สึกคนใกล้คือความสูญเสีย มากกว่าความหมายแฝง ผลสืบเนื่อง หรือบริบทของความรุนแรง    

และเมื่อคนทำหนังเปิดเผยเฉดสีที่แท้ให้เราเห็น พลังของเพลง True Colors ของ Cyndi Lauper ที่หนังเลือกใช้จึงยังคงอยู่ (แม้จะดังขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนากับเจ้าฮิปสเตอร์ก็ตาม) ความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อเพลงกับตัวหนังปรากฏขึ้นในสองระดับความหมาย ทั้งสื่อถึงเนื้อแท้ของเหยื่อบนเกาะอูเตอญาว่าพวกเขาคือมนุษย์ เด็กวัยรุ่นที่ถูกคุกคามพรากชีวิต มากกว่าสีที่ Breivik สาดให้พวกเขาเป็นมาร์กซิสต์หรือลิเบอรัลที่สมควรตายเพราะขัดขวางความบริสุทธิ์แบบคริสเตียนของทวีปยุโรป และยังหมายถึงเนื้อแท้ของยุโรปกับโลกตะวันตกที่มีความเกลียดชังล้าหลังรุนแรงแฝงตัวอยู่ ภายใต้ความเปิดกว้างสุขสงบอย่างประเทศโลกที่หนึ่ง

เช่นเดียวกับเกาะอูเตอญาที่เกิดความหมายใหม่ในตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะเมื่อมองพ้นไปจากการเป็นเพียงสถานที่เกิดเหตุแล้ว สภาพทางภูมิศาสตร์ของเกาะกับสภาพการณ์ของการโจมตีในวันที่ 22 ได้กลายเป็นภาพสะท้อนของแรงปะทะทางการเมืองในโลกร่วมสมัย เมื่อพื้นที่ปลอดภัยที่มีปราการธรรมชาติล้อมรอบและสันโดษเหมือนอยู่ในฟองอากาศ (bubble – คำที่นิยมใช้เพื่อวิพากษ์ภาวะทางการเมืองของฝ่ายเสรีนิยม, ลิเบอรัล, ฝ่ายซ้าย, ชนชั้นกลาง ว่าจมอยู่ในโลกของตนเอง) ที่เป็นเสมือนฐานบัญชาการของแนวคิดฝ่ายซ้ายหรือเสรีนิยม ถูกแทรกซึมเข้าทำลายโดยตัวละครฝ่ายขวาหัวรุนแรงที่จำแลงกายเป็นอื่น และความโกลาหลในวันนั้นก็คือความกลัว ความไม่เข้าใจ และอาการจับต้นชนปลายไม่ถูกของฝ่ายซ้ายและเสรีนิยมผู้กำลังสูญเสียโลกที่ปลอดภัย

นี่คือความกลัวที่หนังตั้งใจจะจ้องมองเข้าไปให้ลึกที่สุด แต่แล้วก็ต้องเบือนหน้าหนี

Fact Box

Utøya - July 22 เปิดตัวในสายประกวดหลักเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน (Berlinale) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่พลาดรางวัลให้หนังโรมาเนียเรื่อง Touch Me Not ของ Adina Pintilie และได้เข้าชิง 7 รางวัล Amanda Awards หรือรางวัลภาพยนตร์แห่งชาตินอร์เวย์ เมื่อเดือนสิงหาคม และชนะสองรางวัลคือนักแสดงนำหญิง (Andreas Berntzen ผู้รับบท Kaja) และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Solveig Koløen Birkeland ซึ่งแสดงเป็นเด็กสาวใกล้ตายที่ Kaja เจอระหว่างทาง) แต่พลาดรางวัลสูงสุดกับตำแหน่งตัวแทนประเทศไปลุ้นออสการ์ให้ What Will People Say หนังวิพากษ์ค่านิยมอิสลามอนุรักษ์นิยมของผู้กำกับหญิงเชื้อสายปากีสถาน Iram Haq

Tags: , , , , ,