สถานการณ์การเมืองไทยในรอบหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การตัดสินใจเลือกจับมือกับพรรคการเมืองใดบ้างเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามากที่สุดในห้วงยามนี้

ตั้งแต่จังหวะแรกที่ข้ามขั้วมาจับมือกับ ‘พรรคภูมิใจไทย’ เพื่อเป็นแกนนำหลักในการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 สิงหาคม 2566) ตามด้วยการเปิดตัวอีก 6 พรรคร่วมรัฐบาลได้แก่ พรรคประชาชาติ พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย และพรรคเพื่อไทยรวมพลัง เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (9 สิงหาคม 2566) 

อาจกล่าวได้ว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นนับตั้งแต่ที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำหลักในการจัดตั้งรัฐบาลแทน

ภายหลังที่พรรคเพื่อไทยกลายเป็นแกนนำหลักในการจัดตั้งรัฐบาล กลายเป็นว่าพรรคที่ชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งอย่างพรรคก้าวไกลถูกเตะออกจากสมการการจัดตั้งรัฐบาล และต้องย้ายฟากไปเป็นฝ่ายค้าน ต่อด้วยการประกาศยกเลิก MOU ทั้ง 2 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล และ MOU ที่ทำกับพรรคก้าวไกลระหว่างการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามด้วยการหันไปจับมือกับฝ่ายขั้วอำนาจเก่าเพื่อเร่งจัดตั้ง ‘รัฐบาลสมานฉันท์’ 

การเคลื่อนไหวเหล่านี้สร้างความไม่พอใจ และตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป นักวิชาการ หรือแม้แต่โหวตเตอร์เพื่อไทย และ ‘คนเสื้อแดง’ หลายคน ต่างออกมาแสดงความรู้สึกผิดหวัง ออกมาเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยทบทวนจุดยืน หรือไปจนถึงขั้นกล่าวว่าจะไม่โหวตให้พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งสมัยถัดไป

The Momentum คุยกับ ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตรักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เกี่ยวกับท่าทีและการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล ณ ขณะนี้

ในฐานะที่คุณเป็นแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดง (นปช.) คุณมีความคิดเห็นต่อท่าทีของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ในการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย และอีก 6 พรรคร่วมรัฐบาลอย่างไร

เบื้องต้นเราเป็นอดีตประธานกลุ่ม นปช. แต่ก็สัมพันธ์อยู่กับพรรคเพื่อไทยในแง่ของการต่อสู้มาหลายปี อย่างไรก็ตามเราไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค และไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับพรรคในการตัดสินใจแต่อย่างใด หากถามในมุมส่วนตัว จะถือว่าขบวนการของคนเสื้อแดงเป็นสิ่งที่แยกต่างหาก ไม่ใช่อันเดียวกันกับพรรค คนเสื้อแดงมีอุดมการณ์และเป็นขบวนการที่มีการจัดตั้ง มีโครงสร้างการนำในแต่ละระดับจำนวนหนึ่ง จึงเป็นคนละส่วนกัน แต่หลายคนมักจะมองว่าคนเสื้อแดงคืออันเดียวกับพรรคเพื่อไทย ในทัศนะเรามองแบบนี้ แต่ว่าคนอื่นอาจมองไม่เหมือนกันก็ได้

เพราะฉะนั้นเราจึงเข้าใจในส่วนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนคนเสื้อแดงที่เป็น DNA ของนักต่อสู้ ไม่ใช่ DNA นักการเมืองหรือแฟนคลับพรรค ส่วนในฐานะของประชาชนที่ต่อสู้ร่วมกันมาทั้งแนวคิดและอุดมการณ์ ก็ต้องยอมรับว่าตอนนี้ไม่แฮปปี้ ไม่ชอบที่จะจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว อาจพูดได้เหมือนกันว่าพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมน้อยลงหากดูจากจำนวนตัวเลขโหวตเตอร์ที่ลดลงมาราวห้าล้านเสียง หากเทียบกับยุครัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) 

