ทุกครั้งที่เดือนตุลาคมเวียนมาถึง ชื่อของคนเดือนตุลาฯ ผู้ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 จะปรากฏผ่านสื่อ ถูกพูดถึง และถูกอ้างอิงอยู่เสมอ

แต่เมื่อการเมืองไทยพลิกขั้วไปอีกชั้น ฝ่ายประชาธิปไตยถูกหั่นครึ่งเป็นหลายมิติ คำถามที่มักจะตามมาเสมอก็คือ เพราะเหตุใด คนเดือนตุลาฯ ถึงเปลี่ยนไป เพราะอะไร คนเดือนตุลาฯ บางคนถึงตัดสินใจ ‘ตรงข้าม’ ไปจากเดิม หรือคนเดือนตุลาฯ ยังคงมี ‘อุดมการณ์’ แบบเดิมอยู่หรือไม่

The Momentum คุยกับ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) อดีตนักศึกษาผู้ผ่านเหตุการณ์ล้อมปราบเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมฯ หนึ่งในผู้ที่ถูกนิยามว่าเป็น ‘คนเดือนตุลาฯ’ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงความหมายของคำนี้ ในมุมมองของเขา

คำว่า ‘คนเดือนตุลาฯ’ ในนิยามของคุณหมายถึงอะไร

คนที่ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 คนที่ผ่านช่วงเวลาสามปีนี้ รวมไปถึงคนที่เข้าป่า และคนที่เลิกไปก่อนจะเข้าป่า

คนเดือนตุลาฯ กลายเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทอย่างมากในการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การพัฒนาฯ นักการเมือง หรือนักวิชาการ จนหลายคนยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษประชาธิปไตย คุณมองสิ่งเหล่านี้อย่างไร 

เพี้ยน ผมว่าเพี้ยน

คุณมองการเปลี่ยนไปของคนเดือนตุลาฯ อย่างไร

อธิบายง่ายๆ เลย คนมันเปลี่ยน ไม่เห็นจะยากอะไรเลย ทุกคนก็เปลี่ยนกันทั้งนั้น ไม่ใช่เหรอ

เห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเปลี่ยนเสมอ แต่ทำไมคนเดือนตุลาฯ จึงกลายเป็นจำเลยทางสังคม ที่เหมือนกับว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

คำถามนี้ผมยอมรับว่าดูเหมือนจะเป็นแบบนี้ และผมไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งผมคิดว่าคนเปลี่ยนไป มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ไม่ใช่เรื่องพิเศษ ส่วนที่บอกว่ามีความคาดหวังและกลายเป็นจำเลยของสังคม ผมคิดว่าสังคมมีสิทธิที่จะตั้งความหวัง และดูเหมือนทุกคนจะคาดหวังกันไปแล้ว แต่ความคาดหวังนี้มันไม่ Realistic หมายถึงคาดหวังให้ตายอย่างไรคุณก็ผิดหวัง เพราะอย่างไรคนเดือนตุลาฯ ก็จะเปลี่ยนไป

แต่การคาดหวังนั่นหมายถึงคุณได้กำหนด Essence กำหนดธาตุแท้ของคนเหล่านี้ ซึ่งต้องมาดูต่อว่าคุณกำหนดด้วยอะไร หากกำหนดด้วยเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ที่ไม่ได้มีแค่ฝ่ายซ้าย และหากมองให้ลึกลงไปอีก เขาไม่ได้เพิ่งเกิดมาในช่วงเดือนตุลาฯ เขาเกิดมาก่อน มีชีวิตมาก่อนเดือนตุลาฯ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเขาเติบโตมาอย่างไร รายละเอียดความคิดเป็นแบบไหน คนมันหลากหลายร้อยพ่อพันแม่

เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์จะเกิดความเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงคนเดือนตุลาฯ ซึ่งมีความซับซ้อนหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพื้นเพ ความคิด ที่คนบางกลุ่มอาจไม่ได้เป็นฝ่ายซ้ายหรือหัวก้าวหน้าตั้งแต่แรก?

ในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาฯ เราจะเห็นว่า กลุ่มรอยัลลิสต์ก็เป็นส่วนหนึ่งของเดือนตุลาฯ หรือฝ่ายซ้ายเองก็มีหลายประเภท ไอ้คำที่ชอบพูดกันว่า พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ครอบงำความคิด ผมเห็นด้วย แต่สิ่งนี้ไม่ได้เท่ากับทำให้ปัจเจกบุคคลแต่ละคนถูกครอบงำไปตลอดกาล

สิ่งที่ผมจะพูดหลังจากนี้ อาจทำให้หลายคนโกรธ หลายคนหาว่าผมหลีกเลี่ยง ผมไม่ได้หลีกเลี่ยง สิ่งที่จะพูดคือ ใช่ ต่อให้ฝ่ายซ้ายในเดือนตุลาฯ จะเป็นเด็กอายุ 20 ปี แต่คุณคิดว่าเด็กอายุ 20 ปี ความคิดมันลงตัวทุกอย่างแล้วเหรอ ถ้าตอนนั้นมันเป็นฝ่ายซ้ายก็เป็นฝ่ายซ้ายอายุ 20 ปี แต่ตอนนี้เขาอายุ 40-50 ปี แถมผ่านเหตุการณ์ที่ พคท.ล่มสลาย สังคมเปลี่ยน และก่อนหน้านี้เขามีชีวิต ความคิดอย่างไรเราก็ไม่รู้ พูดง่ายๆ แทนที่จะถือเดือนตุลาฯ เป็น Essence อยากให้ถือเป็นช่วงชีวิตหนึ่งของเขาแทน

