ยิน มิน ลัต (Yin Min Latt) หรือ ‘ซัน’ เป็นชาวพม่า ผมเห็นเขาครั้งแรกในเช้าวันหนึ่งขณะที่ผมนั่งจิบกาแฟไล่อาการเมาเครื่องบินในรีสอร์ตเล็กๆ แห่งหนึ่งละแวกอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ เขากำลังตะโกนคุยกับเจ้าของโรงแรมขณะตัดหญ้า ผมฟังไม่ออกว่าเขาพูดอะไร แต่ได้ยินเสียงทุ้มแหบ ผิวสีทองแดงคล้ำแดด ผมสั้นหยักศก

ยิน มิน ลัตเกิดที่เมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) เป็นลูกชายคนเดียวในครอบครัวที่มีอันจะกิน แม่ของเขาเปิดร้านขายของแห้งอยู่ในตัวเมือง ส่วนพ่อมีกิจการเดินรถประจำทางระหว่างเมืองมัณฑะเลย์-ชเวโบ (Shwebo) ตอนเป็นเด็กเขาเรียนค่อนข้างดี ชอบวิชาคณิตศาสตร์ และมีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ กระทั่งอายุ 14-15 ปี เขาเริ่มอยากเที่ยวไปตามที่ต่างๆ ไปนั่งเล่นที่ร้านน้ำชากับเพื่อนบ้าง แม่ของเขาไม่ว่าอะไร เพราะยิน มิน ลัตเป็นลูกชาย เขาควรจะได้เรียนรู้อะไรบ้างจากบทเรียนนอกบ้าน แต่พ่อของเขาไม่สบายใจนักที่เขาออกไปเที่ยวบ่อยๆ พ่ออยากให้เขาอยู่ใกล้ๆ แต่ก็หยุดความอยากรู้โลกของเขาไม่ได้

ยิน มิน ลัตเริ่มเถลไถลเมื่อได้รู้จักกับความรัก และเริ่มคบผู้หญิง กระนั้นเขาก็ไม่ได้ละเลยเรื่องการเรียน ยิน มิน ลัตเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ และเดินทางไปเรียนต่อที่ย่างกุ้ง จากนั้นไม่นาน ด้วยคำขอของพ่อ เขาแต่งงานกับหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกสาวของเพื่อนพ่อ เมื่อเริ่มใช้ชีวิตคู่ หญิงสาวไม่ชอบใจนักเมื่อยิน มิน ลัตพาเพื่อนมาบ้าน โดยเฉพาะเพื่อนผู้หญิง

“ทะเลาะกันทุกวัน ผมเลยไม่ไปเรียน พ่อแม่ไม่รู้ ผมไม่อยากทะเลาะกับเมีย เลยเลิกเรียนมหาวิทยาลัย”

ขณะนั้น ยิน มิน ลัตเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3

เมื่อออกจากมหาวิทยาลัย ยิน มิน ลัตลงทุนซื้อรถ 2 คันเพื่อเริ่มกิจการเดินรถประจำทางเหมือนพ่อของเขาในย่างกุ้ง เขาขับรถด้วยตัวเอง ต่อมาเขาให้เพื่อนมาช่วยขับรถ แต่ไม่นาน เขาก็ถูกเพื่อนโกง ยิน มิน ลัตรู้ว่าถูกโกง เพราะบางครั้งเขาทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินบนรถของตัวเอง จึงรู้ว่าการเดินรถในวันหนึ่งๆ ได้เงินเท่าไร แต่เขาเลือกที่จะเงียบ อดทนยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อผมฟังเรื่องราวอื่นๆ ของเขาต่อไปในคืนวันนั้น พบว่าเขามักเลือกที่จะจำยอมต่อการถูกคดโกง แล้วเลือกเดินออกมาเองครั้งแล้วครั้งเล่า