จากใจคนที่ต่อสู้มายาวนานนับสิบกว่าปี คนเสื้อแดงมีความคิดในเรื่องของการต่อสู้ทางการเมืองที่มองอีกด้านเป็นคนละขั้วอย่างชัดเจนมาก การต่อสู้ที่เข้มข้นและการสูญเสียที่ยาวนานทำให้เขาอาจจะขาดความเชื่อมั่นว่า การเลือกพรรคเพื่อไทยมาตั้งหลายครั้งก็ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ และตอนนี้พรรคข้ามขั้วก็ยิ่งไม่แฮปปี้เลย และจะยิ่งไม่แฮปปี้อย่างที่สุดถ้ามี ‘สองลุง’ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ) หรือกระทั่ง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ มาร่วมด้วย เหมือนกับว่าอะไรที่มันหล่อเลี้ยงที่ขึงตึงกันอยู่มันหมดไปแล้ว มันขาดสะบั้น หากพรรคเพื่อไทยตัดสินใจเช่นนั้นจริงๆ

คุณมีความคิดเห็นต่อการที่พรรคเพื่อไทยฉีก MOU กับพรรคก้าวไกล และผลักพรรคก้าวไกลให้ไปเป็นฝ่ายค้านอย่างไร

การปล่อยมือจากพรรคก้าวไกลเป็นจุดแรกของความไม่พอใจ ประชาชนต้องการให้สองพรรคนี้เป็น ‘ข้าวต้มมัด’ หมายถึง ต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตย (หรือที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายเสรีประชาธิปไตย) ชนะเลือกตั้ง เพราะถ้าสองพรรครวมกันอย่างไรก็ชนะและเป็นเสียงข้างมากอยู่แล้ว แต่กติกาที่เป็นมรดกของการสืบทอดอำนาจทำให้ไม่สามารถเอาชนะได้ เพราะฉะนั้นจึงมีความคิดหลายรูปแบบว่าจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ได้อย่างไร? อีกทั้งอุปสรรคที่สำคัญก็กลายเป็นเรื่องราวของพรรคก้าวไกลด้วย

เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ใครจะคิดว่าจะใช้กลยุทธ์อะไร ทางพรรคเพื่อไทยเขาก็คงถูกบีบจากระบอบอำมาตย์พอสมควร นี่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่เป็นประชาธิปไตยที่มีชนชั้นนำจารีต อำนาจนิยมยังมีบทบาทพลังและอำนาจสูง เขาคงบีบพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล พยายามแยกพรรคเพื่อไทยออกมา ขณะที่เตะพรรคก้าวไกลออกไป

ในส่วนนี้ อาจารย์ก็เข้าใจพรรคเพื่อไทยว่าเขาคงถูกบีบมาก เราก็เห็นเขาเป๋ไปเป๋มาจนพูดไม่รู้เรื่องแล้ว พูดได้ทุกรูปแบบ เช่นว่า แคมเปญ ‘ไล่หนูตีงูเห่า’ เป็นเพียงการหาเสียงเท่านั้น คือเป๋หมดเลย ไม่สามารถรักษาหลักการได้ มีแต่คิดเพียงว่าจะทำอย่างไรให้ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งหลังจากนี้ก็คงไม่ได้รับความเชื่อถือหรือเคารพอีกต่อไป

