วันที่ 14 มิถุนายน 2566 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ (เตรียมพัฒน์) ออกแถลงการณ์ระบุถึงสถานะความเป็นนักเรียนของ หยก-ธนลภย์ เยาวชนนักเคลื่อนไหวอายุ 15 ปี ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนถูกไล่ออกจากโรงเรียน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ธนลภย์โพสต์รูปตัวเองสวมชุดไปรเวท และทำผมสีชมพูไปโรงเรียน ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมเขียนข้อความกำกับว่า อยากให้สถาบันการศึกษาตระหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพ และตั้งใจพัฒนาการเรียนการสอน มากกว่าเคร่งกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น

“สัปดาห์ที่แล้วเป็นสัปดาห์แรกที่เราใส่ชุดไปรเวท และเป็นสัปดาห์ที่สามแล้วที่เราย้อมสีผมและทำทรงผมที่เราสะดวก เราเข้าเรียนตามปกติทุกคาบที่มีเรียน เราคิดว่าการแต่งกายและทรงผมไม่ใช่ตัวชี้วัดผลการเรียนของเรา” ธนลภย์กล่าว

ต่อมา วันที่ 13 มิถุนายน 2566 ธนลภย์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพิ่มเติมว่า ถูกรองผู้อำนวยการ 2 คน และครูอีก 4 คน เรียกเข้าไปคุยและสอบถามว่าไปทำอะไรมา ทำไมรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งในระหว่างการพูดคุย เธอขอโทรศัพท์หาผู้ปกครองและกดอัดเสียง เพื่อให้ผู้ปกครองรับรู้ว่าคุยเรื่องอะไรกับครูอยู่ แต่กลับถูกครูตำหนิกลับมา

“ครูผู้ชายก็พูดขึ้นมาว่า รักษาสิทธิแต่ละเมิดสิทธิคนอื่น เราถามละเมิดสิทธิคนอื่นตรงไหน เขาตอบ ก็อัดเสียง”

สถานการณ์ตรงหน้าทำให้เธอรู้สึกอึดอัด จึงขอออกจากห้อง แต่กลุ่มครูกลับพยายามห้ามไม่ให้เธอออก จนเธอต้องมุดโต๊ะหนีออกไป สุดท้ายแล้วรองผู้อำนวยการคนหนึ่งบอกเธอว่า “จะคืนค่าเทอมให้” และครูอีกคนพูดกับเธอว่า “จำไว้นะว่าเธอคือบุคคลภายนอก”

วันต่อมา (14 มิถุนายน 2566) ธนลภย์พยายามปีนรั้วเพื่อเข้าโรงเรียน หลังจากยืนรอพนักงานรักษาความปลอดภัยเปิดประตูกว่า 3 ชั่วโมง โดยเธออธิบายผ่านไลฟ์เฟซบุ๊กว่า “หนูไม่สามารถเข้าไปเรียนได้ เพราะผู้บริหารสั่งมาว่าไม่ให้เปิดประตูถ้าเห็นหนู”

ภายในวันเดียวกัน โรงเรียนออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานะนักเรียนของธนลภย์ โดยชี้แจงว่า เธอสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในปีการศึกษา 2565 และโรงเรียนมีกำหนดให้มอบตัวเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภายในวันที่ 2 เมษายน 2566 อย่างไรก็ดี ก่อนวันมอบตัว 1 วัน มารดาของธนลภย์ได้มาแจ้งขอเลื่อนการมอบตัวออกไปก่อน

ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 หลังจากธนลภย์ถูกปล่อยตัวจากคดีอาญา มาตรา 112 โรงเรียนจึงรับเธอเข้าศึกษาไว้ก่อน แม้ยังไม่ได้มอบตัวตามกระบวนการ และแจ้งให้ผู้ปกครองมามอบตัวให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่โรงเรียนต้องยืนยันข้อมูลกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่กลับไม่มีการมอบตัวในวันดังกล่าว ธนลภย์จึงไม่มีข้อมูลในระบบ และถือว่าไม่ได้เป็นนักเรียนของโรงเรียนในปีการศึกษา 2566

นอกจากนี้ แถลงการณ์โรงเรียนแจ้งว่า ธนลภย์ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน เช่น ใส่ชุดไปรเวท ทำสีผม เข้าเรียนไม่ครบถ้วน ขอไม่เข้าร่วมกิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมหน้าเสาธง และอื่นๆ ซึ่งขัดแย้งกับโพสต์ของธนลภย์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ที่กล่าวว่า “เข้าเรียนตามปกติทุกคาบที่มีเรียน”

สุดท้าย โรงเรียนย้ำทิ้งท้ายว่า ไม่เคยปฏิเสธการรับหยกเข้าเรียน ถึงแม้ว่าหยกจะไม่ให้ความร่วมมือปรับปรุงพฤติกรรมตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

Tags: , ,