วันหนึ่ง น้องของพ่อแนะนำยิน มิน ลัตว่าควรจะไปทำเรือประมงจับกุ้ง เพราะน่าจะได้เงินเยอะกว่าขับรถแบบนี้ อาของเขาเสนอตัวว่าจะช่วยเป็นธุระจัดหาเรือให้ ด้วยความสนใจการเดินเรือและเบื่อเพื่อนโกง ยิน มิน ลัตตัดสินใจขายรถ 2 คันนั้น แลัวเขาและอาก็พากันไปซื้อเรือที่เมืองมอญใกล้ๆ กับเมืองทวาย อาแนะนำให้เขาซื้อเรือสัญชาติจีนจากชาวประมงมาเลย์ด้วยเงินสด แต่ยิน มิน ลัตอยากได้เรือสัญชาติไทยมากกว่า เพราะเรือไทยมีเรดาร์และสภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับเรือมาเลย์ที่ค่อนข้างเก่าโทรม และเขาอยากผ่อนชำระเป็นงวด แต่ด้วยเหตุผลของอาที่สาธยายถึงคุณภาพของเรือและวิธีซื้อด้วยเงินสด ยิน มิน ลัตฟังอาและตัดสินใจซื้อเรือจากชาวประมงมาเลย์

ไม่กี่วันต่อมา เขากับลูกเรือชาวยะไข่อีก 17 คน เริ่มเดินเรือจับกุ้งในทะเลอันดามัน ใกล้เมืองยะไข่ (Rakhine) โดยไต้ก๋งไร้ฝีมือ (ที่เขามารู้ในภายหลัง) แต่สามารถเดินเรือโดยไม่มีเรดาร์ มีเพียงดวงดาวชี้นำทิศทาง ส่วนอาของเขานั้นไม่ได้ออกเรือไปด้วย

“ผมว่ายน้ำไม่เป็น แต่ก็ต้องไป เพราะไม่ไปไม่ได้ เราเป็นเจ้าของเรือ อาผูกลูกบอลสามลูกไว้ให้ เผื่อเรือจม” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะถึงชะตากรรมของตัวเอง

“ทำได้ไม่นาน เรือก็เสีย ต้องเปลี่ยนอะไหล่ คนขับเรือก็ขับไม่ดี อวนขาดบ่อย เพราะไปขูดกับหิน ไต้ก๋งไม่รู้ว่าที่ทะเลตรงไหนมีหิน บอกอา อาก็ไม่ได้ช่วยอะไร” เขาเล่าถึงปัญหาอีกสารพัดที่ตามมา พร้อมๆ กับการขาดทุนที่ทบทวีขึ้นเรื่อยๆ

“ทำได้ 3 ปี ขาดทุน 2 ล้านกว่าบาท ผมก็เลิก ก็ผมทำไม่เป็น ส่วนอาผมไม่อยู่พม่าแล้ว ไปประเทศนอก”

“แล้วทำยังไงต่อ” ผมถาม

“ผมก็ขายเรือ ตอนซื้อเรือมา 27 แสน พอเลิกแล้วขายไป 18 แสน จ่ายเงินเคลียร์บัญชีแล้วก็เหลือเงิน 6-7 แสน”

“ทำธุรกิจขาดทุน เมียกับแม่ว่าอะไรไหม”

“คือแบบนี้ครับ…แม่ไม่ว่าอะไร ผมไม่ได้เล่นไพ่ ไม่กินเหล้า ไม่มั่วผู้หญิง ขาดทุนแบบนี้ไม่เป็นไร” ยิน มิน ลัตอธิบาย

“แม่อยากให้กลับไปช่วยขายของแห้งที่ร้าน แต่เงินเล็กๆ แบบนี้ผมไม่อยากทำ อยากทำใหญ่ๆ อยากซื้อของจากเมืองไทยไปขายที่พม่า แต่แม่ไม่ให้ทำ” เขาเล่าต่อ “แต่พ่อแม่เมีย พอรู้ว่าผมขาดทุน เขาพูดกับผมไม่ดี ผมไม่ชอบที่เขาพูดกับผมแบบนี้ ผมกับเมียก็ทะเลาะกัน แล้วก็เลิกกัน”

“แล้วยังไงต่อ”

“มีเพื่อนชวนไปทำงานที่มาเลเซีย ผมก็อยากไป เลยไปทำพาสปอร์ต ก่อนเดินทางหนึ่งวัน ผมโทรไปบอกแม่ว่าจะไปมาเลเซียแล้วนะ แต่แม่ไม่อยากให้ไป” เขาเล่าเสียงดังด้วยน้ำเสียงแหบทุ้ม