แต่ถ้าถามว่าอาจารย์เห็นใจพรรคเพื่อไทยไหม อาจารย์ก็ทั้งเข้าใจและเห็นใจนะ ยังถือว่าเป็นมิตรกันอยู่ แต่ปรากฏการณ์ที่จับมือกับพรรคอื่นๆ ในเวลานี้และปล่อยมือพรรคก้าวไกล ก็เท่ากับว่าเขาก้าวข้ามเส้นแบ่งฝ่ายเสรีประชาธิปไตยแล้ว และไม่ใช่คนอื่นข้ามมาหา แต่กลายเป็นก้าวข้ามไปหาคนอื่นต่างหาก เพราะจริงๆ แล้วถ้าสองพรรคนี้รวมกันเสียงเกินครึ่งอยู่แล้ว  แต่ตอนนี้เขาก้าวข้ามไป เพราะเขาไม่สามารถแก้ปัญหาการเป็นรัฐบาลได้

แต่คนบางส่วนก็มองว่าต้องไปจับมือกับฝ่ายนั้นตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพื่อที่จะให้คุณทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร) กลับบ้าน อันนี้เป็นมุมมองของคนอื่น เพราะฉะนั้นเขาจึงเหลือทางเลือกเดียวที่จะไม่ให้เป๋ไปมากกว่านี้ คือต้องขอให้พรรคก้าวไกลช่วยโหวตให้เพื่อปิดสวิตช์ ส่วนตัวมองว่ายากสำหรับพรรคก้าวไกล ทำไมเขาต้องเป็นคนเสียสละ 

แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ตอนนี้ฐานเสียงก็รับไม่ได้ไปแล้ว และเขาอาจจะตั้งรัฐบาลได้โดยหันมาจับมือกับขั้วนี้ แต่เขาจะไม่มีอนาคตทางการเมืองอีก นอกจากเป็นรัฐบาลได้หนเดียวและต่อไปอาจจะตกต่ำยิ่งกว่าพรรคประชาธิปัตย์เสียอีก 

จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พบว่าคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งหันมาเลือกพรรคก้าวไกลหลายคน คุณมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

เป็นจำนวนมากเลยแหละ ตัวอย่างเมื่อไม่กี่วันก่อนที่มีกลุ่มคนขับแท็กซี่สนามบินสุวรรณภูมิไปเรียกร้องที่หน้าตึกพรรคเพื่อไทย นั่นเขาเป็นคนเสื้อแดงจริงๆ ที่สู้มาด้วยกันกับเรา เขายังมีความรู้สึกในฐานะของ ‘คนเสื้อแดง’ ที่สู้มากับพรรคเพื่อไทยในตอนนั้น ถึงแม้ตอนนี้เขาจะเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลแต่ก็ยังคงเป็นคนเสื้อแดงอยู่ 

หลายคนคงสับสนหรือคิดว่า คนเสื้อแดง = โหวตเตอร์เพื่อไทย แต่ที่จริงเสื้อแดงไม่ได้แปลว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่เลย เหตุการณ์กลุ่มคนขับแท็กซี่วันก่อนชัดเจนมากว่าเขาเอาเสื้อแดงที่เป็นชื่อ ‘พรรคเพื่อไทย’ มาคืน แต่เขายังคงบอกว่าตัวเองคือ ‘คนเสื้อแดง’ อยู่ เขาเป็นคนเสื้อแดงที่ไปสนับสนุนพรรคก้าวไกล และนี่แหละคือความจริง

อย่าลืมว่าพรรคเพื่อไทยก็เพิ่งเอาสัญลักษณ์สีแดงมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น ในอดีตสีแดงเป็นสีและสัญลักษณ์ของการต่อสู้  ตั้งแต่ต่อต้านรัฐประหารปี 2549 และการต่อต้านรัฐธรรมนูญปี 2550 เราก็ใช้สัญลักษณ์สีแดงนี้มาตลอด ในห้วงเวลานั้นพรรคเพื่อไทยในกรุงเทพฯ และอีกหลายๆ ที่เขาไม่แฮปปี้ที่จะให้มีเสื้อแดงเข้ามาด้วยซ้ำ เพราะยังหวังจะได้โหวตเตอร์จากเสื้อสีอื่น เพราะฉะนั้นก็จะมีภาวะที่บางครั้งบอกให้เรา ‘ถอดเสื้อแดง’

