นับตั้งแต่เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ทุกๆ ปี กลุ่มคนเสื้อแดงและญาติผู้สูญเสียจะเดินทางมารำลึกร่วมกันบริเวณที่เกิดเหตุ เช่นเดียวกับปีนี้ที่ถึงจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แต่บางคนก็ยังเลือกเดินทางมาเพื่อรำลึกและทวงถามความยุติธรรมแด่คนรักของพวกเขา

เวลา 18.00 น. ของวันที่ 10 เมษายน 2563 ณ มุมถนนข้าวสาร ใกล้สี่แยกคอกวัว บรรเจิด และ สุวิมล ฟุ้งกลิ่นจันทร์ บิดาและมารดาของ เทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ หนึ่งในผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม เดินทางมาจุดเทียนรำลึกไว้อาลัยในวันครบรอบ 10 ปี ของเหตุการณ์และการจากไปของลูกชาย 

ขณะเดียวกัน ริมถนนดินสอฝั่งตรงข้าม ร.ร.สตรีวิทยา ก็มีการนำดอกไม้และธงแดงมาผูกไว้ริมถนนพร้อมกับเขียนข้อความไว้อาลัยแก่ วสันต์ ภู่ทอง ที่ถูกยิงเสียชีวิตในวันเดียวกัน

มารดาของเทิดศักดิ์กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุ ตนได้พูดคุยกับลูกชายราวๆ หนึ่งทุ่ม ลูกชายบอกว่ากำลังจะกลับ หลังจากนั้นก็ติดต่อไม่ได้ จนมาทราบภายหลังว่าลูกชายถูกยิงเสียชีวิตแล้ว สำหรับตนแม้จะผ่านมาถึงสิบปี แต่ตนยังรู้สึกเหมือนว่าเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นและเจ็บปวดทุกครั้งที่นึกถึงลูก

ด้านบิดาของเทิดศักดิ์ กล่าวว่าในเรื่องของคดี ตนยังมีความหวังแต่ตอนนี้ก็ทำตามสภาพไป ถึงเวลาถ้าความยุติธรรมมาถึงคนเสื้อแดงและคนที่สูญเสีย ก็ขอให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่เรายังคงรอ รอจนกว่าจะหาคนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ได้ หรือไม่ก็จนกว่าจะหมดลมหายใจและตายไป 

นอกจากเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ และวสันต์ ภู่ทองแล้ว ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ยังมีผู้เสียชีวิตที่เป็นประชาชน เจ้าหน้าที่ทหาร รวมถึงนักข่าวชาวญี่ปุ่น รวม 25 คน และบาดเจ็บราว 800 คน 

การชุมนุมของกลุ่ม นปช. หรือคนเสื้อแดงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 โดยเรียกร้องให้รัฐบาลของ อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ในขณะนั้น ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะผู้ชุมนุมเห็นว่าการเข้ามาสู่ตำแหน่งนายกฯ ของอภิสิทธิ์มีความไม่ชอบธรรม มีกองทัพและองค์กรอิสระอยู่เบื้องหลัง รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลของอภิสิทธิ์รับผิดชอบ กรณีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อเดือนเมษายนปี 2552 

การสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันนั้น โดยรัฐบาลได้ใช้คำว่า ‘ขอคืนพื้นที่’ จากผู้ชุมนุม โดยปฎิบัติการตั้งแต่บริเวณสะพานผ่านฟ้าถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน มีการปะทะกันหลายจุด ในช่วงแรกทหารใช้แก๊สน้ำตา กระบอง และกระสุนยางเข้าสลายการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักต่อ จึงเริ่มมีการโยนแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ รวมถึงเริ่มมีการใช้อาวุธสงครามและกระสุนจริงยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก 

ในส่วนของคดี มีการไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตหลายราย โดยศาลระบุว่าวิถีกระสุนมีทั้งยิงมาจากฝั่งเจ้าพนักงานและไม่ทราบว่ายิงมาจากทิศทางใด อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ ต่อมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จากการที่จำเลยออกคำสั่งให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. สลายการชุมนุมทั้งในวันที่ 10 เมษายน และในวันที่ 13-19 พค. 2553

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสอง ออกคำสังขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำส่วนตัว ถือเป็นคำสั่งต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างไรก็ตาม กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ไม่มีอำนาจในการสอบสวน จึงให้ยกฟ้อง

ต่อมาในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทั่งเดือนธันวาคม ปี 2558 ปปช. ก็ได้มีมติให้ถอดถอนข้อกล่าวหาของอภิสิทธิ์ กับพวก ในคดีปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งให้ใช้ทหารเข้าสลายการชุมนุม โดยอ้างคำพิพากษาของศาลว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม จึงเป็นเหตุให้ ศอฉ. ต้องใช้มาตราการขอคืนพื้นที่เพื่อความสงบสุขในบ้างเมือง 

ส่วนการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหาร รวมถึงนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ ซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 เป็นผู้กระทำให้มีการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนในเหตุการณ์นี้ ปปช.มีมติให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการต่อไป 

ปีนี้นับเป็นวันครบรอบ 10 ปี การรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 อย่างไรก็ตาม ปีนี้แตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา เนื่องจากเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การรำลึกมีอยู่เฉพาะในกลุ่มจำกัดคือ ญาติของผู้เสียชีวิต 

ผู้ที่ไม่ได้เดินทางมาร่วมงานต่างแสดงความรำลึกและไว้อาลัยผ่านทางช่องทางโซเชียล มีเดีย จนเป็นที่มาของการทำกิจกรรม Challange โพสต์ภาพรำลึกถึงตัวเองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกคนระลึกถึงเหตุการณ์ทางการเมืองและการสูญเสียชีวิตของประชาชนจากการกระทำของรัฐตลอด 10 ปี ซึ่งแม้จะครบรอบทศวรรษแล้ว แต่หลายคดียังไม่ได้รับความกระจ่างหรือความยุติธรรมแต่อย่างใด