เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2492 ( ค.ศ. 1949) หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนได้รับชัยชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง (พรรคชาตินิยมจีน) และจอมพล เจียง ไคเชก ต้องถอยร่นไปตั้งรัฐบาลจีนคณะชาติที่ไต้หวัน  

อย่างไรก็ตาม ที่มณฑลยูนนานยังคงมีกองกำลังของพรรคก๊กมินตั๋งอยู่สองกองทัพ คือกองทัพที่ 8 และกองทัพที่ 26 ซึ่งแต่ละกองทัพประกอบด้วยสองกองพล โดย ‘กองพล 93’ เป็นหน่วยหนึ่งที่ขึ้นตรงต่อกองทัพที่ 26 ทำหน้าที่ต่อต้านกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนในพื้นที่ดังกล่าว

ในเวลาต่อมา กองทัพที่ 8 และกองทัพที่ 26 ก็ถูกกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนตีแตกพ่าย ต้องถอยร่นเข้าไปในพม่าตอนบน ก่อนที่กองทัพที่ 26 จะถูกตีแตกพ่ายอีกครั้ง และถอยร่นเข้าไปยังลาวและเวียดนาม ขณะที่อีกส่วนถอยร่นเข้าไปยังรัฐฉานของพม่า

ตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมา พม่าก็ทำการผลักดันกองกำลังทหารเหล่านั้นออกจากประเทศ ซึ่งพวกเขาส่วนหนึ่งก็เข้ามายังชายแดนฝั่งไทย ขณะเดียวกัน พม่าก็เรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาแก้ไขปัญหา และภายหลังการประชุมสี่ฝ่าย (สหรัฐอเมริกา ไทย พม่า และรัฐบาลจีนคณะชาติ) การอพยพทหารกองพล 93 และครอบครัวไปที่ไต้หวันก็เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2496 ถึงเดือนพฤษภาคม 2497 รวมทั้งหมดสามครั้ง โดยมีจำนวนผู้อพยพประมาณ 12,000 คน ซึ่งการอพยพดังกล่าว รัฐบาลไต้หวันส่งเครื่องบินมารับผู้อพยพที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่รัฐบาลไต้หวันจะไม่ยอมรับผู้อพยพเพิ่มเติม

ในช่วงที่ทำการอพยพกองพล 93 ไปสู่ไต้หวัน มีกองทหารจีนคณะชาติจำนวนหนึ่งไม่ได้อพยพไปด้วย ประกอบกับในช่วงนั้นมีขบวนการคอมมิวนิสต์ก่อตัวขึ้นในประเทศไทย รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงติดต่อให้พวกเขาเข้าร่วมต่อต้านขบวนการคอมมิวนิสต์

กองบัญชาการทหารสูงสุดของไทยมีคำสั่งให้ชาวจีนอพยพที่เคยได้รับการฝึกแบบทหารช่วยปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี 2512 โดยมีสมรภูมิเขาค้อในจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นสมรภูมิสุดท้ายในปี 2524

เมื่อสถานการณ์สงบ กองทหารจีนคณะชาติก็แปรสภาพเป็นพลเรือน และหมู่บ้าน 13 แห่งซึ่งเป็น ‘บ้าน’ ของพวกเขาและครอบครัวก็ถือกำเนิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน

เทือกเขาสูงในจังหวัดเชียงราย, ประเทศไทย

เด็กสาวคนหนึ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยพร้อมกับแม่ตั้งแต่เธอยังไม่รู้ความ พ่อของเธอเป็นชายนิรนามซึ่งเธอไม่เคยรู้จัก เธอรู้เพียงว่าแม่ของเธออพยพลี้ภัยจากมณฑลยูนนานเข้าสู่ดินแดนพม่า ก่อนจะถูกผลักดันให้เดินทางข้ามพรมแดนเข้าสู่จังหวัดเชียงราย   

เธอกับน้องชายต้องทำงานหนักตั้งแต่จำความได้ ครอบครัวของเธอเพาะปลูกในที่ดินของคนอื่น และต้องแบ่งผลผลิตส่วนหนึ่งให้กับเจ้าของที่ดิน