อาจารย์เคยคุยกับคุณทักษิณตัวต่อตัวเลย ตอนนั้นเขามีโทรศัพท์เห็นเขาคุยกับคนอื่น เราเลยลองโทรไปขอสายพูดบ้าง ก็ยกหูโทรศัพท์มาแล้วพูดว่า “ที่คุณทักษิณไปบอกให้คนเสื้อแดงเขาถอดเสื้อนั่นไม่ได้หรอก เขายิ่งแค้นเพราะเพิ่งถูกจัดการมา” (เหตุการณ์ตอนนั้นคือช่วงปี 2554 หลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553) คุณทักษิณตอบประมาณว่า “จะใส่ไม่ใส่ก็ขอให้โหวตให้เพื่อไทยก็แล้วกัน” ซึ่งตอนนั้นก็โหวตให้อยู่แล้วเพราะมีอยู่พรรคเดียว (หัวเราะ) ไม่รู้จะไปโหวตให้ใคร คู่แข่งก็เป็นพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นคู่กรณี

ทั้งนี้ ที่อาจารย์พูดไปทั้งหมดคือ จะแสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งปีก่อนหน้านี้สีแดงไม่ใช่สัญลักษณ์พรรค จริงๆ คนเสื้อแดงออกมาสู้และเป็นโหวตเตอร์ด้วย และอยู่ในขบวนการต่อสู้ด้วย เพราะฉะนั้นจึงอยากให้แยกแยะ และเท่าที่อาจารย์เข้าใจ ก็คิดว่าด้วยความที่เขาเป็นนักต่อสู้เขาก็อาจจะไม่ใช่โหวตเตอร์เพื่อไทยอีกต่อไป 

ถ้าอย่างนั้น ‘สีแดง’ และ ‘คนเสื้อแดง’ กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ตั้งแต่เมื่อไร

สีแดงเพิ่งถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ (ปี 2566) เท่านั้น อาจด้วยเพราะฐานเสียงของพรรคที่จำนวนตัวเลขโหวตเตอร์ลดลงแบบเห็นได้ชัด ถ้าไม่เสียไปขนาดนี้คงไม่เอาสีแดงไปเป็นสัญลักษณ์ อาจกล่าวได้ว่าพรรคเพื่อไทยเอาสีแดงไปเป็นสัญลักษณ์เพื่อที่จะเรียกคนเสื้อแดงกลับคืน เพราะฉะนั้นจึงอาจมีความสับสนระหว่างคำว่า ‘คนเสื้อแดง’ กับ ‘คนพรรคเพื่อไทย’ เรื่องของคนเสื้อแดงซับซ้อนอยู่เหมือนกัน

ที่จริงคุณณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ก็ไปช่วยดึงคนเสื้อแดงให้กลับมาเลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งรอบนี้ได้เยอะ หากไม่มีณัฐวุฒิไปเป็นผู้ช่วยหาเสียงจำนวนโหวตเตอร์อาจจะน้อยกว่านี้จนไม่ถึงสิบล้านเสียงก็ได้

คุณณัฐวุฒิเขาถือว่า พรรคเพื่อไทยเป็นบ้านเก่า และเขาเติบโตขึ้นมาคนละสายกับเรา ซึ่งเราเป็นสายการต่อสู้ภาคประชาชนมานาน แต่ณัฐวุฒิเขาเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย เขาอยู่สายการเมือง เขาเคยเป็นรัฐมนตรี ดังนั้นจึงถือว่าเป็นบ้านเก่า เขาก็เคยถามอาจารย์ว่าแล้วจะให้เขาไปอยู่พรรคก้าวไกลหรือ เขาก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ตรงไหนเพราะเป็นคนละแบบ คนละรุ่นกัน เขาไม่ใช่แบบอาจารย์ปิยบุตร (ปิยบุตร แสงกนกกุล) พวกนี้เขาก็มีสายมีเส้นทางของเขา