มองคำถาม ‘คนเดือนตุลาฯ ทำไมถึงเปลี่ยนไป’ อย่างไร

เวลาบอกว่าคนเดือนตุลาฯ ทำไมเปลี่ยนไป มันทำให้เห็นว่าเรากำลังมองสองสิ่งซ้อนกันตลอดเวลา คือ 1. Collective และ 2. ตัวบุคคล เวลาเราบอกว่าเขาเปลี่ยนไป แน่นอนว่าเรากำลังมองเขาในแง่ตัวบุคคล หากพูดชื่อของคนเดือนตุลาฯ ที่เปลี่ยนไปแน่นอนว่ามีเยอะ แต่กลับกันหากถามว่า นึกชื่อคนที่ไม่เปลี่ยนไปออกไหม มันก็มีเยอะเช่นกัน ผมขอตั้งคำถามในแง่ Collective ทิ้งไว้ตรงนี้ว่า เราสามารถกำหนดคาแรกเตอร์คนเดือนตุลาฯ ได้ชัดๆ เป็นเอกภาพไหม

คิดว่าไม่สามารถกำหนดได้

ผมก็คิดว่าไม่ ในเมื่อไม่ คุณก็ต้องยอมให้ปัจเจกเขาเป็นได้หลายทาง ผมถามหน่อยว่าสมมติอีก 20 ปี เพนกวิ้น (พริษฐ์ ชิวารักษ์ ) และรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) เขาไม่ประกาศห้าวหาญแบบที่เคยทำ คุณจะกักขังเขาไว้กับอดีตเหรอ ทำไมไม่ให้เขาเป็นอย่างที่เขาอยากเป็น ซึ่งสิ่งที่เขาทำมาตลอด เราสามารถยกย่องและควรที่จะยกย่องความกล้าหาญในช่วงอายุที่ผ่านมา โดยไม่ต้องไปขังเขาไว้ตรงนั้น และความเป็นจริงคุณก็ขังเขาไว้ไม่ได้ มันคือความคาดหวังของคุณเอง ซึ่งมันมีแต่จะทำให้คุณสมหวังหรือผิดหวัง ผมขอถามแรงๆ ในเรื่องนี้เลยว่า “แล้วมันเป็นเรื่องอะไรของคุณ”

คำตอบของคำถามเหล่านี้คือ เพียงแค่มองคนเดือนตุลาฯ เป็นมนุษย์สามัญเท่านั้น

ใช่เราแค่มองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น หลายคนบอกว่าคนเดือนตุลาฯ มักประสบผลสำเร็จมากมาย แต่คนที่ล้มเหลวมีไหมก็มีเยอะ แต่คุณไม่เห็นเพราะคนเหล่านั้นไม่ใช่บุคคลสาธารณะ ตอนนี้มันกลายเป็น Discord ไปแล้ว ซึ่ง Discord มันสร้างความเข้าใจผิด

ทำไมคุณไม่คิดว่าคนที่ประสบผลสำเร็จ เขามีปัจจัยที่คิดสอดคล้องกับบริบท ทำไมคุณไม่บอกไปถึงบริบทเหล่านั้นแทนที่จะยกให้เป็นฝีมือคนเดือนตุลาฯ ล้วนๆ สิ่งที่หลายคนทำแล้วมันล้มเหลว นั่นเพราะสิ่งที่เขาทำมันไม่สอดคล้องกับบริบท สุดท้ายคุณก็จะเห็นแค่จำนวนคนที่ประสบผลสำเร็จและเปลี่ยนเป็นฝ่ายขวา นั่นเพราะบริบทมันเอียงขวาไปเรื่อยๆ มันก็มีสิทธิว่าสุดท้ายคนที่คุณเห็นก็จะมีแต่คนที่เอียงขวา เพราะคนที่ไม่ประสบผลสำเร็จคุณตัดเขาออกจาก Collective

คำถามสุดท้าย คิดอย่างไรกับการ Sterotype คนเดือนตุลาฯ

ผมคิดว่าหลายคนติดกับดักวาทกรรม Sterotype คนเดือนตุลาฯ สำหรับผมคนเดือนตุลาฯ มีความหมายง่ายๆ นั่นคือคนที่ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาฯ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาจะเป็นหลังจากนั้นมันคือเรื่องของเขา
ผมวิจารณ์เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการด้อยค่า เพราะสิ่งที่เขาทำเป็นคุณูปการมหาศาล ซึ่งไม่เกี่ยวว่าเขาจะกลายเป็นคนอย่างไรในเวลาหลังจากนั้น

วีรกรรมหรือการตัดสินใจในตอนนั้นมันไม่ได้เปลี่ยน มันยังอยู่ของมัน เพราะฉะนั้น คนเดือนตุลาฯ ควรเป็นชื่อที่ใช้เรียกถึงวีรกรรม คุณูปการของคนจำนวนหนึ่งในอดีตและจบลงตรงนั้น สิ่งที่เกินมาจากนั้น เป็นความหวังที่เราพยายามตรึงเขาไว้ ด้วย Essence ที่เรากำหนดเองและคาดหวังไม่ให้เขาเปลี่ยนเอง ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม

Tags: , , ,