หมู่บ้านที่เธออาศัยอยู่เป็นหมู่บ้านของชาวจีนอพยพ เธอจึงมีโอกาสได้ร่ำเรียนภาษาจีนและซึมซับวัฒนธรรมของบรรพบุรุษในจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะเดียวกัน เธอก็ถูกปลูกฝังให้ภักดีต่อสาธารณรัฐจีนและผืนแผ่นดินที่เธอเติบโตขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม สาวน้อยไม่อาจบอกกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าเธอเป็นใคร เธอร้องเพลงชาติไทยและสื่อสารภาษาไทยกับเพื่อนที่โรงเรียน เธอสื่อสารกับแม่ด้วยภาษาจีนและร่ำเรียนภาษาจีนที่โรงเรียนจีนในหมู่บ้าน เธอต้องไปโบสถ์ของศาสนาคริสต์ทุกวันอาทิตย์ในฐานะเงื่อนไขหนึ่งของการรับทุนการศึกษา และวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เธอและคนอื่นๆ ในหมู่บ้านจะกู่ตะโกนว่า “สาธารณรัฐจีนจงเจริญ!” และร่วมเฉลิมฉลองวันชาติของสาธารณรัฐจีนเบื้องหน้ารูปภาพของซุน ยัตเซ็น

เธอยังเด็กเกินกว่าจะรู้ซึ้งว่าเกมกระดานของการแย่งชิงอำนาจคือปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อชะตากรรมของเธอ และความอัตคัดขัดสนของชีวิตก็หนักหนาสาหัสเพียงพอแล้วสำหรับการต่อสู้ดิ้นรนในแต่ละวัน

ความฝันของเธอคือการทำให้ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และการมีบัตรประจำตัวประชาชน

“เพราะมันทำให้หนูท่องโลกได้”

หมู่บ้านในพื้นที่สูง, ภาคกลางของไต้หวัน

หนุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งรู้จักกันมานานร่วม 50 ปี พวกเขาคือชาวจีนจากมณฑลยูนนานรุ่นที่สอง หลังจากพ่อแม่ของพวกเขาอพยพออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดภายหลังการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน

หญิงชราคนหนึ่งยังจดจำภาพความโหดร้ายทารุณในช่วงสงครามกลางเมืองบนแผ่นดินใหญ่ได้ดี สิ่งที่เธอบรรยายนั้นชวนหดหู่ซึมเศร้า และเธอก็ไม่ลังเลที่จะติดตามพรรคก๊กมินตั๋งมาเริ่มต้นชีวิตใหม่บนเกาะไต้หวัน

หมู่บ้านของพวกเขาตั้งอยู่บนพื้นที่สูงอันหนาวเหน็บ คนรุ่นแรกต้องช่วยกันลงหลักปักฐานบนผืนแผ่นดินใหม่ บ้านเรือนค่อยๆ ถือกำเนิด และการเพาะปลูกพืชอาหารเพื่อเลี้ยงชีวิตคือสิ่งแรกที่พวกเขาต้องทำ

ในฐานะผู้มาใหม่ พวกเขาคือคนภูเขาซึ่งแตกต่างจากคนพื้นราบ ชาวจีนจากยูนนานที่แตกต่างทั้งสำเนียงการพูด อาหารการกิน และวัฒนธรรมประเพณี

ณ ตอนนี้ ผู้อพยพรุ่นแรกเหลืออยู่ไม่มากนัก สำหรับคนรุ่นที่สอง ประสบการณ์ ความรู้ และขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้รับสืบทอดต่อมาจึงยิ่งทวีคุณค่าและความหมาย

พวกเขาพยายามเก็บรักษาและสืบทอดรากเหง้าเพื่อยืนยัน ‘ตัวตน’ อันแตกต่าง เพราะเมื่อวันเดือนผ่านไป ตัวตนที่พร่าเลือนเจือจางต่างหากที่ดูเหมือนจะบ่อนเซาะจิตใจของพวกมากขึ้นทุกขณะ    

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย

Stranger in the Mountains คือหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีแปดเรื่องที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันแห่งกรุงเทพฯ 2018 (Taiwan Documentary Film Festival in Bangkok 2018) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมถึง 2 กันยายนที่ผ่านมา