ณัฐวุฒิเขามาทางนี้ เติบโตแบบนี้ในพรรคไทยรักไทย และในฐานะแกนนำคนเสื้อแดงมาโดยตลอด เรียกว่าเป็น ‘ผู้นำไพร่’ หรือ ‘นักเลงบ้านนอก’ มากกว่า แต่ยังไม่ใช่ปัญญาชนแบบฝ่ายบริหารพรรคก้าวไกล แต่ความสามารถของณัฐวุฒิในการพูดและการเป็นที่รักของคนเสื้อแดงก็มีพอสมควร จึงเรียกได้ว่าเขาดึงฐานเสียงกลับมาให้เยอะ แต่ขนาดเยอะแล้วก็ยังเหลือเพียงราวสิบล้านเสียงเท่านั้น

คุณคิดเห็นอย่างไรกับการที่คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย และรู้สึกผิดหวัง ณ ขณะนี้

คิดว่าเป็นส่วนน้อยที่ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย คนส่วนใหญ่เขาเงียบๆ แต่คงไม่โหวตให้อีกแล้ว และคนเสื้อแดงกลายไปเป็นเสื้อส้มเพราะตอนนี้มีทางเลือกอื่น ไม่แน่ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจมีพรรคการเมืองอื่นเป็นทางเลือกใหม่อีกก็ได้ 

เราไม่ได้ถือว่าพรรคเพื่อไทยเป็นศัตรู เพียงแต่ว่าเราไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ทำ เราเป็นเพื่อนที่สู้ด้วยกันมา มีผิดมีถูก เราไม่เห็นด้วยกับทางนี้ และเคยเตือนไป เพียงแต่เขาไม่ฟังสักครั้งหนึ่ง ตั้งแต่แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ตั้งแต่นิรโทษกรรมสุดซอย จนกระทั่งมาถึงการเซ็นให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court-ICC) ให้สามารถเข้ามามีขอบเขตตรวจสอบค้นคว้าได้ มีหลายเรื่องแต่นี่คือเรื่องใหญ่ๆ ที่เตือนเขามาตลอดแต่เขาไม่ฟัง หากถามว่ารู้สึกอย่างไร เราก็ไม่พอใจ แต่ว่าโศกนาฏกรรมมันไม่ได้เป็นเพียงของพรรคเขา แต่มันเป็นโศกนาฏกรรมของขบวนการประชาชนไปด้วย

อาจารย์ยังเชื่อว่า ถ้าเขาฟังพวกเราที่อยู่ในขบวนการต่อสู้บ้าง มันจะไม่มีวันนี้ของพรรคเพื่อไทย สิ่งที่พวกเราเสนอไปเป็นตามนั้นเพราะเราเข้าใจจิตวิญญาณของคนเสื้อแดง คนเหล่านี้มันไม่ใช่เพียงแค่ว่าเขาสนับสนุนพรรคเพื่อไทยหรือรักคุณทักษิณ แต่เขารักความสำเร็จของการต่อสู้และต้องการไปสู่จุดมุ่งหมายซึ่งมันยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก

เราเชื่อมั่นว่า ด้วยความที่อยู่กันมานาน สู้กันมาถึงบัดนี้ เขาเข้าใจการต่อสู้และมีความมุ่งหวังที่จะทำให้การต่อสู้ได้รับชัยชนะ และทวงความยุติธรรมและให้เป็นจริงให้ได้ เขาเจ็บปวดมามาก ทีนี้พอพรรคเพื่อไทยเริ่มข้ามขั้ว ตั้งแต่ปล่อยมือพรรคก้าวไกลเป็นขั้นแรก และหันไปจับมือพรรคภูมิใจไทยในขั้นที่สอง หลังจากนั้นก็จะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคสองลุงเป็นขั้นที่สาม ขั้นที่สามก็จบ จบเห่พอดี

