วันนี้ (18 มีนาคม 2567) ที่รัฐสภา รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกโรงแถลงกรณีการยกฟ้องคดี ตุน มิน ลัต นักธุรกิจชาวเมียนมา ที่ถูกกล่าวหาว่า มีความผิดฐานฟอกเงินและเชื่อมโยงกับ อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา พร้อมเปิดเผยคลิปเสียงลับของนักการเมืองที่ทำธุรกิจสีเทาในประเทศเมียนมาต่อสื่อมวลชน

ในช่วงแรกของการแถลงข่าว รังสิมันต์เปิดเผยคลิปเสียง 5 คลิป โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

คลิปเสียงที่ 1: นักการเมืองชาวไทยที่ทำธุรกิจในเมียนมาเลี่ยงภาษี

คลิปเสียงที่ 2: นักการเมืองใช้นอมินีทำธุรกิจและหาผลประโยชน์ จากการเลี้ยงดูครอบครัว มิน อ่อง หล่าย ผู้นำคณะรัฐประหารเมียนมา

คลิปเสียงที่ 3: นักการเมืองมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนและชนชั้นนำประเทศไทย

คลิปเสียงที่ 4-5: นักการเมืองอวดอ้างว่า สามารถเคลียร์คดีร้ายแรงให้กับพวก ผ่านความสัมพันธ์ในระบบยุติธรรม

“วันนี้ เรามีปัญหาสิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดน หน้าฉากเป็นคนดีบีบน้ำตา เบื้องหลังจ้องทำเรื่องผิดกฎหมาย ใช้ความสัมพันธ์อุ้มชูพวกเดียวกัน ซึ่งปัญหานี้รอรัฐบาลแก้ไข” รังสิมันต์กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลง

นอกจากประเด็นข้างต้น รังสิมันต์ยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอาญา ต่อกรณียกฟ้องคดีตุนมิน ลัต ฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การฟอกเงิน และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 โดยแบ่งเป็น 5 ประเด็นย่อย ดังนี้

1. ในกรณีที่เกิดขึ้นศาลชี้ว่าตุน มิน ลัต ได้รับเงินโอนจากบัญชีม้ากว่า 500 บัญชี จาก ชเว ชิน โป ร้านโพยก๊วน (Underground Banking) ที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เพื่อชำระค่าไฟให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแม่สาย เดือนละกว่า 30 ล้าน แต่ศาลเชื่อว่า ตำรวจไม่สามารถพิสูจน์ที่มาของเงินได้

ทั้งนี้ การรับเงินโอนจากบัญชีม้าเพื่อการจ่ายสินค้าและบริการ มีลักษณะของการปกปิดอำพรางในการทำธุรกิจโดยชอบ รังสิมันต์จึงตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดศาลถึงมองว่าร้านโพยก๊วนที่ควบคุมบัญชีม้าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และการที่ตุน มิน ลัต รับเงินโอนจากบัญชีม้าถึงเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย

2. เหตุใดศาลมองว่า การใช้ร้านโพยก๊วนทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศถึงทำได้ ทั้งที่คำพิพากษาระบุว่า กิจการนี้ดำเนินธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราเท่านั้น อีกทั้งเหตุใดศาลจึงวินิจฉัยว่า การโอนเงินผ่านธนาคารยังสามารถทำได้อยู่ เพียงแต่ว่าค่าธรรมเนียมสูงกว่าการใช้บริการโพยก๊วน

ดังนั้น คนทั่วไปจึงเลือกใช้โพยก๊วนได้ แม้ว่าเป็นการโอนเงินโดยกิจการที่ไม่ได้รับอนุญาตทำธุรกิจบริการโอนเงินระหว่างประเทศ รังสิมันต์ย้ำว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะเป็นการส่งเสริมให้คนใช้บริการร้านโพยก๊วน อีกทั้งยังซ้ำเติมปัญหาการฟอกเงินซึ่งส่งผลเสียต่อระบบธนาคารไทย

3. การที่ศาลยกตัวอย่างบริษัทเอกชนอย่างคาราบาวแดงและมิสทีนว่า มีการรับเงินจากร้านโพยก๊วนเช่นเดียวกัน รังสิมันต์มองว่า เรื่องนี้ไม่สามารถนำมาเทียบพฤติการณ์กับเครือข่ายตุน มิน ลัต เพราะบริษัทเอกชนเหล่านั้นไม่ได้เป็นคนใช้บริการร้านโพยก๊วน เพื่อนำเงินจากเมียนมามาไทย เพียงแต่รับชำระค่าสินค้าและบริการ จึงไม่ได้ร่วมกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำผิด

4. เหตุใดศาลถึงมองว่า การไม่ยื่นภาษีอย่างถูกต้องของเครือข่ายตุน มิน ลัต ถึงไม่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว ทั้งที่การบันทึกรายรับและรายได้ในงบการเงินที่ถูกต้อง ถือเป็นการยืนยันเจตนาสุจริตว่า เงินที่ได้รับมาเป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะเดียวกัน การไม่ยื่นรายได้อย่างถูกต้องของกลุ่มบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป จำกัด ศาลกลับมองว่า ไม่อาจเป็นหลักฐานสำหรับการพิจารณาคดีนี้ได้ เพราะไม่อาจเป็นข้อพิรุธสงสัยว่า ปิดบังอำพรางเงินที่มาจากกระบวนการค้ายาเสพติด โดยข้อนี้ถือเป็นการสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติมาก

5. เหตุใดศาลจึงมองว่า หลักฐานของตำรวจที่ว่าด้วยเส้นทางการโอนเงินระหว่างเครือข่ายค้ายาเสพติดทั้ง 6 กลุ่ม ถึงไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่กลับกล่าวว่า เป็นการขยายผลเกินกว่าที่พยานหลักฐานปรากฏ ทว่าการที่ศาลต้องการพยานหลักฐานคำซัดทอดของผู้ร่วมกระบวนการด้วย ย่อมส่งผลต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะต้องจับคนฟอกเงินในเครือข่ายพร้อมยาเสพติด อีกทั้งยังต้องมีพยานที่เห็นว่า บุคคลในเครือข่ายมาพบหรือรู้จักกัน ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ตำรวจจะหาหลักฐานตามที่ศาลต้องการได้

รังสิมันต์ตั้งคำถามอีกว่า บรรทัดฐานของศาลต่อคดียาเสพติดและการฟอกเงินเป็นอย่างไร หากยึดตามหลักที่ยกฟ้องคดีตุน มิน ลัต แล้ว ในคดีของ วรวัฒน์ วังศพ่าห์ ที่ให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มผู้ค้ายาเสพติด โดยมีโทษประหารชีวิต ก็ไม่ควรถูกพิพากษาลักษณะนั้นหรือไม่ เพราะตามพฤติการณ์คดีทั้งสองมีลักษณะที่คล้ายกัน

นอกจากนั้นแล้ว จากคดีดังกล่าวยังมีอีก 2 ประเด็นที่รังสิมันต์แถลงต่อสื่อมวลชน กล่าวคือ

1. จากคำพิพากษาของศาลที่ระบุว่า ส.ว.อุปกิตบงการ ดีน ยัง จุลธุระ ลูกเขยของตนเองให้ถือหุ้นและเป็นกรรมการบริษัท ขัดแย้งกับกรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินก่อนเข้ารับตำแหน่ง ส.ว.เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ที่ ส.ว.อุปกิตแจ้งว่า ตนเองขายกิจการให้กับ ชาคริส กาจกำจรเดช แล้ว

2. การกระทำดังกล่าวของ ส.ว.อุปกิตถือเป็นการหลีกเลี่ยงการกระทำตามความผิด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (2) ที่กำหนดว่า สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เพราะจากสัญญาสัมปทานไฟฟ้ามีการเปลี่ยนชื่อไปมาระหว่างบริษัทในเครืออัลลัวร์

รังสิมันต์ยืนยันว่า จะนำเรื่องดังกล่าวไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป

ถึงกระนั้น รังสิมันต์ตั้งข้อสังเกตการทำงานของ ป.ป.ช.ที่อาจล่าช้า เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจสอบคดี 44 ส.ส.พรรคก้าวไกลที่ลงชื่อแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะตนเองเคยยื่นตรวจสอบการยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จของ ส.ว.อุปกิตต่อ ป.ป.ช.ไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 แต่เวลาล่วงเลยมากว่า 180 วัน ยังไม่ได้คำตอบกลับใดๆ

“นี่เป็นบทพิสูจน์การทำงานของพวกท่าน” รังสิมันต์กล่าวทิ้งท้ายสั้นๆ

Tags: , , , ,