วันนี้ (17 สิงหาคม 2566) ที่รัฐสภา พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศ อันเป็นแผน 5 ปี ที่เกิดขึ้นในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพริษฐ์ระบุว่า แผนปฏิรูปประเทศที่เกิดขึ้นเป็นการปิดฉาก 5 ปี การปฏิรูปประเทศตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นการปฏิรูปประเทศที่ ‘เสร็จ แต่ไม่สำเร็จ’ เป็นแผนปฏิรูปประเทศที่ไม่ใช่แผนที่ประชาชนมีส่วนร่วม แต่เป็นแผนปฏิรูปประเทศของ คสช.ที่เขียนสารตั้งต้นไว้ตามรัฐธรรมนูญ ก่อนแต่งตั้งคนของตัวเองมาเขียนแผนต่อ

พริษฐ์ระบุอีกว่า แม้แผนจะเขียนสรุปผลไว้ว่า เสร็จสิ้นลงใน 31 ธันวาคม 2565 แต่กว่าจะเดินถึงวันนี้ กระบวนการเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน โดยแม้แผนปฏิรูปประเทศจะกำหนดระยะเวลาไว้ 5 ปี แต่กลับใช้เวลา 3 ปี ในการเถียงกับตัวเอง เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เขียนไว้ว่า แผนปฏิรูปประเทศจะต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่แผนยุทธศาสตร์ชาติออกมาภายหลังแผนปฏิรูปประเทศถึง 3 ปี ทำให้เมื่อแผนยุทธศาสตร์ชาติออกมา ต้องไปเปลี่ยนแผนปฏิรูปประเทศใหม่ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อปรับแผนแล้ว สุดท้ายจึงเหลือเวลาแค่ 2 ปี ในการทำตามแผน จึงต้องลดเป้าหมายจากเดิมที่เคยฝันใหญ่ในการสร้างบ้านหลังใหม่ให้กับประเทศไทย คงเหลือแค่ฝันเล็กในการวางอิฐ 62 ก้อน ที่เรียกว่า Big Rock เท่านั้น

“โดยสรุปเป็นแผนปฏิรูปประเทศที่ คสช.นั้น เขียนแผนเอง เถียงกันเอง สับสนกันเอง ลดเป้าหมายเอง และเออออกันไปเองว่าเสร็จแล้ว แต่ถึงจะเสร็จสิ้นในเชิงกระบวนการ การปฏิรูปประเทศที่ผ่านมาก็ห่างเหินกันมากจากคำว่าสำเร็จ”

ขณะเดียวกัน พริษฐ์ยังระบุว่า ความล้มเหลวของการปฏิรูปประเทศมีเหตุผลหลักสองประการ เหตุผลแรก คือเลือกที่จะไม่เผชิญปัญหาที่ต้นตอ แต่หนีปัญหาเมื่อเจอตอ ทั้งที่การปฏิรูปควรจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องยาก เรื่องใหญ่ ที่กระทบโครงสร้างรัฐ ทว่า 5 ปีที่ผ่านมา กลับเต็มไปด้วยเรื่องยิบย่อย เมื่อทำเรื่องใหญ่แล้วเจอปัญหา รัฐบาลก็มักจะถอยเสมอ ยกตัวอย่างเช่น

1. แผนด้านการศึกษา – บอกว่าจะออกหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่เมื่อสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกรายงานเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พอเจอแรงกดดันจากกลุ่มผลประโยชน์และสำนักพิมพ์บางแห่ง ก็ตัดสินใจถอยโดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหลาน

2. แผนด้านพลังงาน – มีการตั้งเป้าว่าจะเปิดเสรีการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อลดค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมกับประชาชน แต่พอคำนวณว่ากระทบกับกำไรของโรงไฟฟ้าเอกชน เรื่องนี้ก็กลับไม่คืบหน้า

3. แผนด้านกฎหมาย – มีการตั้งเป้าในการปรับลดกฎระเบียบใบอนุญาตพันกว่าหน่วยงาน แต่กลับโยนให้หน่วยงานราชการตัดสินใจเองว่าจะเลิกกฎระเบียบนี้หรือไม่ แต่วันนี้ยกเลิกได้จริงๆ แค่ไม่ถึง 100 กระบวนงาน

4. แผนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม – มีการตั้งเป้าหมายสร้าง One Map เพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกิน แต่เมื่อเผชิญความขัดแย้งกับหน่วยงานภาครัฐกันเองว่าที่ดินเป็นของใคร ก็ยึกยักจนเกิดความล่าช้าและความเสียหายต่อพี่น้องประชาชน

ขณะเดียวกัน เหตุผลที่สอง คือในส่วนของ ‘กลไกพิเศษ’ กลับกลายเป็นอุปสรรคขวางการปฏิรูปเสียเอง ที่ชัดที่สุดคือ กลไกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ให้อำนาจ ส.ว.แต่งตั้งเลือกนายกฯ ซึ่งในคำถามพ่วงให้เหตุผลว่า เป็นไปเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่อง 

“ในขณะที่บอกว่าเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปประเทศคือการแก้ความขัดแย้ง แต่การให้ ส.ว.เลือกนายกฯ กลับกลายเป็นต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้งทางการเมือง แทนที่จะให้กลไกการเลือกตั้งเปลี่ยนผ่านอำนาจโดยสันติ กลับมีการเปิดให้ ส.ว.มีช่องในการนำความเห็นส่วนตัวมาแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาล สร้างการเผชิญหน้าระหว่างอำนาจที่มาจากการแต่งตั้งกับประชาชนทั่วประเทศ”

นอกจากนี้ ยังต้องตั้งคำถามว่า ในเมื่อการปฏิรูปประเทศเสร็จตามกรอบเวลา 5 ปีแล้ว แต่กลไกตามมาตรา 272 ยังถูกปล่อยให้สร้างความเสียหายต่อประเทศไทยได้อีก

“หากเราไม่อยากให้ 5 ปีสูญเปล่าทั้งหมด ผมหวังว่าความล้มเหลวของการปฏิรูปประเทศที่ถูกริเริ่มโดย คสช.จะทำให้พวกเราร่วมกันตกผลึกว่า แม้การปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องยาก แต่การปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้ ต้องไม่ใช่การปฏิรูปประเทศที่เก็บหลักการประชาธิปไตยไว้ในลิ้นชัก ที่มีอคติต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่อาศัยกลไกที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน และไม่เคารพผลการเลือกตั้ง แต่การปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้ ต้องเป็นการปฏิรูปประเทศผ่านกลไกประชาธิปไตย 

“เพราะเมื่อใดก็ตามที่การปฏิรูปประเทศได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง และเมื่อไรก็ตามที่ประชาชนพร้อมจะรวมพลังกันเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้กับวาระการปฏิรูปประเทศดังกล่าว พวกเราจะมีกำลังในการฝ่าฟันทุกแรงเสียดทาน ในการต่อกรกับทุกกลุ่มผลประโยชน์ และในการยืนตรงต่อหน้าผู้มีอำนาจทุกคนเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเพื่อประชาชนสามารถสำเร็จได้อย่างแท้จริง”

Tags: , , , ,