หากไปถึง ‘ขั้นที่สาม’ (ที่พรรคเพื่อไทยอาจไปจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์) คุณมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

ก็ตามที่บอกเลยว่าจบเห่ (หัวเราะ) อาจารย์ไม่ได้เป็นอะไรกับพรรคนี้ เราเตือนไปหมดแล้วและเตือนมาตลอด 

แต่ตอนนี้เรามองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายถูกกระทำนะ ก็เห็นใจในฐานะที่เขาเป็นฝ่ายถูกกระทำ ถูกบีบโดยระบอบอำมาตย์ นอกจากนี้ยังเหลือสมาชิกวุฒสภา (ส.ว.) อยู่ และมีอำมาตย์ก็จะเสียฐานที่สนับสนุน แต่ถ้าเลือกมาตามฐานที่สนับสนุนแล้วยังมัดกันแน่นก็ถูกระบอบอำมาตย์จัดการ

ความขัดแย้งในสังคมไทยมันยาวนานมาก นับตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงความผิดพลาดในระยะหลังทำให้ระบอบประชาธิปไตยไทยไปไม่ถึงไหน เหตุผลเพราะว่าฝั่งที่เป็นระบอบจารีต อำมาตย์ และกองทัพก็ใช้เครื่องมือทุกอย่างเท่าที่มีรักษาอำนาจตัวเองไม่คืนให้ประชาชน โดยเฉพาะตอนนั้น เมื่อมาเจอคุณทักษิณก็ถือว่าเป็นศัตรูร้ายกาจที่เป็นการแย่งอำนาจ เพราะได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนเลยพยายามกำจัด แต่พอหลังจากนั้น มาเจอพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล กลายเป็นว่าน่ากลัวกว่า

เพราะฉะนั้นเขาต้องมีบทเรียนเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่กงการของเราที่จะไปพูดอะไรกับเขา ก็พูดในส่วนเพื่อนว่าอยากให้เขาเข้าใจว่าความขัดแย้งมันมีอยู่แล้วคนยังมีลักษณะจารีตมาก แต่ว่าผลการเลือกตั้งมันทำให้เราแฮปปี้มีความสุุขมากที่คน 70% กว่าๆ เลือกฝ่ายเสรีประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเขาคงไม่ต้องการให้กระโดดข้ามขั้วไปฝั่งจารีตแน่นอน 

เพราะฉะนั้นขอตอบพรรคเพื่อไทยด้วยความเป็นห่วงและมองว่า ที่แล้วมาจนถึงปัจจุบันเขาอาจจะเข้าใจฝั่งอำมาตย์ และความโหดเหี้ยมอัมหิตหรือกลยุทธ์น้อยไป จึงถูกกระทำมาตลอดก็น่าสงสาร แต่ว่าก็ทำให้ฝ่ายประชาชนลำบากไปด้วย ไม่ว่าจะติดคุก ติดตาราง มีคดีความ หรือต้องล้มตาย ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงคุณทักษิณถูกกระทำ ประชาชนก็ถูกกระทำเช่นกัน คุณทักษิณเป็นเหยื่อที่มองเห็นชัด แต่ประชาชนที่ตัวเล็กกว่านั้นถูกกระทำมาโดยตลอด และนี่คือสิ่งหนึ่งที่เราต้องต่อสู้มาเรื่อยๆ แม้ว่า นปช. ไม่ได้ดำรงอยู่แล้ว แต่ความเป็นคนเสื้อแดง หรือแม้กระทั่งการเป็นสมาชิก นปช. ยังคงอยู่

คิดเห็นอย่างไรกับปรากฏการณ์ จาก ‘แดง’ แผลงเป็น ‘ส้ม’