ผู้กำกับ LEE Li-shao ใช้เวลาหลายปีสำหรับการติดตามชีวิตความเป็นอยู่และความรู้สึกนึกคิดของกองกำลังพรรคก๊กมินตั๋งและลูกหลานซึ่งส่วนหนึ่งตกค้างอยู่ในภาคเหนือของไทย และอีกส่วนหนึ่งที่อพยพโยกย้ายไปอยู่ในไต้หวัน

สำหรับในประเทศไทย การต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ต่อเนื่องยาวนานนับสิบปีคือความทรงจำที่ยังคงเด่นชัดสำหรับผู้นำชุมชนในฐานะผู้มีประสบการณ์ตรงในสมรภูมิ และความรู้สึก ความทรงจำ รวมทั้งความจงรักภักดีต่อสาธารณรัฐจีนของพวกเขาก็ถูกถ่ายทอดส่งต่อให้กับลูกหลาน เพราะนอกจากปัจจัยทางกายภาพ เรื่องราวนามธรรมเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นสายใยที่เชื่อมต่อ ‘ตัวตน’ ของพวกเขากับบางสิ่งบางอย่าง อีกทั้งมันอาจเป็นเพียงสิ่งเดียวที่บ่งบอกว่าพวกเขาเป็นใครในฐานะ ‘คนนอก’ ของดินแดนไทย

ในทางตรงกันข้าม ภารกิจของกองพล 93 ในดินแดนไต้หวันเปลี่ยนจากปฏิบัติการในสนามรบเป็นการหักร้างถางพงเพื่อการทำมาหากิน พวกเขาลงหลักปักฐานและเลี้ยงดูลูกหลานในเขตป่าเขาอันหนาวเหน็บ ความเข้มข้นของอุดมการณ์ทางการเมืองดูเหมือนจะถูกเจือจางด้วยการดิ้นรนเอาชีวิตรอดในภูมิอากาศและภูมิประเทศที่ไม่คุ้นเคย รวมทั้ง ‘ความเป็นจีน’ ของพวกเขาก็กลับกลายเป็นความแตกต่าง

สำหรับคนรุ่นที่สอง ‘อัตลักษณ์’ คือสิ่งที่พวกเขาแสวงหาและดำรงรักษา มันคือสายใยที่เชื่อมต่อ ‘ตัวตน’ ของพวกเขากับบางสิ่งบางอย่าง และมันก็อาจเป็นเพียงสิ่งเดียวที่บ่งบอกว่าพวกเขาเป็นใครในฐานะ ‘คนนอก’ ของดินแดนไต้หวัน

ทว่าสำหรับสาวน้อยซึ่งอยู่ในฐานะคนนอกของดินแดนไทย ภาษาจีนที่เธอร่ำเรียนคือหนึ่งในหลักประกันว่ามันอาจทำให้เธอมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ขณะที่เรื่องราวของกองพล 93 ในดินแดนไทยก็ช่วยให้เธอมีรายได้จากการมาเยือนของนักท่องเที่ยว

แต่ต่อคำถามที่ว่า ‘เธอเป็นใคร’ คำตอบดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับเรี่ยวแรงและหัวใจของเธอเอง

Fact Box

  • ที่ดอยผาตั้ง จังหวัดเชียงราย เสิ่น ชิงฝู บุตรชายของเสิ่น เจียเอิน พลเอกแห่งกองพล 93 เริ่มปลูกกาแฟทดแทนการปลูกฝิ่นตั้งแต่ปี 2525 และ ‘กาแฟกองพล 93’ (93 Army Coffee) ก็ถือกำเนิดในปี 2552 โดยมีใบหน้าบิดาของเขาเป็นตราสัญลักษณ์
  • ปัจจุบัน เสิ่น เผยซือ (ลิซ) บุตรสาวของเขา คือเจ้าของและบาริสตาประจำร้าน 93 Army Coffee โดยมีสโลแกนของร้านว่า “We Make Coffee Not War”

แวะชิมกาแฟอาราบิกาจากดอยผาตั้งและฝีมือการชงของลิซได้ที่ https://her.is/2Q5TKGr http://www.93armycoffee.com/ และ https://www.facebook.com/93army/

Tags: , , , ,