จากเจ้าของกิจการ ยิน มิน ลัต เร่ร่อนไปทำงานขายแรงงานในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่มาเลเซีย ผ่านนายหน้าชาวมอญ ทำงานได้ราว 8 เดือนก็ลาออกหลังจากถูกโกงค่าแรง จากนั้นเข้าเมืองไทย ทำงานเป็นคนงานในโรงงานหล่อท่อซีเมนต์ที่พังงา ซ้ำรอยด้วยการลาออก หลังจากถูกโกงค่าแรงเช่นเคย แต่เมื่อเขามีลู่ทาง รู้จักคนเพิ่มขึ้น และขับรถเป็น จึงเลือกที่จะขับรถ แทนที่จะทำงานใช้แรง

“คนทำงานใช้แรงส่วนใหญ่เป็นคนมอญ คนทวาย คนยะไข่ ไม่ใช่คนพม่า”

ยิน มิน ลัตทำงานเป็นคนขับรถขนไม้ (ลาออก หลังจากถูกโกงค่าแรง) ไปขับรถส่งของในร้านสะดวกซื้อ (ลาออก หลังจากถูกโกงค่าแรง) จากนั้นเขาขับรถขนสินค้าให้กับบริษัทเครื่องเสียงแห่งหนึ่งในกระบี่ โดยอาศัยการจดจำเส้นทางทีละเล็กละน้อย และอ่านป้ายภาษาอังกฤษ กระทั่งปัจจุบันเขาเริ่มจัดเจนเส้นทางต่างๆ ทั้งในพังงา กระบี่ ภูเก็ต

“เมืองไทยดีนะ มีป้ายบอกทางเป็นภาษาอังกฤษ ที่พม่าไม่มีแบบนี้นะ”

เรานั่งคุยกันตั้งแต่หัวค่ำ ผมฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง ต้องขอให้เขาพูดซ้ำหลายครั้งเพื่อความแน่ใจ กระทั่งดึกดื่นเที่ยงคืน ผมถามเขาเป็นคำถามสุดท้ายถึงชื่อ ‘ซัน’ ที่คนเรียกขานเขาในเมืองไทย

“ชื่อ ‘ซัน’ นี่หมายถึงพระอาทิตย์ใช่ไหม”

“คืออย่างนี้ครับ…เจ้านายคนไทยบอกว่าผมตัวใหญ่ เลยตั้งชื่อไทยว่า ‘ช้าง’ แต่พอเวลาไปทำเอกสาร คนเขาฟังเป็น ‘ซัน’ ผมก็ว่าซันก็ซันไปเล้ย” เขาเล่าที่มาของชื่อให้ฟังพร้อมด้วยเสียงหัวเราะ ก่อนแยกย้ายกันไปนอน เรามีนัดกันอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ตอนบ่าย 3 โมง

บ่าย 3 โมงวันต่อมา ผมรอยิน มิน ลัตตามที่นัดกันไว้จนกระทั่ง 3 ทุ่ม เขาก็ยังไม่กลับมา ระหว่างรอ ผมมีโอกาสนั่งคุยกับพี่ปั๊ม-เจ้าของรีสอร์ต

“ซันเขาเป็นคนซื่อ ไว้ใจคนง่าย เจอกันไม่นานก็บอกว่าคนโน้นดี คนนี้ดี แล้วก็ให้พวกนั้นยืมเงิน เสร็จแล้วคนยืมก็หายไป” นายหัวของซันเล่าให้ฟัง

“แล้วเขามาทำงานที่นี่ได้ยังไง” ผมอยากรู้

“ส่วนใหญ่แล้วที่ซันเขาเปลี่ยนงาน เพราะเขาถูกโกงเงิน จากนายจ้างบ้าง จากหัวหน้าบ้าง จากเพื่อนบ้าง ผมชวนซันมาทำงานกับผมหลังจากที่เขาลาออกจากบริษัทเพื่อนผม ผมสังเกตดู เงินเดือนเขาเก็บไว้ใช้เองไม่เท่าไหร่ เขาส่งเงินให้แม่เขาทุกเดือน แต่หลังๆ ส่งให้เมียคนที่เพิ่งแต่งงานกัน ผมไปเป็นเถ้าแก่ให้เขาด้วย” นายหัวอีกคนเล่าเพิ่มเติม

4 ทุ่มกว่า ยิน มิน ลัต พาร่างกายบึกบึนล่ำสันของเขากลับมาที่รีสอร์ต หลังตั้งตรงแข็งแรงของเขาคล้ายกับจะบอกว่าพร้อมเสมอที่จะเผชิญกับงานหนักและความผิดหวัง ยังไม่ทันพักเหนื่อย เขานั่งเล่าเรื่องราวของเขาต่อ จากคำถามที่ผมค้างในใจ