ก่อนหน้ามีชาวบ้านเขาโทรมาหาเหมือนกันว่า จะมาจากต่างจังหวัดเพื่อมารับคุณทักษิณวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ก็ไม่รู้ว่าจะไปรับดีหรือเปล่า เพราะเห็นพรรคเพื่อไทยปล่อยมือจากพรรคก้าวไกลเขาก็ไม่โอเค อาจารย์ก็บอกว่าดูไปสักพักเถอะ เพราะอย่างไรคุณทักษิณก็ยังไม่กลับนี่ ยังมีเวลาคิด

สิ่งนี้จะเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ก็ได้ แต่จะดูแค่นี้ไม่ได้เราต้องดูตัวเลขความเป็นจริงว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างไร แบบพรรคประชาธิปัตย์เป็นต้น พรรคประชาธิปัตย์สิบเอ็ดล้านเสียงเหลือเพียงเก้าแสน พรรคเพื่อไทยจากสิบห้าล้านเจ็ดแสนเสียง เหลือเพียงสิบล้านเสียง หายไปไหนล่ะ เพราะฉะนั้นจึงมีความห่วงใยต่อพรรคเพื่อไทยว่า จะสามารถดำรงเป็นพรรคที่อยู่ในฝ่ายเสรีประชาธิปไตยต่อไป ซึ่งอาจจะไม่ใช่แล้วเมื่อมีการข้ามขั้วแบบนี้ ให้พูดภาษาชาวบ้านก็ จบเห่ ได้เป็นรัฐบาลนะแต่จบ

ถ้าให้คุณได้บอกอะไรโดยตรงกับ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้อย่างหนึ่ง อยากบอกว่าอะไร

เราอาจจะรู้มากไปสักนิดนึงก็เลยทำให้เห็นใจเขาเหมือนกัน ก็คงเป็น ‘เห็นใจ เข้าใจ แต่ต้องถามว่าจะเป็นพรรคการเมืองต่อไปหรือเปล่าหรือว่าจะเอาจบตรงนี้’ ก็ต้องตัดสินเอา เพราะว่าประชาชนมีสายตาและมีความคิด จะเล่นละครเป็นฉากที่ 1 บอกเปลี่ยนเป็นฉากที่ 2 และฉากที่ 3 นั่นดูไม่จริงใจ ซึ่งคุณจะเป็นพรรคการเมืองต่อไปหรือเปล่า ตรงนี้สำคัญที่สุด

อยากให้คำนึงว่าฐานเสียงของตัวเองคือใคร ถ้าคิดจะไปข้ามขั้วเท่ากับว่า ความจะเป็นสถาบันพรรคการเมืองที่เป็นผู้นำเสรีประชาธิปไตยนั้นเสียไปแล้ว แม้กระทั่ง ส.ส. ที่รักในประชาธิปไตยที่อยู่ในพรรคก็คงจะอยู่ไม่ได้ ก็จบเพียงเท่านี้เพื่อเป็นรัฐบาล หรือจะมีอนาคตต่อแม้จะถูกบีบแค่ไหน 

สุดท้ายนี้ถ้าให้บอกอะไรกับ ‘คนเสื้อแดง’ มีอะไรที่อยากบอก

คุณอย่าคิดว่า ‘คนเสื้อแดงเป็นเอฟซีของพรรคเพื่อไทย’ เพราะจิตวิญญาณของคนเสื้อแดงคือขบวนการประชาชนที่ต่อสู้เพื่อให้ได้อำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยหลอกๆ แบบทุกวันนี้ เราต้องการประชาธิปไตยกับการทวงความยุติธรรมแม้จะมีหรือไม่มีองค์กรนำ เราสามารถที่จะมีวิจารณญาณของตัวเองได้จากประสบการณ์ เพราะฉะนั้นอยากให้ยึดมั่นในอุดมการณ์

เพราะนี่คือการต่อสู้ที่ยังไม่จบ เรายังต้องทวงคืนประชาธิปไตย และทวงความยุติธรรมไม่ว่าพรรคใดจะได้เป็นรัฐบาลก็ตาม

Tags: , , ,