“ผมทำงานทุกวัน ทำโอทีทุกวัน เก็บเงินส่งไปให้แม่ ตอนนี้ส่งไปให้เมีย” ยิน มิน ลัต เล่าว่าเขาทำงาน 8 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม และหยุดเดือนละ 4 วัน

“ใช้เงินแค่เดือนละสองพัน พอใช้เหรอ” ผมถาม เมื่อเรานั่งคุยกันในคืนวันนั้น หลังจากเขากลับมาจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

“พอครับ ผมซื้อข้าวต้มไก่ ซื้อชากิน บางวันก็กินก๋วยเตี๋ยว” ยิน มิน ลัตตอบด้วยรอยยิ้ม เผยให้เห็นฟันสีดำจากการกินหมาก ซึ่งเขาบอกว่าเริ่มกินตั้งแต่อายุ 18-19 ตอนทำงานขับรถรับจ้างที่ย่างกุ้ง เพราะมันช่วยให้ไม่ง่วง

“เห็นนายหัวบอกว่าซันเพิ่งแต่งงาน”

“ใช่ครับ แต่งกับผู้หญิงที่เจอกันก่อนผมไปมาเลเซีย” เขาเล่าถึงหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งพบกันเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว และขาดการติดต่อกันไปช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาพูดคุยกันใหม่ เมื่อเขารู้ว่ามีลูกกับหญิงสาวคนนี้ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้เวลาร่วมกันมากนัก

“หมายความว่าคบกันตั้งแต่ตอนเลิกทำประมง ก่อนไปทำงานที่มาเลเซีย?” ผมไล่เลียงลำดับเวลา

“ใช่ เรามีลูกด้วยกัน เป็นผู้หญิงอายุ 9 ขวบ” ยิน มิน ลัตเล่าต่อ

แต่บางคนที่รู้จักเขามานานบอกว่าเด็กผู้หญิงคนนี้อาจจะไม่ใช่ลูกของเขา อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครรู้เรื่องนี้ดีไปกว่ายิน มิน ลัต ซึ่งยังคงส่งเงินไปให้เมียและลูกทุกเดือน

“ตกลงซันมีลูกกี่คนนะ” ผมเริ่มงง

“คืออย่างนี้ครับ…ผมมีลูก 2 คน คนโตอายุ 21 กับเมียคนแรก คนที่สองอายุ 9 ขวบกับเมียคนนี้ ลูกคนโตผมไม่ยุ่งแล้ว คนไม่ดี ผมไม่อยากยุ่ง” เขาเล่า แล้วความเงียบก็เข้ามาครองบรรยากาศ สายตาของชายหนุ่มซึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผมมองไปที่ว่างเวิ้งว้าง เขาอาจหวนกลับไปคิดถึงใครบางคนในอดีต

ผมไม่รู้จะพูดอะไรต่อ ปล่อยให้ความเงียบทำงานของมันไป จนกว่ายิน มิน ลัตจะเริ่มเล่าเรื่องของเขาต่อ…

ในความเงียบ ผมนึกถึงแผนอนาคตของยิน มิน ลัต เขาเล่าว่าอยากทำงานเก็บเงินอีก 3-4 ปี แล้วจะกลับไปทำฟาร์มกับเมียที่อิรวดี จะเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาดุก เขาอธิบายว่าจะขุดบ่อเลี้ยงปลาดุก แล้วมีเล้าเลี้ยงไก่ไว้บนสระ ยิน มิน ลัตบอกว่าเพื่อนเขาทำแล้วได้กำไรดี ผมพลอยรู้สึกยินดีไปกับเขาด้วย แต่เมื่อผมมารู้ภายหลังว่ามันเป็นโครงการที่สนับสนุนโดยบริษัทขายอาหารสัตว์ยักษ์ใหญ่จากเมืองไทย ผมเริ่มไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นความคิดที่ดีนัก นายหัวของเขาคิดจะบอกเรื่องนี้กับเขาเหมือนกัน…แต่เราคงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากจะบอกสิ่งที่เราเห็นที่เมืองไทย แล้วให้ยิน มิน ลัตตัดสินใจเอง

 

Yin Min Latt (ยิน มิน ลัต) | คนงานชาวพม่า

Medium Format Camera 6 x 6 | Black and White Negative Film

Tags: , , , , ,